วันจันทร์, ธันวาคม 30, 2567

ทำไม "รอหมอหลายชั่วโมง ตรวจไม่ถึง 10 นาที" ยกเว้นเป็นเอกชน High-end


Chutinart Chinudomporn
21 hours ago
·
["เป็นไปไม่ได้"ที่หมอไทยจะตรวจคนไข้ได้นานกว่านี้]

ใช่ ยกเว้นเป็นเอกชน High-end หรือโรงพยาบาลที่มีการจำกัดจำนวนคนไข้ต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประกันสังคม หรือสิทธิบัตรทอง คุณก็จะเจอเรื่องเดียวกันหมด โดยเฉพาะถ้าคุณพึ่งเจ็บป่วยได้ไม่กี่วัน เป็นหวัด ท้องเสีย เวลาที่คุณจะได้ตรวจ ยิ่งสั้นกว่านั้น

ถามว่าเพราะอะไร มันคือเรื่องอัตราการกระจายตัวของแพทย์ ที่กำหนดหลวมๆไว้ว่า 1:1000 แต่หลายจังหวัดก็ยังไม่ถึง อย่างบึงกาฬ ที่แทบจะหมอ 1:5000 ความเป็นไปได้ที่คุณจะได้เวลาตรวจนานอย่างที่ใจหวังแทบไม่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมอที่นำมาคิด คือหมอทุกประเภท ทุกสาขา แน่นอนว่าหมอกระดูก ก็ไม่มาตรวจโรคหัวใจ หมอนิติเวช ก็คงไม่มาส่องกล้องให้ ดังนั้นตัวเลขกระจายหมอที่คุณต้องไปหายิ่งน้อยกว่านั้น

ถามว่าแล้วกระทรวงสาธารณสุขมองเรื่องนี้ว่ายังไง กับเรื่องที่กล่าวกันซ้ำๆว่า รอหมอหลายชั่วโมง ได้เจอไม่ถึงสิบนาที ต้องบอกว่ากระทรวงก็เป็นหนึ่งในคนกำหนดอัตราบุคลากร ด้วยมาตรฐานการตรวจ 7 นาที/คน (หรือคิดเป็นเกือบ 9 คนต่อชั่วโมง) ดังนั้นคลิปที่เป็นข่าวว่าอยากให้ตรวจได้มากกว่าชั่วโมงละ 6 คน ถือว่าปราณีมากกว่าในคู่มือโครงสร้างและกรอบอัตรากำลัง ปี พ.ศ. 2560-2564 ของประทรวงสาธารณสุขมากแล้ว ที่ต้องเร่งตรวจมากกว่านั้น

ซึ่งอันนี้หมอหลายคนอาจจะเข้าใจได้ เพราะในชีวิตจริง โรคไม่ซับซ้อนเราอาจใช้เวลาตรวจราว 7 นาที หรือน้อยกว่านั้น แต่ที่กระทรวงเขียนมาว่าเคสฉุกเฉินควรใช้เวลา 15 นาที นี่เหมาะสมจริงหรือไม่ (นับเวลาซักประวัติตรวจร่างกายตอนแรก เขียนเวชระเบียน สั่งการตรวจเพิ่มเติม - หมอหลายที่ต้องเขียนเเลป คีย์แลปเองด้วย - รอผลตรวจ อ่านผลตรวจ วางแผนการรักษา คุยกับผู้ป่วยและญาติ และหากต้องสังเกตอาการในโรงพยาบาล ต้องเขียน Admit อีก 15 นาทีจริงหรอ?)

ผลวิจัยที่อเมริกา ใช้เวลา 1 ชั่วโมงต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน 1 คน โดยงานหมอไทยกับหมออเมริกา เหมือนกันทุกอย่าง และจำนวนคนไข้ในห้องฉุกเฉินเรา บางเวลาเหมือนกับอยู่ในหนังสงคราม แทบจะไม่มีที่ว่างให้หมอเดินผ่านด้วยซ้ำ

พูดอีกด้าน โรคบางโรค เป็นโรคเบื้องต้น สามารถใช้ยาสามัญประจำบ้านในการบรรเทาอาการได้ หมอจึงมักจะไม่ได้ใช้เวลากับคุณมากนัก และการใช้เวลานานมากขึ้นกับคนนึง หมายความว่าเราอาจจะต้องทำเวลาหรือใช้เวลาน้อยลงกับคนที่จำเป็น คนไข้อีกหลายสิบคนข้างนอกอาจจะไม่เข้าใจว่าเขานั่งรอนานขึ้นทำไม พยาบาลและผู้ช่วยอีกหลายคนที่ต้องรับแรงกดดันด้านนอก ต้องทำงานนอกเวลาเพิ่มโดยได้ OT ไม่กี่สิบบาทอีกด้วย

หลายอย่าง เราทำเพราะในระบบขาดคนทำหน้าที่ส่วนนั้น เช่นการแนะนำอาหารอย่างละเอียดในผู้ป่วยเบาหวาน การพูดคุยเรื่องปัญหาครอบครัว ปัญหาทางสังคม ซึ่งจริงๆแล้วนักสังคมสงเคราห์ะช่วยคุณได้มากกว่า และปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งนักจิตวิทยา ทำได้ดีกว่าหมอทั่วไป แต่เราไม่มีบุคลากรนั้นพอเลย ขาดแคลนกว่าหมอด้วยซ้ำ หมอคนเดียวเลยต้องรับจบหมด มันจึงเป็นไปอย่างครึ่งๆกลางๆ หมอที่มีใจจะพยายามถามคุณ จนไปถึงจุดหนึ่ง เขาอาจจะต้องยอมรับว่าปัญหาทางสุขภาพคือปัญหาสังคม ที่พวกเราทำได้แค่จ่ายยาลดอาการ ลดความทรมานได้เป็นแค่ครั้งคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถหาทางช่วยเหลืออื่นๆได้อย่างจนปัญญา

ปัญหาเรื่องโรงพยาบาลคือทางออกเดียวของความเจ็บป่วย เพราะความรู้เรื่องการแพทย์ถูกผูกขาดไว้กับคนในแวดวงสาธารณสุข การศึกษาถูกออกแบบมาเพื่อให้เราใช้ชีวิตในคาบสุขศึกษาแบบที่ไม่มีอะไรตามออกมา การรอการใช้บริการไม่สิ้นสุด ใช้วันลาการทำงานที่มีผลต่อเงินโบนัส การเลื่อนตำแหน่ง หน้าที่การงานที่บอกว่าเราห้ามป่วย ใช้เวลาร่วมกันด้วยเศษเวลา และเลื่อนไปตามจุดของการตรวจ คัดกรอง รอตรวจ ตรวจ รอรับยา รอเจาะเลือด รับยา ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งโดนใช้งานเยี่ยงวัวควาย เป็นเหมือนตราปั๊มให้คุณไปจุดต่อไปได้ ระบบนี้ไม่ได้ทำให้ความเป็นมนุษย์เคยเพิ่มขึ้นเลย กลับกัน มันยิ่งบั่นทอนและแยกพวกเราออกจากกัน คุณเป็นคนไข้ ฉันเป็นหมอ

แต่สุดท้าย เราทั้งคู่ก็เหมือนเครื่องจักรและสินค้าที่เร่งการผลิตในชื่อสถานประกอบการที่เรียกว่าโรงพยาบาลเท่านั้น

https://www.facebook.com/photo/?fbid=9325144147544102&set=a.196866640371944