วันจันทร์, ธันวาคม 30, 2567

คนส่วนมากอาจคิดว่า การมอบของขวัญเพื่อแสดงไมตรีจิตในโอกาสต่าง ๆ จัดเป็นพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์เท่านั้น แต่มีน้อยคนที่จะทราบว่า สัตว์โลกหลากหลายชนิดพันธุ์ก็รู้จักมอบของขวัญแทนใจให้คู่รักและเพื่อนฝูงด้วยเช่นกัน



สัตว์โลกที่มอบของขวัญให้กันมีชนิดไหนบ้าง ?

จัสมิน ฟ็อกซ์-สเคลลี
บีบีซี ฟิวเจอร์
29 ธันวาคม 2024

คนส่วนมากอาจคิดว่า การมอบของขวัญเพื่อแสดงไมตรีจิตในโอกาสต่าง ๆ จัดเป็นพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์เท่านั้น แต่มีน้อยคนที่จะทราบว่า สัตว์โลกหลากหลายชนิดพันธุ์ก็รู้จักมอบของขวัญแทนใจให้คู่รักและเพื่อนฝูงด้วยเช่นกัน

หากการเปิดห่อของขวัญในช่วงเช้าของวันเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส ทำให้คุณต้องรู้สึกผิดหวังอย่างแรงอีกครั้ง เพราะของขวัญข้างในคือถุงเท้าคู่ใหม่ที่ได้รับเป็นประจำเหมือนกันทุกปี ในสถานการณ์เช่นนี้ คุณอาจคิดบวกเพื่อให้รู้สึกดีขึ้นนิดหน่อยได้ว่า โชคดีแค่ไหนแล้วที่คุณเกิดเป็นมนุษย์ ไม่ใช่แมลงแมงป่อง (scorpionfly) ตัวเมีย ซึ่งจะได้เพียงแค่ก้อนน้ำลายที่แข็งและแห้งเป็นของขวัญจากคู่ชีวิตของมัน

ทว่าความแตกต่างระหว่างมนุษย์เพศหญิงกับแมลงแมงป่องตัวเมียนั้น อยู่ที่สัตว์ชนิดพันธุ์หลังจะชื่นชอบและรู้สึกดื่มด่ำเพลิดเพลินไปกับการลิ้มรสก้อนน้ำลายของตัวผู้อย่างมาก จนมันตกลงยินยอมให้ผู้มอบของขวัญสุดพิเศษนี้ ได้มีโอกาสผสมพันธุ์ด้วยในที่สุด

การมอบของขวัญที่เป็นเสมือนสินสอดทองหมั้นนี้ สัตว์ตัวผู้จะมอบชิ้นอาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการให้แก่ตัวเมีย ในระหว่างที่กำลังเกี้ยวพาราสีหรือจับคู่ผสมพันธุ์กัน โดยพฤติกรรมดังกล่าวสามารถพบได้ในสัตว์หลากหลายชนิดพันธุ์หรือสปีชีส์ ตั้งแต่หอยทากและไส้เดือนดินไปจนถึงหมึกกล้วยและนกนานาชนิด ตัวอย่างเช่นนกอีเสือเทาใหญ่ (great grey shrike) จะเสียบเหยื่อตัวเล็ก ๆ ด้วยเขาสัตว์หรือกิ่งไม้ ก่อนจะคาบมามอบเป็นของกำนัลให้ตัวเมียที่มันหมายปองอยู่

แต่ถึงกระนั้น พฤติกรรมการมอบของขวัญจะพบได้บ่อยที่สุดในหมู่สัตว์จำพวกแมลงและแมงมุม ตัวอย่างเช่นผีเสื้อเบอร์เน็ตหกจุด (six spots burnet moth) ตัวผู้ จะให้สารไซยาไนด์ที่ตัวเมียต้องการผ่านทางสเปิร์มของมัน ส่วนแมงมุมใยอนุบาล (nursery web spider) จะห่อของขวัญโดยใช้ใยแมงมุมพันหุ้มเหยื่อที่เป็นอาหารเอาไว้อย่างสวยงาม ก่อนจะใส่สารเคมีที่เป็นเสมือนยาเสน่ห์ลงไปด้วย ซึ่งหากตัวเมียปฏิเสธที่จะรับของแทนใจดังกล่าว มันจะนำของขวัญชิ้นนั้นมาห่อใหม่ให้แน่นหนาขึ้น ก่อนจะนำกลับไปส่งมอบให้อีกครั้งหนึ่ง

