โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมของ Turning Point ที่รัฐแอริโซนา
เหตุใดทรัมป์จึงขู่จะยึดเกาะกรีนแลนด์และคลองปานามา ?
เหตุใดทรัมป์จึงขู่จะยึดเกาะกรีนแลนด์และคลองปานามา ?
เคย์ลา เอพสเตน
บีบีซีนิวส์
25 ธันวาคม 2024
โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เคยหาเสียงโดยชูนโยบายที่มุ่งเน้นการแยกตัวของสหรัฐฯ จากความขัดแย้งในต่างประเทศ เช่น สงครามยูเครน เพิ่มภาษีศุลกากรสำหรับคู่ค้าต่างประเทศ และฟื้นฟูการผลิตภายในประเทศ
ทว่าในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เขากลับแสดงท่าทีเชิงรุกมากขึ้นเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ
ในช่วงแรก ทรัมป์พูดติดตลกว่า แคนาดาควรจะเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐฯ แต่หลังจากนั้น เขากลับขู่ที่จะยึดคลองปานามาคืน และยังย้ำสิ่งที่เขาเคยแสดงความต้องการเอาไว้ในสมัยแรกที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างการครอบครองกรีนแลนด์ ดินแดนปกครองตนเองของเดนมาร์ก ซึ่งไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะซื้อขายได้
แม้จะมีโอกาสน้อยมากที่สหรัฐฯ จะเข้ายึดครองพื้นที่เหล่านี้ แต่คำพูดดังกล่าวอาจสะท้อนให้เห็นว่าวิสัยทัศน์ "อเมริกาต้องมาก่อน" ของทรัมป์นั้นได้รวมไปถึงการแสดงอำนาจของมหาอำนาจที่เกินขอบเขตของประเทศตัวเอง เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (22 ธ.ค. 2567) ทรัมป์กล่าวในที่ประชุมฝ่ายอนุรักษนิยมที่รัฐแอริโซนาว่า ปานามากำลังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากเรือของสหรัฐฯ ที่ใช้เส้นทางคลองปานามาในอัตราที่ "ไร้สาระและไม่ยุติธรรมอย่างมาก"
สหรัฐฯ มีบทบาทเข้าไปร่วมขุดคลองแห่งนี้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และได้โอนอำนาจการควบคุมทั้งหมดคืนให้แก่ปานามา ซึ่งเป็นไปตามสนธิสัญญาที่ลงนามร่วมกันในช่วงทศวรรษ 1970 แต่ในสัปดาห์นี้ ทรัมป์กล่าวว่าหาก "การเอาเปรียบ" นี้ไม่ยุติลง เขาจะเรียกร้องให้คลองนี้กลับมาอยู่ในการควบคุมของสหรัฐฯ แม้ว่าเขาจะไม่ได้ระบุวิธีการว่าจะทำอย่างไร
ทรัมป์ยังกล่าวว่า เขาไม่ต้องการให้คลองปานามา "ตกไปอยู่ผิดมือ" และระบุถึงชี้ชัดไปที่จีน ซึ่งให้ความสนใจต่อเส้นทางทางน้ำแห่งนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ
"มีผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ อย่างแท้จริง... ในการควบคุมความเป็นกลางของคลองนี้" วิลล์ ฟรีแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาละตินอเมริกาที่สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวเกี่ยวกับคำพูดของทรัมป์ "คำพูดของทรัมป์ส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้"
ตามข้อมูลแล้ว จีนเป็นผู้ใช้คลองปานามารายใหญ่อันดับสองรองจากสหรัฐฯ และยังมีการลงทุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญในประเทศปานามาด้วย
ในปี 2017 ปานามาตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันและยอมรับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของรัฐบาลจีนในเวลานั้น
คลองปานามาไม่เพียงมีความสำคัญต่อการค้าของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิกเท่านั้น แต่ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งทางทหารกับจีน คลองแห่งนี้จะมีความสำคัญในการเคลื่อนย้ายเรือและทรัพยากรอื่น ๆ ของสหรัฐฯ
