ดิฉันในฐานะผู้แทนราษฏรเขตบางซื่อดุสิตส่งเสียงแทนประชาชนเรื่องการก่อสร้างคอนโดยักษ์ทหาร แยกประชานุกุล ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอาคาร และเมื่อสร้างเสร็จจะเพิ่มปัญหารถติดที่ขึ้นชื่อว่าแยกติดนรกแตกอยู่แล้วด้วย กองทัพไม่ควรทับซ้อนกับพื้นที่พลเรือนค่ะ
— กานต์ ภัสริน รามวงศ์ พรรคก้าวไกล (@GarnPatsarin) October 10, 2023
ขอขอบคุณไทยรัฐพลัสมา ณ ที่นี้ค่ะ… https://t.co/MILqVtR5yR
คอนโดฯ ยักษ์กองทัพย่านประชาชื่น ตอบโจทย์ทหาร ประชาชนได้อะไร?

10 ต.ค. 66
ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย
ภาพ:จิตติมา หลักบุญ
Thairath Plus
Summary
- ‘โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก พื้นที่ประชาชื่น’ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น ‘คอนโดฯ กองทัพ’ เป็นโครงการสมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งอยู่ตรงแยกประชานุกูล แถวประชาชื่น 30 ใกล้โรงพยาบาลเกษมราษฎร์
- แม้จะมีการคัดค้านโครงการนี้จากคนในชุมชน เนื่องจากผลกระทบจากการก่อสร้างและรถติด ตั้งแต่เมื่อปี 2563 แต่ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งได้ดำเนินการสร้างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
- ไทยรัฐพลัสชวน ภัสริน รามวงศ์ สส.บางซื่อ-ดุสิต พรรคก้าวไกล เขตพื้นที่ของโครงการดังกล่าว จะมาเล่าถึงปัญหาที่ได้รับการสะท้อนมาจากประชาชนในพื้นที่ และอำนาจของกองทัพ
หากใครได้ผ่านไปเห็นตรงแยกประชานุกูล แถวประชาชื่น 30 ใกล้โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ จะเห็นอาคารขนาดยักษ์สูง 28 ชั้น 2 อาคาร กำลังก่อสร้างอยู่ใกล้ชิดติดกับชุมชนชวนชื่นจนน่าหวาดเสียว ซึ่งอาคารขนาดยักษ์นี้คือ ‘โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พื้นที่ประชาชื่น’ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น ‘คอนโดฯ กองทัพ’ เป็นโครงการสมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากงบประมาณ ปี 2565 และถูกสร้างโดย บริษัท เบ็ญจมาศ จำกัด และมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดย บริษัท มิตรสิ่งแวดล้อมไทย

แม้จะมีการคัดค้านโครงการนี้จากคนในชุมชนตั้งแต่เมื่อปี 2563 แต่ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งได้ดำเนินการสร้างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และมีการใช้ทุนสร้างประมาณ 400 ล้านบาท นอกจากนี้ในรัฐสภามีการคัดค้านการอนุมัติงบประมาณ ปี 2565 ในโครงการนี้ ที่เคยถูกอภิปรายโดย เบญจา แสงจันทร์ สส.พรรคก้าวไกล เพื่อการลดงบประมาณโครงการหลายส่วนรวมถึงโครงการนี้ในกรอบวงเงิน 943 ล้านบาท
