วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 19, 2566
ขณะที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์มาตรา 112 จนมีการเรียกร้องให้ยกเลิกหรือแก้ไข ในแง่ปฏิบัติ สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมเมื่อเผชิญมาตรา 112 ก็ทำให้เกิดการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายในหลายกรณี ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ ยกตัวอย่างคดีมาตรา 112 ที่ทำให้เกิดอาการ 'ไปไม่เป็น' ของกระบวนการยุติธรรม
คดีความผิดมาตรา 112 กับกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไปไม่ค่อยเป็น
เรื่อง ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ
ภาพประกอบ ณัฐพล อุปฮาด
16 Oct 2022
1O1
ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ต่อจากนี้ผู้เขียนจะเรียกโดยย่อว่า ‘ความผิดมาตรา 112’) เป็นฐานความผิดที่ถูกกล่าวถึงและมีการบังคับใช้อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ซึ่งฐานความผิดนี้ นอกจากจะเป็นบทกฎหมายที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในประเด็นปัญหาความชอบธรรมทางด้านเนื้อหาถึงความสอดคล้องกับหลักนิติรัฐและความสมเหตุสมผลในการดำรงอยู่ของฐานความผิด ดังที่นักวิชาการหลายท่านได้ตั้งข้อสังเกตไปแล้ว ฐานความผิดดังกล่าวก็ยังมีข้อสังเกตถึงประเด็นปัญหาสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นคือประเด็นปัญหาในเรื่อง ‘ความซื่อตรงในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม’ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดีในชั้นเจ้าพนักงานตำรวจ อัยการ และศาล
ในการดำเนินคดีความผิดอาญามาตรา 112 นั้น มีข้อสังเกตอยู่หลายประเด็นที่ปรากฏว่ากฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างตรงไปตรงมา แต่กลับถูกปรับใช้ในลักษณะที่ตกๆ หล่นๆ หลักกฎหมายที่เคยมีการบังคับใช้อย่างถูกต้องสม่ำเสมอกลับไม่ถูกหยิบยกมาใช้บังคับโดยไม่มีเหตุผล หรือแม้แต่คำพิพากษาศาลฎีกาบรรทัดฐานที่ได้รับการยึดถือเป็นแนวปฏิบัติอย่างเหนียวแน่นตลอดมาก็ถูกหลงลืมไปอย่างดื้อๆ ไม่นำมาบังคับใช้กับคดีความผิดมาตรา 112 เสียอย่างนั้น อีกทั้งการให้เหตุผลทางกฎหมายตลอดทั้งกระบวนการก็มีความบกพร่องทางตรรกะที่ละทิ้งความสมเหตุสมผลทั้งปวง เพื่อที่จะลงโทษผู้ต้องหาให้ได้ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงในคดีนั้น ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายให้อำนาจแต่อย่างใดเลยแม้แต่น้อย
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมไทยในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับการดำเนินคดีความผิดมาตรา 112 สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงานตำรวจ พนักงานอัยการ หรือศาล ที่เป็นไปอย่างแปลกประหลาด เสมือนกับคนเสียอาการที่ทำอะไรผิดๆ ถูกๆ เมื่อต้องเจอกับบุคคลหรือเหตุการณ์ที่ทำให้ตนเกิดอาการหวั่นไหว หลักกฎหมายและทักษะการให้เหตุผลทางนิติศาสตร์ที่เคยร่ำเรียนศึกษามาเกิดการขัดข้องไม่สามารถนำออกมาใช้ได้อย่างที่เคยทำตลอดมา จนกระทั่งนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายที่ผิดเพี้ยนในลักษณที่ ‘ไปไม่เป็น’ เลยเสียทีเดียว
แม้ความผิดตามมาตรา 112 จะยังไม่ได้มีการแก้ไขหรือถูกยกเลิกด้วยกระบวนการทางนิติบัญญัติ อันส่งผลให้การดำเนินคดีความผิดดังกล่าวยังคงสามารถเกิดขึ้นได้โดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมจะมีอำนาจดำเนินคดีความผิดมาตรา 112 โดยกล่าวอ้าง ‘ประโยชน์ความมั่นคงของรัฐ’ ตามรัฐธรรมนูญเสมือนประหนึ่งใบอนุญาตให้ดำเนินคดีได้ในทุกกรณีที่มีความเกี่ยวพันกับบุคคลในราชสำนัก หากแต่ต้องพิจารณาเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ผู้เขียนจะเสนอข้อสังเกตของประเด็นปัญหาดังกล่าวในรูปแบบที่อ่านเข้าใจได้ไม่ยาก ซึ่งเป็นการสรุปสาระสำคัญจากบทวิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4748/2561[1] และ 3998/2563[2] (ต่อไปนี้จะเรียกโดยย่อว่า ‘ฎีกาปี 61’ และ ‘ฎีกาปี 63’ ตามลำดับ) ของผู้เขียนที่ตีพิมพ์ในวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 3 ปีที่ 51 พ.ศ. 2565[3] และฉบับที่ 4 ปีที่ 50 พ.ศ. 2564[4]
1
ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความหมายของสถานะ ‘รัชทายาท’