ฟรีแมนยังกล่าวถึงคำพูดของทรัมป์เกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของคู่ค้าต่อสหรัฐฯ เช่นเดียวกับคำมั่นของเขาที่จะเพิ่มภาษีสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากจีน
ผู้เชี่ยวชาญชี้ด้วยว่า ข้อร้องเรียนของทรัมป์เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการขนส่งดูเหมือนจะสะท้อนมุมมองของเขาเกี่ยวกับการค้า แม้ว่าคำพูดดังกล่าวอาจมีลักษณะ "กดดัน" แต่ยังต้องรอดูว่า "ทางการคลอง [ปานามา] จะลดค่าธรรมเนียมสำหรับสินค้าอเมริกันเพื่อตอบสนองต่อคำขู่หรือไม่"
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี โฮเซ ราอูล มูลิโน ของปานามา ได้ออกแถลงการณ์ว่า คลองปานามาและพื้นที่โดยรอบเป็นของประเทศเขา และจะยังคงเป็นของปานามาต่อไป
ทรัมป์สนใจกรีนแลนด์
ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทรัมป์กล่าวในโพสต์บนโซเชียลมีเดียว่าสหรัฐฯ "รู้สึกว่าการเป็นเจ้าของและควบคุมกรีนแลนด์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง" ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติและเสรีภาพระดับโลก
สหรัฐฯ มีฐานปฏิบัติการอวกาศพิทัฟฟิก (Pituffik) ในกรีนแลนด์ นอกจากนี้ กรีนแลนด์ยังเป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่ธาตุหายากและน้ำมัน และตั้งอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์สำหรับการค้า ซึ่งประเทศมหาอำนาจโลกพยายามขยายอิทธิพลเข้ามาในเขตวงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) แห่งนี้ โดยเฉพาะรัสเซียที่มองว่าภูมิภาคนี้เป็นโอกาสทางยุทธศาสตร์
ทรัมป์เคยเสนอแนวคิดในการซื้อกรีนแลนด์ในปี 2019 ระหว่างสมัยแรกของเขาในฐานะประธานาธิบดี แต่ไม่สำเร็จ
นายกรัฐมนตรีกรีนแลนด์ มูเต เบ เอเกเด ตอบกลับความคิดเห็นล่าสุดของทรัมป์ในสัปดาห์นี้ว่า "เราไม่ได้มีไว้ขาย และเราจะไม่มีวันขาย"
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังคงย้ำคำพูดของเขาผ่านโพสต์ออนไลน์ ใน Truth Social แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของเขา ด้วยการแสดงภาพธงชาติสหรัฐฯ ปักอยู่กลางคลองปานามา ส่วนอีริก ทรัมป์ ลูกชายคนรองของเขา โพสต์ภาพใน แพลตฟอร์ม "เอ็กซ์" (หรือทวิตเตอร์เดิม) โดยแสดงภาพกรีนแลนด์ คลองปานามา และแคนาดา ถูกเพิ่มลงในรถเข็นช้อปปิ้งออนไลน์ของแอมะซอน
สำหรับทรัมป์ คำมั่นสัญญาที่จะใช้ความแข็งแกร่งของอเมริกาให้เป็นประโยชน์กับประเทศ ช่วยผลักดันให้เขาประสบความสำเร็จในการหาเสียงเป็นประธานาธิบดีถึงสองครั้ง นี่เป็นกลยุทธ์ที่เขาเคยใช้ในสมัยแรก เช่น การข่มขู่เรียกเก็บภาษีศุลกากรและการส่ง "ทหารติดอาวุธ" เพื่อกดดันให้เม็กซิโกเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยตามแนวชายแดนสหรัฐฯ
เมื่อมุ่งเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ในสมัยที่สอง ทรัมป์อาจวางแผนใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้อีกครั้ง หลังจากเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. 2568
แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เดนมาร์กได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลกรีนแลนด์ และได้ประกาศเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันในกรีนแลนด์อย่างมหาศาลเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ทรัมป์ย้ำถึงความต้องการซื้อดินแดนอาร์กติกแห่งนี้อีกครั้ง
https://www.bbc.com/thai/articles/cq8q41w0v28o
.....
https://www.facebook.com/BBCnewsThai/posts/1063816429111854