วันอังคาร, ตุลาคม 17, 2566

การใช้ผีมาปลุกอุดมการณ์ชาตินิยมแบบไทยๆ บทวิจารณ์หนังที่น่าคิดน่าทึ่ง


Kridpuj Dhansandors
1d
·
The Undertaker (2023, Thiti Srinuan, 125 min.)

ใครสักคนในหมู่บ้านที่พ่อใหญ่คำตันดูแล พูดล้อเลียนถึงนางนาก ตำนานความรักในบางพระโขนงในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ถูกเล่าต่อกันปากต่อปากจนหาต้นสายปลายทางหรือต้นฉบับไม่ได้ชัดเจน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1999 นนทรีย์ นิมิบุตร ดัดแปลงเรื่องสยองขวัญนี้ขึ้นใหม่ในรูปแบบที่ อดาดล อิงคะวณิช (2007) เรียกว่า ภาพยนตร์ที่มุ่งอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในมุมมองแบบชนชั้นกลาง อันเป็นกลุ่มภาพยนตร์ในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ค.ศ. 1997 ที่เน้นการย้อนกลับไปหาอดีตเพื่อกระตุ้นเร้าความรู้สึกตื่นตาตื่นใจ (self-exoticisation) รวมทั้งเป็นการสร้างภาพแทนของกลุ่มชนชั้นกลางในการเสพสมอุดมการณ์ชาตินิยมในกลุ่มของตัวเอง

สอดคล้องกับที่ Fuhrmann (2016) บอกว่า นางนากในเวอร์ชั่นของ นนทรีย์ นิมิบุตร ถูกสร้างขึ้นให้เป็นผีที่มาปลุกอุดมการณ์ชาตินิยมในช่วงหลัง ค.ศ.1997 ด้วยการนำเสนอภาพการไปรบเพื่อชาติของนายมาก และผีนางนากที่ถูกปราบให้สงบโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ซึ่งเป็นตัวแทนของพุทธแบบเถรวาท นางนากจึงกลายเป็นตัวอย่างของผู้หญิงที่ยึดติดกับสามี ท้าทายกฎของธรรมชาติและศาสนาพุทธทางการ อาจกล่าวได้ว่านางนากเป็นตัวแทนของทุนนิยมที่คนไม่รู้จักพอ และการปราบนางนากจึงเสมือนการสั่งสอนให้ประชาชนรู้จักอดทนอดกลั้นต่อกิเลส พร้อมกับการมาของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่เข้ามาอาสาต่อสู้กับทุนนิยม (อเมริกัน) ตัวร้ายที่พาชาติล่มสลายจากวิกฤติเศรษฐกิจ รวมไปถึงสถาบันกษัตริย์ที่ลอยสูงเด่นนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 และแจ่มชัดมากยิ่งขึ้นในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬอันฉายภาพให้สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่ลอยตัวเหนือการเมืองอันฉ้อฉลและเศรษฐกิจอันฟุ้งเฟ้อ

คำถามสำคัญคือว่าแล้วผีใบข้าวฉายภาพอีสานร่วมสมัยแบบใดให้เห็น Alessandra Campoli (2015) ตั้งข้อสังเกตว่าภาพยนตร์ไทยหลังการมาของ “คลื่นลูกใหม่” ในวงการภาพยนตร์ปลายทศวรรษที่ 1990 จนถึงต้นทศวรรษที่ 2000 มีอิทธิพลอย่างมากต่อการสร้างผีผู้หญิงให้เป็นเพศหญิงที่น่าเกลียดน่ากลัว อันเป็นผลมาจากความวิตกกังวลจากสภาพสังคม ผีผู้หญิงจะเผยให้เห็นความกลัวและความอาลัย ความไม่แน่นอนของชีวิตและความรู้สึกแหว่งวิ่นขาดหายที่ไม่อาจเติมเต็ม ภาพความสวยและความสยดสยองจะถูกนำเสนอควบคู่กันไปซ้ำๆ อย่างไม่หยุดยั้ง และตอนจบของภาพยนตร์ก็คือผี (ความเป็นผู้หญิงและความเป็นแม่) ต้องพ่ายแพ้ การหลอกหลอนเกิดจากความปราถนาที่ถูกทำให้จบสิ้นลงพร้อมกับร่างกายที่เสื่อมสลาย

