วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 19, 2567

รายงานจากเวทีเสวนา "ถ้าใครพูด จะจับขังให้หมด" เสวนาจากห้องพิจารณาคดีลับ และความเป็นกลางของผู้พิพากษา ในคดี 112 ของ “อานนท์” เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2567



รายงานการเสวนา “ถ้าใครพูด จะจับขังให้หมด” จากห้องพิจารณาคดีลับ และความเป็นกลางของผู้พิพากษา ในคดี 112 ของ “อานนท์”

18/12/2567 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

16 ธ.ค. 2567 เวลา 17.00 น. ที่ห้องประชุมจี๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานเสวนา “ถ้าใครพูด จะจับขังให้หมด” เสวนาจากห้องพิจารณาคดีลับ และความเป็นกลางของผู้พิพากษา (ดูคลิป)

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย กฤษฎางค์ นุตจรัส และจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความเครือข่าย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, รศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมี จีรนุช เปรมชัยพร ที่ปรึกษาเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ และอดีต ผอ.สำนักข่าวประชาไท เป็นผู้ดำเนินรายการ

การเสวนาครั้งนี้มีขึ้นโดยมีเหตุสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 ซึ่งศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ในคดีมาตรา 112 ของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชน กรณีปราศรัยในม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้เกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของอานนท์หลายประการ อาทิ ศาลยืนยันไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญที่ฝ่ายจำเลยต้องการใช้ถามค้านพยานโจทก์ โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 6, ออกคำสั่งให้พิจารณาคดีโดยลับ โดยไม่ปรากฏเหตุตามกฎหมาย อีกทั้งเมื่อทนายจำเลยยืนยันไม่ถามค้าน เนื่องจากศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญ ศาลก็ถือว่าไม่ติดใจถามค้าน และสั่งให้ทนายจำเลยนำพยานจำเลยเข้าสืบต่อในวันถัดไปโดยไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี

นอกจากนี้ ในวันที่ 28 พ.ย. 2567 ผู้พิพากษาคนเดิมยังออกข้อกำหนดห้ามนำข้อมูลในห้องพิจารณาคดีไปเผยแพร่ ให้งดสืบพยานจำเลย และนัดวันฟังคำพิพากษาทันทีในวันที่ 19 ธ.ค. 2567

เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมไทยถึงสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของจำเลยโดยเฉพาะในคดีมาตรา 112 ตลอดจนความเป็นกลางของผู้พิพากษา

ทั้งนี้ ผู้จัดเวทีเสวนาได้ส่งหนังสือเชิญ รัฐวิชญ์ อริยพัชญ์พล โฆษกศาลยุติธรรม เข้าร่วมพูดคุยด้วย แต่ทางโฆษกฯ ไม่มีหนังสือตอบกลับหรือส่งตัวแทนมาร่วมด้วย

.

ศาลต้องตอบคำถามต่อสังคมว่า ทำไมสั่งพิจารณาคดีลับ



ทนายกฤษฎางค์เริ่มต้นวงเสวนาโดยกล่าวว่า สิ่งที่จะพูดไม่ใช่การกล่าวร้ายหรือโจมตีใคร แต่เป็นการสานต่อความคิดของอานนท์ว่า เราต้องรักษาไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรม หลักการแห่งนิติรัฐ นิติธรรม เมื่อมีกรณีที่เราสงสัย เราต้องพูดคุยได้ เสียใจที่วันนี้สำนักงานศาลยุติธรรมไม่ตอบและไม่ได้ส่งตัวแทนมา เพราะประเทศไทยเราใช้อำนาจอธิปไตยทางศาล ตัวแทนของเราคือผู้พิพากษาตุลาการ เพราะฉะนั้นเมื่อประชาชนสงสัย สำนักงานศาลยุติธรรมในฐานะตัวแทนของของกระบวนการยุติธรรมทางธุรการ ควรจะต้องมาตอบ

เหตุการณ์มันเกิดขึ้นจากวันที่ 27 กับ 28 พ.ย. 2567 มีการพิจารณาคดีมาตรา 112 ซึ่งอานนท์ นำภา เป็นจำเลย จากเหตุเมื่อ 3 ส.ค. 2563 มีการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วิพากษ์วิจารณ์ให้รัฐบาลปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอานนท์ก็เข้ามอบตัวต่อสู้คดีเรื่อยมา 4 ปี

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า ใครถูกหรือใครผิด ปัญหาอยู่ที่ว่า กติกานี้กรรมการคือผู้พิพากษาทำไปตามกติกาที่เป็นธรรมแล้วหรือยัง ผมเป็นทนายของอานนท์ แต่วันที่ 27 พ.ย. ผมติดว่าความคดีอื่น ทราบว่ามีการพิจารณาคดีลับ วันที่ 28 พ.ย. ผมเข้าไป บรรยากาศที่เห็นคือศาลสั่งให้มีการพิจารณาคดีลับและไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารที่อานนท์ต้องการมาต่อสู้คดี มีการโต้แย้งกัน ไม่นานศาลก็สั่งให้ทุกคนออกนอกห้องพิจารณา ในวันนั้นห้องพิจารณาก็เงียบ ผมไม่รู้เงียบเพราะกลัวหรือว่าเงียบเพราะตกตะลึงกับสิ่งที่มันไม่สมควรจะเกิดขึ้นในประเทศไทย

แล้วอานนท์ก็พยายามจะพูดหลายสิ่งหลายอย่าง ในคดีอาญาการพูดของจำเลยไม่ใช่เป็นการก่อความวุ่นวายแน่ ซึ่งพวกเรารวมทั้งผู้พิพากษาควรจะรับฟัง เมื่อท่านไม่รับฟังท่านก็ให้อานนท์ออกไป พูดว่าให้ตำรวจเอาอานนท์ไปขัง ส่วนคนอื่น ๆ ก็ใช้คำพูดแบบชื่องาน (ถ้าใครพูด จะจับขังให้หมด) ทนายความถ้าพูดมากก็จับไปขัง จึงเป็นที่มาของงานเสวนาวันนี้ ถ้าประเทศนี้ทำงานกันแบบนี้เราจะไปสู่ความจริงที่บริสุทธิ์ยุติธรรม เอาคนผิดมาลงโทษ เอาคนถูกปล่อยออกจากคุกได้ยังไง แม้แต่วิธีการก็ไม่เป็นมาตรฐาน

การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยเป็นหลักประกันของความยุติธรรมในคดีอาญา เขาจะได้รู้ว่าอัยการโจทก์กล่าวหายังไง จำเลยต่อสู้ยังไง การตัดสินคดีความได้ทำตามกติกาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ เขาสอนไว้หรือเปล่า หรือว่าที่สอนในประมวลกับที่ใช้จริงคนละเรื่องกัน

