วันจันทร์, ธันวาคม 30, 2567

'ตลาดล่าง' เรื่องของรสนิยมหรือความไม่เท่ากันในสังคม



'ตลาดล่าง' เรื่องของรสนิยมหรือความไม่เท่ากันในสังคม

ไม่ใช่แค่คำเสียดสี หาก ‘ตลาดล่าง’ คือความไม่เท่ากันของสังคมที่ทั้งรายได้และภาพลักษณ์ ถูกผลักจากคนกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่ม

By อรรถภูมิ อองกุลนะ
29 มี.ค. 2019
กรุงเทพธุรกิจ

คุณูปการของโซเชียลมีเดียทำให้เราได้พบกับเพื่อนใหม่ที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน เกิดเป็นกลุ่มก้อนที่เกาะเกี่ยวกันด้วยรสนิยม ชื่นชอบกิจกรรม ภักดีกับแบรนด์สินค้าเดียวกัน หลงใหลในศิลปะและทิศทางข่าวสารที่คล้ายคลึงกัน

หากเมื่อโลกฉบับย่อๆ ถูกทำให้เห็นในแพลตฟอร์มเดียวกัน ระหว่างที่เราเห็นด้วยและชื่นชมคนด้วย ‘รสนิยม’ เดียวกัน อีกมุมหนึ่งเราก็พร้อมจะถกเถียง กระทั่งต่อว่ากับคนเห็นต่าง มีตั้งแต่เหยียดหยามในเรื่องมุมมองการเมือง มุมมองทางสังคม พฤติกรรมดำรงชีวิต จนเกิดนิยามใหม่ๆ เช่น ‘ตลาดล่าง’ ซึ่งออกไปในทางดูแคลนว่า เป็นพวกรสนิยมไม่ดี, ใช้สินค้าราคาถูก, มีพฤติกรรมที่ต่างไปจากสิ่งที่พวกเราทำ เช่น เปิดเพลงเสียงดัง, แข่งมอเตอร์ไซค์ซิ่ง, ร้องรำอย่างสนุกสนานบนรถสองแถว

ตลาดบน-ตลาดล่าง

อันที่จริงคำว่า ‘ตลาดล่าง’ ก็มาจากคำตรงข้ามกับ ‘ตลาดบน’ ซึ่งทั้งสองมาจากศัพท์การตลาดที่ต้องการสื่อถึงกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ในแต่ละกลุ่ม

ถ้าตลาดบน หมายถึง กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง มีฐานะดี มีการบริโภคผลิตภัณฑ์ชั้นเยี่ยม ตลาดล่างก็จะมีความหมายตรงข้ามกัน เพราะสินค้าจะมีราคาไม่สูงนัก และมักจะต้องมีจำนวนการผลิตสูงควบคู่กันไปด้วย บางคนเรียกตลาดกลุ่มนี้ว่า ‘ตลาดแมส’ (Mass) เพราะจะเน้นยอดขายมาก ๆ แต่กำไรต่อชิ้นไม่สูง

แต่ในปัจจุบัน คำว่า ตลาดล่าง กลายเป็นการใช้ระบุตัวตนของผู้บริโภคเสียมากกว่าจะกล่าวถึงสินค้า เป็นการเหยียดในเชิงคำพูด หรือ เหยียดในด้านรสนิยม บางคนให้นิยามคนกลุ่มนี้เชื่อมโยงไปถึงระดับการศึกษา ถิ่นที่อยู่อาศัย เพลงที่ฟัง หนังที่ดู เสื้อผ้าที่ใส่ ฯลฯ หนักเข้าก็เชื่อมโยงไปถึงความรุนแรง

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร บอกว่า ‘ตลาดล่าง’ ถูกใช้เป็นคำเสียดสีตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมา จากชนชั้นกลางที่พยายามถีบตัวเองให้สูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะมองคนที่แตกต่างจากตนว่าเป็นเรื่องแปลกแยก

เช่น คนกลุ่มหนึ่งอาจจะมองว่าการเดินตลาดนัดที่มีสินค้าราคาไม่แพงดูดีน้อยกว่าการเดินห้างสรรพสินค้า, การดื่มกาแฟแบรนด์ที่ Mass เข้าถึงคนหมู่มาก ดูดีไม่เท่ากับแบรนด์ที่มีราคาแพงกว่า คนเข้าถึงได้น้อยกว่า และภาพลักษณ์เหล่านั้นก็จะถูกผลิตซ้ำไปเรื่อยๆ ยิ่งเฉพาะกับสังคมออนไลน์ ที่ธรรมชาติผู้คนต้องการความรวดเร็ว อยากเข้าไปรู้เห็นในกระแสในระยะเวลาที่สั้นที่สุด แถมต้องนิยามศัพท์ให้สะใจ ได้อารมณ์ในการสื่อสาร

