การเผชิญหน้าระหว่างนักศึกษาและทหารบนถนนราชดำเนินเมื่อ 14 ต.ค. 2516
เผด็จ ขำเลิศสกุล
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สหราชอาณาจักร
13 ตุลาคม 2022
17 วัน หลังเหตุการณ์วันที่ 14 ต.ค. 2516 เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ส่งบันทึกลับความยาว 6 หน้า ใช้ชื่อว่า "ประเทศไทย : การปฏิวัติเดือนตุลาคม" (Thailand: The October Revolution)ไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในกรุงลอนดอน เล่าถึงที่มาที่ไปของเหตุการณ์
นอกจากส่งไปยังลอนดอนแล้ว เซอร์ อาร์เธอร์ เจมส์ เดอ ลา แมร์ ยังส่งรายงานชิ้นนี้ ที่ตีตรา "ลับ" หรือ confidential ไปยังเอกอัครราชทูตอังกฤษในกรุงวอชิงตัน ปักกิ่ง โตเกียว ไซง่อน พนมเปญ เวียงจันทน์ ร่างกุ้ง กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ จาการ์ตา มะนิลา และแคนเบอร์รา
เอกสารนี้ถูกเก็บอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สหราชอาณาจักร ในกรุงลอนดอน มาเป็นเวลานาน จนเพิ่งถูกลดชั้นความลับลงกลายเป็นเอกสารที่เปิดเผยต่อสาธารณะได้เมื่อ 25 ก.ย. 2562
2 เรื่อง "น่าประหลาดใจ"
ในบทคัดย่อ 1 หน้า เซอร์ อาร์เธอร์ สรุปไว้ 6 ประเด็นสำคัญ ในประเด็นแรก เขารายงานว่า ระบอบคณาธิปไตยของกลุ่มทหารที่ปกครองประเทศมาต่อเนื่องยาว 15 ปี ต้องล่มสลายลงเมื่อ 15 ต.ค. 2516 สาเหตุที่เห็นทันทีก็มาจากการประท้วงของนักศึกษาที่นำไปสู่การนองเลือด ในขณะที่ความไม่พอใจต่อระบอบนี้ มีอยู่ทุกหย่อมหญ้า ทั้งในเรื่องการทุจริต และการไร้ฝีมือในการแก้ปัญหาของประเทศที่เผชิญความเจ็บป่วยทางเศรษฐกิจ
เขาเห็นว่า มี 2 เรื่องน่าประหลาดใจจากเหตุการณ์นี้คือ ระบอบนี้ถูกโค่นลงอย่างง่ายดาย และการยุติลงของความรุนแรงที่ดูตื่นเต้นเร้าใจ หลังได้รับรู้ว่า จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร หนีออกนอกประเทศไปแล้ว ส่วนการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ โดยการอยู่ข้างเดียวกับนักศึกษาและประชาชนเป็นไปอย่างแน่วแน่เด็ดเดี่ยว
ชนวนสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ในรายงานนี้ เดอ ลา แมร์ ได้วิเคราะห์เหตุการณ์การควบคุมตัวกลุ่มบุคคลสิบกว่าคนนี้โดยตำรวจ ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็น "การยุยงปลุกปั่นที่ผิดกฏหมายเพื่อเร่งให้มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่" และตั้งข้อหาว่าพยายามโค่นรัฐบาล ซึ่ง เดอ ลา แมร์ เห็นว่าเป็นความผิดพลาดทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากความเห็นอย่างท่วมท้นของประชาชนก็เป็นไปในทางเดียวกับข้อเรียร้องของกลุ่มนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัวนี้ และประชาชนส่วนใหญ่ก็มีความเชื่อว่ารัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจอมพลประภาส จารุเสถียร ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จงใจที่จะประวิงเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แต่ประเด็นของการเรียกร้องรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้นก็เป็นเพียงชนวนที่จุดประกายให้เกิดเหตุการณ์นี้เท่านั้น