การพิจารณาคดีลับทำได้ แต่ต้องเพื่อศีลธรรมอันดีของประชาชนและปิดบังไม่ให้ความลับของรัฐที่เป็นความมั่นคงล่วงรู้ถึงประชาชน กฎหมายเขียนแบบนั้น แต่คดีนี้คำฟ้องของอัยการก็เขียนแล้ว มีการต่อสู้คดีกันมาแล้ว โจทก์ก็ไปเอาคนมาเป็นพยานโจทก์ ทุกคนมันรู้อยู่แล้ว

การที่พิจารณาคดีโดยเปิดเผยเป็นการปกป้องพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ด้วยซ้ำ ว่าถ้าอานนท์ผิดก็เอาไปเข้าคุก ถ้าอานนท์ถูกก็ปล่อยออกมาก็เท่านั้น ไม่เห็นมีอะไรที่จะต้องปิดบัง คำพูดที่ว่า ใครพูดจะจับไปขัง นั้นทุกคนก็รู้ว่า การที่จะห้ามพูดในห้องพิจารณามันไม่ได้ ถ้าหากเขาผิดเพราะก่อกวนสร้างความวุ่นวายก็ตั้งคดีละเมิดอำนาจศาล ลงโทษเลย จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500 บาท เขาก็จะได้มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา มันไม่ใช่สมัยโรมันที่ซีซ่าร์จะสั่งว่า ใครพูดจะจับไปขัง คำพูดแบบนี้มันไม่น่าจะเกิดจากผู้พิพากษา

เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เราจะต้องกลับมาคิดว่า ในประเทศนี้ระบบยุติธรรมควรต้องปฏิรูปมั้ย หรือว่าต้องปฏิรูปอย่างอื่นด้วย

ทนายกฤษฎางค์กล่าวในช่วงท้ายอีกว่า ปัญหาสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่า เฉพาะคดีอานนท์ที่เรามาคุยกันวันนี้ ผู้มีอำนาจคือศาลที่พิจารณาคดีวันนั้นตอบคำถามต่อสังคมได้มั้ยว่า ทำไมสั่งให้พิจารณาคดีลับ ในรายงานกระบวนพิจารณาก็ไม่ได้เขียนว่าลับเพราะอะไร ทั้งที่กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ระบุข้อกฎหมายแล้วเหตุผลในการสั่งอย่างชัดเจน อันนี้ไม่มี กฎหมายเรามีแต่ปัญหาคือเราใช้หรือไม่ใช้

วันนี้สภานักศึกษาธรรมศาสตร์กับศูนย์ทนายฯ จัดเสวนาเพราะไม่อยากให้เกิดเรื่องนี้อีก คือการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยนอกจากเป็นการปกป้องสิทธิของจำเลยและผู้ต้องหาในคดีอาญาแล้ว ยังเป็นการปกป้องสุจริตชนคนอื่นที่อาจถูกดำเนินคดีในแบบนี้อีก เรามาพูดเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะว่าเพื่ออานนท์เท่านั้น

ผมอยากสรุปสั้น ๆ ว่า เราเรียกร้องเรื่องนี้เพื่อหลักการ ขอให้ศาลอาญาหรือประธานศาลฎีกาตอบมาให้ได้ว่า คดีอานนท์วันที่ 28 พ.ย. ทำไมพิจารณาคดีลับ เพราะว่าศาลเจ้าของสำนวนไม่บอก เพราะว่าระบบยุติธรรมระบบศาลเป็นของพวกเราทุกคน เราต้องได้รับคำตอบ

แล้วผมเรียกร้องเลยว่าในวันที่ 19 ธ.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณา 711 จะมีการอ่านคำพิพากษาคดีนี้ที่ศาลให้พิจารณาคดีลับ อยากให้ทุกคนไปฟัง

.

เรื่องแปลกที่ศาลสั่งพิจารณาคดีลับ หลังพยานโจทก์เบิกความอ้างคำปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไปหมดแล้ว
 


ทนายจันทร์จิราย้อนเล่าเหตุการณ์ในห้องพิจารณาเมื่อวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ว่า วันดังกล่าวเป็นนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งได้ตอบการซักถามของอัยการโจทก์ไปแล้ว แล้วมาให้ทนายจำเลยถามค้าน พอเริ่มการพิจารณาอานนท์ได้แถลงศาลว่า ทนายความและจำเลยไม่สามารถที่จะใช้สิทธิถามค้านได้ เนื่องจากศาลไม่ได้ออกหมายเรียกพยานเอกสารมาให้ประกอบการถามค้าน เป็นการจำกัดการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของจำเลย ศาลยืนยันว่าไม่สามารถออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ได้ เนื่องจากการออกหมายเรียกพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์จะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้

อานนท์ก็โต้แย้งว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 กับวิธีพิจารณาความอาญาเป็นคนละส่วนกัน ต้องให้เขาได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เพราะเขาต้องรับผลในการต้องติดคุก และคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่มีโทษสูง

พอมีการโต้แย้งกันไปมา ศาลอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 แล้วก็ไม่ยอมออกหมายให้ อานนท์ก็เลยแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ก็คือถอดเสื้อเพื่อให้ศาลเห็นว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะว่าเขาไม่มีสิ่งอื่นใดจะทำได้นอกจากแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาล หลังจากอานนท์ถอดเสื้อ ศาลก็สั่งพิจารณาคดีลับแล้วบอกให้ทุกคนออกไปจากห้องพิจารณาภายใน 5 นาที หากใครยังฝาผืนคำสั่งศาลก็จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลมาควบคุมตัวลงไปขัง

หลังจากทุกคนทยอยออกไปจากห้องพิจารณาแล้ว ก็มีการโต้แย้งกันเรื่องมาตรา 6 อีก จากนั้นศาลก็บอกว่า ต้องตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลกับอานนท์ที่ถอดเสื้อในห้องพิจารณา เพราะอานนท์เคยแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แบบนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง ศาลกำชับแล้วว่าถ้ามีการถอดเสื้ออีกศาลจะตั้งละเมิดอำนาจศาล

หลังจากการโต้แย้งกัน อานนท์ก็เลยยื่นคำร้องขอตั้งข้อรังเกียจศาลด้วยเหตุ 2 ประการ ก็คือ 1.ศาลที่พิจารณาคดีมีอคติเนื่องจากการตีความมาตรา 6 ในลักษณะที่เป็นโทษแก่จำเลย 2.มีการพิจารณาคดีลับซึ่งเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบ ผู้พิพากษาได้นำคำร้องของอานนท์ขึ้นไปเสนอกับอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อธิบดีฯ มีคำสั่งยกคำร้อง เนื่องจากไม่เข้าเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 27 ประกอบวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 11, 13, 14

อานนท์เห็นว่า เป็นการสั่งคำร้องที่ขัดต่อมาตรา 14 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งนี้ด้วยเช่นกัน เพราะว่าเวลาจะสั่งเรื่องตั้งข้อรังเกียจศาล ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 14 ระบุไว้ชัดเจนว่า ศาลต้องฟังคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย และสืบพยาน รวมถึงรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะสั่งคำร้องว่าให้เปลี่ยนตัวผู้พิพากษาหรือยกคำร้อง

ส่วนขั้นตอนการพิจารณาต่อไป ในเมื่อจำเลยไม่สามารถที่จะใช้สิทธิถามค้านพยานโจทก์ได้เนื่องจากไม่มีพยานเอกสาร ในส่วนของโจทก์ซึ่งได้สืบพยานไว้ครบถ้วนแล้ว จึงแถลงหมดพยาน ศาลก็เลยสั่งให้จำเลยนำพยานเข้าสืบในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 28 พ.ย.