ผีใบข้าวดูเหมือนจะเป็นผีผู้หญิงที่ผิดบาปคือผู้หญิงที่หนีรักแท้ (จากเซียง) โชคร้ายไปรู้ตอนหลังว่าเป็นเมียน้อยและฆ่าตัวตายโดยที่ยังท้องอยู่ ผีใบข้าวไม่สามารถไปเกิดใหม่ได้เพราะเซียงยังยึดใบข้าวไว้ไม่ให้ไปเกิด รวมถึงถูกสะกดวิญญาณโดยศักดิ์ พ่อของเจิดซึ่งเป็นสัปเหร่อ ในท้ายที่สุดของเรื่องแม้ว่าผีใบข้าวจะไปเกิดใหม่ได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นเพราะการคลายอาคมหรือการจัดงานเผาศพ แต่เป็นเพราะเซียงที่ปล่อยวางใบข้าวได้ เข้ากับคำคมของหนังที่ย้ำเตือนในคำพูดของศักดิ์ที่บอกว่า “มีความสุขกับปัจจุบัน มีความสุขกับสิ่งที่เจ้าเลือก มีความสุขกับชีวิตที่เหลืออยู่”

สัปเหร่อ (2023) ดูจะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้ตระหนักถึงความเป็นจริงมากกว่าการจมจ่อมกับอดีต ราวกับว่าเราต้องตัดขาดกับอดีตเพื่อที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้ ซึ่งก็ดูจะสอดคล้องกับแนวคิดของ นางนาก (1999) ที่เน้นย้ำถึงความอนิจจังที่นางนากต้องยอมรับให้ได้เพื่อจะได้ไปเกิด แต่หากมาพิจารณาแล้ว จุดที่น่าสนใจใน สัปเหร่อ (2023) คือการให้พื้นที่กับสิ่งที่ Arnika Fuhrmann (2016) เรียกว่า โศกาดูรแบบพุทธ (Buddhist melancholia) หรือการแสดงอารมณ์ความรู้สึกและความปรารถนาในขอบเขตที่เคร่งครัดของศาสนาซึ่งดูเหมือนว่าพยายามจะกดทับสิ่งเหล่านั้นไว้ เช่น ฉากพระเซียงร้องไห้ตามหาศพใบข้าว การพยายามติดต่อวิญญาณใบข้าว หรือแม้แต่ฉากที่สำคัญที่เซียงไปร่วมงานเผาศพใบข้าวและหันกลับมามองกองไฟหลังจากตัดสายสิญจ์แล้ว หรือแม้แต่ประโยคเด็ดที่ว่า “ความตายมันฆ่าเราได้ครั้งเดียว แต่ความรักมันฆ่าเราไปเรื่อยๆจนกว่าเราจะตาย” ก็ดูจะอธิบายถึงความโศกที่ยังดำรงอยู่แม้ร่างกายของคนที่รักจะไม่ปรากฎแล้ว ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดพุทธเถรวาทที่ต้องการให้พุทศาสนิกชนปล่อยวางไม่ยึดติด
 
