วันอังคาร, ตุลาคม 03, 2566

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ การเพิ่มอัตราโทษ ม.112 ให้รุนแรงขึ้น เป็นมรดกชิ้นสำคัญของเหตุการณ์ 6 ตุลา


47 ปี 6 ตุลา: กว่าจะเป็นประชาธิปไตย
13h
·
มรดก 6 ตุลาฯ กับ 112
“หากไม่เคารพกติกา เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร?” เป็นประโยคสุดแสน cliché ที่เมื่อเกิดข้อถกเถียงในการแก้กฎระเบียบสักอย่างก็จะต้องขุดประโยคนี้ขึ้นมาใช้ ตั้งแต่ทรงผมนักเรียน ไปยัน กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คำถามที่ควรถามกลับคือ
“แล้วกติกาที่ว่านั้น เกิดขึ้นด้วยการตกลงร่วมกันแต่แรกหรือไม่?”
การเพิ่มอัตราโทษ มาตรา 112 ให้สูงลิ่วไม่ได้มาจากสภาเลือกตั้ง แต่มาจากคำสั่งคณะรัฐประหารหลัง 6 ตุลา
มาตรา 112 ก่อน 6 ตุลานั้น เดิมมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีและ ‘ไม่มีโทษขั้นต่ำ’ คือศาลสามารถใช้ดุลยพินิจตัดสินได้ว่า แม้ความผิดของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดแต่เมื่อไม่มีโทษขั้นต่ำก็สามารถตัดสินให้ไม่ต้องจำคุกหรือจำคุกเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ได้โดยดูตามความหนักเบาของพฤติกรรม
แต่หลังเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะรัฐประหารก็ได้ออก “คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ข้อ 1” ระบุว่า ให้คดีที่มีข้อหาในความผิดประมวลกฎหมายอาญาตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ซึ่งกระทำความผิดเกิดขึ้นในหรือหลังวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เวลา 19.00 น. ให้อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษา เว้นแต่คดีที่ต้องดำเนินในศาลคดีเด็กและเยาวชน โดยในประกาศฉบับนี้ได้ระบุรวมมาตรา 112 เข้าไปด้วย ดังนั้นการดำเนินคดี 112 ในช่วงดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 แม้การดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหารจะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันยอมรับไม่ได้อย่างยิ่งก็ตาม
วันที่ 21 ตุลาคม 2519 มีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแห่งชาติ ฉบับที่ 41 ระบุในคำปรารภว่าอัตราโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ สมควรแก้ไขอัตราโทษให้สูงขึ้น เนื้อหาของมาตรา 112 จึงเปลี่ยนเป็นผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ “ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” และข้อความนี้ก็ยังคงใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบัน
โดยจะเห็นว่าอัตราโทษใหม่ของมาตรานี้มีโทษขั้นต่ำเริ่มที่ 3 ปีต่างจากข้อความเดิมที่ไม่ระบุโทษขั้นต่ำเอาไว้อีกทั้งยังเพิ่มโทษสูงสุด จาก 7 ปีเป็น 15 ปี
การเพิ่มอัตราโทษมาตรา 112 ให้รุนแรงขึ้น จึงเป็นมรดกชิ้นสำคัญของเหตุการณ์ 6 ตุลาและทุกครั้งเมื่อมีคำวินิจฉัยศาลเกี่ยวกับมาตรา 112 ออกมาก็เป็นดั่งเครื่องระลึก ถึงที่มาของมาตรานี้ที่กำเนิดจากความรุนแรงโหดร้ายและนิติศาสตร์อัปยศที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันดังกล่าว
จึงอยากเตือนความจำผู้อ่านทุกท่านว่า การเพิ่มอัตราโทษ มาตรา 112 หาใช่เกิดจากการตกลงปลงใจและการถกเถียงอย่างแพร่หลายในสังคมไม่ การแก้ไขลดอัตราโทษ มาตรา 112 ด้วยสภาจากประชาชนในอนาคต(หากจะมี) จึงเป็นเพียงการคืนความปกติสู่ระบบกฎหมายไทย ที่เคยมีอยู่ก่อนโศกนาฏกรรมที่ธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เท่านั้นเอง
#6ตุลา
#47ปี6ตุลา