วันที่ 28 พ.ย. เริ่มต้นด้วยศาลให้อานนท์นำพยานจำเลยเข้าสืบ อานนท์ก็แถลงศาลว่า ไม่สามารถสืบพยานจำเลยได้เนื่องจากกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยมีเหตุ 3 ประการคือ 1.ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญเข้ามาในคดี 2.ศาลสั่งพิจารณาคดีลับโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย 3.จำเลยยื่นคำร้องขอเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาเนื่องจากมีอคติชัดเจน แต่ศาลไม่ยอมเปลี่ยนให้จึงไม่สามารถสืบพยานได้ เพราะจะไม่ได้รับความเป็นธรรม

ระหว่างที่ศาลจดรายงานกระบวนพิจารณา ตัวแทนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมก็ได้เข้ามายื่นคำร้องเกี่ยวกับการใส่โซ่ตรวนอานนท์ โดยเห็นว่าการใส่ตรวนผู้ต้องขังในศาลเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ป้องกันและต่อต้านการทรมานฯ ศาลก็บอกว่า เข้าไม่ได้ ถ้าไม่ออกไปเดี๋ยวศาลจะสั่งขัง หลังจากตัวแทนมูลนิธิผสานฯ ออกไป ทนายความเห็นท่าทีของศาลค่อนข้างแข็งกร้าวก็เลยถามศาลว่า ท่าทีของท่านเป็นแบบนี้ทุกคดีมั้ย ศาลตอบว่า เป็นแบบนี้ทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อานนท์ก็เลยถามต่อด้วยว่า ในคดี 112 ท่านเป็นแบบนี้ทุกคดี หรือว่าเป็นเฉพาะกับผมในคดีนี้ ศาลตอบว่า ไม่ใช่อย่างนั้น คดีอานนท์เป็นคดีการเมืองด้วย แต่ก็อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ละกัน ซึ่งเราเห็นว่า เป็นการแสดงทัศนคติบางประการชัดเจนที่เราไม่เคยเจอมาก่อน

หลังจากนั้นศาลแจ้งว่า ศาลจะออกข้อกำหนดห้ามเผยแพร่ข้อมูลในห้องพิจารณา ทั้งทนายและอานนท์เลยถามว่า ขอบเขตการห้ามเผยแพร่มีแค่ไหน เพราะว่าที่ผ่านมา 2 วัน ไม่มีการสืบพยาน ไม่มีเนื้อหาที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เลย และยืนยันว่า ศาลไม่สามารถห้ามเผยแพร่ได้ ศาลก็บอกว่า ศาลสั่งพิจารณาคดีลับแล้ว ดังนั้นไม่ว่าข้อมูลใด ๆ ก็ห้ามเผยแพร่ อานนท์ยืนยันว่า ข้อมูลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือไม่ได้เข้าข้อกฎหมายที่ห้ามเผยแพร่ มีการโต้แย้งกันไปมาโดยอานนท์ไม่ยอมหยุดพูด ศาลก็เลยให้เอาตัวอานนท์ออกไปไว้ที่ห้องขังด้านล่าง ก่อนพูดกับทนายความที่นั่งอยู่ 3 คน ว่า ทนายความก็เหมือนกัน ถ้าไม่หยุดพูด ยังโต้แย้งศาลอยู่ ศาลจะสั่งขังให้หมด

ทนายจันทร์จิราตั้งข้อสังเกตว่า มันเป็นเรื่องแปลกในการพิจารณาคดีลับในคดีนี้ เพราะว่าก่อนหน้านี้มีการสืบพยานโจทก์ไปแล้วหลายปาก พยานโจทก์ที่มาเบิกความตอบโจทก์โดยอ้างถึงคำปราศรัยของอานนท์ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่มีการพิจารณาคดีลับ แต่พอมาถึงส่วนที่จะเป็นการถามค้านของทนายจำเลย ศาลกลับสั่งพิจารณาลับ ก็เลยอยากจะอ่านคำร้องที่อานนท์ยื่นต่อศาล ส่วนหนึ่งของคำร้องอานนท์ระบุว่า

“การสั่งพิจารณาคดีลับโดยไม่มีเหตุโดยชอบด้วยกฎหมายทำให้จำเลยไม่อาจเข้าใจเหตุผลเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากเป็นไปเพื่อปกปิดพฤติการณ์ใช้อำนาจล้นเกินในทางไม่ชอบของศาลเองไม่ให้ปรากฏต่อสายตาสาธารณชนที่เข้าฟังการพิจารณาคดีเสียยิ่งกว่าเพื่อประโยชน์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177”

ทนายจัทร์จิรายังกล่าวถึงกรณีที่ศาลปฏิเสธไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้อานนท์ว่า คดีนี้ศาลอ้างว่าจะละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 หรือก่อนหน้านี้หลายศาลให้เหตุผลว่า จะประวิงคดีทำให้คดีล่าช้า พยานเอกสารไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีเป็นพยานหลักฐานที่ฟุ่มเฟือย ซึ่งอานนท์เคยแถลงกับศาลว่า ท่านควรจะใช้อำนาจออกหมายเรียกพยานเอกสาร ส่วนท่านเรียกไปแล้วหน่วยงานที่ครอบครองเอกสารเขาจะส่งมาให้หรือไม่เป็นเรื่องที่เขาไปตัดสินใจ แต่ว่าท่านมีอำนาจในมือที่จะให้จำเลยเข้าถึงเอกสาร

จึงขอยกกรณีพิพาทเรื่องที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งผู้แทนสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาชี้แจงกับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารว่า เขาไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลที่เป็นโฉนดในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ได้ เนื่องจากมันมีการเปลี่ยนแปลงหลังการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 ทำให้โฉนดที่ดินที่มีสถานะเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กลายเป็นพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นจึงเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่เขาชี้แจงชัดเจนว่า อย่างไรก็ตาม หากศาลมีหมายเรียกพยานเอกสารมายังเขา เขาก็สามารถที่จะส่งเอกสารนี้ไปยังศาลเพื่อให้จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้

.

