วันอาทิตย์, ธันวาคม 29, 2567

ความไร้เดียงสาของพรรคประชาชน สะท้อนผ่าน ม.69 กฎหมายประมงฉบับใหม่ (จริงๆ ความกังวลเรื่องแก้พรก.ประมงนี้ เป็นข่าวตั้งนานแล้ว สื่อต่างประเทศด้านอาหารทะเล Seafood Source ยังเคยเอาลงตั้งแต่ปีที่แล้ว)

ภาพจาก seafoodsource.com
.....

Somboon Khamhang
16 hours ago
·
ความไร้เดียงสาของพรรคประชาชน สะท้อนผ่าน ม.69 กฎหมายประมงฉบับใหม่
ทราบว่าความคิดเห็นต่อมาตรา 69 กฎหมายประมงฉบับใหม่ ของพรรคประชาชนไม่สามารถหาจุดลงตัวได้ หรืออาจจะเรียกว่า “เสียงแตก” ก็ว่าได้ เป็นเหตุให้การลงมติของสมาชิกพรรคเป็นไป 3 ทาง คือ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง จากการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งสรุปมติในภาพรวมทั้งหมดแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ที่มีการแก้ไขมาตรา 69 โดยมีสาระสำคัญของความเห็นว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมงในเขตสิบสองไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน” (และในการทำประมงดังกล่าวให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด)
หากอ่านแบบผิวเผิน อาจจะทำให้เข้าใจได้ว่ามาตราดังกล่าวไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในนั้น คือการอนุญาตให้ใครก็ได้สามารถทำการประมงแบบอวนล้อมจับแบบใช้แสงไฟล่อที่สามารถใช้ตาอวนที่เล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตร ซึ่งหมายถึง “อวนตามุ้ง” ที่มีขนาดตาอวน 3 – 6 มิลลิเมตร อย่างไม่อาจปฎิเสธได้
มีเพียง 2 เหตุผลเท่านั้น ที่สมาชิกพรรคประชาชนสนับสนุนมาตรา 69 คือ 1.ความไร้เดียงสาในเรื่องกลเกมของกลุ่มทุนการประมงของประเทศนี้ 2.ความกังวนต่อฐานเสียงในพื้นที่ 3 สมุทร (สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ) ที่พรรคได้ผู้แทนฯแบบเขตมาหลายตำแหน่ง และหากการตัดสินใจของพลพรรคบนพื้นฐานของเหตุผลเหล่านี้ จึงไม่แปลกที่เขาพยายามอธิบายหาเหตุผลต่างๆนาๆมาอธิบายชุดความเห็นของตนเองต่อเรื่องนี้ และยังอ้างไปถึงว่า พวกตนต้องการรื้อร้างมรดกของเผด็จการรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา อันเป็นจุดขายที่คิดว่าจะขายได้กับคนรุ่นใหม่
จึงอยากจะใช้พื้นที่แห่งนี้สื่อสารไปยังหัวหน้าพรรคประชาชน และพลพรรคที่มีความคิดทางการเมืองที่แสนจะก้าวหน้า แต่กลับมาตกม้าตายด้วยความคิดที่ล้าหลังจากกฎหมายการประมงฉบับล่าสุดนี้ กล่าวคือ
1. โดยหลักการแล้ว การทำประมงที่จะต้องจับปลาตัวโต ได้ขนาด คือหลักการทั่วไปของโลกที่จะต้องกำกับ ควบคุม เพื่อให้ชาวประมงทุกกลุ่มทุกประเภทรับผิดชอบต่ออาชีพของตนเอง เพื่อจะได้ทำมาหากินได้อย่างยั่งยืน
2. การใช้อวนตาเล็กขนาดเท่าตามุ้ง คือข้อถกเถียงและทักท้วงกันมายาวนาน ว่าควรนำมาใช้ในทะเลไทยหรือไม่ และที่พอจะยอมรับกันได้มากที่สุดคือ ให้ใช้จับปลากระตัก หรือปลาจิ้งจั้ง อันเป็นปลาที่โตเต็มที่แล้วก็จะมีขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่นำไปใช้ในโรงงานผลิตน้ำปลา และนำมาทำเป็นปลาตากแห้ง แต่ในวิธีการจับปลาชนิดนี้ มีการยอมรับให้ทำกันได้เฉพาะกลางวัน แต่ถ้าจะทำในกลางคืนต้องใช้วิธีการช้อน ครอบ ยก เท่านั้น ห้ามล้อมจับโดยเด็ดขาด และการห้ามล้อมจับด้วยแสงไฟล่อมีกันมายาวนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งกำหนดขึ้นในรัฐบาลประยุทธ์ตามที่พวกท่านถูกหลอกลวงจากใครบางกลุ่ม
3. การล้อมจับในเวลากลางคืนโดยใช้แสงไฟล่อ คือหายนะของทรัพยากรประมง เพราะแสงไฟจะล่อปลาทุกชนิด ที่ไม่ใช่แค่ปลากระตักเท่านั้น และในทางวิชาการพบว่าการล่อด้วยแสงไฟจะได้ปลากระตักในปริมาณที่น้อยมาก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลูกปลาเศรษฐกิจอีกหลายชนิด
