วันอาทิตย์, ตุลาคม 01, 2566

เพราะตัวเลขไม่เคยหลอก ธุรกิจ “การทำไอโอ” ใหญ่ขนาดไหน? ถึงกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจสำคัญของฟิลิปปินส์ได้


Connect the Dots
12h ·

Tales of Numbers – เพราะตัวเลขไม่เคยหลอกแต่กำลังบอกอะไรเรา
.
ธุรกิจ “การทำไอโอ” ใหญ่ขนาดไหน? ถึงกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจสำคัญของฟิลิปปินส์ได้
.
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเล่าเรื่อง "ขบวนการปั่นความเห็น" บนอินเทอร์เน็ต เพราะมันเป็นกระบวนการที่น่าจะเก่าแก่พอๆ กับการเริ่มมี "ความเห็น" บนอินเทอร์เน็ต
.
ซึ่งจริงๆ นี่ก็เป็นเรื่องลึกลับที่ในชาติต่างๆ ก็มีคำเรียกต่างๆ กัน ในไทยเราก็จะชอบเรียกว่า "ไอโอ"
.
ของจีนเค้ามีคำเรียกว่า "กองกำลังครึ่งหยวน" ตาม "ข่าวลือ" ว่าโพสต์ทีนึงจะได้เงินครึ่งหยวน
.
ส่วนในภาษาอังกฤษ คำกลางๆ ที่ใช้เรียกกระบวกการพวกนี้คือ Troll Army หรือ Troll Farm
.
ซึ่งความวุ่นวายโกลาหลก็คือ โดยทั่วไป "กระบวนการ" พวกนี้ประกอบไปด้วยคนจ่ายเงิน คนดำเนินการ และเป้าหมาย
.
ซึ่งในหลายครั้งมันไม่ได้อยู่ในประเทศเดียวกัน เช่นมีพวกขบวนการปั่นความเห็นโจมตีรัฐบาลอิหร่านอยู่ในแอลแบเนีย ซึ่งไม่แน่ใจว่าใครจ่ายเงินให้ หรือมีขบวนการปั่นความเห็นเพื่อพลิกผลเลือกตั้งอเมริกาอยู่ที่รัสเซีย หรือจะเป็นการที่ขบวนการที่ไนจีเรียรับเงินจากอังกฤษเพื่อปั่นเรื่องคนโคลอมเบียที่อยู่ในอเมริกา เป็นต้น
.
และความแพร่หลายของมันก็โหดมากๆ เพราะงานศึกษาในปี 2017 มันชี้ว่าประเทศประมาณครึ่งนึงที่ศึกษา (30 จาก 65 ประเทศ) มีการใช้พวกขบวนการแบบนี้ในการทำให้ความเห็นบนอินเทอร์เน็ตเป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ และ ณ ปัจจุบัน มันก็น่าจะมีมากขึ้นมากกว่าน้อยลง
.
อย่างไรก็ดี ที่เราอยากเล่าในที่นี้คือชาติที่มี "บริการ" พวกนี้ขายเป็นล่ำเป็นสันให้ชาติอื่น ซึ่งชาติที่ว่าคือฟิลิปปินส์
.
ฟิลิปปินส์เป็นชาติขึ้นชื่อด้านการส่งออกแรงงานอยู่แล้ว เพราะชาตินี้ภาษาอังกฤษดี ค่าแรงต่ำ ซึ่งการ "ทำงานบนอินเทอร์เน็ต" นั้นก็เป็นอีกเวอร์ชั้นของการไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งไอ้การ "รับจ้างปั่นความเห็น" นี้ก็เป็นบริการหนึ่งที่ฟิลิปปินส์มีขายให้ "นักการเมือง" ชาติอื่นอย่างอเมริกา
.
