วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 19, 2566

คำตัดสินคดี ‘ดูหมิ่นศาล-ละเมิดอำนาจศาล’ ชี้ว่าการวิจารณ์ศาล ‘ทำไม่ได้’ ทำให้ศาลไทยกลายเป็น ‘ศาลเจ้า’ ถอยกลับไปสู่ยุคบูชาผี

อยากบอกว่าคำตัดสินศาลอาญาในคดี ๓ นักกิจกรรม ณัฐชนน เบนจา และสมยศ ดูหมิ่นศาลและ ละเมิดอำนาจศาลเป็นอีกกรณี เหนือมาตรฐาน ในกระบวนการดำเนินคดีเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยศาลไทย

เมื่อ ๑๗ ตุลา ศาลพิพากษาจำคุก ณัฐชนนและเบนจา คนละ ๑ ปี ๘ เดือน ปรับอีกคนละ ๓๐,๑๐๐ บาท ส่วนสมยศถูกสั่งจำคุกและปรับเท่ากัน ไม่รอลงอาญา และเพิ่มโทษคุกอีก ๔๐ วัน ฐานที่เคยถูกตัดสินความผิดคดี ม.๑๑๒ มาแล้วภายใน ๕ ปี

ทั้งหมดนี่มาจากการร่วมชุมนุม #ม็อบ30เมษา ซึ่งทั้งสามปราศรัยเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวให้กับ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน โดยได้ ดูหมิ่นศาล และ ละเมิดอำนาจศาลด้วยข้อความต่อไปนี้

ณัฐชนน :พวกเราต่อสู้กับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม สู้คนที่มีอํานาจ ความเลื่อมล้ำในสังคม และระบอบเฮงซวยในประเทศนี้” และ “เห็นได้ชัดว่า ณ ศาลอาญา รัชดาแห่งนี้ หมดความชอบธรรมที่จะตัดสินคดีใดๆ และหมดความชอบธรรมไร้ซึ่งความยุติธรรมไปแล้ว

เบนจา :อาจกล่าวได้ว่านี่คืออยุติธรรมและจุดต่ำตมที่สุดของการใช้กฎหมาย เพราะกลายเป็นว่ากฎหมายเหล่านี้ที่ควรจะมีบรรทัดฐานในการใช้ ไม่ว่ามาตราใด กลับกลายเป็นเครื่องมือในการปิดปากของผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด

สมยศ :ผมอยากให้น้ำตาของแม่เพนกวิน กลายเป็นน้ำกรดไปรดหัวใจผู้พิพากษาทั้งหมด ให้รับรู้ถึงความยุติธรรมมันหมายถึงอะไร...

เหล่านั้นศาลเห็นตามที่อัยการกล่าวหาว่า “เป็นการกระทําที่ดูหมิ่น ดูถูก เหยียดหยาม ลดคุณค่าของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี “ใช้ดุลยพินิจพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ทำให้กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมเกลียดชัง”

ไอลอว์ชวนไปทำความเข้าใจในความไม่เหมือนกันของข้อหา ดูหมิ่นศาล และ ละเมิดอำนาจศาล ว่า “มีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน” การดูหมิ่นนั้นต้องเกี่ยวโยงโดยตรงกับการพิจารณาคดี เช่นกล่าวว่า “ศาลไม่ยึดหลักกฎหมายในการพิพากษา”

ส่วนการละเมิดอำนาจศาล ขอบข่ายกว้างขวางกว่า “การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล” เข้าลักษณะหนึ่ง การไม่รับเอกสารจากศาล และการไม่ไปศาลตามหมายเรียก เป็นอีกสองลักษณะ

จะเห็นว่าคดีนี้จัดตั้งมาตรฐานขึ้นมาอีกอย่างว่า การวิจารณ์ศาล ทำไม่ได้แม้นว่าศาลจะไม่ปฏิบัติตามหลักกฎหมาย สากลที่เรียกว่า ‘Rule of Law’ ทำให้ศาลไทยกลายเป็น ศาลเจ้าที่ห้อยอยู่กับอำนาจพิเศษ หรือติดติ่งกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์

ถอยกลับไปสู่ยุคบูชาผี มากขึ้นทุกวัน

(https://freedom.ilaw.or.th/en/node/487 และ https://tlhr2014.com/archives/60582)