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่อ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ปฏิเสธการไม่ให้เอกสาร



ธงชัย วินิจจะกูล เกริ่นนำว่า วันนี้ผมสวมหมวก 2 ใบ ใบที่ 2 ในฐานะคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย ดูแนวโน้มนิติศาสตร์ ซึ่งทำให้พอจะเข้าใจแนวคิดนิติปรัชญาของไทย ส่วนหมวกใบแรกคือ วันนั้นผมโผล่ไปคดีนี้ อยากไปให้กำลังใจอานนท์ก็เลยเจอเหตุการณ์พอดี แล้วระหว่างแค่ประมาณไม่กี่นาทีที่มีการประท้วง มีการโต้แย้งไปมา ก่อนที่ศาลจะสั่งให้เจ้าหน้าที่มาพาผู้ที่เข้าฟังออกไป ผมคิดในทันที 1- 2 เรื่อง

เรื่องแรกก็คือ มาตรา 6 เกี่ยวด้วยเหรอ ด้วยความรู้สามัญสำนึก มาตรา 6 เกี่ยวข้องกับการที่พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะอันละเมิดไม่ได้ หมายถึงเราฟ้องไม่ได้ ถ้าหากมีการกระทำผิดใด ๆ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการก็ต้องรับผิดชอบแค่นั้น ผมนึกไม่ออกว่าการเรียกเอกสารจะเกี่ยวข้องกับการละเมิดยังไง ผมเลยสอบถามในเวลาต่อมาก็ทราบว่า นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ใช้เหตุผลว่า การเรียกเอกสารอาจจะละเมิดมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ มาใช้ปฏิเสธการไม่ให้เอกสาร อันนี้สำคัญมากเพราะถ้าหากการให้เหตุผลแบบนี้ถูกต้อง ที่ผ่านมามันไม่เคยเกิดกรณีแบบนี้เลย แต่ถ้าหากการให้เหตุผลแบบนี้ไม่ถูกต้องก็แปลว่า การตีความมาตรา 6 กำลังจะขยับไปอีก 1 ขั้นอย่างสำคัญแล้ว

อีกเรื่องที่ผมคิด ผมคิดถึง “1984” หลายคนคงเคยอ่าน จำได้มั้ยว่า สาระอันหนึ่งของ 1984 ก็คือ พี่เบิ้มบอกกับพวกเราว่า 2+2 = 5 วินสตัน สมิธ บอกว่า ไม่ 2+2 = 4 ในกรณีนี้ก็เช่นกัน มีอำนาจที่บอกว่า การเรียกเอกสารละเมิดมาตรา 6 อานนท์บอกว่า ไม่ การเรียกเอกสารไม่ละเมิด ถ้านี่เป็นห้องพิจารณาคดี แล้วผมเป็นศาล ผมบอกพวกคุณว่า 2 + 2 = 5 ถ้าพวกคุณยืนยันว่าเท่ากับ 4 ผมจะสั่งเจ้าหน้าที่มาล็อคประตูปิดแอร์ปิดไฟไม่ให้ไปไหนทั้งสิ้น จนกว่าคุณจะยอมรับว่า 2+2 = 5 และเมื่อคุณไม่ยอมรับ ห้องนี้จึงต้องปิดการพิจารณาไม่ให้คนข้างนอกรู้ เพราะคนข้างนอกเขาจำเป็นจะต้องเชื่อว่า 2+2 = 5 ไม่งั้นรัฐ 1984 ล่ม

ลองคิดดูว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับทนายอานนท์เป็นทำนองนี้หรือเปล่า แล้วคุณแน่ใจหรือว่า แค่ในห้องพิจารณาคดีเท่านั้นที่พยายามบอกเราว่า 2+2 = 5 เราทุกคนในสังคมไทยกำลังถูกบอกว่า 2+2 = 5 และถ้าพวกคุณยืนยันว่าเท่ากับ 4 ชะตากรรมของคุณก็ไม่ถึงกับโดนจับเข้าไปในห้องขังอย่างทนายอานนท์ แต่ก็ทำนองเดียวกันก็คือ คุณห้ามพูด จนกว่าคุณจะยอมรับว่า 2+2 = 5 คุณถึงจะได้อิสระ เหมือนอย่างวินสตัน สมิธ ได้รับอนุญาตปล่อยตัวมาเมื่อเขายอมรับกับพี่เบิ้มว่า 2+2 = 5

.

นิติศาสตร์ของ “ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ”: เหตุแห่งการตีความมาตรา 6 ขยายถึงการเรียกเอกสาร

อ.ธงชัย กล่าวประเด็นถัดไปในฐานะคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายไทยว่า เราวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินคดีทางการเมืองและโดยเฉพาะคดี 112 กันมาเยอะ รวมถึงคำตัดสินคดีพรรคก้าวไกล ถึงขนาดนักกฎหมายบอกว่าตอนนี้สอนหนังสือไม่ได้แล้วเพราะผิดหลักกฎหมาย แต่ถ้าสังเกตให้ดีที่เราบอกว่า คำตัดสิน คำวินิจฉัย ละเมิดหลักกฎหมาย ศาลใช้เหตุผลที่คงเส้นคงวา ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากว่า ผู้พิพากษานาย ก. นึกคึกคะนองอยากจะอวดการใช้อำนาจก็ใช้อย่างผิดปกติ ผู้พิพากษาทั้งหมดให้เหตุผลอย่างคงเส้นคงวา นำไปสู่ข้อสังเกตของผมว่า เขายึดหลักบางอย่าง แต่เป็นหลักซึ่งขัดกับหลักกฎหมายปกติอย่างเป็นระบบ สิ่งที่ขัดกับกฎหมายปกติอย่างหนึ่งก็คือ สิ่งที่ควรเป็นปกติกลายเป็นข้อยกเว้น สิ่งที่ควรจะเป็นข้อยกเว้นกลายเป็นเรื่องปกติ

กฎหมายมีหลักการพื้นฐานต่างจากที่เราเข้าใจอย่างสามัญสำนึกเยอะ แต่เหตุที่เราเข้าใจอย่างสามัญสำนึกก็เพราะความเข้าใจโดยทั่วไปในสังคมไทยตามธรรมเนียมที่สืบทอดมา ยกตัวอย่างข้อเดียวซึ่งสำคัญมากที่สุด หลักกฎหมายมาตรฐานมีเพื่อจำกัดอำนาจรัฐว่าอย่ามารุกล้ำดินแดนที่เป็นสิทธิเสรีภาพและสิทธิของปัจเจกบุคคล มันกลับกับความเข้าใจในสังคมไทยที่เราคิดว่า กฎหมายมีไว้จำกัดอำนาจประชาชน เป็นคำสั่งผู้ปกครองเพื่อความสงบเรียบร้อย เราจะได้อยู่กันด้วยความสงบ

