วันจันทร์, ตุลาคม 16, 2566

ครบ 50 ปี “วันมหาวิปโยค” ผ่านบาดแผลครึ่งศตวรรษของนักสู้ประชาธิปไตยที่ประวัติศาสตร์ไม่จำ

ฉลวย ศรีเกสร วัย 84 ปี เชื่อว่าตนเองอาจเป็นผู้ประท้วง 14 ตุลา "ที่อายุเยอะที่สุด"

ครบ 50 ปี “วันมหาวิปโยค” ผ่านบาดแผลครึ่งศตวรรษของนักสู้ประชาธิปไตยที่ประวัติศาสตร์ไม่จำ

เรื่อง-วิดีโอ: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล และ วสวัตติ์ ลุขะรัง
บีบีซีไทย
13 ตุลาคม 2023

แม้ดวงตาสองข้างจะแทบมองไม่เห็นจากต้อกระจกรุนแรง แต่สิ่งที่ยังแจ่มชัดในห้วงความทรงจำของชายวัย 84 ปี คือประสบการณ์เฉียดตาย การนองเลือด และเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่นอนเกลื่อนรอบตัว บนสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เมื่อ 50 ปีก่อน

“ทหารและตำรวจใช้ (ปืน) เอ็ม 16 ยิงรัวเลย รัวชนิดไม่หยุดเลย ไม่ขึ้นฟ้าเลย ยิงตัวเลย” ฉลวย ศรีเกสร หนึ่งในผู้ประท้วง “14 ตุลา” เล่าย้อนความทรงจำเคล้าเสียงกระสุนและกลิ่นเลือด จากเคหสถานอันร่มรื่นใน จ.นนทบุรี

ชายชราผู้ร่วมประท้วงกับขบวนการนักศึกษาเมื่อปี 2516 ค่อย ๆ ถลกแขนเสื้อให้เห็นรอยแผลเป็นใหญ่จากกลางศอกไปถึงกลางแขนขวาที่บิดงอไม่ได้ เพราะต้องใช้เหล็กดามแทนกระดูกที่ถูกคมกระสุนเจาะทำลาย จากนั้นเขาพลิกข้อเท้าซ้าย ที่พาดยาวด้วยรอยแผลคล้ำจากกระสุนที่พุ่งทะลุ

บาดแผลเหล่านี้เกิดห่างกันไม่ถึง 10 นาที ในวันที่ประวัติศาสตร์ไทยขนานไว้หลายนาม ทั้ง “วันมหาวิปโยค” ที่มีผู้เสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 77 ศพ หรือ “วันประชาธิปไตย” ที่ชัยชนะมีอายุขัยแสนสั้น

และนี่คือเรื่องราวอีกมุมของบุคคลที่ไม่ขอเรียกตนเป็น “วีรชน” เหล่าคนที่ไม่ใช่ “นักศึกษา” และ “ผู้บาดเจ็บ” ที่ชื่อแทบไม่ปรากฏบนบันทึกประวัติศาสตร์และอินเทอร์เน็ต ในโอกาสครบ 50 ปี “14 ตุลา”

ผ่านฟ้า “เปื้อนเลือด”

เมื่อปี 2516 ฉลวย ในวัย 34 ปี ทำงานเป็นพนักงานควบคุมอุปกรณ์หนัก มีบ้านอยู่แถวบางนา

เขาติดตามข่าวสารการเมืองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะการปฏิวัติตนเองของจอมพล ถนอม กิตติขจร ในปี 2514 การประกาศธรรมนูญให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่นายกฯ ในปี 2515 มาถึงชนวนความไม่พอใจ จากเหตุเฮลิคอปเตอร์กองทัพบกตกที่นครปฐมและพบซากสัตว์ป่า อันสะท้อนถึงอภิสิทธิ์ของชนชั้นนำ

เมื่อนักศึกษาจากหลายสถาบัน เริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญในช่วงต้นเดือน ต.ค. เขาจึง “เห็นด้วย” และ “เข้าร่วมทันที” ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. 2516 เป็นต้นมา


14 ตุลา 2516 คือจุดสิ้นสุดการครองอำนาจที่ยาวนานนับทศวรรษของ "ระบอบสฤษดิ์-ถนอม"

ฉลวยเล่าว่าตัวเขานั้นอยู่ช่วง “กลางค่อนหลัง” ของคลื่นผู้ประท้วงนำโดยเสกสรร ประเสริฐกุล ที่เคลื่อนออกจากธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 13 ต.ค. มุ่งหน้าไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อไปพระบรมรูปทรงม้า และค้างคืนข้างสวนจิตรลดา