สาเหตุใหญ่เกิดจากการสะสมของความไม่พอใจต่อรัฐบาลอย่างกว้างขวางในเรื่องความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการควบคุมค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และการทุจริตประพฤติมิชอบ ดังตัวอย่างของกรณีล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ ซึ่งนำมาซึ่งอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่ จ. นครปฐม เป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับคณะนายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เดินทางไปตั้งค่ายพักแรมและใช้อาวุธสงครามล่าสัตว์ป่าภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี
นักศึกษาต่อต้านรัฐบาลเดินขบวนไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 7 ส.ค. 2516 การชุมนุมนี้ คล้ายคลึงกับการชุมนุมที่นำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อเดือน ต.ค. 2516
เดอ ลา แมร์ ยังกล่าวต่อไปว่า ในหมู่คนไทยที่เขาคบหาสมาคมอยู่ต่างก็ประหลาดใจต่อการล่มสลายอย่างง่ายดายของระบอบเผด็จการที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน แต่อย่างไรก็ดี เดอ ลา แมร์ กล่าวว่า มีบุคคลหนึ่งที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ถึงแนวโน้มของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สาเหตุที่ เดอ ลา แมร์ กล่าวเช่นนั้นเพราะว่านายแอนโทนี รอยล์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น แวะมาปฏิบัติภารกิจในประเทศไทย และมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ 10 ต.ค. 2516 หล้งจากนั้นรอยล์ ได้เล่าให้ เดอ ลา แมร์ ฟังถึงการเข้าเฝ้าฯ ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของจอมพล ถนอม กิตติขจรอย่างรุนแรงในการจับกุมตัวนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรง พระองค์รวมถึงประชาชนส่วนใหญ่ต้องการรัฐธรรมนูญ และนักศึกษาก็มีสิทธิในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่างสงบ แต่อย่างไรก็ตามพระองค์ก็ทรงเชื่อว่ามีกลุ่มที่ไม่หวังดีที่ต้องการใช้ความรุนแรงโดยการใช้นักศึกษาเป็นเครื่องมือ ซึ่งพระองค์ตรัสอย่างชัดเจนว่าคือพวกคอมมิวนิสต์
ขบวนการคอมมิวนิสต์มีส่วนเกี่ยวข้องจริงหรือไม่
เดอ ลา แมร์ มีความเห็นว่าความพยายามในการจัดตั้งระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยนั้น ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนน้อยมาก ความเห็นนี้พ้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศว่ายังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้มีส่วนในการประท้วงครั้งนี้ และบางคนกล่าวว่ามันเกินความสามารถของพรรคในการจัดการเดินขบวนแบบนี้ รวมทั้งยังกล่าวด้วยว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมองว่ายังไม่ถึงเวลาในการโค่นล้มรัฐบาล แม้มีความไม่พอใจอย่างมาก ในหมู่ประชาชนต่อการบริหารประเทศของรัฐบาล แต่ก็ยังไม่ถึงระดับสิ้นหวังที่จะนำให้เกิดการปฏิวัติโดยฝ่ายซ้ายได้