ว่ากันว่าจริงๆ พวกฟิลิปปินส์นั้น "ฝึกฝน" ในการปั่นความเห็นจากการรับจ้างนักการเมืองในประเทศก่อน และตลอดสมัยของอดีตประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ก็ว่ากันว่ามีการใช้บริการพวกนี้อย่างหนักหน่วง แต่ต่อมาบริการพวกนี้มันขยาย และให้บริการกับ "นักการเมือง" ชาติอื่นด้วย โดยมี "สนนราคา" เริ่มต้นเดือนละราวๆ 1.7 ล้านบาท
.
แล้วเงินตรงนี้ไปทำอะไร? นี่แหละที่น่าสนใจเพราะ มีแค่ฟิลิปปินส์ที่มีบันทึก "บริการ" พวกนี้อย่างละเอียด
.
กระบวนการเอาจริงๆ มันคล้ายๆ "ซื้อโฆษณา" เลย เพราะบริษัทพวกนี้เบื้องหน้ามันเป็นบริษัทที่ทำด้าน PR และเอาจริงๆ หลายๆ บริษัทก็อาจมีบริการปกติด้วย แต่บริการ "ปั่นความเห็น" เป็นบริการลับ ซึ่งจริงๆ ก็สมเหตุสมผล เพราะถ้าลองคิดดู บริการพวกนี้มันก็คือบริการต่อยอดของ "การโฆษณา" นั่นแหละ เพราะสุดท้าย "นักโฆษณา" กับ "นักโฆษณาชวนเชื่อ" นั้นความต่างจริงๆ ก็อาจไม่ใช่เรื่องเนื้องานมากกว่าประเด็นว่า "รับเงิน" จากใคร ซึ่งกรณีของพวกฟิลิปปินส์ การรับเงินจากนักการเมืองในสภาคองเกรสของอเมริกามาเพื่อสนับสนุนตัวเองและสาดโคลนคู่แข่งนั้นปกติมาก ซึ่งพวกฟิลิปปินส์ก็ชอบ เพราะพวกอเมริกันจ่ายดีสุดๆ
.
พวกนี้หลังจาก "รับเงิน" มาเพื่อ "ปฏิบัติการรับ" ก็จะทำการ "ซื้อซิมการ์ด" ไปแจกจ่าย ซึ่งคนที่แจกจ่ายก็มีตั้งแต่พวกวัยรุ่นยันนักศึกษาตกงานที่จะได้ "เงินเดือน" จากพวกบริษัทประมาณ 35,000 บาทต่อเดือน โดยพวกนี้ปกติใน "ขบวนการ" ก็ต้องว่าจ้างกันหลักร้อยคน ซึ่งลองคำนวนดู สมมติใช้คนสัก 300 คนใน "ปฏิบัติการณ์" หนึ่ง พวกบริษัทที่รับจ้างทำก็ยังได้กำไรเดือนละเกือบ 700,000 บาทอยู่ดี
.
พอรับเงินมา แต่ละบริษัทก็จะมีระเบียบต่างๆ กัน ซึ่งโดยพื้นฐาน เค้าก็จะให้พวก "ทีม" พวกนี้ไป "สร้างตัวตนบนอินเทอร์เน็ต" ให้เหมือนคนจริงๆ คือให้โพสต์เกี่ยวกับชีวิต และมีกิจกรรมทำโน่นทำนี่ และแน่นอน คือห้ามใช้รูปจริงของตัวเอง (และในแง่นี้ ปริศนาว่าทำไมบางทีคนเอารูปเราไปใช้สร้างโปรไฟล์ก็ได้รับการไขไปอีกส่วนแล้ว คือพวกนี้บางทีไม่ได้ใช้ในการหลอกลวงแบบ "ฉ้อโกง" อย่างเดียว แต่บางทีมันก็ถูกเอาไปใช้เพื่อสร้างตัวตนในขบวนการป่วนความเห็นบนอินเทอร์เน็ตในประเทศอื่น)
.