กระทั่งเช้ามืดวันที่ 14 ต.ค. ที่เริ่มเกิดการปะทะ ฉลวยอยู่ในกลุ่มที่พยายาม “ยึดตึก” กองบัญชาการฝ่ายทหารและตำรวจ บริเวณสะพานผ่านฟ้า “ตำรวจหน้ากระดานเลย แล้วยิงแก๊สน้ำตาใส่” แต่พวกเขาก็ใช้วิธีสลับไปล้างหน้า แล้วออกมาต่อสู้ด้วย “เศษไม้ก้อนอิฐ” นานพักใหญ่

ช่วงเกือบ 13.00 น. เป็นเวลาที่ฉลวยไม่เคยลืม เมื่อตำรวจและทหารเริ่มใช้ปืนเอ็ม 16 “ยิงรัว” เข้าใส่

“ตรงกลางสะพานโดนก่อน ตรงอกนี่เต็มเลย (รูกระสุน) ล้มหงายท้อง เลือดเต็มไปหมด” ฉลวยเล่าย้อนอดีตกับบีบีซีไทย “เฮ้ย เอาแน่แล้ว เราก็เลยนอนอยู่ติดกับราวสะพาน... แต่ไม่หยุดยิงเลย ยิงตลอด เป็นชั่วโมงมั้ง”

ห่ากระสุนผ่านศีรษะ ก่อนกระชั้นเข้าใกล้มาทุกที “แล้วก็ยิงโดนแขนนี่เลย มันชา ไม่เจ็บหรอก กระดูกกระจายออกมาเลย เพราะโดนตรงข้อต่อ จนเพื่อนเห็นเศษกระดูกไปตกตรงหน้าเขา” ฉลวย เล่าต่อ ถึงจุดนั้นเขาจึงให้เพื่อนกระโดดลงน้ำ หนีไปก่อน


ฉลวย ยอมรับว่า เกือบตายที่สะพานผ่านฟ้าฯ หลังถูกกระสุนเจาะข้อศอก และข้อเท้า

“เราก็นอนอยู่ เลือดท่วมเลย ขยับอีกทีก็โดนขาอีกนัดหนึ่ง” ฉลวยกล่าว แล้วชี้ไปที่แผลยาวตรงข้อเท้าซ้าย ซึ่งเมื่อโดนยิงทั้งศอกและขา “ทีนี้ไปไม่ไหวแล้ว นอนนิ่งเลย คน (ที่มีชีวิต) ไปเกือบหมดแล้ว ที่เหลือก็ตายบ้าง เจ็บบ้าง เต็มไปหมดตรงสะพาน”

เด็กมัธยมตายต่อหน้า

ในช่วงเวลาแห่งความเป็นความตายกลางห่ากระสุน ฉลวยใช้กำลังเฮือกสุดท้าย “แข็งใจลุกขึ้น เอื้อมมือซ้ายไปโหนราวสะพาน ใช้เท้าขวายันพื้น แล้วขึ้นคร่อมราวสะพาน” ท่ามกลางเสียง “วืดวาด” ของกระสุนที่แหวกอากาศไม่หยุด

ท้ายสุด เขาทิ้งตัวลงไปใน “น้ำคลำ” จมไปถึงก้นคลอง ในสภาพบาดเจ็บจนว่ายน้ำไม่ได้ แต่โชคดีที่ผู้ประท้วงด้านล่าง ประคองขึ้นมาจากน้ำ แม้กระนั้น ฝ่ายรัฐ “ก็ยิงลงน้ำอยู่ ยิงตลอด”

ฉลวย และผู้ประท้วงคนอื่น ๆ หนีไปหาที่กำบัง จนมีชาวบ้านในพื้นที่พายเรือมารับออกไปจากพื้นที่ แล้วพาขึ้นรถยนต์ไปพร้อมกับผู้ประท้วงอีก 2 คน และเด็กคนหนึ่ง

พอหันไปดูใบหน้าเด็กในชุดมัธยมนุ่งขาสั้น ที่นั่งข้าง ๆ เขาพบว่า “โดนยิงกลางหน้าผาก เป็นรูเลย หน้าซีดเซียวหมด” แต่ยังไม่เสียชีวิต

“เด็กคนนั้นพูดว่า พี่อย่าทิ้งผมนะ ผมหนาวจังเลย” ฉลวยทวนคำพูดแผ่วเบาที่ได้ยินเมื่อ 50 ปีก่อน ซึ่งเป็นคำพูดสุดท้ายของเด็กนิรนามรายนี้ ที่ขาดใจก่อนไปถึงโรงพยาบาล