หากกลับมามองที่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-เจิด ก็จะพบว่าฉากที่เจิดทราบว่าพ่อเสียชีวิตแล้วทำให้เขาไม่สามารถประกอบพิธีกรรมฌาปนกิจต่อได้ก็แสดงให้เห็นถึงความโศกาดูรเช่นกัน อารมณ์ความรู้สึกที่แม้แต่ผู้นำพิธีความตายก็ไม่อาจอดกลั้นไว้ได้เมื่อความตายมาเผชิญหน้ากับตนเอง สัปเหร่อ (2023) จึงเป็นภาพยนตร์ที่ให้ความสำคัญกับการจมจ่อมกับความรู้สึกการสูญเสียมากกว่าการจะต้องอดทนอดกลั้น (แม้จะมีการขู่ว่าถ้าเศร้ามากไปอาจเป็นบ้าแบบโรเบิร์ต) และภาพยนตร์ก็เน้นย้ำคนรอบตัวที่มีบทบาทในการทำให้เซียงสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ไม่เศร้ามากจนเกินไป (complicated grief) อันได้แก่ ยาย ปริม ใบข้าว และเพื่อนๆ

อีกประเด็นที่น่าคิดต่อคือภาพพิธีกรรมมากมายที่ถูกนำมาใส่พร้อมกับคำบรรยายของศักดิ์เพื่อจะสอนลูกชาย (ในขณะเดียวกันก็เพื่อให้คนดูที่ไม่คุ้นเคยวัฒนธรรมพื้นถิ่นได้รู้จักไปด้วย) เป็นการ self-exoticisation หรือไม่ สัปเหร่อ (2023) จะตกสถานะของภาพยนตร์ที่พยายามสร้างขายความเป็นอีสานแบบที่นางนากขายความเป็นไทยหรือไม่ หากคิดกันแบบรวมรัดก็อาจบอกได้ว่ามีส่วนที่คล้ายแต่ก็ไม่ใช่

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอีสานถูกนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ว่าไม่แร้นแค้น ไม่ได้ตำน้ำกิน หรือมีแค่การกินสัตว์ที่ไม่น่าจะเอามากินเพราะอดอยาก คนอีสานที่อยู่ในพื้นที่สื่อจำนวนไม่น้อยพยายามนำเสนออัตลักษณ์ความงดงามและอุดมสมบูรณ์ของอีสาน ที่เห็นได้ชัดคือวงการเชฟเทเบิ้ลอีสาน แต่คำถามตามมาคือแล้วอีสานอุดมสมบูรณ์ปานนั้นเลยติสู

สัปเหร่อ (2023) อาจเป็นการนำเสนอพิธีกรรมอีสานที่มีขั้นตอน แบบแผนและความหมายซึ่งทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นและความตายทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ของศาสนาแบบทางการ (พุทธเถรวาท) และไม่เป็นทางการ (พิธีกรรมพราหมณ์ เขมร และอื่นๆ) เห็นการต่อรองทางอำนาจระหว่างการนับถือพุทธและผี ซึ่งดูจะเป็นการนำเสนอที่ไปไกลกว่าการนำเสนออัตลักษณ์อีสานแบบฉาบฉวย และที่สำคัญ สัปเหร่อ (2023) ชี้ให้เห็นถึงทั้งด้านที่ดีของชุมชนชนบทที่คนในหมู่บ้านเป็นหูเป็นตาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่ก็ชี้ให้เห็นอีกด้านเช่น การล่มสลายของ SMEs อย่างธุรกิจของพระป่องและจาลอด ในระบบเศรษฐกิจผูกขาดของรัฐไทย นี่เองจึงอาจกล่าวได้ว่า สัปเหร่อ (2023) ไม่ได้เป็นการพยายามเอาอีสานมาขายอย่างตื้นเขิน