“ถ้ามีคำว่า ตลาด นั่นหมายถึงความมีอยู่ของชุมชน ของกลุ่มคน ซึ่งคำเรียกในเชิงการวางกลยุทธ์สินค้าก็ต้องการมีคำนั้นเพื่อให้รู้ว่ากลุ่มผู้บริโภคของเขาเป็นใคร โดยใช้เกณฑ์ของรายได้เข้ามาจับ แต่ในด้านพฤติกรรมนั้นไม่สามารถแบ่งแยกได้ชัดๆ คนที่มีรายได้ดีเขาจะมีไลฟ์สไตล์แบบนั้นทั้งหมด บางคนอาจชอบที่จะเดินตลาดนัด รับประทานอาหารร้านเดียวกับคนที่มีรายได้น้อยกว่าตัวเองหลายเท่าก็ได้”

ภาพลักษณ์ชนชั้นกลาง

การอธิบายข้างต้นนี้บอกอะไร? แน่ว่าอย่างแรกเราไม่ควรจะนิยามใครเพียงแค่ปัจจัยใดเพียงปัจจัยหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ (น่า) จะมีแต่ชนชั้นกลางเพียงเท่านั้นหรือไม่ ที่ชอบเปรียบเทียบ และสร้างบรรทัดฐานในแบบของตัวเองตลอดเวลา

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาได้สร้างชนชั้นกลางขึ้นเป็นคนกลุ่มใหม่ที่มีบทบาทมากในสังคม เปลี่ยนจากแรงงานเกษตรเป็นนายทุน จากแรงงานเป็นเจ้าของแรงงาน และการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางทำให้สังคมและเศรษฐกิจไทยพัฒนาขึ้นหลายด้าน

“ถึงเช่นนั้นในประเทศกำลังพัฒนา ชนชั้นกลางมีส่วนเอื้อให้สภาพสังคมเสื่อมลง เพราะในช่วงที่ชนชั้นกลางเริ่มมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น มักสนใจเฉพาะเรื่องของตนเองและครอบครัว มากกว่าเรื่องความเป็นไปของสังคม คุยกันแต่เรื่องความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เงินเดือนและโบนัส ใช้เวลากับการเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือให้ทันรุ่นใหม่ เลือกหุ้นที่จะลงทุนให้ได้กำไรเร็ว หาโรงเรียนดีๆ ให้ลูก วางแผนการท่องเที่ยวครั้งต่อไป หรือหาซื้อบ้านหรือคอนโดที่คาดว่าราคาจะปรับสูงขึ้น” (วิรไท สันติประภพ ‘ชนชั้นกลางกับการเปลี่ยนแปลงสังคม’ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 มีนาคม 2557)

มันจึงไม่แปลกที่ก่อนหน้านี้จะมีกระทู้ดราม่า ว่าด้วยชายคนหนึ่งโพสต์ในเฟซบุ๊กของตัวเอง อ้างว่า คนที่มีพฤติกรรม อย่างเช่น ซื้อเสื้อผ้าแบรนด์ดังตอนลดราคา ใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสแบบรายเดือน และดื่มกาแฟแบรนด์ดังแต่ไม่รู้จักแบรนด์พรีเมียมกว่านั้น เป็นพวกตลาดล่างแล้วจะถูกคนในโซเชียลรุมด่า

หรืออย่างกรณีล่าสุดที่มีกรณีวัยรุ่นงานบวชที่บุกเข้าไปในโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ระหว่างการสอบ GAT/PAT ซึ่งถูกเชื่อมโยงกับความเป็นตลาดล่างในความหมายเสียดสี ทั้งในแง่ของพฤติกรรมในงานบวช, ความรุนแรง ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมดีหรือเลว ล้วนอยู่ในสังคมเรามานาน เป็นปัญหาที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังท่ามกลางการเดินหน้าอย่างรวดเร็วในมิติเศรษฐกิจ

ล่าง-บน = ความเหลื่อมล้ำ

ไม่มีใครปฏิเสธว่า ในสังคมจะมีพวกที่ชอบใช้ความรุนแรงอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวจริงๆ และเหตุผลก็น่าจะมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะมาจากนิสัยส่วนตัวของเขา, มาจากการเลี้ยงดูสั่งสอน, การบังคับใช้กฎหมาย, อารมณ์ความโกรธผสมกับฤทธิ์แอลกอฮอล์ และอีก ฯลฯ แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือในการแบ่งแยกสังคมออกเป็นกลุ่มต่างๆ เป็นพวกเขา-พวกเรา มาจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่แบ่งให้คนต้องพบประสบการณ์และมีทัศนคติต่อเรื่องหนึ่งๆ แตกต่างกัน

ยกตัวอย่างว่าถ้าคุณเป็นเด็กในรุ่นราวคราวเดียวกัน การอยู่ในครอบครัวที่มั่งคั่งกว่า ย่อมส่งผลถึงการเข้าถึงการศึกษาได้ดีกว่า และเมื่อการศึกษาดีกว่าก็ย่อมนำมาซึ่งรายได้ที่ดีกว่า ถึงเวลานั้นเราก็จะมีสิทธิ์เลือกว่าจะบริโภคกาแฟแบรนด์ใด หรือเลือกที่จะเดินห้างสรรพสินค้าละแวกไหนเพื่อนิยามความเป็นตัวเอง