เหตุการณ์ 14 ตุลา มีผู้เสียชีวิต 77 คน บาดเจ็บอีกเกือบ 900 คน

กระสุน “14 ตุลา” ฝังร่างมา 50 ปี

ห่างจากบ้านปัจจุบันของฉลวยออกไปไม่กี่กิโลเมตร ประเวศ เอมอมร ต้องลุกแบบทุลักทุเลจากเตียงที่เป็นฟูกปูบนพื้น เขาเดินกะเผกอย่างเห็นได้ชัด บางจังหวะต้องใช้ไม้เท้าหวายคอยพยุง

“ผมโดนยิงโคนขาเม็ดเดียว” ประเวศเล่า ก่อนจะลุกขึ้นปลดเข็มขัด-กางเกง เผยให้เห็นแผลจากกระสุนที่ทะลุเข้าร่าง ก่อน “แตกออกเป็นสองชิ้น” โดยกระสุนซีกหนึ่ง โผล่นูนออกมาบริเวณหลังขา เป็นรอยคล้ำสีดำ


ประเวศ ออกประท้วงกับกลุ่มนักศึกษา แม้ตนเองไม่ใช่นักศึกษา

ย้อนไปเมื่อปี 2516 เขาอาศัยอยู่กับแม่ที่ขายอาหารอยู่ในกรมทหาร ใกล้สนามบินน้ำ เขาเป็น “เด็กสอบตก” ที่เพิ่งสมัครเรียนช่างกล เมื่อเห็นเหล่านักศึกษารวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลทหารของจอมพล ถนอม เขาจึงสนับสนุนอยู่ห่าง ๆ

เมื่อสถานการณ์ถึงจุดรุนแรง เขาในวัย 17 ปี ต้องการไปเห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเอง จึงลอบออกมาจากบ้านในกรมทหาร นั่งรถโดยสารประจำทางมาลงบริเวณศรีย่าน แล้วเดินต่อมุ่งหน้าจะไปธรรมศาสตร์ แต่ไปไม่ถึง เพราะเจอตำรวจ-ทหาร ปิดกั้นเส้นทาง ก่อนเปิดฉากยิงขับไล่

“สองคนยิงขึ้นฟ้า อีกคน เขายิงใส่ลงพื้นเลย” ประเวศเริ่มเล่า “ข้างหน้าผมหลายคน เริ่มล้น เห็นเลือดเต็ม แล้วผมก็รู้สึกแปล๊บ ๆ มันยังไม่เจ็บ ไม่นานก็รู้สึกร้อน แล้วผมก็ล้มบนถนน โป้ง”

นักศึกษาที่อยู่ใกล้กันจึงจับคอเสื้อ ลากเขาออกจากพื้นที่ ส่วนสายตาของเขามองไปเห็น “ทหารขึ้นอีกแม็กต่อ คือจะเอาซ้ำ... เขาก็ลากไปเลื่อย ๆ บอกว่าอย่าหลับนะ ถ้าหลับคือเสร็จ”

โชคยังดีที่รถพยาบาลของวชิรพยาบาลอยู่ใกล้เคียง จึงนำตัวส่งห้องฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว


กระสุนพุ่งทะลุต้นขา แล้วแตกเป็น 2 ซีก ฝังเข้าไปเกือบถึงสะโพก

“ถ้าไม่ออกมาก็ไม่ถูกยิง... ดวงมันจะถูกยิงน่ะ” แต่ในขณะเดียวกัน “ดวงมันไม่ถึงตายด้วย” ประเวศ ยอมรับ แต่แม้แพทย์จะพยายามผ่าเอากระสุนออกถึง 3 ครั้ง แต่ก็ยังเอากระสุนที่ “แตกเป็นสองเสี่ยง” ออกมาไม่ได้ จนยังค้างเติ่งอยู่ในร่างกาย ยาวนานมา 50 ปี ถึงปัจจุบัน

คนปกติไปประท้วง ตื่นมาพิการ

ชัยยะ ชววงศ์พัฒนากุล ปักหลักอยู่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคืนวันที่ 13 ต.ค. ตอนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสทางวิทยุและโทรทัศน์ ขอให้ทุกฝ่ายระงับเหตุแห่งความรุนแรง และทรงแต่งตั้งศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสมัยนั้น เป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพลถนอม

“(พลตำรวจโท) มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น เขาก็เฝ้าอยู่ทางไปสนามม้านางเลิ้ง เขาไม่ยอมให้ผ่าน... แล้วก็มีคำสั่งให้สลายม็อบ” ชัยยะ เล่าพร้อมเสริมว่า หากตำรวจเปิดทางให้ประชาชนผ่านไป คงไม่เกิดเหตุนองเลือดขึ้น

