วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 26, 2567

ดูจากท่าทีของกองทัพในวันนี้ และการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความรู้สึกเหมือนว่า กองทัพ คงจะ “ไม่คืนที่ดิน” หรือ “ถ่ายโอนธุรกิจต่างๆ” ในเร็ววันนี้

เชตวัน เตือประโคน - Chetawan Thuaprakhon
13 hours ago
·
[ ที่ดินทหาร และอนาคตสนามกอล์ฟ “กานตรัตน์ - ธูปะเตมีย์”]
.
ดูจากท่าทีของกองทัพในวันนี้ หลังจากที่คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพฯ ได้เข้าพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บริหารส่วนราชการในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ให้ความรู้สึกเหมือนว่า “ธุรกิจต่างๆ” ที่เราศึกษากันมาเกือบ 1 ปีนั้น กองทัพ คงจะ “ไม่คืน” หรือ “ถ่ายโอน” ไปไหนในเร็ววันนี้?
.
ไม่ว่าจะเป็นกิจการขุดเจาะน้ำมันพลังงาน, กิจการไฟฟ้าสัมปทานกองทัพเรือสัตหีบ, กิจการวิทยุและโทรทัศน์ ททบ.5, กิจการสนามมวยลุมพินี หรือแม้แต่กิจการสนามกอล์ฟกานตรัตน์ และกิจการสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ที่อย่างสุดท้ายผมมีข้อเสนอให้เปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินไปทำเป็น “สวนสาธารณะ - ศูนย์เรียนรู้ตลอดชีวิต” สำหรับประชาชน
.
แม้กรรมาธิการหลายๆ ท่านพยายามนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นคุณพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ - Phicharn Chaowapatanawong , Bencha Saengchantra - เบญจา แสงจันทร์, อาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ Puangthong Pawakapan และ Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และก็เสียดายอย่างยิ่งที่เวลาในการประชุมร่วมกับกองทัพนั้นน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่ “ธุรกิจกองทัพ” มีเรื่องให้ต้องคุยยาวเหยียด
.
เอาเฉพาะในส่วนที่ผมเกี่ยวข้องและเคยนำเสนอ นั่นคือเรื่อง “การใช้ประโยชน์ที่ดิน” ของกองทัพ
.
เรามีคำถามว่า กองทัพมีแนวนโยบายเกี่ยวกับที่ดินที่อยู่ในความครอบครองอย่างไร จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในภายกิจในการป้องกันประเทศจะสามารถโอนกลับคืนไปให้กรมธนารักษ์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่?
.
เรื่องนี้ “กองทัพบก” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์ที่ดินรัฐมากที่สุด เป็นฝ่ายชี้แจง โดยระบุว่า มีเนื้อที่ในความครอบครองทั้งหมดมี 4.7 ล้านไร่ โดยส่วนใหญ่แล้วใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งหน่วย และพื้นที่ฝึก
.
กองทัพบกอธิบายด้วยว่า ปัจจุบันมีประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตและจัดให้เช่าแล้วบางส่วน และยังคงอยู่ในกระบวนการพิสูจน์สิทธิ อีกราว 1.2 ล้านไร่ ซึ่งถ้าพิสูจน์สิทธิแล้วพบว่า ประชาชนอยู่มาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ ประชาชนสามารถไปออกเอกสารสิทธิตามขั้นตอนได้ แต่หากว่าสิทธิในที่ดินเป็นของรัฐ กองทัพบกจะแก้ปัญหาโดยการให้ประชาชนยื่นขอเช่าที่กับกรมธนารักษ์ต่อไป
.
ขณะที่ที่ดินของกองทัพบก ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ ได้รับคำอธิบายว่า บางส่วนเป็นที่ดินที่ส่วนราชการภายนอกขอใช้ประโยชน์ บางส่วนเป็นที่ดินที่ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่อย่างไรก็ตาม ที่ดินส่วนใหญ่ระบุว่า นอกจากเป็นที่ตั้งหน่วยปกติ และพื้นที่สำหรับการฝึกการศึกษาแล้ว ยังต้องใช้พื้นที่สำหรับการฝึกตามแผนป้องกันประเทศด้วย
.
“พื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ต้องรองรับขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์ ที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดกว้างขวาง เช่น การฝึกการดำเนินกลยุทธ์ด้วยปืนใหญ่ การฝึกในระดับกรมผสม รวมทั้ง การสงวนการปฏิบัติในพื้นที่ส่วนหลังเมื่อเกิดสถานการณ์ เป็นต้น ดังนั้น พื้นที่ดังกล่าวกองทัพบกต้องสงวนไว้ใช้ประโยชน์ในอนาคต เมื่อมีความจำเป็น”