ถามว่าเราเข้าใจผิดมาตลอดได้ไง ก็เพราะความเข้าใจทางกฎหมายในสังคมไทยเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราร่ำเรียนกันมาว่า สังคมไทยเข้าสู่สมัยใหม่แล้ว มีกฎหมายสมัยใหม่แล้ว แต่กฎหมายสมัยใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นไปตามมาตรฐานสากลเพียงแค่ 2 อย่าง คือ บันทึกลายลักษณ์อักษรชัดเจนและประชาชนเข้าถึงได้ สิ่งที่ไม่ได้นำมาด้วยก็คือหลักการที่เหลือทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัก Rule of Law หรือกฎหมายเป็นใหญ่ ต้องจำกัดอำนาจรัฐ คุณพูดถึงกฎหมายสากลและกฎหมายมาตรฐาน แต่กฎหมายไทยไม่ได้ใช้ตามหลักนั้น พวกคุณพูดภาษานิติศาสตร์คนละภาษากับท่านผู้พิพากษา

ระบบกฎหมายมีร่องรอยการผิดปกติมาแต่เริ่ม ผ่านการต่อสู้ดีขึ้นบ้างแย่ลงบ้างมาเป็นระยะตามกระแสการเมือง ในระยะหลังความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การสถาปนาคำว่า “ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งเริ่มมากับรัฐธรรมนูญ 2492 มาจนกระทั่งรัฐประหารปี 49 ก็เริ่มเกิดการตีความให้เลยเถิด มีอาจารย์ท่านหนึ่งสรุปให้ฟังง่าย ๆ ว่า ระยะประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา คำว่า ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งใช้ 2 วลีต่อกัน ด้านที่เป็น ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เริ่มกินแดนด้านที่เป็น ประชาธิปไตย ให้น้อยลงทุกที ทำให้ด้านที่เป็นประชาธิปไตยถดถอยลงเสียจนทุกวันนี้ มีนักวิชาการพยายามบอกว่า ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แปลมาจาก Constitutional Monarchy ไม่ถูก ต้องแปลว่า ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ

ระบบกฎหมายและนิติศาสตร์ไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ระบบกฎหมายและนิติศาสตร์ที่รับใช้ระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ มีการเขียนอย่างนี้มานาน มีกระแสนักคิดอย่างน้อยปรากฏชัดเจนเมื่อปี 2527 โดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ หลังจากนั้นมีการเขียนอีกหลายครั้งและมีคนขานรับ ประเด็นใหญ่คือ อำนาจอธิปไตยยังเป็นของพระมหากษัตริย์ 2475 ไม่มีความสำคัญเท่าไหร่ สอดคล้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่ต้องบดบังทำลายหรือทำให้คนหลงลืม 2475

หลักกฎหมายที่เป็นนิติศาสตร์ของราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญอิงกับประเทศไทยซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ คุ้น ๆ มั้ย มันปรากฏเป็น 1 ประโยคในคำตัดสินยุบพรรคก้าวไกล เป็นประโยคที่ถูกอ้างถึงบ่อยมาก ด้วยลักษณะพิเศษนี้จึงทำให้มาตรา 6 ถูกตีความ (อ้างในการไม่ออกหมายเรียกเอกสาร) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ปราศจากหลักเหตุผลทางประวัติศาสตร์ข้อนี้การตีความเช่นนั้นเป็นไปไม่ได้ การตีความเรื่อง 112 หลายกรณี และการให้เหตุผลเพื่อยุบพรรคก้าวไกลเป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้อย่างเดียวก็คือทำให้ 2475 ไม่มีความหมายและอำนาจอธิปไตยยังเป็นของพระมหากษัตริย์

ส่วนที่ว่าเกิดการปฏิวัติ เกิดรัฐประหาร คำของบวรศักดิ์คือ เป็นแต่เพียงการพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ทดลองประชาธิปไตย เมื่อล้มเหลวเกิดการรัฐประหารแต่ละครั้ง อำนาจอธิปไตยจึงย้อนกลับไปอยู่ในองค์พระมหากษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง แล้วพระราชทานกลับมาให้ทดลองอีก ทั้งหมดนี้เพื่อจะบอกว่า อำนาจอธิปไตยไม่เคยหลุดออกจากพระมหากษัตริย์เลย ด้วยเหตุนั้นอำนาจสถาปนากฎหมายจึงมาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ในแง่นี้พระมหากษัตริย์จึงเป็นต้นธารของความยุติธรรม นี่คือนิติศาสตร์ของราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญที่เขาพยายามสถาปนา

นิติศาสตร์แบบนี้จึงต้องปกป้องพิทักษ์และให้ความสำคัญกับสถาบันฯ เป็นพิเศษ ความมั่นคงของชาตินอกจากความมั่นคงกองทัพแล้วที่เหนือกว่านั้นคือความมั่นคงของสถาบันฯ ในแง่นี้เวลาอ้างความมั่นคงและศีลธรรม ในกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องเพศหรือเด็ก แต่เป็นเรื่องศีลธรรมเพราะประชาชนจะปั่นป่วนสับสนวุ่นวาย เกี่ยวข้องกับสถานะความสัมพันธ์ของสถาบันฯ และกองทัพกับประชาชนทั้งหมด ด้วยเหตุนั้นเรื่องความมั่นคงจึงถูกสถาปนาให้เป็นชั้นพิเศษของกฎหมายที่อนุญาตให้ใช้ข้อยกเว้นทางกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเกี่ยวข้องกับการจับกุมคุมขัง การฟ้องร้อง การประกันตัว และใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาหรือของรัฐในกรณีที่เกี่ยวข้องความมั่นคง นี่คือภาษากฎหมายของ 2+2 = 5

.

การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยคุ้มครองทั้งจำเลย-ประชาชนทั่วไป-ผู้พิพากษา พิจารณาลับได้แต่ต้องจำเป็น กรณีบุคคลสาธารณะควรยึดหลักพิจารณาเปิดเผย



สาวตรี สุขศรี กล่าวถึงหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยว่า ตามหลักสากล การพิจารณาคดีโดยหลักจะต้องเปิดเผย การพิจารณาลับจะทำได้ต่อเมื่อมีข้อยกเว้นซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจนและเคร่งครัดเท่านั้น และต้องกระทำโดยจำเป็น ได้สัดส่วน

หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยเป็นหลักประกันให้กับจำเลยในการที่จะได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีโดยเป็นธรรม หรือ Right to Fair Trial ซึ่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั่วโลกรับรองหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพิจารณาโดยเปิดเผย การพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลย หลักอาวุธที่เท่าเทียมหรือการที่คู่ความทั้งสองฝ่ายจะต้องสามารถนำเสนอพยานหลักฐานของตนได้อย่างเท่าเทียมกัน พิจารณาคดีโดยเสมอภาค ไม่มีการเลือกปฏิบัติ รวมถึงการพิจารณาคดีโดยเป็นธรรมและเป็นกลางของผู้พิพากษา

หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยเป็นหลักการหนึ่งซึ่งได้รับการรับรองไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศเกือบทุกฉบับ ซึ่งนานาประเทศแล้วก็รวมถึงประเทศไทยลงนามไว้

บางทีเราเข้าใจกันว่า หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยเป็นหลักประกันสิทธิของจำเลยเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วเจตนารมณ์ของหลักการนี้คุ้มครอง 3 ส่วน ส่วนที่ 1 ในมุมของจำเลยก็คือ คุ้มครองจำเลยจากการถูกกลั่นแกล้งโดยใช้ศาลเป็นเครื่องมือ หรือว่าศาลดำเนินการบางอย่างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงควรจะเปิดเผยให้กับประชาชนได้ตรวจสอบ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของจำเลยว่าจะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมหรือในกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ยังมีผลกับพยานหลักฐาน พยานบางคนตั้งใจมาสร้างพยานเท็จ แต่ถ้าพิจารณาคดีโดยเปิดเผยประชาชนที่เข้าฟังบางคนอาจจะรู้ข้อเท็จจริงก็ได้ จึงเป็นปรามพยานบางคนที่ตั้งใจมาเบิกความเท็จให้เขาต้องกังวลใจว่า สิ่งที่เขาพูดไปมีคนอื่นรู้หรือเปล่า

ส่วนที่ 2 หลักนี้คุ้มครองประชาชนทั่วไปด้วย เพราะว่าการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาตรวจสอบการทำงานของฝ่ายตุลาการซึ่งเป็นฝ่ายหนึ่งที่ใช้อำนาจรัฐว่าโปร่งใสมั้ย เป็นที่พึ่งให้เขาได้จริงมั้ย ในอนาคตหากเขามีคดีเขาเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ได้มั้ย ดังนั้นต่อให้จำเลยยินยอมให้พิจารณาลับก็ไม่ได้หมายความว่าศาลจะต้องพิจารณาลับเสมอ ศาลอาจจะพิจารณาว่า เรื่องนี้กระทบต่อประชาชนควรให้ประชาชนได้ตรวจสอบ เป็นการให้สิทธิกับหลาย ๆ ฝ่ายในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตรวจสอบความเป็นกลางและความอิสระของฝ่ายตุลาการ

อีกมุมหนึ่งคือผู้พิพากษาเอง การที่พิจารณาคดีโดยเปิดเผยสามารถแสดงความโปร่งใสของผู้พิพากษาว่าได้พิจารณาคดีไปตามกฎหมายจริง ๆ หากคำตัดสินออกมาแล้วคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่ยุติธรรม แต่ประชาชนที่เข้าดูการพิจารณาคดีเห็นว่าศาลพิจารณาไปตามปกติ ประชาชนก็จะกลายเป็นเครื่องยืนยันให้ศาลเองว่า ตัดสินไปตามข้อกฎหมายตามข้อเท็จจริงแล้ว

หลักนี้จึงมีความสำคัญสำหรับทุกคน ไม่ได้สำคัญเฉพาะจำเลยเท่านั้น แต่สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมโดยเปิดเผยไม่ใช่ Absolute Right มันสามารถมีข้อยกเว้นได้ แต่การตีความข้อยกเว้นมันต้องจำกัดมาก ๆ อย่างน้อยที่สุดต้องได้สัดส่วน ถ้าจะพิจารณาคดีลับก็ลับเฉพาะบางช่วงที่มีข้อความที่จะกระทบอะไรบางสิ่ง ในช่วงอื่น ๆ ก็สามารถพิจารณาคดีโดยเปิดเผยได้

ข้อยกเว้นที่สามารถพิจารณาคดีลับได้ในหลักสากลคือ ตาม ICCPR (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) กำหนดเอาไว้ 4 เหตุผล คือ 1.ด้วยเหตุผลทางศีลธรรมและความสงบเรียบร้อยของประชาชน 2.เรื่องของมั่นคงของชาติหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 3.มีความจำเป็นเกี่ยวกับส่วนได้เสียของคู่ความในคดี 4.อาจเสื่อมเสียต่อผลประโยชน์แห่งความยุติธรรมหากพิจารณาโดยเปิดเผย

เหตุผลทางศีลธรรมและความสงบเรียบร้อยเป็นคำกว้างก็จริง แต่นอกเหนือจากคดี 112 ที่ผ่านมาการใช้เหตุผลนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ ในบ้านเราส่วนมากเขาก็จะพิจารณาคดีลับในคดีเกี่ยวกับเพศ ข่มขืนกระทำชำเรา อนาจาร หรือบางครั้งเป็นคดีที่ทารุณโหดร้ายเกินไป

ในเรื่องความมั่นคง ที่ผ่านมาของบ้านเราจะมีปัญหามาก ๆ คือเราก็จะอ้าง 112 ว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง แต่ว่าข้อยกเว้นในกฎหมายไทยจริง ๆ เราหมายเฉพาะความปลอดภัยของประเทศด้วย ซึ่งจะเกี่ยวพันกับปัญหาการใช้ดุลพินิจและการตีความ

เรื่องสิทธิส่วนบุคคล อาจจะเป็นคดีหมิ่นประมาท คดีครอบครัวหรือคดีเด็กและเยาวชน อย่างบ้านเรา พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ บังคับไว้เลยว่า ต้องพิจารณาคดีโดยลับเป็นหลัก เพราะเขามองว่าจะส่งผลกระทบต่อการคืนสู่สังคมของเด็กคนนั้นด้วย

ส่วนกรณีที่ 4 ข้อยกเว้นด้วยเหตุที่อาจเสียความยุติธรรม ข้อนี้น่าสนใจเพราะอาจจะวิเคราะห์ไปได้ถึงมาตรา 112 ด้วย กรณีนี้เขามองว่า บางกรณีหากเปิดเผยไปอาจเกิดกระแสสังคมหรือสร้างอิทธิพลบางอย่างต่อตัวผู้พิพากษา เช่น ประชาชนโดยทั่วไปเห็นว่าต้องลงโทษหรือต้องยกฟ้อง ทำให้ศาลอาจจะเริ่มไม่มั่นใจแล้วว่า ถ้าพิจารณาคดีแบบนี้จะโดนประชาชนเล่นงานหรือเปล่า เขาจึงเปิดช่องเอาไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ แต่บ้านเราไม่มีข้อยกเว้นเรื่องนี้

ของประเทศไทยการพิจารณาคดีลับอยู่ที่มาตรา 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เหตุที่จะพิจารณาคดีลับได้มีแค่ 2 ข้อ คือ 1.ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน 2.ป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ประชาชนล่วงรู้ได้

