วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 05, 2566

จีนเกิดวิกฤติฟองสบู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ขึ้น รถ EV ที่ผลิตออกมาจำนวนมากถูกจอดทิ้งร้างนับหมื่นคัน อีกทั้งกว่า 80% ของผู้ผลิต EV ไปไม่รอด วิกฤตินี้มีที่มาที่ไปอย่างไรถึงทำให้จีนมาถึงจุดนี้



ผ่าวิกฤติฟองสบู่ 'EV จีน' ทำไม 80% ของผู้ผลิต EV จีน อยู่ไม่รอด?

By สุรินทร์ เจนพิทยา
1 ต.ค. 2566
กรุงเทพธุรกิจ

จีนเกิดวิกฤติฟองสบู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ขึ้น รถ EV ที่ผลิตออกมาจำนวนมากถูกจอดทิ้งร้างนับหมื่นคน อีกทั้งกว่า 80% ของผู้ผลิต EV ไปไม่รอด วิกฤตินี้มีที่มาที่ไปอย่างไรถึงทำให้จีนมาถึงจุดนี้

Key Points
  • ก่อนหน้าที่จีนจะลดเงินอุดหนุน EV ในปัจจุบัน จีนเคยออกนโยบายสนับสนุนรถ EV อย่างเต็มที่ด้วยการให้เงินอุดหนุนสูงถึง 60,000 หยวนหรือราว 3 แสนบาทต่อคันนับตั้งแต่ปี 2552
  • เมื่อปีที่แล้ว จีนผลิตรถ EV กับรถ EV ลูกผสมมากถึงกว่า 6 ล้านคัน โดยเพียง “จีน” ประเทศเดียว ครอง 60% ของยอดขายรถ EV รวมทั่วโลก
  • เศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญความซบเซา เงินเฟ้อจีนกลายเป็นติดลบ 0.3% ในเดือน ก.ค. และบวกเพียง 0.1% ในเดือน ส.ค.
“จีน” จากประเทศที่มีผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) มากที่สุดในโลก สู่ “วิกฤติฟองสบู่รถ EV” ดังจะเห็นได้จากเมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานพบสต็อกรถ EV จอดทิ้งไว้จำนวนมาก ทั้งเก่าและใหม่นับหมื่นคันบริเวณวัดร้างแห่งหนึ่งในนครกวางโจวและที่อื่น ๆ เช่นนี้อีกกว่า 6 เมือง ถูกทิ้งไว้จนเถาวัลย์และหญ้าขึ้นปกคลุมรถ

ยิ่งไปกว่านั้น กว่า 80% ของผู้ผลิตรถ EV จีนอยู่ไม่รอด จากเดิมที่เคยมีบริษัทรถ EV เกือบ 500 รายเมื่อปี 2562 แต่มีปิดกิจการไปราว 400 ราย เหลือเพียงประมาณ 100 รายในปัจจุบันที่ยังคงอยู่รอด คำถามตามมาคือ เกิดอะไรขึ้นกับ EV จีนจนนำมาสู่วิกฤติครั้งนี้


- สุสานรถ EV จีน มีเถาวัลย์และหญ้าขึ้นปกคลุมรถ (เครดิต: gregabandoned) -

จุดเริ่มต้นของฟองสบู่ EV จีน

ถ้ายังเคยจำได้ จีนเคยประสบปัญหามลพิษทางอากาศสูง ท้องฟ้ากรุงปักกิ่งและอีกหลายเมืองเต็มไปด้วยหมอกพิษ PM.2.5 จากการเร่งขยายอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ปัญหานี้ได้ทำให้รัฐบาลจีนหันมาเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ด้วยการออกระเบียบควบคุมอย่างจริงจังและส่งเสริมพลังงานสะอาด ท้องฟ้าที่เคยดูมืดมัวก็สดใสมากขึ้นเรื่อย ๆ

จีนยังออกนโยบายสนับสนุนรถ EV อย่างเต็มที่ด้วยการให้เงินอุดหนุนสูงถึง 60,000 หยวนหรือราว 3 แสนบาทต่อคันนับตั้งแต่ปี 2552 จึงทำให้ราคารถ EV น่าดึงดูดเมื่อเทียบกับรถใช้น้ำมัน

การส่งเสริมเชิงรุกเช่นนี้ ทำให้บริษัทรถ EV จีนมากมายเข้าไปเกาะกระแสนี้ โดยในปี 2561 ก่อนโควิด-19 มีผู้ผลิตรถ EV จีนสูงถึง 487 ราย และเมื่อปีที่แล้ว จีนผลิตรถ EV กับรถ EV ลูกผสมมากถึงกว่า 6 ล้านคัน โดยเพียง “จีน” ประเทศเดียว ครอง 60% ของยอดขายรถ EV รวมทั่วโลก

EV บูมพร้อมสงครามราคารุนแรง

ด้วยกระแสที่บริษัทใด ๆ ก็ไม่ต้องการตกรถ จึงแห่เข้ามาผลิตรถ EV กันเป็นจำนวนมาก แข่งขันกันลดราคาเพื่อดึงดูดลูกค้า หลายบริษัทยอมแบกรับการขาดทุนเพื่อชิงส่วนแบ่งในตลาด ไม่เว้นแม้แต่รถยนต์ไฟฟ้า Tesla ของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) เกรดพรีเมียม ก็ต้องประกาศลดราคาตาม เพื่อให้สามารถสู้ราคาได้