.
ขณะที่คำชี้แจงเรื่อง “สนามกอล์ฟ” ของกองทัพอากาศ ได้รับคำชี้แจงในส่วนกรณีของ “สนามกอล์ฟกานตรัตน์” หรือ “สนามงู” ซึ่ง สส.จอจาน เอกราช อุดมอำนวย - Ekkarach Udomumnouy เสนอให้ย้ายออกไปที่อื่นที่เหมาะสมซึ่งนั้น เป็นการชี้แจงที่ขัดและแย้งกับเรื่อง “ความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล” กรณีที่มีสนามกอล์ฟอยู่ขนานไปกับรันเวย์
.
โดยผู้ชี้แจงจากกองทัพอากาศได้ยกข้อมูลจาก IATA มาสนับสนุนเหตุผลที่จะไม่ควรเพิ่ม Taxi parallel way ให้สนามบินมีศักยภาพสูงขึ้น โดยชี้ไปที่ “การจราจรทางอากาศที่หนาแน่น คับคั่ง…จะส่งผลต่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพการใช้ห้วงอากาศ”
ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งซึ่งย้อนแย้งกัน กับการที่ AOT ได้จัดทำโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ตามแผนแม่บทท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งจะขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติงบฯ 36,000 ล้านบาท
.
นอกจากนี้ ผู้ชี้แจงจากกองทัพอากาศยังยกหนังสือเรื่อง “ข้อตกลงการใช้ประโยชน์” โดยขีดเส้นใต้ที่คำว่า “กองทัพอากาศ” เป็น “ผู้ให้ใช้ประโยชน์” แก่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หรือ AOT และย้ำเรื่องความเป็น “สนามบินทหาร” การจัดสรรพื้นที่ต้องคำนึงถึงภารกิจทางทหาร
.
รวมถึงย้ำอีกข้อชี้แจงว่า “สนามกอล์ฟกานตรัตน์” เป็น “สวัสดิการภายใน” ไม่ใช่ “ธุรกิจ” ของกองทัพ
.
ในส่วนของ “สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์” ที่ผมเสนอให้มีการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากสนามกอล์ฟเป็นสวนสาธารณะ เนื่องจากเคยมีการชี้แจงหลายครั้ง ทั้งการจัดสัมมนาและดูงานในพื้นที่จริง, การตั้งกระทู้ถามต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคุณภูมิธรรม เวชยชัย ก็ได้มาชี้แจงผ่านการตอบกระทู้แล้ว จึงไม่มีการถามเรื่องนี้ไป
.
แต่อย่างไรก็ตาม คุณพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการ ก็ได้นำเสนอและกล่าวย้ำกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอีกครั้งวา “สนามกอล์ฟ” กับ “สวนสาธารณะ” รูปร่างหน้าตาเหมือนกัน แค่เปลี่ยนจากเลิกตีกอล์ฟ แล้วให้คนเข้าไปวิ่งออกกำลังกาย ก็คงไม่กระทบกับเรื่องความมั่นคงที่กองทัพอากาศอ้าง
.
หรือแม้แต่เรื่องของการเปลี่ยนเป็น HUB หรือ ศูนย์กลางของการเดินรถ เพื่อแก้ปัญหาให้กับการจราจรในจังหวัดปทุมธานีที่ติดหนัก เชื่อมระหว่างสายสีเขียวกับสายสีแดง ก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชนคนส่วนใหญ่มากกว่าการเป็นสนามกอล์ฟอย่างในปัจจุบัน
.
อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้จะยังไม่มีความชัดเจน แต่คิดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็คงต้องเอาข้อเสนอของกรรมาธิการไปพิจารณา และอาจต้องมีการทบทวนในหลายๆ เรื่องตามผลการศึกษาของกรรมาธิการ
.
และอีกไม่นาน กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพฯ ก็จะนำเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และจะให้สภามีมติส่งให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการตามผลการศึกษาของเราต่อไป
.
เปลี่ยน “สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์” เป็น “สวนสาธารณะ” อาจไม่สำเร็จในวันนี้ แต่เป็นเรื่องที่ผมและเพื่อนๆ สส.พรรคประชาชนจะช่วยกันผลักดันต่อไป หรือถ้าในอนาคตได้เป็นรัฐบาลพรรคประชาชน ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่พวกเราจะพิจารณาดำเนินการเป็นนโยบายแรกๆ ครับ
.
#เชตวัน #เตือประโคน #ประชาชน #ปทุมธานี
#คูคต #ลำสามแก้ว #ลาดสวาย #พรรคประชาชน


https://www.facebook.com/ChetawanPPLE/posts/599732532556459