ทีนี้กรณีที่ท่านพิจารณาคดีลับในคดี 112 ท่านใช้เหตุผลอะไร แล้วการให้เหตุผลแต่ละครั้งต้องพูดถึงพฤติการณ์ด้วยว่า มันขัดต่อศีลธรรมยังไง กระทบต่อความปลอดภัยของประเทศยังไง ไม่ใช่เพียงแค่อธิบายโดยใช้คำในกฎหมายมาไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่ง กรณีแบบนี้มันทำให้เราเห็นความบิดเบี้ยวอะไรบางอย่างอยู่พอสมควรว่า บางทีตีความเกินไปกว่าตัวบทหรืออำนาจที่กฎหมายให้เอาไว้

หลังจากเซอร์เวย์ดูหลายประเทศพบว่า กฎหมายของญี่ปุ่นน่าสนใจมาก ญี่ปุ่นวางหลักการเรื่องการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยเอาไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เขาเขียนไว้ว่า การพิจารณาคดีและการอ่านคำพิพากษา รวมถึงการพิจารณาเรื่องการกักขังก็คือไม่ให้ประกันตัวให้กระทำโดยเปิดเผย ข้อหลังน่าสนใจมากซึ่งบ้านเราไม่เขียน หลักการเรื่องนี้เขาป้องกันไม่ให้จำเลยถูกกักขังหรือถูกจำกัดอิสรภาพโดยกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องให้ประชาชนได้ตรวจสอบด้วย

เรื่องข้อยกเว้น ญี่ปุ่นเขียนว่าจะพิจารณาลับก็ได้ เพื่อคุ้มครองความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี แต่ต้องเป็นกรณีที่องค์คณะทั้งหมดเห็นเป็นเอกฉันท์ ซึ่งบ้านเราไม่ได้พูดเรื่องนี้เลย

ที่สำคัญในคดีที่เป็นความผิดทางการเมืองหรือมีความเกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนหรือเกี่ยวข้องกับสิทธิหน้าที่ของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาคดีโดยเปิดเผยเสมอ ไม่มีข้อยกเว้น อันนี้ต้องขอให้ใส่ดอกจันเลยเพราะผู้พิพากษาก็พูดว่า คดีของอานนท์เป็นคดีความผิดทางการเมือง และเป็นความน่าสนใจเหมือนกันว่า กฎหมายในแต่ละประเทศสะท้อนว่าเขาให้คุณค่ากับอะไร

ขอวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีของทนายอานนท์และอาจจะรวมถึงคดี 112 คดีอื่น ๆ ด้วย มีข้อสังเกตอยู่ 4-5 ประการ ก็คือ 1.ศาลต้องมีปัญหาเรื่องการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและความเป็นกลาง 2.คดีนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวพันกับสิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ที่สำคัญตัวละครที่มาเกี่ยวข้องเป็นบุคคลสาธารณะ เพราะฉะนั้นโดยหลักแล้วการที่จะพิจารณาคดีโดยลับหรือไม่ ต้องยึดหลักว่า บุคคลสาธารณะย่อมเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนควรได้รับรู้เหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงเหล่านั้น เพราะว่าหลักการนี้ไม่ได้คุ้มครองจำเลยเท่านั้นแต่คุ้มครองประชาชนด้วย

3.ถ้าเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น เรื่องนี้เรามองว่าเป็นคดีทางการเมืองหรือไม่ ถ้าเป็นคดีทางการเมืองโดยหลักแล้วมันควรจะเป็นอย่างไร 4.หากศาลเห็นว่าการพิจารณาโดยเปิดเผยในคดี 112 อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของจำเลย กรณีที่ประชาชนที่เข้าฟังอาจจะมีความจงรักภักดีสูงมาก มันมีมาตรการอื่นในการที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิของจำเลย ขณะเดียวกันฝ่ายจำเลยเขาไม่ได้ร้องขอ เขายอมรับความเสี่ยง เขาขอให้เปิดเผย ดังนั้น ในคดีลักษณะแบบนี้ศาลไม่ควรเป็นผู้พิจารณาเองว่าจะพิจารณาลับหรือไม่ ต้องให้จำเลยร้องขอเอง ถ้าศาลพิจารณาเองก็จะมีปัญหาในเรื่องของความโปร่งใส ทำให้ประชาชนเคลือบแคลงว่าศาลได้ใช้อำนาจไปตามที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

.

หลักความเป็นกลางของผู้พิพากษา คุ้มครองทั้งจำเลย-สถาบันตุลาการ หากผู้พิพากษาไม่เที่ยงธรรม-คิดล่วงหน้า ทำร้ายสถาบันตุลาการด้วย

อ.สาวตรี กล่าวถึงอีกหลักการหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม คือหลักความเป็นกลางหรือความเที่ยงธรรมของผู้พิพากษาว่า เป็น Fair Trial อย่างหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งเกี่ยวพันกับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยด้วย ก็คือ ในการพิจารณาคดีอาญาจำเลยต้องได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยด้วยศาลที่เป็นอิสระ เที่ยงธรรมและเป็นกลาง

ความเป็นกลางหรือความเที่ยงธรรม เหมือนการให้หลักประกันกับจำเลยในการที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยปราศจากอคติ ไม่มีความลำเอียง แต่โดยเจตนารมณ์ของหลักนี้เขาไม่ได้คุ้มครองเฉพาะจำเลย เขาคุ้มครองสถาบันตุลาการด้วย เพราะถ้าหากมีผู้พิพากษาสักคนหนึ่งแสดงอย่างชัดเจนว่า ไม่มีความเป็นกลาง ไม่มีความเที่ยงธรรม สิ่งที่จะกระทบที่สุดนอกจากตัวจำเลยแล้วคือสถาบันตุลาการทั้งหมด เพราะว่าสาธารณชนจะเริ่มรู้สึกว่าองค์กรตุลาการเชื่อถือไม่ได้ ดังนั้นในขณะที่ผู้พิพากษาไม่มีความเที่ยงธรรมท่านไม่ได้ทำร้ายหรือละเมิดแค่จำเลย แต่ท่านทำร้ายและละเมิดสถาบันของท่านเองด้วย

ในหลักการสากล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยุโรปวางหลักความเที่ยงธรรมของผู้พิพากษาเอาไว้ 5 สาระสำคัญ คือ 1.ต้องตัดสินคดีบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างเป็นภาววิสัย นั่นคือไม่ต้องดูหน้าหรือสถานะของคู่ความ 2.ไม่มีส่วนได้เสียกับคดีทั้งทางตรงและทางอ้อม 3.ไม่มีอคติ 4.ผู้พิพากษาจะต้องไม่มีความคิดล่วงหน้าในประเด็นที่กำลังพิจารณาคดี ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก ลองดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีการแสดงทรรศนะหลาย ๆ ครั้งที่สะท้อนออกมาว่า ผู้พิพากษาได้พิจารณาคดีไปล่วงหน้าแล้ว อย่างนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ บอกว่า คุณขาดความเที่ยงธรรมที่จะพิจารณาคดีนั้นแล้ว

