วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 19, 2567

พรุ่งนี้ (19 ธ.ค. 2567) ! ร่วมสังเกตการณ์พิพากษาคดี 112 ของ “อานนท์ นำภา” เหตุ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 ยืนยันหลักอ่านคำพิพากษาต้องเป็นไปโดยเปิดเผย


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
12 hours ago
·
พรุ่งนี้! ร่วมสังเกตการณ์พิพากษาคดี 112 ของ “อานนท์ นำภา” เหตุ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 ยืนยันหลักอ่านคำพิพากษาต้องเป็นไปโดยเปิดเผย
.
.
พรุ่งนี้ (19 ธ.ค. 2567) เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา ห้องพิจารณาคดีที่ 711 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอเชิญชวนประชาชนร่วมสังเกตการณ์นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง วัย 40 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหลัก “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สืบเนื่องมาจากการปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563
.
การชุมนุมดังกล่าว จัดขึ้นโดยกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และ กลุ่มมอกะเสด โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกันแต่งกายเป็นพ่อมด แม่มด เหมือนตัวละครในภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ นำหุ่นฟางใส่ชุดพ่อมดติดภาพโวลเดอร์มอร์ ซึ่งเป็นตัวร้ายในภาพยนตร์ และมีการแจกไม้วิเศษ ก่อนที่อานนท์ นำภา จะเป็นผู้ปราศรัยปิดท้าย ในประเด็นปัญหาเรื่องสถานะของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน พร้อมประกาศข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นับเป็นการปราศรัยอย่างตรงไปตรงมาในประเด็นนี้ในการชุมนุมช่วงปี 2563 เป็นครั้งแรก
.
คดีนี้ มี พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ รองผู้กำกับสืบสวน สน.ชนะสงคราม เป็นผู้กล่าวหา โดยอานนท์ถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2563 บริเวณหน้าศาลอาญาหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจรอเวลาให้ศาลปิดทำการเพื่อทำการจับกุม โดยในตอนแรกมีการแจ้งข้อหาตามมาตรา 116 เป็นข้อหาหลัก จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐ อานนท์จึงได้ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 เพิ่มเติมขณะที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564
.
ต่อมาในวันที่ 14 ก.ค. 2564 พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องอานนท์ในข้อหาตามมาตรา 112, ยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ
.
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2564 และ 12 พ.ย. 2564 ฝ่ายจำเลยได้ยื่นบัญชีระบุพยานและบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารหลายประการใน 3 ประเด็น เพื่อนำมาใช้ต่อสู้คดีในข้อหาตามมาตรา 112 และมาตรา 116 ดังนี้
1. เอกสารเกี่ยวกับการเดินทางเข้าออกประเทศและการเดินทางไปประเทศเยอรมนีของในหลวงรัชกาลที่ 10
2. สำนวนคดีของศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 242/2482 ระหว่างกระทรวงการคลัง โจทก์ กับรัชกาลที่ 7 และพระราชินี จำเลย กรณีมีคำพิพากษาสั่งยึดวังศุโขทัย
3. เอกสารเกี่ยวกับการใช้จ่ายของสถาบันกษัตริย์ และการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์
.
ต่อมา บุญจวน พาณิช ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในขณะนั้น มีคำสั่งให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ในบางรายการ ได้แก่ สำนวนคดีของศาลแพ่งกรณีมีคำพิพากษาสั่งยึดวังศุโขทัยในสมัยรัชกาลที่ 7 จากศาลแพ่ง, รายการใช้งบประมาณโครงการจัดแสดงสินค้าแนวใหม่ในต่างประเทศสำหรับแบรนด์ SIRIVANNAVARI จากกระทรวงพาณิชย์, รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับ ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จากบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
.
