วันพุธ, ธันวาคม 25, 2567

เรื่องราวในห้องพิจารณาเชียงใหม่วันนี้ อานนท์ นำภา มาขึ้นศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในคดีมาตรา 112 ที่อานนท์อภิปรายไว้ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อปลายปี 2563 พรุ่งนี้ยังมีอีกวัน!


ภาพจาก Lanner

อานนท์ นำภา
9 hours ago
·
เรื่องราวในห้องพิจารณาเชียงใหม่วันนี้ พรุ่งนี้ยังมีอีกวัน!

ภัควดี วีระภาสพงษ์
10 hours ago
·
วันนี้ 24 ธันวาคม 2567 อานนท์ นำภา มาขึ้นศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในคดีมาตรา 112 ที่อานนท์อภิปรายไว้ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อปลายปี 2563 อานนท์ถูกฟ้อง 112 จากการอภิปรายเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายที่โอนถ่ายให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เคยเป็นสมบัติสาธารณะ เช่น พระราชวัง รัฐสภาเก่า ลานพระบรมรูปทรงม้า หุ้นต่างๆ ฯลฯ เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 10
วันนี้พวกเราทั้งคนที่อยู่เชียงใหม่และเพื่อนพ้องน้องพี่ที่มาจากกรุงเทพ ไม่สามารถเข้าฟังในห้องพิจารณาคดีได้ เพราะห้องพิจารณาคดีมีขนาดเล็กมาก ที่นั่งเต็ม ทางศาลจังหวัดจัดถ่ายทอดให้ดูในห้องสมุด ก็นะ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ก็ยังเป็น “ศาลบ้านนอก” (ตามคำกล่าวของเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง) (แต่เราเคยไปศาลขอนแก่น มีห้องใหญ่อยู่นะ) ได้ข่าวว่ากำลังจะสร้างศาลจังหวัดเชียงใหม่แห่งใหม่ให้โอ่โถงใหญ่โตกว่านี้ เราก็หวังว่าความยุติธรรมที่อำนวยให้แก่ประชาชนจะใหญ่โตตามไปด้วย ไม่ใช่สวนทางกัน
อย่างไรก็ตาม ขอชมเจ้าหน้าที่ศาลว่าสุภาพเรียบร้อยน่ารักมาก มีความพยายามอะลุ้มอล่วย และช่วยให้พวกเราได้ทักทายอานนท์เท่าที่ข้อจำกัดจะเอื้อให้ทำได้ ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ คราวก่อนที่เรากับพี่สมยศเคยไปยื่นจดหมายที่ศาล เจ้าหน้าที่ศาลก็ดูแลดีเช่นกัน
วันนี้เป็นการไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ ซึ่งตอนแรกบอกว่ามี 3 คน แต่มาแค่ 2 คน คนหนึ่งเป็นอาจารย์กฎหมาย สถาบันไหนจำไม่ได้ อีกคนคือตำรวจที่อยู่ในคณะสอบสวนของคดีนี้ ส่วนพยานโจทก์คนที่ 3 ที่ไม่มา คือ ดร.พรชัย วิสุทธิศักดิ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องพยานโจทก์ไม่มาตามนัดนี้เกิดขึ้นตลอด มันทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า ผลเสียก็ตกอยู่กับฝ่ายจำเลย เราไม่รู้ว่าศาลมีมาตรการจัดการอะไรบ้างหรือไม่
การซักค้านของทนายจำเลยโดยทนายรอน มีประเด็นหนึ่งคือ ถึงแม้พยานฝ่ายโจทก์เป็นนักวิชาการด้านกฎหมาย แต่ไม่เคยปรากฏผลงานวิชาการในระดับชาติในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 หรือเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ในการซักค้านตำรวจที่อยู่ในคณะสอบสวน ตำรวจก็ยอมรับว่าไม่เคยส่งจดหมายไปสอบถามทางศาลถึงรายชื่อของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ ดังนั้น สุดท้ายตำรวจก็ไม่สามารถตอบชัดเจนได้ว่า ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเลือกพยานผู้เชี่ยวชาญ และประเด็นนี้จะเห็นชัดในการซักค้านอาจารย์ผู้หญิง (ชื่อพรทิพย์ ถ้าจำไม่ผิด) เพราะพอถามไปถามมา พยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายโจทก์ก็ขอตอบว่าไม่ทราบหรือไม่มีความเห็น ตำรวจเองก็เช่นกัน พอถามว่าได้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่จำเลยอภิปรายหรือความสุจริตในการแสดงความคิดเห็นของจำเลยหรือไม่ ก็บอกว่าไม่ได้ตรวจสอบ ไม่มีความคิดเห็น ไม่ทราบ ฯลฯ ----ค่ะ ไม่มีความคิดเห็น แต่ฟ้องได้เนาะ