นอกจากนั้น ธุรกิจบริการรถ EV และจักรยานให้เช่าก็รุ่งเรือง เกือบทุกมุมเมืองมีรถ EV ให้เช่า และเต็มไปด้วยจักรยานให้เช่าของบริษัท Ofo และ Mobike เพียงมีเงินในแอปพลิเคชัน Wechat หรือ Alipay ใช้สแกน QR Code ที่จักรยานเพื่อปลดล็อก ก็สามารถขี่ไปไหนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องจอดจุดเดิมที่ยืมมา จอดจุดอื่นของบริษัทแทนได้ ค่าบริการเพียงชั่วโมงละ 1 หยวน (ราว 5 บาท) เป็นตัวเลือกใหม่ที่รุ่งเรืองในช่วงนั้นแทนรถน้ำมัน


- จักรยานให้เช่าที่ถูกกองทิ้งไว้ (เครดิต: Shutterstock) -

โควิด-19 และเศรษฐกิจซบเซา คือ จุดเปลี่ยน

เมื่อช่วงปลายปี 2562 จีนเผชิญการระบาดโควิด-19 รัฐบาลดำเนินมาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวดและยาวนาน ประกอบกับจีนเข้าควบคุมการเติบโตของทุนใหญ่ เช่น Alibaba บริษัทยักษ์ใหญ่ค้าสินค้าออนไลน์, Tencent บริษัทเกมและไอทียักษ์ใหญ่, Meituan บริษัทแอปฯสั่งอาหาร ฯลฯ ซึ่งแม้ปัจจุบัน จีนจะเปิดเมืองแล้ว แต่เศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญความซบเซา เงินเฟ้อจีนกลายเป็นติดลบ 0.3% ในเดือน ก.ค. และบวกเพียง 0.1% ในเดือน ส.ค. สะท้อนภาวะเงินฝืด ซึ่งสวนทางกระแสโลกที่เผชิญเงินเฟ้อ

เมื่อเศรษฐกิจจีนเผชิญความซบเซา ประกอบกับธุรกิจ EV แข่งขันสูง และส่วนกำไรจริงก็น้อยมาก อีกทั้งรัฐบาลลดเงินอุดหนุนลงหลังจากที่อุดหนุนมาตลอด 10 ปี จึงทำให้บริษัทเช่ารถจำนวนมากปิดตัวลง รถที่บริษัทซื้อไว้ถูกนำมาจอดทิ้งในลานร้างนับหมื่นคัน ไม่เว้นแม้แต่บริษัทให้เช่าจักรยานอย่าง Ofo และ Mobike ก็ไปไม่รอด เกิดสุสานจักรยานนับหมื่นคันกองทิ้งไว้ และจักรยานหลายล้านคันถูกปลดระวาง

บริษัทผู้ผลิตรถ EV จีนจากเดิมเกือบ 500 ราย ออกจากตลาดรถ EV ราว 400 ราย เหลือเพียง 100 รายในปัจจุบันที่ยังคงอยู่รอด โดยบริษัทที่ยังเติบโตต่อได้ก็หนีไม่พ้นบริษัทสายป่านยาวอย่าง BYD, Tesla, SAIC ฯลฯ

จง เซา (Jiong Shao) นักวิเคราะห์แห่ง Barclays ซึ่งเป็นธนาคารสากลข้ามชาติของอังกฤษ แสดงความเห็นว่า “บริษัทสตาร์ทอัพ EV มีข้อจำกัดหลายอย่างที่ไม่เหมือนบริษัทใหญ่ ไม่ว่าการมีเงินทุนจำกัดที่ทั้งใช้พัฒนาแบบรถ EV และใช้บริหารบริษัทในเวลาเดียวกัน นำมาสู่ข้อจำกัดด้านการลดราคา” สะท้อนว่าในการแข่งขัน EV อันดุเดือด บริษัทใหญ่ที่ทุนหนากว่าจะได้เปรียบ



- สุสานรถ EV จีน (เครดิต: Inside China Auto) -

โดยสรุป จากกระแสรถ EV ที่มาแรงในจีน พร้อมนโยบายรัฐที่อุดหนุนสูงถึง 3 แสนบาทต่อคัน จึงทำให้บริษัทจีนจำนวนมากต่างกระโจนเข้ามาทำธุรกิจนี้ การแข่งขันด้านราคาจึงเชือดเฉือนกันอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม โควิด-19 กลายมาเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่ทำให้มีการปิดเมืองอันยาวนาน ผู้คนอยู่แต่ในบ้าน ประกอบกับรัฐบาลก็จัดระเบียบการเติบโตของตลาดทุนด้วย และยิ่งในสภาวะแข่งขันอันดุเดือด บริษัทผู้ผลิตและให้เช่ารถ EV จึงล้มหายจากไปเป็นจำนวนมาก เกิดสุสานรถนับหมื่นคัน เหลือเพียงบริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้นที่ยังคงอยู่รอด

อ้างอิง: wsj, wsj(2), wsj(3), technologyreview, bloomberg, bloomberg(2)