วันอาทิตย์, ธันวาคม 29, 2567

วิทยุโทรทัศน์ทหาร บ่อน้ำมันที่ถูกสงวนสิทธิ์เอาไปใช้มุบมิบ ช่วยกันทวงถามต่อไป


Puangthong Pawakapan
15 hours ago
·
เมื่อวันที่ 25 ธค. กมธ.วิสามัญธุรกิจกองทัพฯ เดินทางไปพบรมต.กลาโหม นายภูมิธรรม เวชยชัย เสียดายว่ามีเวลาน้อยมาก จนธนาธร ที่วางให้เป็นคนพูดสรุป ไม่มีโอกาสได้พูด (ถ่ายรูปออกมาหน้าบูดมาก 555)
ข้างล่างนี้เป็นส่วนที่เราพูดในที่ประชุม 11 นาที (เตรียมมา 10) เรื่องวิทยุและโทรทัศน์ จึงขอแปะให้อ่านกันค่ะ
%%%%%
กิจการวิทยุและโทรทัศน์ เป็นกิจการที่กองทัพครอบครองมานานตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ กระทำในนามของความมั่นคงของชาติ” มีปัญหาทั้งในแง่ข้อกฎหมาย ความไม่มีประสิทธิภาพ และความไม่โปร่งใส และเรายังตั้งคำถามได้ว่าการดำเนินงานในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติจริงหรือ หรือเป็นการขยายนิยามความมั่นคงของชาติแบบเกินเลย
***วิทยุ***
ปัจจุบันคลื่นวิทยุในความครองของทหารมีทั้งหมด 196 สถานี เป็นคลื่น FM ถ่ายทอดในกรุงเทพฯและปริมณฑลราว 40 สถานี เชื่อว่าส่วนนี้ทำรายได้ได้มาก ส่วนคลื่น AM ในต่างจังหวัด ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมารายได้ลดลง หลายสถานีขาดทุน เพราะคนไม่นิยมฟังวิทยุกันแล้ว
สถานีที่ยังมีคนฟัง มักให้บริษัทเอกชนมาเป็นผู้ร่วมผลิตรายการ บางสถานีให้เอกชนทำเกือบ 100 % ซึ่งขัดกับกฎระเบียบของ กสทช. ที่ระบุว่าผู้ที่ได้รับสิทธิ์บริหารคลื่นความถี่ สามารถให้ผู้อื่นเช่าช่วงเวลาต่อได้ แต่ห้ามเกิน 40% และหลายสถานีเปิดเพลงทั้งวัน อันนี้ทำให้ตั้งคำถามได้ว่า มันตอบสนองจุดประสงค์เรื่องความมั่นคงของชาติอย่างไร
ในส่วนของวิทยุ เราพบว่างบการเงิน บัญชีรายรับรายจ่าย มีปัญหามากที่เดียว เช่น บางปีมีการนำเงินบริจาคให้แก่สมาคมแม่บ้านของทหาร, ชมรมนายทหารอาวุโส, และค่าของขวัญของที่ระลึกปีใหม่ ปีละหลายล้านบาท ไปร่วมเป็น Operation cost ของสถานี แล้วก็สรุปว่าสถานีวิทยุแทบไม่มีกำไร ซึ่งอันนี้ไม่ถูก เพราะเหมือนตัดเอารายได้ไปแบ่งใส่กระเป๋าใบเล็กของกองทัพ แล้วบอกว่านี่คือรายจ่าย ทั้งๆ ที่กองทุนสวัสดิการของกองทัพ ก็มีเงินสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งแต่ละเหล่าทัพมีกัน 10-20 กองทุน
อันนี้เฉพาะที่เราได้รับข้อมูลเท่านั้น ขอย้ำว่าที่ผ่านมาเราได้ข้อมูลไม่ครบ เราได้ข้อมูลบางส่วนจาก ทร. กองบัญชาการกองทัพไทย และสำนักปลัดฯ เท่านั้น ถ้าได้ข้อมูลจาก ทบ. ด้วย ก็เชื่อว่าจะเห็นปัญหามากกว่านี้
***โทรทัศน์***
เกี่ยวข้องกับสถานีททบ.5 ของกองทัพบกเป็นหลัก ในแง่เนื้อหารายการพบว่าเกี่ยวกับความมั่นคงราว 8% เท่านั้น
มีปัญหาใหญ่ 2 ข้อคือ 1. ปัญหาหนี้สินก้อนใหญ่ของ ททบ. 5 ที่น่าจะเป็นหนี้สูญแล้ว 2. กฎหมายไม่อนุญาตให้กองทัพทำธุรกิจ
1. ปัญหาหนี้สินก้อนใหญ่ของ ททบ. 5 ที่กองทัพบกให้ยืมเงิน ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2541 และจนบัดนี้ ทบ.ก็ยังไม่ได้เงินคืน
ปัญหานี้เริ่มขึ้นเมื่อ มี.ค.2540 ไม่กี่เดือนก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง กองทัพบก โดย ททบ.5 ได้จัดตั้งบริษัทเอกชน ที่ใช้ชื่อว่า “ททบ.5” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ RTA Entertainment (Enterprise) (หลังจากนี้จะเรียกบริษัท ททบ.5 ว่า RTA) ด้วยทุนเริ่มต้น 250 ล้านบาท ต่อมา นำไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, กองทัพบกถือหุ้น 49.0095% ส่วนอีก 50.0005 % ถือโดยนายพลในกองทัพบกจำนวนหนึ่ง ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่หลายคนเคยเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของ ช่อง 5 แต่เมื่อ กมธ.สอบถามตัวแทนจาก ททบ.5 พวกเขาก็ปฏิเสธว่าไม่รู้จัก RTA