โดยโครงการนี้ ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านคือ รถติด บังแดดและลม รวมถึงฝุ่นจากการก่อสร้าง ตลอดจนงบประมาณและความสะดวกสบาย ที่กองทัพได้ประโยชน์ แต่ประชนเดือดร้อน ซึ่งสถานการณ์คล้ายๆ กันนี้ อาจไม่ได้กำลังเกิดขึ้นที่ประชาชื่นเพียงแห่งเดียว
ไทยรัฐพลัสจึงชวน ภัสริน รามวงศ์ สส.บางซื่อ-ดุสิต พรรคก้าวไกล เขตพื้นที่ของโครงการดังกล่าว จะมาเล่าถึงปัญหาที่ได้รับการสะท้อนมาจากประชาชนในพื้นที่ และอำนาจของกองทัพ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ เธอก็ได้เผยปัญหานี้ในรัฐสภาและเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทยออกมาให้คำตอบ

ปัญหาคอนโดฯ กองทัพ ทราบเรื่องนี้ได้อย่างไร และชาวบ้านเดือดร้อนอย่างไรบ้าง
ทราบเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มหาเสียงเลือกตั้ง โดยไปหมู่บ้านชวนชื่น เป็นหมู่บ้านจัดสรรเก่าที่มีอายุหมู่บ้านประมาณ 40 ปีขึ้นไป ประมาณ 460 หลังคาเรือน ซึ่งมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่เยอะ และเมื่อพบปะกับคนในหมู่บ้านก็ได้คุยกันทั่วไป จากนั้นชาวบ้านก็ชวนพาไปดูคอนโดฯ นั้น ตรงบริเวณด้านหลังการก่อสร้าง ซึ่งถ้ามองจากภายนอก หรือถ้าขับรถมาเส้นประชานุกูล จะไม่เห็นว่ามีตึกมโหฬารตั้งอยู่ เพราะคอนโดฯ หลบหลืบเข้าไป
เมื่อเราได้รับตำแหน่งแล้วจะมีคนที่ทักแชตอินบ็อกซ์เข้ามา และบอกว่าให้ช่วยไปดูโครงการนี้ให้หน่อย หลังจากนั้นเราได้โทรหาหลายคนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งพบว่ากลับกลายเป็นที่ของทหาร ไม่ใช่ของเอกชน ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าถ้าออกตัวแรงมากจะเป็นอะไรหรือไม่ จากนั้นชาวบ้านก็ได้นำภาพเมื่อปี 2563 ให้ดูว่ามีการคัดค้านและออกสื่อ แต่เรื่องก็เงียบไป ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านได้ยื่นเรื่องนี้ไปถึงศาลปกครองแล้ว

สำหรับแยกประชานุกูล บางคนบอกว่าคือแยกติดนรกแตก เพราะนานมาก และด้านซ้ายมือคือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น ซึ่งเป็นโรงพยาบาล 1 ใน 2 ของเขตบางซื่อ อีกแห่งคือโรงพยาบาลบางโพ ซึ่งคนในเขตจตุจักรก็ไปใช้บริการตรงนั้น และยิ่งไปกว่านั้นมีพื้นที่ปลัดกระทรวงกลาโหมตั้งอยู่บริเวณนั้น เราเคยไปตั้งกล้องตอน 08.00 น. พบว่าจะมีรถบัสใหญ่แบบ 2 ชั้นจะเข้าออกตรงนี้ และทำให้รถติด
ก่อนหน้านี้ที่เราเคยไปสัมภาษณ์หลายคนในหมู่บ้านชวนชื่น บอกกับเราว่าอยากขายบ้านทิ้ง ซึ่งอาจเพราะหมู่บ้านนี้มีมานานกว่า 40 ปีแล้ว หรืออยากขยับขยาย แต่หลายคนก็บอกว่าไม่อยากไป เพราะที่นี่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ เลี้ยวซ้ายเข้าทางด่วนได้ และไปได้ทั้งฝั่งเขตจตุจักรและจังหวัดนนทบุรี ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากขาย