วันพุธ, ธันวาคม 25, 2567

“อานนท์” เบิกความคดี ม.112 ปราศรัยที่หอศิลป์ มช.ปี 63 วิจารณ์กษัตริย์เข้ามาแก้รัฐธรรมนูญและการแก้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สิน เป็นการขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์ทั้งทางการปกครอง การทหาร และพระราชทรัพย์ ขัดระบอบประชาธิปไตย-รัฐธรรมนูญ



อานนท์' ขึ้นศาลเชียงใหม่สู้คดีปราศรัยวิจารณ์การขยายพระราชอำนาจ

24 ธันวาคม 2567
ประชาไท

“อานนท์” เบิกความคดี ม.112 ปราศรัยที่หอศิลป์ มช.ปี 63 วิจารณ์กษัตริย์เข้ามาแก้รัฐธรรมนูญและการแก้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สิน เป็นการขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์ทั้งทางการปกครอง การทหาร และพระราชทรัพย์ ขัดระบอบประชาธิปไตย-รัฐธรรมนูญ

24 ธ.ค. 2567 เวลาประมาณ 09.30 น. ศาลจังหวังเชียงใหม่นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดี ม.112 ของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชน กรณีปราศรัยที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบๆ” ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรม มช. เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563 โดยศาลเชียงใหม่ได้การจำกัดจำนวนผู้เข้าฟังในห้องพิจารณาคดีอานนท์เฉพาะคนที่เกี่ยวข้อง ส่วนคนอื่นศาลได้มีการจัดห้องถ่ายทอดสดการพิจารณาคดีไว้ให้ มีประชาชนราว 20 คนเข้ารับฟังการถ่ายทอด โดยจะต้องลงชื่อเข้ารับฟังพร้อมกรอกข้อมูลชื่อ เลขบัตรประชาชน และเบอร์โทรศัพท์

การจัดห้องถ่ายทอดสดการพิจารณาคดีครั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ทำหนังสือแจ้งศาลไว้ล่วงหน้า เนื่องจากการสืบพยานคดีอานนท์ครั้งก่อนหน้านี้มีประชาชนสนใจเข้าฟังจำนวนมาก แต่ศาลไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าฟัง

วันนี้ (24 ธ.ค. 2567) เป็นการสืบพยานฝั่งโจทก์ทั้งหมด 3 ปากเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ และตำรวจสอบสวน แต่อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พยานฝ่ายโจทก์อีกปากหนึ่งไม่มาศาลตามนัด ทำให้ศาลเลื่อนอานนท์ในฐานะพยานจำเลยขึ้นมาสืบแทน

อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท พยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายฝั่งโจทก์ ให้การว่าข้อความ 3 ข้อความที่ตำรวจสอบสวนใช้แจ้งข้อกล่าวหาอานนท์ ทั้งประเด็นที่อานนท์ปราศรัยถึงการโอนย้ายทรัพย์สินของแผ่นดินให้พระมหากษัตริย์นำไปใช้ได้ตามอัธยาศัย การโอนหุ้นไทยพาณิชย์และบริษัทปูนซีเมนต์ไทย นั้นตนเห็นว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่นและแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตาม ม.112

ทนายจำเลยถามค้านพยานผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยนอร์ทว่าพยานไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรม และไม่เคยมีผลงานทางด้านวิชาการเกี่ยวกฎหมาย ม.112 หรือสถาบันกษัตริย์ แต่กลับได้รับเชิญมาเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดี ม.112 ถึง 5 คดี พยานตอบว่าใช่

ทนายจำเลยถามพยานต่อว่า ได้เห็นข้อความทั้งหมดที่อานนท์ปราศรัยว่า คสช.เป็นผู้เอาทรัพย์สินของแผ่นดินไปมอบให้พระมหากษัตริย์องค์เดียวใช่หรือไม่ พยานผู้เชี่ยวชาญตอบยืนยันว่าการพูดของอานนท์เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่สุจริต เป็นการวิจารณ์กษัตริย์ไม่ใช่ คสช.