หลังจากนั้น เมื่อโปรไฟล์พร้อม ปฏิบัติการณ์ก็เริ่มขึ้น ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะมีระเบียบปฏิบัติต่างกันไป บางบริษัทก็ให้ฟรีสไตล์ อาจถึงกับเถียงกันและขู่ฆ่าอะไรก็ได้ แต่บางบริษัทก็เน้นให้สุภาพและพูดให้ดูมีเหตุผลเหมือนคนจริงๆ และห้ามไปทำอะไรที่ "ขัดกับนโยบาย Facebook” เด็ดขาด เพราะจะทำให้บัญชีโดนปิด ซึ่งในแง่นี้ ไอ้การ Copy+Paste ข้อความเค้าเลยห้ามเลยในยุคหลัง เพราะแพลตฟอร์ม Facebook จะตรวจจับและไล่ปิดบัญชีได้เร็วมาก
.
มาถึงตรงนี้ จริงๆ แต่ละแพลตฟอร์มก็มีการ "กวาดล้าง" ขบวนการพวกนี้เป็นระยะๆ และการพยายามบังคับให้ยืนยันตัวตนกับเบอร์มือถือก็เลยเป็นมาตรฐานสุดๆ และนี่และเหตุผลที่ฟิลิปปินส์เป็น "ศูนย์กลาง" ของอุตสาหกรรมนี้
.
คือต้องเข้าใจก่อนว่า ในหลายประเทศ การบังคับให้ผูกบัตรประชาชนกับเบอร์โทรศัพท์เป็นปกติมาก คนไทยโดนให้ทำมาหลายปีจนจำไม่ได้แล้ว แต่สำหรับฟิลิปปินส์ การบังคับให้ยืนยันตัวตนกับซิมเพิ่งบังคับใช้ปลายปี 2022 ซึ่งนั่นหมายความว่าก่อนหน้านั้นคนๆ หนึ่งจะใช้กี่ซิมก็ได้ "นิรนาม" หมด และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมก่อนหน้านี้ "ขบวนการปั่นความเห็น" มันโตมากในฟิลิปปินส์ เพราะคนมันจะซื้อซิมมาเปิดบัญชีเท่าไรก็ได้นั่นเอง
.
ยังไม่ชัดเจนว่ามาตรการใหม่ของรัฐบาลนี้มันจะส่งผลต่ออุตสาหกรรม "ปั่นความเห็น" ในฟิลิปปินส์เท่าไร แต่โดยพื้นฐานแล้ว ถ้าฟิลิปปินส์ล่มไป อุตสาหกรรมก็อาจย้ายไปที่อื่นก็ได้ เพราะโลกนี้ไม่เคยขาดคนหิวเงินที่พร้อมจะทำอะไร "เทาๆ" เพื่อผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ
.
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีบันทึกชัดเจนของ "อุตสาหกรรม" นี้เท่านั้น มันไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ดูจะชอบด้วยกฎหมายเท่าไร และมัน "ผิดมาตรฐานชุมชน" ของพวกโซเชียลมีเดียแน่ๆ ดังนั้นทุกอย่างเป็นความลับ ซึ่งความลึกลับนี้เองก็อาจทำให้ "ผลตอบแทน" มันหลากหลาย เช่น ในฟิลิปปินส์เอง ในขณะที่มีคนรับ "ค่าจ้างรายเดือน" ให้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่ 35,000 บาท มันก็มีคนบอกว่ามีรับจ้างโพสต์เป็นโพสต์ๆ โดยได้เงินโพสต์ละ 35 บาทเช่นกัน
.
แต่ก็นั่นเอง การดำรงอยู่ของสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เราควรจะตระหนัก เพราะมันคงไม่หายไปไหน ซึ่งก็แน่นอนว่าการรับรู้การดำรงอยู่ของสิ่งเหล่านี้ก็คงจะทำให้เรามอง "ความเห็น" บนอินเทอร์เน็ตอย่างไร้เดียงสาได้อีกต่อไป
.
เขียนโดย อนาธิป จักรกลานุวัตร