แต่หลายครั้งก็รู้สึกท้อใจกับน้ำท่วม ถ้าฝนตก และถ้าการก่อสร้างคอนโดฯ นี้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มจะสมบูรณ์แล้ว เงาแดดจากคอนโดฯ 28 ชั้น ค่อนข้างใหญ่พอสมควร และหมู่บ้านที่เป็นทั้งทาวน์เฮาส์และบ้านเดี่ยว เงาตรงนี้จะครอบคลุมทั้งหมด สมมติถ้าเป็นแม่บ้านก็ตากผ้าไม่แห้ง ซึ่งทิศทางลมสำคัญมากต่อสุขภาพ อากาศด้วย โดยเฉพาะหมู่บ้านชวนชื่นที่มีผู้สูงอายุเยอะ

นอกจากนี้ในเรื่องโครงสร้าง อย่างน้อยจะต้องเว้นระยะห่างที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตรด้านใดด้านหนึ่ง และติดกับถนนสาธารณะที่มีเขตกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร อย่างไรก็ตาม ระยะห่างระหว่างหมู่บ้านกับคอนโดฯ นี้มีระยะไม่ถึง
สำหรับบริษัทที่ร่วมกันก่อสร้าง ถ้ารู้เห็นเป็นใจถือว่าผิดอย่างร้ายแรง เมื่อชาวบ้านคัดค้านการก่อสร้างของทหาร อันดับแรกคือความกลัวว่าเสียงชาวบ้านจะดังหรือไม่ เราคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร และการก่อสร้างยังคงดำเนินไป ซึ่งยังมีเรื่องการตอกเสาเข็มของอาคารใหญ่ขนาดนี้ ชาวบ้านได้รับผลกระทบทั้งหมด ตึกของชาวบ้านร้าว และเรื่องฝุ่น รวมถึงเรื่องน้ำท่วม ที่การก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่จะปิดกั้นท่อระบายน้ำ
กองทัพเคยมีการมาพูดคุยเรื่องการเยียวยาชาวบ้านไหม
เคยมีการประชุมอยู่ แต่เราไม่เห็นการเยียวยาเป็นรูปธรรม หรือการพูดคุยเป็นรูปธรรมเลย ตอนนี้เรื่องนี้ชาวบ้านยื่นไปถึงศาลปกครองแล้ว ซึ่งเอกสารที่ บริษัท มิตรสิ่งแวดล้อมไทย หรือผู้สร้าง บริษัท เบ็ญจมาศ จำกัด พยายามให้ข้อมูล ระบุว่า บ้านเลขที่ตรงนี้ร้าวและทำตามการประเมินสิ่งก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ตาม มีบางสิ่งที่ไม่โปร่งใส และมีบางอย่างที่ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมในการได้รับความเสียหายนี้
เราพยายามปะติดปะต่อ ขอเอกสารจากคนในหมู่บ้าน และจากที่ เบญจา แสงจันทร์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อธิบายไว้ว่า มีงบประมาณเพื่อใช้ก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย 900 กว่าล้านบาท ก็ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร ในการประชุมเป็นในทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบ เจาะรื้อซ่อมตัวแบบอาคาร หลักวิศวกรรม แต่ไม่มีให้ชาวบ้านเข้ามาร่วมพูดคุยด้วย และตรวจสอบไม่ได้ด้วย ซึ่งชาวบ้านกลุ่มแรกคือบ้านที่ติดโครงการก่อสร้างในระยะ 100 เมตร และกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ติดในระยะ 100-1,000 เมตร ที่มีการประเมินตามหลักการ แต่ชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบอยู่ดี