บางครั้งแมงมุมใยอนุบาลตัวผู้จอมเจ้าชู้ก็แอบใช้กลโกงกับตัวเมีย โดยห่อซ่อนของขวัญที่เป็นเหยื่อคุณภาพต่ำ หรือชิ้นอาหารเล็ก ๆ ที่กัดกินไปแล้วกว่าครึ่งเอาไว้ในใยแมงมุม แล้วจึงฉวยโอกาสที่ตัวเมียง่วนกับการแกะห่อของขวัญที่เธอคิดว่าเป็นของล้ำค่าอยู่นั้น เข้าผสมพันธุ์อย่างรวดเร็วและรีบหนีไปก่อนที่ตัวเมียจะทันรู้ตัว ผลการศึกษาวิจัยหนึ่งพบว่า ของขวัญจากแมงมุมใยอนุบาลตัวผู้กว่า 70% เป็นของปลอมที่กินไม่ได้


แมงมุมใยอนุบาล (nursery web spider) หลอกล่อตัวเมียให้ยอมผสมพันธุ์ด้วยห่อของขวัญ โดยตัวผู้จะใช้ใยแมงมุมพันหุ้มเหยื่อที่เป็นอาหารเอาไว้ ก่อนจะใส่สารเคมีที่เป็นเสมือนยาเสน่ห์ลงไปด้วย

"มีตัวผู้ที่พยายามจะโกง โดยห่อขาเก่า ๆ แห้ง ๆ ของจิ้งหรีดหรืออะไรทำนองนั้นไว้ข้างใน" ดาร์รีล เกว็น นักนิเวศวิทยาพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยโทรอนโตของแคนาดากล่าว

"ที่ริมฝั่งแม่น้ำใกล้บ้านฉันตอนฤดูใบไม้ผลิ จะมีแมลงวันกระโดด (dance fly) ตัวผู้ พากันออกมาจับแมลงที่อาศัยอยู่บนผิวน้ำ เมื่อมันนำเหยื่อที่ล่าได้กลับไปมอบให้ตัวเมีย บรรดาสาว ๆ จะตรงเข้ามารุมยื้อแย่ง เพราะพวกมันไม่อาจล่าเหยื่อได้ด้วยตนเอง รวมทั้งต้องการสารอาหารที่จำเป็นต่อการผลิตไข่นี้อย่างมาก ครั้งหนึ่งฉันเห็นตัวผู้หอบปุยที่แตกออกมาจากเมล็ดของต้นหลิว (willow) ก้อนใหญ่ แล้วแสร้งนำมามอบเป็นของกำนัลให้ตัวเมีย แต่ปุยของเมล็ดต้นหลิวนี้กินไม่ได้"

แม้เล่ห์กลโกงนี้ดูจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ในระยะสั้น แต่เมื่อแมลงตัวเมียแกะห่อของขวัญเสร็จแล้วพบว่าถูกหลอก มันจะปฏิเสธไม่ยอมรับตัวผู้ในทันที นั่นหมายความว่าแมลงตัวผู้ที่มอบของขวัญปลอมจะมีเวลาในการผสมพันธุ์น้อยมาก ประกอบกับการที่แมลงวันตัวเมียมักจะผสมพันธุ์กับตัวผู้มากหน้าหลายตา สเปิร์มจากตัวผู้ที่ใช้เล่ห์กลโกงจึงมีโอกาสได้ผสมกับไข่น้อยลง ซึ่งเท่ากับว่าพวกมันสูญเสียโอกาสในการส่งต่อพันธุกรรมในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ยังมีแมลงบางชนิดที่ยอมมอบของขวัญอันล้ำค่าสูงสุดให้กับตัวเมีย นั่นก็คือการเสียสละอวัยวะของตนเองเป็นอาหารให้กับคู่รัก ตัวอย่างเช่นจิ้งหรีดต้นเซจบรัช (sagebrush cricket) จะยอมให้ตัวเมียแทะชิมปีกหลังหรือดูดน้ำเลี้ยงในร่างกายที่คล้ายกับเลือดผสมน้ำเหลือง (haemolymph) ในระหว่างที่กำลังผสมพันธุ์กัน ซึ่งผลการวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า จิ้งหรีดตัวผู้ที่อดทนให้ตัวเมียกัดกินอวัยวะได้นานจนผสมพันธุ์ได้สำเร็จลุล่วงนั้น แทบจะไม่มีโอกาสได้จับคู่ผสมพันธุ์กับตัวเมียตัวอื่นอีก เพราะหมดเรี่ยวแรงและสูญเสียพลังชีวิตไปจนเกือบหมดนั่นเอง