เว็บไซต์ “ความเหลื่อมล้ำฉบับพกพา” www.thai-inequality.org อ้างอิงข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยเริ่มเห็นชัดเจน ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้นในระดับระดับปริญญาตรีเมื่อสะท้อนจากอัตราการเข้าเรียนสุทธิ (Net enrolment rate) ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปี 2558 พบว่า กลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่มีฐานะความเป็นอยู่ดีที่สุดมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับมัธยมปลาย (รวม ปวช.) สูงถึงร้อยละ 70.1

ขณะที่กลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่มีฐานะความเป็นอยู่ด้อยที่สุด มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับระดับมัธยมปลาย (รวม ปวช.) เพียงร้อยละ 38.9 เท่านั้น ส่วนอัตราการเข้าเรียนในระดับปริญญาตรี พบว่า อัตราการเข้าเรียนสุทธิ (Net enrolment rate) ในกลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่มีฐานะความเป็นอยู่ดีที่สุด มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรี (รวม ปวส.) สูงถึงร้อยละ 62.8 ขณะที่กลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่มีฐานะความเป็นอยู่ด้อยที่สุด มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรี (รวม ปวส.) เพียงร้อยละ 3.6

“งานวิจัยจากทั่วโลกชี้ชัดว่า ระดับการศึกษาส่งผลต่อแนวโน้มรายได้อย่างมีนัยสำคัญ และประเทศไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ยกตัวอย่างเช่น ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่า คนหนุ่มสาว (อายุ 25-30 ปี) ที่มีการศึกษาระดับอนุปริญญาหรืออุดมศึกษาจะสามารถมีรายได้มากกว่าคนรุ่นเดียวกันที่มีการศึกษาระดับประถมถึง 2 เท่า และเมื่อพวกเขามีอายุถึง 50-55 ปี ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ก็จะถ่างกว้างออกไปเป็นกว่า 5 เท่า เนื่องจากผู้จบการศึกษาระดับอนุปริญญาหรืออุดมศึกษามีทั้งโอกาสและศักยภาพที่จะพัฒนาทักษะและไต่เต้าในอาชีพการงานสูงกว่าผู้จบการศึกษาระดับประถมมาก” ส่วนหนึ่งของงานวิจัยบอก

ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล ศูนย์ศึกษาความเหลื่อมล้ำและนโยบายสาธารณะ คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า จากการสำรวจรายได้ประชาชาติ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า รายได้เฉลี่ยคนไทยในภาพรวมอยู่ที่ 11,500 บาทต่อเดือน และเมื่อนำตัวเลขดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์ก็จะพบว่ามีคนไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 11,500 บาท ถึงประมาณร้อยละ 70

“ดังนั้นถ้าเอาตัวเลขรายได้ มาเชื่อมโยงกับคำเสียดสีที่ว่า ‘ตลาดล่าง’ ก็ต้องถามว่า เช่นนี้คนไทยส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยกว่า 11,500 บาทเป็นตลาดล่างด้วยหรือไม่”

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยคือประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกนั้นคือเรื่องจริง มูลค่าทรัพย์สินครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มครัวเรือนเพียงร้อยละ 10 และครัวเรือนร้อยละ 10 แรกนี้มีมูลค่าทรัพย์สินเฉลี่ยสูงกว่าครัวเรือนกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินต่ำสุด ร้อยละ10 สุดท้ายถึง 375.2 เท่า

ยิ่งหากพิจารณาแหล่งที่มาของรายได้ของครัวเรือนที่มีมูลค่าทรัพย์สินในระดับ Top จำนวนร้อยละ 1 ก็จะพบว่ารายได้ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 45 มาจากการทำธุรกิจและการลงทุน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่ารายได้ที่ได้รับจากการจ้างงานซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 34

เมื่อการศึกษาและการกระจายรายได้คือตัวแปรที่จะสร้างคนให้เป็น ตลาดแต่ละกลุ่ม นโยบายที่จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ นอกจากจะใช้นโยบายสวัสดิการที่ให้สิทธิแก่คนทุกระดับอย่างเท่าเทียม ทั้งการศึกษา สาธารณสุข การเพิ่มสิทธิประกันสังคมแรงงานนอกระบบ ยังต้องทำให้การกระจายรายได้เกิดขึ้น เช่น การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน

ระหว่างที่เราเลื่อนฟีดข่าวในโซเชียล แล้วรู้สึกขวางหูขวางตากับใครสักคนที่พยายามสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี หรือไปเจอข่าวความรุนแรงที่คอนเมนต์ท้ายข่าว พ่วงท้ายด้วยการประณามหยามเหยียด

ลองนิ่งๆ แล้วย้อนหาที่มาว่าเพราะเหตุใดเขาถึงต้องทำเช่นนั้น

https://www.bangkokbiznews.com/social/982