หนี้สินขนาดใหญ่เกิดขึ้นในปี 2541 เมื่อธนาคารทหารไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจ ราคาหุ้นตกมหาศาล กองทัพบกเห็นว่าหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมถือหุ้น ธ.ทหารไทยเป็นจำนวนมาก และผู้ถือหุ้นไม่น้อยเป็นข้าราชการทหาร จึงได้เข้าช่วยเหลือโดยให้บริษัท RTA กู้เงินแบบไร้ดอกเบี้ยจาก ททบ.5 (ซึ่งก็คือเงินของกองทัพบก) กู้โดยไม่มีดอกเบี้ย เพื่อนำไปซื้อหุ้นธนาคาร เป็นเงินรวม 1,446,774,940 บาท แต่ก็ประสบภาวะขาดทุนอยู่ดี
อันนี้เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน ยังไม่นับว่าไม่มีกฎหมายอนุญาตให้หน่วยงานรัฐให้เอกชนกู้เงินในลักษณะนี้
ผลประกอบการของ RTA ติดลบเสมอ แม้ว่าจะมีหน่วยงานทหารป้อนงานให้เสมอ ในที่ประชุมวันที่ 25 ธค. ตัวแทนททบ.ยืนยันว่า RTA ติดหนี้ ทบ. อยู่ 1,183 ล้านบาท
***ปัญหาในแง่กฎหมาย และการตรวจสอบที่ผ่านมา***
ในปี 2547 คณะรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง จากกรณีที่พลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผบ.ทบ. นำ RTA เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ผลการสอบมีสาระสำคัญ คือการกระทำของ ททบ.5 หลายประการ ไม่เหมาะสม ไม่โปร่งใส ไม่สามารถอธิบายได้ จึงเสนอให้
1. กองทัพบกขายหุ้นใน RTA ออกไปทั้งหมด
ในที่ประชุม 25 ธค. ตัวแทนททบ.5 บอกว่าในขณะนี้สถานะของ RTA กับ ททบ.5 เป็นเพียงเจ้าหน้า-ลูกหนี้เท่านั้น เราตอบไปว่า ดีเลย แต่ขอให้ ททบ.5 ช่วยแสดงหลักฐานว่ามีการโอนขายหุ้น RTA ด้วย เพราะเอกสารการเงินของ RTA ณ ปี 2565 ยังระบุว่ากองทัพบกเป็นหุ้นใหญ่อยู่เลย - ไม่มีใครตอบ
2. ครม.มีมติให้ส่งรายงานของคกก.ตรวจสอบฯ และเอกสารให้ ปปช. พิจารณา แต่สิ่งที่น่าพิศวงคือการสอบสวนของ ปปช.ใช้เวลานานมาก โดยปลายปี 66 ปปช. เพิ่งเผยแพร่มติ ตีตกข้อกล่าวหาว่าพลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร กระทำผิด ระบุว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่รอบคอบตามระเบียบกฎหมายโดยเคร่งครัด” เท่านั้น! อันนี้ก็เหลือเชื่อ
แต่ดิฉันเชื่อ ปปช. น่าจะลืมดูกฎหมายสองฉบับ ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ
1. คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินปีพ.ศ. 2519 “เรื่องการปฏิบัติตนของข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร” ที่กำหนดว่าข้าราชการทหารที่ยังอยู่ในราชการทุกชั้นยศ “ห้ามเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการ หรือดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อื่น ซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่า เป็นการยอมให้บริษัทห้างร้านของเอกชนเหล่านั้นอาศัยชื่อของตนเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่เพียงใด” ผู้ใดฝ่าฝืนถือว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง
2. พรบ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมปี 2551 “ไม่มีบทบัญญัติให้ (หน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม) ดำเนินการในเชิงพาณิชย์ จัดตั้งบริษัทห้างร้าน ร่วมลงทุนกับเอกชนได้ รวมทั้งไปถือหุ้นในบริษัทห้างร้านเอกชน” ซึ่งทุกท่านย่อมจะทราบกันดีว่า สำหรับหน่วยราชการ เมื่อ “ไม่มีกฎหมายรองรับ ก็เท่ากับไม่มีอำนาจกระทำการ” ปัจจุบันมีกฎหมายรองรับเพียงกระทรวงเดียวที่สามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ คือ ก.คลัง นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยให้ความเห็นสรุปได้ว่า กระทรวงกลาโหมมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันประเทศไม่สมควรไปดำเนินการในเชิงพาณิชย์ อันนี้เท่ากับว่าการดำเนินการทางธุรกิจของกองทัพ ขัดกฎหมายมานานแล้ว
***ประเด็นสุดท้าย รายได้เท่าไร ใช้อย่างไร***
- แม้ว่าธุรกิจวิทยุและโทรทัศน์ของกองทัพ หลายสถานีจะประสบปัญหาขาดทุน แต่เราเชื่อว่ามีหลายสถานีที่ทำกำไรอย่างมาก เช่น กองทัพเรือเป็นเจ้าของคลื่นยอดนิยม FM 93 Cool ดำเนินการโดยบริษัท RS และ FM 106 ที่ดำเนินการโดย “ครอบครัวข่าว 3” ตลอดทั้งวัน
- กองทัพบกหรือ ททบ.5 ยังมีรายได้จากการถือสิทธิ์เหนือโครงข่ายดิจิตัล 2 โครงข่าย แล้วให้เอกชนเช่าทำรายได้ แม้ว่า ทบ.จะไม่เปิดเผยตัวเลขรายได้ แต่เราคำนวณตัวเลขจากข้อกำหนดของ กสทช. ก็ประมาณว่ากองทัพบกน่าจะมีรายได้จากส่วนนี้ 3.5 ล้านบาท/เดือน รวม 822 ล้านบาทต่อปี ... นี่เป็นแค่สองตัวอย่าง
- รายได้จากวิทยุและโทรทัศน์ไปอยู่ที่ไหน เชื่อว่ามันถูกจัดให้เป็น “เงินนอกงบประมาณประเภท 2” ประเภท 2 นี้มีแต่กองทัพเท่านั้นที่มีได้ โดยกองทัพเป็นผู้ทำบัญชีรายรับรายจ่าย และใช้วิธีตรวจสอบภายใน, และเราไม่สามารถรู้ได้ว่า เงินก้อนนี้มีเท่าไร แต่ละปีใช้ไปเท่าไร อย่างไร เพราะไม่ปรากฏแม้แต่ในเอกสารงบประมาณประจำปี
- ที่ผ่านมา ตัวแทนของ ทบ. ชี้แจงในที่ประชุม กมธ. ว่าทบ.ทำงานโปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะส่งรายงานการเงินให้ กสทช.ทุกปี แต่กลับไม่ยินยอมส่งข้อมูลให้กับ กมธ. และกมธ. ก็ไม่สามารถขอจาก กสทช.ได้ด้วย ที่น่าประหลาดคือ ในขณะที่งบการเงินของสถานีอื่น เช่น Thai PBS และ NBT เผยแพร่บนเว็บของ กสทช. แต่ กสทช. กลับไม่เผยแพร่งบการเงินของ ททบ.5 ... มีใครห้ามไว้หรืออย่างไร?
ข้อเสนอ
มันก็ไม่เป็นธรรมกับสังคมอย่างยิ่งที่ทรัพยากรของชาติถูกใช้ในลักษณะนี้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของกองทัพในสายตาประชาชนอย่างแน่นอน, อยากจะเรียกร้องรัฐบาลและผู้นำทหารทุกท่าน พิจารณา
1. คืนคลื่นวิทยุ-โทรทัศน์ ให้หน่วยงานรัฐอื่นไปบริหารจัดการ ได้มีประสิทธิภาพมากกว่า ถ้าจะอ้างว่าเพื่อความมั่นคงของชาติ ไว้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเมื่อเกิดวิกฤติ ก็ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนไปมากแล้ว คือทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ไม่ฟังวิทยุทหาร ไม่ดูช่อง 5 เวลาเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เขารับข่าวทาง social media หรือสื่อเอกชนที่รวดเร็วฉับไวมากกว่า ซึ่งอันนี้คือแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก
2. ถ้ายังไม่คืน ก็ควรแบ่งรายได้ให้กับรัฐบาล โดยเฉพาะภายใต้สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่รบ.ขาดแคลนงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนศก.ของประเทศอย่างรุนแรง


https://www.facebook.com/puangthong.r.pawakapan/posts/9239312169452793
.....

Ubonrat Siriyuvasak
ช่วยกันทวงและถามต่อไป
ขอบคุณมากค่ะ

Atukkit Sawangsuk
วิทยุโทรทัศน์ทหาร เป็นบ่อน้ำมันที่ถูกสงวนสิทธิ์เอาไปใช้มุบมิบ
แต่ที่แย่กว่านั้นคือในอนาคต ท่ามกลางวิกฤติสื่อ
บ่อน้ำมันอาจจะแห้งแต่ทหารยังอ้างความจำเป็นจากความมั่นคง ของบอุดหนุนวิทยุโทรทัศน์ไว้เป็นแม่ข่ายถ่ายทอดพิธีกรรม