ส่วนในกรณีของแมงมุมหลังแดง (red back spider) เหล่าตัวผู้ถึงกับยอมสละชีวิตเพื่อความรัก โดยจะตีลังกากลับหลังเพื่อยื่นส่วนปลายท้องเข้าไปในปากตัวเมีย ให้พวกเธอค่อย ๆ เคี้ยวมันเล่นเป็นของว่างระหว่างการผสมพันธุ์ ซึ่งในที่สุดร่างกายของตัวผู้จะถูกกลืนกินเข้าไปทั้งหมด

เกว็นอธิบายว่า "ในแง่หนึ่งเราอาจมองว่า การจับคู่ผสมพันธุ์ของแมงมุมหลังแดงเป็นอันตรายต่อตัวผู้ เพราะพวกมันต้องสละชีวิต แต่จากมุมมองเรื่องความเหมาะสมต่อการมีโอกาสอยู่รอด (Darwinian fitness) การได้ผสมพันธุ์กับตัวเมียถือเป็นโชคใหญ่หลวงที่ประสบพบพานได้ยาก การยอมสละตนเองเป็นอาหารมื้อใหญ่เพื่อหลอกล่อให้ตัวเมียมัวแต่สนใจกับการกินนั้น ช่วยยืดเวลาของการผสมพันธุ์ให้ยาวนานออกไป และช่วยให้ตัวผู้ส่งสเปิร์มเข้าไปในร่างกายของตัวเมียได้มากขึ้น ซึ่งผลก็คือตัวผู้ตัวนั้นจะมีลูกหลานมากมายยิ่งกว่าเพื่อนอย่างแน่นอน"

ในปี 2022 ถัง ฉู่เฟย นักกีฏวิทยาชาวจีนจากสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งมณฑลเจียงซูและคณะ พบกรณีตัวอย่างของการมอบของขวัญในหมู่แมลงยุคดึกดำบรรพ์ โดยพบซากฟอสซิลของแมลงวันตัวผู้ในสกุล Alavesia ฝังอยู่ในก้อนอำพันอายุเก่าแก่ถึง 99 ล้านปี แมลงวันตัวดังกล่าวกำลังจับฟองอากาศที่ว่างเปล่า ซึ่งสร้างมาจากน้ำลายที่เป็นฟองฟอดของมันเองเอาไว้ด้วยขาหลายข้าง


นกปีกลายสกอต (Eurasian jay) จับคู่แบบผัวเดียวเมียเดียวตลอดชีวิต สิ่งของที่พวกมันมอบให้กันจึงถือเป็นของขวัญ มากกว่าการติดสินบนเพื่อให้ได้ผสมพันธุ์

แม้ตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเป็นของขวัญจำพวกสินสอดทองหมั้นที่ตัวผู้มอบให้กับตัวเมีย ซึ่งส่วนใหญ่ตัวเมียจะได้ประโยชน์จากสารอาหารที่มากับของกำนัลแทนใจด้วย แต่ก็มีสัตว์บางชนิดที่สามารถมอบของขวัญด้วยจุดประสงค์เพียงเพื่อเอาใจผู้รับ โดยไม่หวังผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่นโลมาที่เคยมอบอาหารทะเลอย่างปลาไหล, ปลาทูน่า, และหมึกให้กับมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับอีกาแสนรู้ ซึ่งชอบคาบของกระจุกกระจิกมาให้คนที่เคยช่วยเหลือมันมาก่อนด้วย

"ฉันเคยได้ของขวัญจากอีกา อย่างเช่นถั่ววอลนัท, ผลมะกอก, ฝาปิดขวดเบียร์, และจุกไม้คอร์กจากขวดไวน์" ศาสตราจารย์นิโคลา เคลย์ตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสติปัญญาเปรียบเทียบ (comparative cognition) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าว "โชคยังดีที่พวกมันไม่คาบซากสัตว์ที่ถูกรถเหยียบมาให้ เนื่องจากฉันกินมังสวิรัติ ก็เลยอยากจะได้ของขวัญอย่างเครื่องประดับสักชิ้นมากกว่า"