อย่างไรก็ดีเหตุผลนี้ก็ไม่ได้ปฏิเสธทฤษฎีที่ว่ามีผู้ไม่หวังดีฝ่ายคอมมิวนิสต์มายุยงนักศึกษา ถึงกับมีข่าวลือว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจงใจที่จะไม่ใช้กำลังอย่างเต็มที่ตั้งแต่แรก แต่รอจังหวะที่ความวุ่นวายจะมีมากขึ้น และมีการอ้างหลักฐานบางอย่างที่ชี้ว่ามีกลุ่มผู้ไม่หวังดีเตรียมที่จะเข้ามาก่อความไม่สงบในกรุงเทพฯ ในวันที่ 15 ต.ค. ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้นมีเค้าว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น แต่เมื่อถึงเวลาที่ผู้ก่อความไม่สงบเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็ปรากฏว่านักศึกษาที่ออกมาเดินขบวนนั้นก็ยุติการประท้วงและได้ทยอยเดินทางกลับบ้าน หลังจากทราบข่าวว่าจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ลาออกจากหน้าที่ทุกอย่าง และได้เดินทางออกจากประเทศไทยพร้อมด้วย พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร
จริงอยู่ที่เหตุการณ์ประท้วงสงบลงแบบฉับพลันหลังจากที่เหล่าผู้ประท้วงได้ทราบข่าวเกี่ยวกับการลาออกของสามทรราช แต่เดอ ลา แมร์ ก็ให้ความสำคัญกับ "อำนาจเร้นลับของพระมหากษัตริย์" (the mystic power of the Crown) ซึ่งเขาบรรยายว่า แทบจะไม่มีคนไทยคนไหนที่จะขัดพระประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และความประสงค์ของพระองค์จะรับรู้ได้แม้กระทั่งก่อนที่มันจะปรากฏให้เห็น โดยเดอ ลา แมร์ ยกตัวอย่างเกี่ยวกับการที่บริษัทรถเมล์ขาว (รถเมล์นายเลิศ) ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้การบริหารของท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ บุตรสาวของพระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) ได้เตรียมอาหารกลางวันหลายพันกล่องเพื่อนำไปเลี้ยงนักศึกษาผู้ประท้วง และเตรียมรถโดยสารประจำทางตามจุดต่าง ๆ ใกล้พื้นที่ที่มีความไม่สงบ พร้อมที่จะรับส่งกลับบ้าน
สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์
เดอ ลา แมร์ ได้พูดถึงสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ในรายงานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีถึงความต้องการของประเทศและทรงมีพระบารมีในการเป็นผู้นำในระหว่างเหตุการณ์ 14 ต.ค. พระองค์ได้รับการยกย่องเทิดทูนจากประชาชนในการที่พระองค์ได้ทรงแสดงถึงความเป็นผู้นำในการเข้าแทรกแซง (intervention) เพื่อยุติความวุ่นวาย แต่เดอ ลา แมร์ เล่าว่า เขาได้รับทราบจากแหล่งข่าวภายในที่เชื่อถือได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดง "ความตกใจ" ในการที่พระองค์ได้ถลำตัวลึกออกพ้นไปจากแนวคิดที่เคร่งครัดทางรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือการเมือง
ภาพจำอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในฉากสำคัญทางประวัติศาสตร์ 14 ต.ค. 2516 เมื่อขบวนการนักศึกษาและประชาชนลุกฮือเรียกร้องรัฐธรรมนูญ