นอกจากนี้ตัวเลขเนื้อที่ที่จะสร้างเป็น 3 อาคาร มี 2 อาคารเป็นที่อยู่อาศัย อีกอาคารหนึ่งเป็นอาคารอเนกประสงค์ และรองรับครอบครัวทหารถึง 644 ห้อง และที่จอดรถอีก 678 คัน และที่จอดมอเตอร์ไซค์อีก 100 กว่าคัน แต่ตัวเลขที่ บริษัท มิตรสิ่งแวดล้อมไทย ส่งมาให้ตามประเมินสิ่งแวดล้อมนั้นประเมินไม่หมด และยังไม่ใส่รายละเอียด ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงรถบัสที่จะเข้าออก 100 คันต่อวัน ในที่ตั้งตรงแยกประชานุกูล และหมู่บ้านชวนชื่น เป็นเหมือนคอขวดและเข้า-ออกได้ทางเดียว ซึ่งสร้างความลำบากมากกับชาวบ้าน
.jpg)
ไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ ที่เอากองทัพมาอยู่ใจกลางเมือง และ 9 ปีที่ผ่านมา มรดกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้การก่อสร้างอาคารของทหารมีเยอะมาก เช่น หอประชุมกองทัพบก บนถนนประดิษฐ์มนูธรรม (เลียบทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์) ที่เป็นศูนย์การประชุมอเนกประสงค์ที่ใหญ่มาก
เขตบางซื่อ-ดุสิตเหมือนเป็นกรุงเทพฯ เหนือชั้นใน มีความหนาแน่นของประชากรเยอะ จะเห็นว่าในบางซื่อ มีคอนโดฯ เยอะ 35 แห่ง ทำให้ประชากรเยอะแต่ขยายพื้นที่ไม่ได้ หมู่บ้านจัดสรรใหม่ๆ แทบไม่มีแล้ว ไม่เหมือนเขตคลองสามวา เขตทุ่งครุ ที่มีหมู่บ้านจัดสรรใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งกองทัพยังจะสร้างหรือขนกำลังคนมหาศาล มาอยู่ในพื้นที่ประชากรหนาแน่นขนาดนี้ ทำให้ได้รับผลกระทบกับชุมชนรอบข้าง
ถ้ากองทัพอยากบอกว่าเป็นมิตรกับชุมชน เอื้อเฟื้อประโยชน์กับชุมชน หรือมีการจัดการร่วมกัน ไม่ควรมีพื้นที่ทับซ้อนร่วมกันระหว่างพลเรือนกับกองทัพ คิดดูว่าถ้ามีทหารเข้ามาอยู่จริงๆ ในคอนโดฯ ยักษ์นี้ การระบายน้ำและปริมาณขยะ จะกระทบกับชุมชนบ้านเก่าขนาดไหน สำหรับเราเองยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าคอนโดฯ นี้ละเมิดกฎหมายการก่อสร้างในพื้นที่นี้ แต่ปล่อยไว้อย่างนี้ได้อย่างไร ในด้านการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้ประเมินว่า แยกประชานุกูลไม่สามารถรองรับรถเข้าออกจากคอนโดฯ ได้

คิดเห็นอย่างไรถึงการที่กองทัพสร้างคอนโดฯ ที่มีความโอ่อ่า รวมถึงงบประมาณที่ใช้มีความเหมาะสมหรือไม่
งบประมาณทหารที่มากเกินไปก็จะขาดได้ง่าย เพราะไม่โปร่งใส ถ้าเราถามว่า 900 ล้านบาท แจกแจงเป็นอะไรได้บ้าง เราก็ไม่ทราบเลย ซึ่งความจริงแล้วเป็นเรื่องของโครงสร้าง ผลจากคะแนนเสียงที่ผ่านมาในเขตดุสิต กทม. เขต 7 เราก็ได้รับความไว้วางใจอย่างมาก ทั้งคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ และคะแนนตัวบุคคล
ความจริงพี่น้องทหารน่ารักมาก เวลาไปหาเสียงตอนเช้าบนรถแห่จะชอบติดที่ถนนทหาร ตรงกรมสรรพาวุธทหารบก เขาจะอมยิ้มแล้วโบกมือให้ ซึ่งเรื่องนโยบายทหาร ตรงใจกับทหารและตรงใจประชาชนในเขตนี้ด้วย เพราะทุกคนคิดว่าประเทศไทยต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงสักที
.jpg)
ประเมินการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องทหาร ในนโยบายและวิธีการทำงานต่างๆ เป็นอย่างไรบ้าง
สิ่งที่คาดหวังคือหวังว่ากระทรวงกลาโหม โดยมี คุณสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะมีคำตอบให้กับเรื่องนี้ว่า การก่อสร้างนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ไม่อยากให้ชาวบ้านขายบ้านทิ้งแล้วไปอยู่เขตอื่น กระทรวงกลาโหมต้องมีคำตอบ
ตั้งแต่ปี 2563-2565 ชาวบ้านยังไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลที่ตรงไปตรงมา และการคัดค้านหลายครั้งก็ไม่เป็นผล และผิดหลักการก่อสร้างทางวิศวกรรม แต่ยังทำต่อ โดยที่เป็นหน่วยงานรัฐด้วยนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
เรารู้สึกว่าพี่น้องทหารค่อนข้างตอบรับกับนโยบายของเรา แต่ผู้บริหารเบื้องบน หรือโครงสร้างของกองทัพได้แคร์ประชาชนไหม หรือกับพลเรือนที่อยู่รายรอบไหม อย่าลืมว่าก่อสร้างเสร็จก็ให้ประชาชนแถวนั้นรับกรรมไปตามเช็ด ร้องเรียนไป แก้ปัญหาโปะหน้า เกิดปัญหาใหม่ แก้ปัญหาซ้ำ
นอกจากนี้ ยังมีหลายอย่างที่ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์กราดยิงโคราช เราก็ยังไม่ได้รับคำตอบอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านมา 3 ปีแล้ว ทุกวันนี้ญาติผู้เสียชีวิตยังต้องเจ็บทุกข์ทนทรมานขนาดไหน น้ำตาของชายชาติทหารที่ออกมา แล้วจะทำให้ความทุกข์ของพลเรือนเบาบางลง นั่นไม่ใช่คำตอบ

คอนโดฯ นี้สร้างมาขนาดนี้ อาจไม่น่าจะแก้ไขด้วยการทุบทิ้งได้ ชาวบ้านจะทำอะไรได้บ้าง
บริเวณคอนโดฯ ใกล้โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และพื้นที่ของกระทรวงกลาโหม มีทางเข้าออกได้ทางเดียว อย่างไรก็ขยายพื้นที่ไม่ได้ เพราะจะติดถนนใหญ่ พูดง่ายๆ ว่าเขาไม่เห็นหัวประชาชนชาวหมู่บ้านชวนชื่น
นอกจากนี้ในหมู่บ้านนี้ก็มีคนใหญ่คนโตนามสกุลเป็นที่รู้จัก ไม่แน่ใจว่ามีการพูดคุยหรือไม่กับกองทัพ แต่ประชาชนคนธรรมดาอย่างเราที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องแบบนี้ ก็รับกรรมไป เป็นคำถามว่าการก่อสร้างเพิ่มแล้วเพิ่มอีกของที่อยู่ในชานเมือง หรือที่อยู่ที่อื่นจำเป็นจะต้องอยู่ในเมืองขนาดนี้หรือไม่
สำหรับชาวบ้าน เมื่อเป็นเรื่องของทหารกองทัพ ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนกับอำนาจรัฐ ประชาชนก็จะรู้สึกหวาดระแวงหรือหวาดกลัวเป็นธรรมดา ถ้าไปเหยียบเท้าใคร หรือเสียงดังเกินไป จะได้รับสิ่งที่ไม่คาดฝันกลับมาหรือไม่ ทำให้ยอมรับชะตากรรมโดยรัฐ