ท่ามกลางการปราบปรามนักศึกษา เขาและผู้ประท้วงอีกบางคน รับหน้าที่จัดหาเสบียงอาหารมาสนับสนุน จึงขึ้นรถประจำทาง มุ่งหน้าไปเขตบางแค ที่มีกระแสข่าวมาว่า ประชาชนจะช่วยเหลือด้านอาหาร

“ผมยืนอยู่ตรงบันไดหน้า... แล้วเหมือนเกิดอุบัติเหตุชนกับรถ” ชัยยะกล่าว ซึ่งเขาไม่แน่ใจว่า เป็นอุบัติเหตุหรือผลจากสถานการณ์ชุลมุนกันแน่ ซึ่งมารู้ตัวอีกที เขาอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ในสภาพที่ต้องเสียขาซ้ายไป


ชัยยะ ต้องเสียขาซ้ายไปจากการไปร่วมประท้วง 14 ตุลา

“มันก็เครียด มันก็แค้น ทรมานมันก็มี” เขาพูดพลางถลกขากางเกงให้เห็นขาที่ด้วนเกือบถึงเข่า แต่ยังพอใส่ขาปลอมได้ อย่างไรก็ตาม แผลตรงข้อเท้าขวาที่เนื้อแหว่งหายไป ทำให้เมื่ออายุมากขึ้น จึงต้องพึ่งรถเข็นเป็นหลัก

ชีวิตหลัง 14 ตุลา

ฉลวย ศรีเกสร คิดว่าต้องสูญเสียแขนขวาไปแล้ว หลังถูกยิงเจาะข้อศอก แต่แพทย์ “ทดลองวิชา” จัดกระดูกเรียงใหม่แล้วดามด้วยเหล็ก

แม้กระนั้น ชีวิตของเขาก็ต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากคนมีงานทำ ต้องกลายเป็นคนไร้งาน เทียวไปมาโรงพยาบาลกว่า 1 ปี ทำกายภาพบำบัดอย่างหนัก และฝึกเขียนหนังสือด้วยมือซ้าย

ตลอดเวลาที่เขารักษาตัวและทำงานที่ไม่หนักมากนัก เพื่อหารายได้ประทังชีพ เขาสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ปีแรก ๆ ดูเหมือน “ประชาธิปไตยจะเบ่งบาน” แต่แล้วก็เกิดกระแสตีกลับขบวนการนักศึกษา

และวาทกรรม ที่ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มธ. เคยอธิบายไว้ ไม่ว่าจะเป็น “คอมมิวนิสต์” “ญวณ เจ๊ก” และ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

อดีตผู้ประท้วง 14 ต.ค. อย่าง ฉลวย เริ่มรู้สึกว่ามีการคุกคามและเฝ้าติดตาม จนรู้สึกไม่ปลอดภัย เขาจึงตัดสินใจไปทำงานในตะวันออกกลาง เริ่มจากซาอุดีอาระเบีย เสมือนเป็นการลี้ภัยตัวเอง เพียงไม่กี่วัน ก่อนเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519

“บ้านมึงทำรัฐประหารอีกแล้ว” เขาทวนคำที่เพื่อนต่างชาติในซาอุฯ วิ่งมาบอกเขาในที่ทำงาน


50 ปีนับแต่ 14 ตุลา 2516 ฉลวยและประเวศ ยังคลางแคลงใจว่า ประเทศไทยจะหมดยุครัฐประหารแล้วจริงหรือไม่

แม้ปัจจุบัน จะมีการเลือกตั้งและได้พรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาล แต่เขากลับรู้สึกว่าประเทศไทย “ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมาก เกือบจะถอยหลังลงคลองด้วยซ้ำไป... ย้อนยุค”

แต่หากถามเขาว่า ย้อนไป 50 ปีก่อน ในวันที่ 14 ต.ค. 2516 เขาจะเลือกทำในสิ่งที่แตกต่างออกไปหรือไม่ ฉลวยยืนกรานว่า จะร่วมกับขบวนการนักศึกษาต่อไป เพราะอย่างน้อย “14 ต.ค.” ก็ได้มอบบทเรียนบางอย่างต่อสังคมไทย

และเมื่อถามว่าอยากบอกอะไรคนรุ่นใหม่บ้าง ฉลวย ตอบสั้น ๆ เพียงว่า “จงรักษาประชาธิปไตยให้ดีนะ อย่าให้เกิดแบบในสิ่งที่เราเคยทำมาแล้ว... จะได้ไม่เกิดบาดแผลอีก”