แต่เดอ ลา แมร์ มีความเห็นว่า นอกเหนือจากความเชื่อในเรื่องดวงดาว โหราศาสตร์ และลางสังหรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีเรื่องให้ต้องกังวลอีกมาก ไม่ว่าพระองค์จะกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม แต่สำคัญที่พระองค์เข้าข้างกับนักศึกษาและพระองค์ทรงขับไล่สามทรราช และเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และบางคนก็บอกว่าทรงเลือกคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ด้วยพระองค์เอง ทั้งหมดนี้ทำให้พระองค์ไม่ได้อยู่เหนือการเมืองอีกต่อไป พระองค์จะถูกตำหนิ หากรัฐบาลใหม่มีข้อบกพร่องหรือล้มเหลว
ไชยันต์ ไชยพร
ภายหลังบทความนี้เผยแพร่ออกไปเมื่อ 13 ต.ค. 2564 ศ.ดร. ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความอธิบายความการแปลจดหมายของเอกอัครราชทูตอังกฤษตามมุมองของเขาทางบัญชีเฟซบุ๊ก แล้วแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อ 18 ต.ค. 2564 บีบีซีไทยจึงขอคัดข้อความบางส่วนมาเสนอในที่นี้
ในบทความ...ของบีบีซีไทย...มีข้อความบางตอนในเอกสารหมายเลข 10 เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย (พ.ศ. 2513-2516) ที่ขาดหายไปจาก บทความเรื่องนี้ ข้อความที่ว่าอยู่ในหัวข้อที่ 10 ในเอกสารของเซอร์อาเธอร์ เดอ ลาแมร์ (ดูเอกสารแนบ) ข้อความมีดังนี้
"10. …… จุดยืนของสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้า (เซอร์ อาเธอร์ เดอ ลาแมร์) ได้กล่าวอยู่บ่อยครั้งว่า พระองค์ทรงตระหนักอย่างยิ่งในความต้องการของประเทศและทรงมีพระเกียรติยศและพระบารมีที่จะใช้ความเป็นผู้นำ ในสถานการณ์ที่พระองค์ทรงต้องเผชิญกับปัญหาร้ายแรงทางมโนธรรมที่ห้ามไม่ให้พระองค์แสดงบทบาทที่นอกกรอบของรัฐธรรมนูญ แต่ความจริงก็คือ เมื่อพระองค์ถูกท้าทายด้วยเหตุการณ์กลางเดือนตุลาคม พระองค์ได้ทรงต้องใช้ความพยายามอย่างมากและทรงสามารถรับมือกับภาวะที่อันตรายฉุกเฉินได้ และพระองค์สมควรที่จะได้รับการยกย่องในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำลงไป"
และ เดอ ลาแมร์ เอกอัครราชทูตอังกฤษได้ต่อท้ายด้วยข้อความในภาษาฝรั่งเศสว่า 'Faut-il opter ? Je suis peuple'" ซึ่งมาจากวรรณกรรมเรื่อง The Caractères ของ La Bruyere นักปรัชญาและนักศีลธรรมชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17
ประโยค 'Faut-il opter ? Je suis peuple' มาจากข้อความในย่อหน้าหนึ่งใน The Caractères ความในต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส แปลเป็นภาษาไทยว่า
"มนุษย์ธรรมดาไม่มีพิษภัย ในทางตรงกันข้าม มนุษย์วิเศษไม่สนใจที่จะทำดีและยังแฝงไปด้วยความชั่วร้าย มนุษย์กลุ่มแรกถูกเลี้ยงให้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ขณะที่อีกกลุ่มให้เกลือกกลั้วกับพวกชั่วช้าสามานย์ด้วยกัน มนุษย์ธรรมดาแสดงความหยาบกระด้างและใสซื่อของพวกเขาอย่างไร้มารยา ขณะที่มนุษย์วิเศษซ่อนความโสมมและเน่าเฟะภายใต้เปลือกของความสุภาพ มนุษย์ธรรมดาแทบจะไร้ซึ่งไหวพริบปฏิภาณ ขณะที่มนุษย์วิเศษปราศจากวิญญาณ มนุษย์ธรรมดามีจิตใจที่ดีงามและไม่ใยดีว่าผู้อื่นจะมองตนเช่นไร ต่างกับมนุษย์ผู้วิเศษซึ่งทุกอย่างสำหรับเขาเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ เราจะเลือกแบบไหนดีละ ผมไม่ลังเลเลยที่จะเลือกเป็นมนุษย์ธรรมดา"
"Must - he choose ? I don't hesitate : I want to be a people."