นกปีกลายสกอต (Eurasian jay) ซึ่งเป็นสัตว์ในวงศ์นกกา สามารถจะมอบของขวัญให้คู่ของมันได้ เพียงเพราะมันรู้สึกพอใจและมีความสุขกับการให้เท่านั้น โดยในการทดลองหนึ่ง ศ.เคลย์ตันและคณะวิจัยพบว่า หลังจากที่นกปีกลายสกอตตัวผู้ได้เห็นตัวเมียกินหนอนหรือผีเสื้อแล้ว เมื่อมันได้อาหารอันโอชะบางชนิดมาหลังจากนั้น มันจะเลือกมอบของฝากเป็นอาหารชนิดที่ต่างออกไปจากมื้อล่าสุดให้กับตัวเมีย ซึ่งแสดงว่านกตัวผู้เข้าใจดีว่าคู่ของมันน่าจะอยากกินอาหารชนิดใหม่ ๆ ที่ไม่จำเจน่าเบื่อ

ศ.เคลย์ตัน อธิบายถึงผลการทดลองนี้ว่า "มันก็เหมือนกับคุณออกไปกินอาหารค่ำนอกบ้านที่ภัตตาคาร หลังจากที่เพิ่งจะกินสปาเก็ตตีโบโลเนสจานใหญ่ไปหยก ๆ หากเพื่อนถามคุณว่าจะสั่งสปาเก็ตตีโบโลเนสอีกจานไหม ? คุณคงจะปฏิเสธอย่างแน่นอน แต่น่าจะสามารถสั่งขนมหรือของว่างชนิดอื่น ๆ มากินเล่นได้บ้าง"

"พฤติกรรมนี้ไม่ต่างจากนกปีกลายสกอตตัวผู้ ที่รู้จักคิดได้ว่าคู่ของมันต้องการอะไร และสามารถหาของฝากมามอบให้ได้ตรงกับความต้องการของตัวเมีย โดยการเลือกของขวัญนี้ไม่เกี่ยวข้องกับความต้องการของตัวมันเองเลย"


ลิงโบโนโบซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดของมนุษย์ ในบางครั้งจะมอบของกำนัลให้กับลิงแปลกหน้าจากฝูงอื่นด้วย

การมอบของขวัญแบบทำเพื่อผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนนี้ ยังพบได้ในลิงโบโนโบ (bonobos) ซึ่งเป็นลิงใหญ่ที่มีพันธุกรรมใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด เนื่องจากมีดีเอ็นเอที่เหมือนกันถึง 99% โดยผลการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อปี 2023 พบว่าลิงโบโนโบสามารถจะมีน้ำใจมอบสิ่งของให้กับลิงแปลกหน้าจากต่างฝูงได้ เช่นอาจจะแบ่งปันกล้วยหรือแอปเปิล หรือแม้แต่ยกอาหารของตัวเองทั้งหมดในมื้อนั้นให้ เพื่อสร้างมิตรภาพอันดีกับลิงแปลกหน้าที่ได้พบ

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการมอบของขวัญในสัตว์ชนิดพันธุ์ต่าง ๆ มีความหลากหลายในเรื่องสาเหตุและแรงจูงใจเบื้องหลัง เช่นสัตว์จำพวกแมลงและแมงมุมมีพฤติกรรมดังกล่าวเพื่อส่งเสริมการเจริญพันธุ์ แต่สัตว์ในวงศ์นกกาและลิงโบโนโบกลับมีพฤติกรรมแบบเดียวกัน เพียงเพื่อแสวงหาความสุขจากการให้โดยไม่หวังผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม ทั้งยังสามารถมอบของขวัญเพื่อกระชับความสัมพันธ์ฉันมิตรและสร้างสายใยทางสังคมได้อีกด้วย ซึ่งไม่ต่างจากที่คนเรามอบของขวัญให้แก่กันในเทศกาลเฉลิมฉลอง ซึ่งก็รวมถึงเทศกาลคริสต์มาสและส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่กำลังใกล้เข้ามาแล้ว

"ในโลกของแมลง ตัวผู้มอบของขวัญเพื่อที่จะได้จับคู่ผสมพันธุ์กับตัวเมีย แต่ในกรณีของนกปีกลายสกอต พวกมันอยู่กันแบบผัวเดียวเมียเดียวตลอดชีวิต ของขวัญที่นกตัวผู้หามาให้ตัวเมียจึงไม่ใช่สินบนเพื่อโอกาสในการผสมพันธุ์" ศ.เคลย์ตัน กล่าวสรุป "นกที่อยู่ในวงศ์อีกาฉลาดมาก ทั้งยังมีอายุยืนอีกด้วย ดังนั้นการรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมในหมู่พวกมันให้ยั่งยืนยาวนานหลายปี จึงถือว่าเป็นเรื่องยาก การมอบของขวัญจึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อแสดงถึงความรักความผูกพัน และความชื่นชมยินดีที่มีต่อกัน"

https://www.bbc.com/thai/articles/c98lg7n38x6o