เกี่ยวกับสำนวนคดีของศาลแพ่งกรณีมีคำพิพากษาสั่งยึดวังศุโขทัยในสมัยรัชกาลที่ 7 นั้น ศาลแพ่งได้แจ้งกลับมาว่าหาเอกสารดังกล่าวไม่พบ ส่วนเอกสารอื่นอีก 3 รายการข้างต้นได้ถูกส่งเข้ามาในสำนวนแล้ว
.
คดีนี้ ศาลได้กำหนดนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 1 - 4 , 8, 22 พ.ย., 6, 8 - 9, 22 - 23 ธ.ค. 2565 โดยในระหว่างนี้มีการสืบพยานโจทก์ไป 16 ปาก โดยมีทั้งพยานที่จำเป็นต้องใช้เอกสารที่ขอหมายเรียกในการถามค้าน ศาลจึงให้ค้างการถามค้านไว้ และพยานที่เบิกความในประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับพยานเอกสารดังกล่าว จึงสามารถสืบพยานได้จนจบปาก
.
ศาลได้นัดพร้อมและกำหนดนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยใหม่ในวันที่ 12 ก.ย. 2566 และ 14 มี.ค., 2 เม.ย. 2567, 17 พ.ค., 4 - 7 มิ.ย. 2567 ซึ่งในวันที่ 12 ก.ย. 2566 และ 14 มี.ค. 2567 ศาลได้มีคำสั่งให้เลื่อนคดี เนื่องจากฝ่ายจำเลยยังไม่ได้รับเอกสารสำหรับใช้ในการถามค้าน โดยเห็นว่าเอกสารที่จำเลยขอหมายเรียกสามารถพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของจำเลยได้ จึงให้เลื่อนคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
.
ต่อมาในวันที่ 17 พ.ค. 2567 มีการเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้ โดยมี เรืองฤทธิ์ บัวลอย เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน
.
ในนัดสืบพยานวันที่ 4 มิ.ย. 2567 พนักงานอัยการได้สอบถามพยานโจทก์จนเสร็จอีก 2 ปาก ได้แก่ อัฑฒ์ มาฆลักษณ์ ประธานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน สน.ดุสิต และ พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ รองผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม และทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลขอให้เลื่อนการถามค้านไปก่อน เนื่องจากยังไม่ได้รับเอกสารสำหรับใช้ในการถามค้าน แต่ศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องรอพยานเอกสารมาเพื่อถามค้าน เนื่องจากไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี
.
อย่างไรก็ตาม ทนายความและจำเลยแถลงยืนยันว่ามีความเกี่ยวข้องเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยกล่าวตามความจริง และโดยสุจริต ภายหลังศาลได้พักการพิจารณาคดีและขึ้นไปปรึกษาผู้บริหารศาลอาญา ก่อนมีคำสั่งว่า เจ้าของสำนวนคนก่อนอนุญาตให้ค้างการถามค้านไว้จนกว่าจะได้พยานเอกสาร ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนการถามค้านไปก่อนเพื่อรอพยานเอกสาร และกำหนดนัดใหม่ในวันที่ 27-28 พ.ย. 2567
.
นอกจากนี้ ศาลยังระบุว่า เอกสารเกี่ยวกับการเดินทางเข้าออกประเทศและการเดินทางไปประเทศเยอรมนีของในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่จำเป็นต้องใช้ ศาลสามารถวินิจฉัยเองได้ และไม่อนุญาตตามคำร้องขอออกหมายเรียกพยานเอกสาร
.
อานนท์และทนายจำเลยจึงได้แถลงโต้แย้งศาลที่ไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารดังกล่าวให้ แต่ไม่เป็นผล อานนท์จึงลุกขึ้นแถลงว่า เมื่อผมไม่สามารถได้รับความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลวขนาดนี้ได้ ผมขอถอดเสื้อประท้วงท่าน พร้อมถอดเสื้อนักโทษสีน้ำตาลออก เพื่อยืนยันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมของตนเอง
.