นั่นคือ "หากเขาต้องเลือก ข้าฯไม่ลังเล ข้าฯต้องการเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง"
ประโยค 'Faut-il opter ? Je suis peiple' ที่เดอ ลาแมร์ยกมาต่อท้ายข้อความที่เขาเขียนถึงสถานการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่เก้านั้น เดอ ลาแมร์ต้องการสื่อถึงสถานการณ์ร้ายแรงที่พระองค์ต้องเผชิญอยู่ในขณะนั้น นั่นคือ ระหว่างการเลือกที่เพิกเฉยต่อสถานการณ์ฉุกเฉินอันตรายโดยเป็นพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในกรอบตามรัฐธรรมนูญ เพื่อความปลอดภัยของสถานะพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญของพระองค์ กับ การเลือกที่จะตัดสินใจยืนอยู่ข้างนิสิตนักศึกษาและประชาชนโดยเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทำอะไรนอกกรอบรัฐธรรมนูญ
เดอ ลาแมร์ เห็นว่า พระองค์ทรงไม่ลังเลที่จะเลือกอย่างหลังเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของนิสิตนักศึกษาและประชาชน แม้ว่าจะสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของสถานะความเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญของพระองค์ก็ตาม (ดังที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มในเวลาต่อมา พยายามย้อนกลับไปโจมตีการตัดสินใจในครั้งนั้นของพระองค์) ขอย้ำว่า การที่ เดอ ลาแมร์ ยกประโยค 'Faut-il opter ? Je suis peiple' ขี้นมา ก็เพราะเขาต้องการย้ำในรายงานที่เขาส่งกลับไปยังลอนดอนว่า ตัวเขาเข้าใจในปัญหาความยุ่งยากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชต้องเผชิญในเหตุการณ์เดือนตุลาฯ 2516 ว่า เมื่อต้องเลือกระหว่างการรักษาสถานะความเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของสถานะของพระองค์ กับ การเลือกรักษาชีวิตเลือดเนื้อของนิสิตนักศึกษาประชาชนและเพื่อยุติสถานการณ์ความวุ่นวาย พระองค์ทรงเลือกอย่างหลัง !
ขณะเดียวกัน เดอ ลาแมร์ ในฐานะที่เป็นคนอังกฤษ ก็กล่าวต่อไปอีกว่า เขาคิดว่า บทละครของเชคสเปียร์เรื่อง Hamlet น่าจะเป็นอะไรที่ทำให้เข้าใจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในขณะนั้นได้ดีกว่างานเขียนของ La Bruyere
เดอ ลาแมร์ กล่าวว่ามี Hamlet ภายในตัวพระองค์ท่าน นั่นคือ ในสถานการณ์ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชก็ไม่ต่างจาก Hamlet ตัวละครเอกในบทละครชื่อเดียวกัน ที่ต้องอยู่ในสถานการณ์ทางสองแพร่งที่ต้องเลือก ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางใดทางหนึ่ง ก็มีผลเสียร้ายแรงตามมาทั้งสิ้น
ดังวรรคทองที่นักเรียนทั่วโลกที่เรียนเรื่อง Hamlet ท่องได้ขึ้นใจ นั่นคือ " To be, or not to be, that is the question." เป็นคำกล่าวของ Hamlet ในขณะที่เขากำลังครุ่นคิดกับสิ่งที่เขาต้องเผชิญในชีวิต และไม่ว่าจะเลือกเดินทางไหน ก็มีแต่ผลลัพธ์ที่เลวร้ายทิ้งสิ้น
และ เดอ ลาแมร์ได้กล่าวว่า เขาได้รับทราบมาว่า พระองค์ทรงแสดงออกซึ่งความ "หวาดวิตก" กับการที่พระองค์ไม่สามารถเคร่งครัดกับการธำรงรักษาบทบาทของพระมหากษัตริย์ตามกรอบของรัฐธรรมนูญไว้ได้ และแน่นอนว่า หากรัฐบาลใหม่และการเมืองหลังจากนั้น ไม่ดี ผู้คนก็ย่อมต้องโทษพระองค์ แต่กระนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าก็ทรงเลือก...ทรงกล้าที่จะเลือก..แม้จะรู้ว่าสุ่มเสี่ยงเพียงใด !
อ่านเนื้อหาเต็มที่บัญชีเฟซบุ๊ก ของเขา