ประเด็นสุดท้ายคือผีใบข้าวถูกสร้างขึ้นด้วยมุมมองแบบเกลียดผู้หญิง (misogynist) หรือไม่ ถ้าหากเทียบกับนางนากที่ผีผู้หญิงต้องถูกปราบด้วยศาสนาพุทธเถรวาทที่อาจหมายรวมถึงคำสอนให้ “กูให้พวกมึง รู้จักพอเพียง” ท่ามกลางเศรษฐกิจทุนนิยม แต่ผีใบข้าวดูจะไม่ได้สนใจสิ่งเหล่านั้นหรือเป็นตัวแทนของอะไรชัดเจน ที่แน่ๆ ผีใบข้าวไม่กลัวพระ หรือคาถาอาคมแบบในหนังสยองขวัญกระแสหลัก เธอถูกสะกดด้วยคาถาของศักดิ์? และแม้ว่าจะหลุดจากมนต์แล้วแต่เธอก็ยังไม่ไปไหนเพราะเซียงรั้งเธอไว้ ไปจนถึงคำถามว่าแล้วทำไมเธอไม่ไปหลอกเซียงด้วยตัวเธอเอง เธอดูเป็นผีที่ไม่ได้เสียใจกับการฆ่าตัวตายหรือฆ่าลูกตัวเองในท้องเท่ากับการปรากฏตัวกับเซียงเพื่อบอกว่าเธอไม่ได้รักเขาแล้วและไม่ต้องพยายามติดต่อเธออีก เธอปรากฎตัวรอบๆหมู่บ้านมากกว่าจะปรากฎที่สถานที่ที่เธอฆ่าตัวตาย (บ้านของตัวเอง) รวมไปถึงการเจอเซียงครั้งสุดท้ายก็ดูเหมือนว่าเธอกำลังจะไปพบภูมิอื่นแล้ว? ซึ่งจะขัดแย้งกับแนวคิดกระแสหลักที่มักอธิบายว่าคนฆ่าตัวตายจะฆ่าตัวตายซ้ำๆเวียนวนจนกว่าจะถึงอายุขัย การทำความเข้าใจผีใบข้าวจึงไม่ใช่เรื่องง่ายหรืออธิบายได้ด้วยตรรกะชัดเจนแบบในนางนากหรือคำอธิบายแบบพุทธเถรวาท
อย่างถึงที่สุด สัปเหร่อ (2023) ฉายให้เห็นความเป็นกันเองของไทยบ้าน (casualness) แบบที่ Fuhrmann (2016) เสนอไว้ในสัตว์ประหลาด (2004) ความกันเองที่ดูจะราบรื่นของชีวิตคนชนบทที่แม้จะมีวิกฤตในชีวิตแต่คนชุมชนก็ช่วยเหลือกันอันแสดงถึงความยืดหยุ่นของชุมชน และดูปราศจากมิติทางการเมือง แต่ Fuhrmann (2016) เสนอว่าหากพิจาณาแล้วในช่วงเวลาที่ สัตว์ประหลาด (2004) ออกฉาย ภาพยนตร์เควียร์ส่วนใหญ่มักมีลงเอยความเจ็บปวดของเควียร์เป็นการเยียวยาหรือได้รับการยอมรับในตอนท้าย เช่นเดียวกันหากเราเพ่งมองความตาย การโหยไห้ ความโศกเศร้า หรือการไม่สมหวัง ของไทยบ้าน นี่กลับเป็นสิ่งที่โอบรัดแรงงานพลัดถิ่นและเผยให้เห็นแรงปรารถนาและการต่อต้านจริตรัฐไทยกรุงเทพฯ ด้วย “ความธรรมดาสามัญ”
 
อ้างอิง
-ชัยรัตน์ พลมุข. บทวิจารณ์หนังสือ : Arnika Fuhrmann. Ghostly Desires: Queer Sexuality and Vernacular Buddhism in Contemporary Thai Cinema. 2016.
-Fuhrmann A. Ghostly Desires: Queer Sexuality and Vernacular Buddhism in Contemporary Thai Cinema. 2016
-Campoli A. A Ghostly Feminine Melancholy: Representing Decay and Experiencing Loss in Thai Horror Films. 2015.
-INGAWANIJ MA. Nang Nak: Thai bourgeois heritage cinema. 2007.
-ณัทธนัทธ์ เลี่ยวไพโรจน์. จินตกรรม "ชาติไทย" ในแบบเรียนสังคมศึกษา ทศวรรษที่ 2500-2560. [ม.ป.ท.]: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2561.