เรารับชะตากรรมโดยรัฐมา 100 ปี แล้วเราก็รู้สึกว่าไม่เป็นไร ยอมได้ เป็นเรื่องปกติ เราแก้ปัญหา โดยเราตื่นเช้ามากกว่าเดิมสัก 3 ชั่วโมง หรือเราย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่นเอา ซึ่งจริงๆ ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ควรที่เราเกิดมาแล้วยอมรับว่าที่รัฐไทยตอนนี้ทำทุกอย่างเป็นเรื่องที่ถูกต้อง โดยสมยอม โดยเป็นไปตามธรรมชาติ
อีกทั้งเรื่องนี้กองทัพไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาจราจร เรื่องนี้คงต้องใช้กลไกสภาขยายผลต่อไป เพราะว่ากระทบชาวบ้าน ไม่ใช่แค่หมู่บ้านชวนชื่น แต่คนที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ประชาชื่น แน่นอนว่าต้องการที่จะถึงที่หมายโดยเร็ว ถ้ารถติดและทางเข้าออกกีดขวางทางไปโรงพยาบาล กองทัพต้องทบทวนอย่างมาก
รัฐไทยหรือกองทัพยังมองว่าเขาเป็นเหมือนพ่อแม่ ชี้นำลูกได้ อันนี้ถูกอันนี้ผิด อันนี้อยู่ไม่ได้ก็ไปอยู่ที่อื่นสิ แต่ว่าเขาเป็นเจ้าชีวิต เขาควรจะอยู่ในที่ที่สมควรอยู่ เพราะว่าเขาได้รับสิทธิมาเนิ่นนาน หน่วยงานราชการจะอยู่หนาแน่นในกรุงเทพฯ ชั้นใน และรวมถึงกองทัพคูณเข้าไปอีก ไม่ทราบว่าด้วยความปลอดภัยของกองทัพเองหรือไม่
ถ้ากองทัพมีอีกมุมหนึ่งว่า ประชาชนควรปลอดภัยมากกว่ากองทัพหรือไม่ ประชาชนก็ควรไม่มองว่าเราเป็นเด็กน้อย ที่จะต้องถูกเลี้ยงดูและไม่รู้เรื่องอะไร รับคำสั่งที่ป้อนสิ่งต่างๆ จากรัฐ และยอมรับสภาพ แล้วเราก็ตายจากประเทศนี้ไป วันแล้ววันเล่าพ่อแก่แม่เฒ่าก็รู้สึกว่าค่านิยมนี้ยังคงเป็นเหมือนเดิม เพราะว่ากองทัพสร้างประเทศและได้รับเอกราชมา ถ้าไม่มีกองทัพประเทศนี้ก็อยู่ไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มองว่าจะทำอะไรให้กับประชาชนได้อยู่อย่างสะดวกสบาย

กองทัพได้ติดต่อหรือให้คำตอบ หลังจากที่อภิปรายไปแล้วหรือไม่ แล้วจะตรวจสอบอย่างไรต่อ
ไม่มีเลย สำหรับเรื่องนี้คิดว่าใช้กลไกสภา ตั้งกระทู้ถามหรือนำเข้าชั้นคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร (กมธ.) ตอนนี้พรรคก้าวไกลก็ได้เป็นประธาน กมธ. การทหารเป็นที่เรียบร้อยโดยโควตาของพรรคเอง ก็คงต้องสอบถาม และใช้กลไกนี้ให้กับประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย
กลัวไหมที่กล้าชนกับกองทัพ?
ถ้าบอกว่ากลัวก็คงไม่ต้องมาเป็นผู้แทน เพราะ 70-80 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครหรือพรรคการเมืองไหนที่พูดถึงการทำงานกองทัพ กองทัพผูกติดกับการเมือง ประชาชนไม่สามารถไปร้องที่ไหนได้ ก็ต้องร้องผ่านผู้แทน เข้าไปในสภาเพื่อพูดต่อไปว่าเขาจะได้รับผลกระทบเสียหายขนาดไหน หรือถึงขั้นขายบ้านที่เคยซื้อมา ซื้อบ้านมาไม่ได้ถูกและตั้งใจซื้อ แต่วันหนึ่งต้องตั้งใจขาย เพราะเดือดร้อนจากน้ำท่วม รถติดกว่าจะถึงบ้าน ก็แอบเจ็บปวดเหมือนกัน
อ้างอิง: eia.onep.go.th, resolution.soc.go.th, parliament.go.th