พอสอบพยานโจทก์ที่มาแค่ 2 ปากเสร็จ อานนท์ขอขึ้นให้การในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายจำเลย พวกเราก็เลยได้ฟังอานนท์ “เล็คเชอร์” ยาวๆ เกี่ยวกับที่มาที่ไปที่ทำให้อานนท์ออกมาอภิปรายเรื่องในหลวงรัชกาลที่ 10 ประเด็นหลักมี 3 ประการคือ การขยายพระราชอำนาจในทางการปกครอง เรื่องที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากผ่านประชามติไปแล้ว การขยายพระราชอำนาจในทางการทหาร ที่มีการโอนถ่ายหน่วยทหารสองหน่วยมาขึ้นต่อพระมหากษัตริย์ ทำให้ภายในประเทศมีกำลังทหารสองหน่วยที่ไม่ขึ้นต่อกัน กล่าวคือ มีหน่วยทหารที่รัฐบาลควบคุมไม่ได้ จนมีการแบ่งทหารออกเป็นคอแดงกับคอไม่แดง และประการที่สามคือ การขยายพระราชอำนาจในทางพระราชทรัพย์ เรื่องการโอนถ่ายพระราชทรัพย์ที่เคยเป็นสมบัติสาธารณะมาเป็นส่วนพระองค์ดังที่พูดไปแล้วตอนต้น
มีประเด็นหนึ่งที่อานนท์บอกว่าสำคัญมาก และทนายจำเลยก็ขอให้ศาลบันทึก นั่นคือ อานนท์บอกว่า ทั้งหมดนี้มันอยู่ที่แว่นที่เราใช้มองสถาบันกษัตริย์ ถ้าเราใช้แว่นสมบูรณาญาสิทธิราชย์มองดูพระมหากษัตริย์ พระองค์ย่อมเป็นที่เคารพสักการะแบบที่แตะต้องไม่ได้ ถ้าวิพากษ์วิจารณ์ก็ย่อมมีความผิดแน่นอน แต่ถ้าเราใช้แว่นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมองพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ก็ต้องดำรงพระองค์ตามหลักการ The King can do no wrong ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง มีผู้สนองพระราชโองการทุกครั้ง และวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยสุจริต
หลังจากนั้น อัยการพยายามจะซักค้านอานนท์ โดยยกเรื่องว่าอานนท์ไม่ได้เอ่ยข้อกฎหมายหรือคัดอ้างข้อความในกฎหมายมาพูดก่อนอภิปราย และเหมือนจะชักนำไปในทางว่า ผู้มาฟังอภิปรายไม่ได้เรียนกฎหมายทุกคน ซึ่งอานนท์ก็บอกว่าไม่ได้กำลังสอนในคณะนิติศาสตร์ แต่พูดให้คนทั่วไปฟัง พวกเราในห้องถ่ายทอดก็นั่งขำ เพราะประเด็นนี้มันไม่ค่อยเข้าท่านัก การที่คนทั่วไปไม่ได้เรียนกฎหมาย ไม่ใช่แปลว่า “ไม่รู้กฎหมาย” น้องวันที่นั่งข้างเราก็พูดขึ้นมาว่า ไม่ได้เรียนกฎหมายมา ก็ต้องรู้ว่าขับรถย้อนศรไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น พวกเราคนฟังก็กำลังงงว่าอัยการจะพาไปทางไหนเหรอถึงยกเรื่องนี้ขึ้นมา แต่อยู่ดีๆ อัยการก็ตัดจบไม่ถามต่อดื้อๆ ซึ่งก็ดีแล้ว เพราะมันจะไม่พาไปไหนหรอก
เราเห็นด้วยกับประเด็นที่อานนท์บอกว่าสำคัญมาก นั่นคือ แว่นที่ใช้มองพระมหากษัตริย์ การจะให้คนไทยใช้แว่นแบบไหนในการมองสถาบัน ก็ควรกำหนดเรื่องนี้ไปเลยในรัฐธรรมนูญ นั่นคือ ว่ากันให้ชัดเจนว่าประเทศเราปกครองด้วยระบอบอะไร ถ้าเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชก็เป็นแว่นสมบูรณาญาสิทธิราช ถ้าเป็นประชาธิปไตยก็เป็นแว่นประชาธิปไตย การกำหนดในรัฐธรรมนูญว่าปกครองระบอบหนึ่ง แต่บังคับจะให้ใช้แว่นอีกแบบหนึ่ง ปัญหามันไม่จบสิ้น และมันจะทำให้ทั้งระบอบคลอนแคลนไปหมด
ทั้งหมดก็เขียนมาจากความจำ คนอื่นที่ไปฟังด้วยกัน ถ้ามีส่วนไหนเราจำผิดหรือตกหล่น ก็ช่วยทักท้วงด้วย
พรุ่งนี้มีการสืบพยานจำเลย อ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล และ อ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ใครว่างก็ชวนมาฟังที่ศาลค่ะ

https://www.facebook.com/xannth.na.pha/posts/27990148167266547
.....