ต่อมา ในนัดสืบพยานวันที่ 27 พ.ย. 2567 ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดียังคงยืนยันไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญที่จะใช้ประกอบการถามค้านพยานโจทก์ ได้แก่ ตารางการเดินทางของรัชกาลที่ 10 และเอกสารเกี่ยวกับงบประมาณ โดยอ้างว่าการออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และให้ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ต่อ อานนท์ ในฐานะจำเลย จึงได้ถอดเสื้อประท้วงศาลเป็นครั้งที่สอง และยืนยันว่าไม่สามารถถามค้านได้เนื่องจากไม่มีพยานเอกสาร
.
ทันทีที่อานนท์ถอดเสื้อออก ศาลได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีลับ แม้ทนายจะแถลงเหตุผลตามหลักการทางกฎหมายหลายประการ แต่ผู้พิพากษายังคงยืนยันให้พิจารณาคดีโดยลับ และให้ตำรวจศาลเชิญประชาชนที่มาสังเกตการณ์คดีออกจากห้องพิจารณาคดีพร้อมทั้งยืนเฝ้าประตู ทั้งสั่งห้ามนำข้อมูลในห้องพิจารณาคดีไปเผยแพร่ อ้างว่าเนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง ทำให้อานนท์เขียนคำร้องขอตั้งข้อรังเกียจศาลและเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา แต่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้อง
.
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2567 ผู้พิพากษายังสั่งห้ามอานนท์แถลงโต้แย้งคำสั่งศาลที่ห้ามนำข้อมูลในห้องพิจารณาคดีไปเผยแพร่โดยอ้างว่าเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่อานนท์ยืนยันจะโต้แย้ง ผู้พิพากษาจึงให้ตำรวจศาลนำตัวอานนท์ออกจากห้องพิจารณาคดีลงไปขังที่ห้องขังใต้ถุนศาลแม้จะยังไม่จบการพิจารณาคดี พร้อมสั่งให้งดการสืบพยานจำเลย และนัดวันฟังคำพิพากษาทันทีในวันที่ 19 ธ.ค. 2567
.
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567 จากเหตุการณ์ดังกล่าว อานนท์ได้ยื่นคำร้องตั้งข้อรังเกียจศาล, คำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตลอดจนยื่นคำร้องให้มีการสอบสวนและดำเนินการทางวินัย ต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ประธานศาลฎีกา และคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เพื่อโต้แย้งความไม่เป็นธรรมในกระบวนการพิจารณาคดีนี้ นอกเหนือจากการถอดเสื้อประท้วงในห้องพิจารณา
.
ตลอดจน ในวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้จัดงานเสวนา “ถ้าใครพูด จะจับขังให้หมด” เสวนาจากห้องพิจารณาคดีลับ และความเป็นกลางของผู้พิพากษา โดยได้ส่งหนังสือเชิญให้โฆษกศาลยุติธรรมเข้าร่วมวงเสวนา แต่ก็ไม่มีการตอบรับเข้าร่วมงานแต่อย่างใด (ดูไลฟ์วงเสวนาย้อนหลัง)
.
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2567 ทนายความจำเลยได้เปิดเผยว่าหนังสือร้องเรียนทุกฉบับที่ได้ยื่นไปเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567 ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าคำร้องอยู่ในระหว่างดำเนินการ แต่ไม่ได้แจ้งว่าจะมีผลอย่างไร
.
พรุ่งนี้ (19 ธ.ค. 2567) ศูนย์ทนายความฯ จึงขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมการสังเกตการณ์คดีเพื่อยืนยันว่าการอ่านคำพิพากษาต้องเป็นไปโดยเปิดเผย แม้ในคดีที่ศาลสั่งพิจารณาลับ ตามหลักการพิจารณาคดีอาญาโดยเปิดเผย (Public Trial) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Right to Fair Trial) และร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจของตุลาการในฐานะผู้ควบคุมการดำเนินคดีและวิธีการปฏิบัติต่อคู่ความ
.
.
อ่านข่าวบนเว็บไซต์ : https://tlhr2014.com/archives/71793

https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/995644639072673