ทนายจำเลยถามค้านพยานว่า อานนท์ได้ปราศรัยโดยอิงตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2560 ถูกต้องหรือไม่ พยานผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่าการปราศรัยโดยกล่าวถึงกฎหมายจริง

อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์รายนี้ขอไม่แสดงความเห็นเมื่อทนายจำเลยถามว่า การปราศรัยของอานนท์ทำไปด้วยความปราถนาดีต่อแผ่นดินใช่หรือไม่เพราะเป็นการพูดถึงประเด็นทางกฎหมายในการส่งต่อทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2560 อาจตกสู่ผู้ที่เป็นทายาทตามกฎหมายมรดกแทนรัชกาลถัดไป

ส่วนพนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ พยานฝ่ายโจทก์ยอมรับว่า ตอนที่ไปแจ้งข้อหาจำเลยที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ จำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาตั้งแต่ชั้นสอบสวน โดยการสอบสวนดังกล่าวเป็นการมุ่งแสวงหาแต่ข้อเท็จจริงในการปราศรัยตามที่เจ้าหน้าที่ถอดเทปมาหรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นการสอบสวนถึงเจตนาเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยปราศรัยโดยสุจริตซึ่งจะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

จากนั้นอานนท์ขึ้นเบิกความต่อในฐานะพยานจำเลยว่า เขาปราศรัยถึงสิ่งที่ตนเองและคนรุ่นใหม่ตั้งคำถามต่อการขยายพระราชอำนาจ 3 ประการ ได้แก่ พระราชอำนาจด้านการปกครอง, การทหาร และทางพระราชทรัพย์ และการขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์ในทั้ง 3 ประเด็นนี้ยังขัดกับข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างสถาบันกษัตริย์กับคณะราษฎรหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ. 2475 ที่พระมหากษัตริย์จะอยู่ภายใต้การปกครองระบบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ

อานนท์ได้อ้างถึงคำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะที่ยังเป็นนายรัฐมนตรีเป็นคนให้ข่าวเมื่อ 10 ม.ค.2560 ว่ามีกระแสรับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการทำประชามติจากประชาชนเมื่อ 7 ส.ค.2559 การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วเช่นนี้ขัดต่อระบอบประชาธิปไตย และยังเป็นการเพิ่มพระราชอำนาจหลายประการ ขัดกับหลักการพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong) ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีการแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ โดยเฉพาะทหารสุภาพสตรีเป็นจำนวนมากรวมถึงองคมนตรีโดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อีกทั้งพระมหากษัตริย์ไม่ต้องแต่งตั้งผู้แทนในพระองค์ระหว่างพำนักในต่างประเทศอีกด้วย

นอกจากนั้นอานนท์ยังกล่าวถึงการโอนทหาร 2 หน่วยมาเป็นทหารในพระองค์ว่าเป็นขยายพระราชอำนาจทางการทหารทำให้มีหน่วยงานทางทหารที่ไม่ขึ้นตรงต่อรัฐ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยไม่สามารถกระทำการเช่นนี้ได้ และยังละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3

อานนท์กล่าวถึงการขยายพระราชอำนาจทางพระราชทรัพย์ ว่าหลังการเปลี่ยนแปลง 2475 คณะราษฎรได้มีการแบ่งทรัพย์สินออกเป็น 2 ส่วน คือ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์ มีสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแล กรณีนี้เคยมีความขัดแย้งมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 เคยถูกฟ้องครอบครองทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไว้เป็นส่วนพระองค์ ต่อมารัชกาลที่ 7 ต้องคืนทรัพย์สินเข้าคลังตามคำพิพากษาของศาล ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับที่ออกมาหลังจากนั้นถูกแก้ไม่ให้ประชาชนฟ้องพระมหากษัตริย์ได้

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่ออกมาในพ.ศ. 2560 และ 2561 ให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตกทรัพย์สินส่วนพระองค์และใช้ได้ตามพระราชอัธยาศัย การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวทำให้สามารถถ่ายโอนทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ไปเป็นของส่วนพระองค์ได้อย่างสมบูรณ์ เช่น การโอนหุ้นไทยพาณิชย์ ปูนซีเมนต์ หรือการการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินหลายแปลงไปเป็นของส่วนพระองค์ เช่น ลานพระบรมรูปทรงม้าหรือรัฐสภาเดิม ฯลฯ ทำให้ทรัพย์เหล่านี้อาจตกทอดสู่บุคคลอื่นได้ตามกฎหมายมรดกหากพระมหากษัตริย์ระบุในพินัยกรรม

อานนท์กล่าวว่าหากเหตุการณ์เกิดขึ้นตามที่ตนคาดการณ์จะเป็นการไม่เหมาะสม ประชาชนจึงต้องออกมาติเตียนหรือวิพากษ์วิจารณ์และข้อความที่ตนปราศรัยยังอ้างอิงตามหลักการทางกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ด้วยความห่วงใยสถาบันพระมหากษัตริย์

https://prachatai.com/journal/2024/12/111823