4. หลังการมีมติให้ผ่านกฎหมายการประมงฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา สมาชิกพรรคประชาชน พยายามแก้เกมทางการเมือง ด้วยเพราะถูกสังคมโจมตีอย่างหนัก โดยออกมาแถลงว่าทางพรรคจะผลักดันให้มีกฏหมายลูกมาควบคุมเพื่อให้มาตรา 69 ถูกบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดข้อกังวนของประมงพื้นบ้าน หากท่านคงไม่รู้ว่าหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ ความยากที่สุดของการบังคับใช้กฎหมายการประมงแทบทุกฉบับคือ “การกำกับและควบคุมผู้ทำการประมง” ที่ไม่สามารถทำได้จริง เพราะไม่มีใครที่จะสามารถไปนั่งเฝ้าหรือนอนเฝ้าน่านน้ำในอณาบริเวณที่กฎหมายกำหนดไว้ได้เลย นั่นหมายความว่า “การห้ามทำประมงล้อมจับในเวลากลางคืนโดยใช้แสงไฟล่อในเขต 12 ไมล์ทะเล” นั้น มันไม่สามารถควบคุมได้จริง ทั้งเพราะความหละหลวม และการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองซะเอง
แท้จริงแล้วเหตุผลที่ผลกล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุผลที่องค์กรเครือข่ายที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรการประมงและทะเลชายฝั่ง อย่างเช่นสมาคมรักษ์ทะเลไทย หรือสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยพยายามนำเสนออธิบายให้กับพวกท่านได้รับทราบ แต่ก็แทบไร้ผล จึงพยายามทำความเช้าใจถึงเหตุผลที่พลพรรคประชาชนพยายามหยิบยกมาเห็นแย้งต่อกัน ซึ่งการอ้างความเห็นใจกลุ่มประมงเรือใหญ่และกลุ่มธุรกิจน้ำปลา ไม่น่าจะฟังขึ้น
อีกเรื่องที่พวกท่านต้องเข้าใจคือ การได้ใบเหลืองจากอียู หรือที่เรียกกันว่า IUU Fishing ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ นั้น สาเหตุใหญ่เรื่องหนึ่งเกิดขึ้นจากการทำประมงที่ไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งหมายถึงการปล่อยให้มีการใช้เครื่องมือประมงที่มีตาอวนขนาดเล็กมากเกินไป และหากย้อนกลับไปในยุคนั้นก็จะพบว่า ทรัพยากรประมงในทะเลไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ที่เดือดร้อนกันหมดทั้งประมงเรือเล็กเรือใหญ่ หลังจากนั้นมีมาตรการบังคับตาก IUU ที่ถูกกำหนดขึ้นภายใต้กฎหมายประมง พ.ศ. 2558 ที่พยายามกำกับควบคุมวิธีการทำประมงรวมถึงการเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำประมงและรวมถึงสิทธิของแรงงานประมงที่ถูกละเลยมาอย่างยาวนาน ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวนั้นได้ทำให้การประมงไทยมีมาตรฐานมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของทรัพยากรประมงมาอย่างต่อเนื่อง หาใช่เพราะเป็นกฎหมายที่ออกมาในยุคเผด็จการตามที่พวกท่านเข้าใจ หากแต่มาตรฐานของ IUU Fishing ที่กำหนดโดยสหภาพยุโรป คือมาตรฐานโลกที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ด้านการประมงของประเทศไทยให้มีความรับผิดชอบซึ่งกันและกันมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นไม่ค่อยเป็นที่พอใจนักกับกลุ่มทุนประมงขนาดใหญ่ เพราะจะต้องลงทุนมากขึ้น จ่ายภาษีมากขึ้น รับผิดชอบต่อสิทธิแรงงานมากขึ้น และที่สำคัญคือ ไม่สามารถทำการประมงตามอำเภอใจได้อีกต่อไป และนี่คือสาเหตุที่คนกลุ่มนี้ดิ้นรนทุกทางที่จะให้มีการยกเลิกกฎ IUU Fishing ผ่านกลไกการเมืองแทบทุกพรรค ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งพรรคประชาชนก็คือ “เหยื่ออันโอชะ” จากความหิวกระหายของคนกลุ่มนี้
ที่หยิบยกมาทั้งหมด ไม่มีเจตนาที่จะสดุดีใครเป็นพิเศษ เพียงชี้ให้เห็นถึงหลักการสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการประมงของประเทศนี้ ที่จะต้องคำนึงถึงความมั่นคงยั่งยืน และสิทธิมนุษยชนของผู้คนทุกกลุ่มที่จะต้องเท่าเทียมกันในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
การปล่อยให้มาตรา 69 หลุดออกมาในกฎหมายประมงฉบับใหม่นี้ จึงเป็น “หายนะ” ของทะเลไทย ที่ไม่ได้เดือดร้อนกันในหมู่ชาวประมงพื้นบ้านเท่านั้น แต่รวมไปถึงประมงพานิชน์ทั้งหมด เพราะ “ระบบนิเวศของทะเล” จะถูกตัดตอนและทำลายลงอย่างรวดเร็ว อันจะส่งผลต่อชนิดพันธุ์และปริมาณของสัตว์น้ำในทะเลยไทยที่จะค่อยหมดหายไปอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แล้วพวกท่านทั้งหลายจะรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ร่วมกันอย่างไร
สมบูรณ์ คำแหง
ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
28 ธันวาคม 2567