เขาเขียนอธิบายด้วยว่า ความคิดล่วงหน้าที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความเที่ยงธรรมของผู้พิพากษาบางครั้งอาจจะเป็นความคิดที่ดีต่อประเทศชาติ แต่เรื่องที่ดีหากไปสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับประเด็นที่กำลังพิจารณาคดีนั้น ต่อให้คุณอ้างว่าคุณเป็นคนดีทำเพื่อประเทศชาติบ้านเมือง คนทั่วไปอาจจะบอกว่าดีแล้ว แต่ในทางกระบวนการยุติธรรมถือว่าขาดความเที่ยงธรรม คุณไม่มีศักดิ์และสิทธิที่จะพิจารณาคดีลักษณะนี้แล้ว ดังนั้นความเที่ยงธรรมไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณคิดดีหรือไม่ดี แต่คุณพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายหรือเปล่า

ตัวชี้วัดว่าผู้พิพากษาท่านนี้หรือองค์คณะเหล่านี้มีความเที่ยงธรรมหรือเป็นกลางหรือไม่ มี 2 ตัวชี้วัด คือ ดูตามอัตวิสัยกับภาววิสัย สำหรับอัตวิสัย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเองก็ยังบอกว่าวัดยาก เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ภายใน ดังนั้นส่วนใหญ่จึงมักใช้ตัวชี้วัดทางภาววิสัย คือดูสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้น เช่น เขาเป็นญาติกับคู่ความหรือเปล่า เขามีส่วนได้เสีย เขาเคยขัดแย้งกันมั้ย หรือเขามีอุดมการณ์อะไรบางอย่าง ตรงนี้น่าสนใจถ้าเราเอามาวิเคราะห์กับคดี 112

ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมศาลถึงยกคำร้องเรื่องตั้งรังเกียจศาล กฎหมายตั้งข้อรังเกียจศาลอยู่ในมาตรา 11-14 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เขาจะกำหนดเหตุเป็นข้อ ๆ 4-5 เหตุ เช่น มีส่วนได้เสียโดยตรง เป็นญาติพี่น้อง เวลาคุณจะตั้งรังเกียจจะต้องเป็นไปตามเหตุดังกล่าว เหตุอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดตั้งไม่ได้ จึงเป็นปัญหาที่ตัวบทกฎหมาย ไม่ใช่ประเด็นปัญหาที่ดุลพินิจของผู้พิพากษาเท่านั้น

อยากจะให้ดูกฎหมายของอเมริกา เรื่องการตั้งรังเกียจผู้พิพากษาเขามีบทมาตราที่มีเหตุเหล่านี้ และมีมาตราที่ครอบคลุมเหตุทั่ว ๆ ไปด้วย เขาเขียนไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่คู่ความในศาลชั้นต้นได้ทำและยื่นคำให้การอย่างเพียงพอว่าศาลหรือผู้พิพากษาพิจารณาคดีมีความลำเอียงหรือมีอคติส่วนตัวต่อคู่ความฝ่ายนั้นหรือเข้าข้างคู่ความฝ่ายตรงข้าม ศาลหรือผู้พิพากษานั้นจะพิจารณาคดีต่อไปไม่ได้ แต่ให้ศาลหรือผู้พิพากษาคนอื่นนั่งพิจารณาคดีแทน

กรณีของอานนท์เห็นชัดว่าศาลไม่พอใจพฤติกรรมของจำเลย เกิดมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ แต่ว่ากฎหมายไทยเราไม่มีเรื่องนี้ จึงเป็นสาเหตุให้ศาลยกคำร้อง

นอกจากการตั้งข้อรังเกียจ ต้องบอกว่าตอนนี้บ้านเราไม่ค่อยมีเครื่องมือให้ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมใช้ตรวจสอบหรือถ่วงดุลกับอำนาจของผู้พิพากษา หรือแม้กระทั่งศาลที่บิดเบือนหลักกฎหมาย ซึ่งหลัง ๆ เราได้เจอบ่อย เราก็ไม่มีบทบัญญัติที่จะลงโทษ เขาก็จะอ้างเรื่องความเป็นอิสระ โดยการตรวจสอบกันเองด้วย ก.ต. เพราะฉะนั้นมันค่อนข้างจะเป็นเรื่องภายในของเขา และค่อนข้างเป็นความอึดอัดคับข้องใจของประชาชนที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ต้องมาเปิดเวทีวิจารณ์กันไป

เราอาจจะต้องเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ให้ประชาชนมีเครื่องมือในการที่จะโต้แย้งพฤติกรรมของผู้พิพากษาที่มีลักษณะค่อนข้างชัดว่ามีความลำเอียง มีอคติบางอย่าง ไม่เฉพาะ 112 ถ้าศาลไม่โอเคกับบุคคลที่มีเป็น LGBT ก็ไม่มีบทบัญญัติให้ตั้งข้อรังเกียจได้ มีแต่ในศาลปกครอง

สุดท้าย อ.สาวตรี ตั้งข้อสังเกตต่อความเป็นกลางของผู้พิพากษาในคดี 112 ของอานนท์ รวมถึงคดี 112 อื่น ๆ ว่า เราตั้งคำถามได้เลยว่า ศาลได้แสดงอะไรบางอย่างที่บอกได้มั้ยว่าลำเอียง ที่ชัด ๆ อย่างเช่น บทอาเศียรวาทต่าง ๆ ที่อยู่ในคำพิพากษาของศาล คุณกำลังแสดงว่าคุณให้ประโยชน์กับฝั่งโจทก์หรือเปล่า เพราะมันไม่ควรจะอยู่ในคำพิพากษา มันไม่ควรจะเกี่ยวพันกับประเด็น หรือว่าเหตุผลต่าง ๆ ที่ไม่ให้ประกันตัวคดี 112 ที่บอกว่า ถ้าปล่อยไปอาจจะไปทำผิดแบบนี้ซ้ำอีก อันนี้คือ pre-judicial ความคิดล่วงหน้า ดังนั้นคุณไม่มีคุณสมบัติแล้วที่จะมาพิจารณาคดีลักษณะแบบนี้



อีกเรื่อง คือ มาตรา 6 หลาย ๆ ครั้งมีการตีความเกินเลยไป จนนำไปสู่การไม่อนุญาตให้อานนท์เรียกพยานหลักฐาน แบบนี้มันขัดกับหลักการใหญ่ด้วยคือ หลักอาวุธที่เท่าเทียม ที่จะต้องเปิดโอกาสอย่างเต็มที่ให้คู่ความไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือจำเลยได้สู้คดีอย่างเต็มที่ และลักษณะแบบนี้ถามว่ามันไปกระทบต่อความปลอดภัยของประเทศหรือส่งผลต่อพระมหากษัตริย์หรือไม่อย่างไร จริง ๆ ก็ไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น

https://tlhr2014.com/archives/71778