.....
Atukkit Sawangsuk
12 hours ago
·
โดยส่วนตัว โน้มเอียงไปทางประมงพื้นบ้าน
แต่ในทางการเมือง เห็นว่าเป็นประเด็นที่ต้องต่อสู้กัน และมีสิทธิที่จะเห็นแย้งกัน
พรรคประชาชน มีทั้ง สส ที่เป็นตัวแทนประมงพื้นบ้าน
และมีทั้ง สส ที่เป็นผู้แทนของจังหวัด 3 สมุทร ที่คุณสมบูรณ์เอ่ยถึง
นี่คือการต่อสู้ระหว่างตัวแทนผลประโยชน์ของ Voters 2 กลุ่ม ตามระบอบประชาธิปไตย
ซึ่งทำให้ในท้ายที่สุด ไม่สามารถหามติ พรรคต้องฟรีโหวต การลงคะแนนจึงแยกเป็น 3 ส่วน
:
ไม่ได้เห็นด้วยกับการตัดสินใจอย่างนี้
แต่ต้องยอมรับว่าในพรรคการเมืองต้องมีการต่อสู้ระหว่างตัวแทน Voters หลากหลาย
ไม่ใช่แค่เรือประมง ชาวประมง ยังมีอุตสาหกรรมประมง และแรงงานในอุตสาหกรรมประมง
แต่ละประเด็นก็จะเป็นเช่นนี้ พรรคการเมืองไม่สามารถเป็นตัวแทนคนกลุ่มเดียว ถ้าเราเชื่อว่าเราถูก ก็รณรงค์ต่อสู้ความคิดกัน
...

Roisai WB

จริงๆมันเป็นข่าวตั้งนานเรื่องแก้พรก.ประมง สื่อต่างประเทศด้านอาหารทะเล Seafood Source ตีพิมพ์ตั้งแต่ปีที่แล้ว คณานุทูตในไทยยันภาคประชาสังคมคุยกับพรรมส้มๆ เค้าไม่ได้บอกไม่ให้แก้แต่ให้แก้อย่างระมัดระวัง ใครจะไปคิดว่าทักษะการฟังสส.ส้มจะเท่าๆกับดร.ปลอด ปธ.กมธใฯ เมื่อหน่อมแน้มทางการเมืองไปแล้วคงต้องรับผลกรรมค่ะ https://www.seafoodsource.com/.../thailands-proposed...

https://www.facebook.com/baitongpost/posts/9010472049034544