ในประเด็นนี้ถือเป็นข้อสังเกตที่สำคัญที่สุด เพราะประชาชนหรือแม้แต่เจ้าพนักงานของรัฐ ก็ยังมีความเข้าใจถึงสถานะการเป็น ‘รัชทายาท’ ที่ยังไม่ถูกต้อง จนนำไปสู่การแจ้งความกล่าวโทษและการดำเนินคดีความผิดมาตรา 112 โดยผิดหลงไปอย่างกว้างขวาง เนื่องจากแท้ที่จริงแล้วมาตรา 112 ให้การคุ้มครองเฉพาะแต่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ 4 สถานะเท่านั้น คือ 1.พระมหากษัตริย์ 2.พระราชินี 3.รัชทายาท และ 4.ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งหมายความว่า ถ้าบุคคลที่ถูกดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่ได้มีสถานะบุคคลเป็นหนึ่งในสี่ดังกล่าวนี้แล้ว มาตรา 112 ก็จะไม่ได้ให้ความคุ้มครองแก่บุคคลผู้นั้น
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้นนิยามของสถานะการเป็น ‘รัชทายาท’ เป็นสถานะถูกเข้าใจความหมายอย่างคลาดเคลื่อนอยู่บ่อยครั้ง เพราะในความเข้าใจของบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษากฎหมายนั้นจะเข้าใจไปว่า ‘รัชทายาท’ หมายความถึง ‘พระบรมวงศานุวงศ์’ พระประยูรญาติใหญ่น้อยทั้งหมดทุกราชสกุลที่มีอยู่หลากหลายพระองค์ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะ สถานะการเป็น ‘องค์รัชทายาท’ ที่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีได้แต่ ‘รัชทายาท (the crown prince)’ ที่เป็น ‘มกุฎราชกุมาร’ หรือ ‘มกุฎราชกุมารี’ เพียงองค์หนึ่งองค์เดียวเท่านั้น กล่าวคือ เฉพาะแต่บุคคลที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สมมติขึ้นเพื่อเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 มาตรา 4 เท่านั้น[5]
ทั้งนี้ ตามข้อเท็จจริงในคดีฎีกาปี 61 ที่จำเลยทำการหมิ่นประมาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุนั้น เนื่องจากวันที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดมาตรา 112 โดยการหมิ่นประมาทบุคคลในราชสำนักทั้งสองพระองค์ คือวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เพราะฉะนั้นบุคคลที่เป็นรัชทายาทในขณะนั้นจึงเป็น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว[6] ที่ได้รับการสถาปณาโดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515[7] บุคคลในราชสำนักพระองค์อื่นที่ไม่ใช่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงไม่ได้มีสถานะเป็น ‘รัชทายาท’ ที่จะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หากแต่มีสถานะเป็นบุคคลใน ‘พระบรมวงศานุวงศ์’ ที่ยังคงได้รับความคุ้มครองจากความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 เฉกเช่นบุคคลทั่วไปเพียงเท่านั้น
เพราะฉะนั้น การที่จำเลยหมิ่นประมาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ตามที่ปรากฏในฎีกาปี 61 จำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 112 ตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัย เพราะเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลใน ‘พระบรมวงศานุวงศ์’ ไม่ใช่การหมิ่นประมาท ‘รัชทายาท’ แต่ยังคงเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาทั่วไปตามมาตรา 326 เท่านั้น (ส่วนจะดำเนินคดีความผิดฐานนี้ทดแทนความผิดมาตรา 112 ได้หรือไม่ผู้เขียนจะได้อธิบายต่อไป)
ทั้งนี้ แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องความผิดมาตรา 112 ก็ตาม แต่การดำเนินคดีความผิด 112 นี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่แรกแล้ว เพราะการกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดมาตรา 112 โดยชัดแจ้งตั้งแต่ต้น ซึ่งในประเด็นนี้มีข้อสังเกตต่อเนื่องไปอีกว่า แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวจะไม่เป็นความผิดอย่างชัดเจน แต่พนักงานอัยการก็ยังคงสั่งฟ้องไปโดยคาดเห็นอยู่แล้วว่าศาลก็ต้องยกฟ้อง ทั้งๆ พนักงานอัยการมีอำนาจดุลพินิจโดยชอบตามกฎหมายในการทำคำสั่งไม่ฟ้องคดีสำหรับการกระทำที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดโดยชัดแจ้ง ซึ่งผู้เขียนจะยกข้อสังเกตนี้แยกอธิบายต่อไป
2
รัฐหลีกเลี่ยงที่จะยืนยันถึงขอบเขตของสถานะ ‘รัชทายาท’ ให้ชัดเจน
ฎีกาปี 61 นั้นได้มีการกล่าวไว้ว่า การกระทำของจำเลยที่เป็นการหมิ่นประมาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปเท่านั้น ไม่ใช่การหมิ่นประมาทที่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะ “ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112” แต่ทั้งนี้คำพิพากษาฎีกาปี 61 นี้ก็ไม่ได้อธิบายเหตุผลให้ชัดแจ้งเลยว่าองค์ประกอบความผิดที่ขาดหายไปนี้ คือองค์ประกอบความผิดส่วนใดกันแน่ หากละการให้เหตุผลในส่วนนี้ออกไปอย่างน่าประหลาดใจ ผิดกับคำพิพากษาฎีกาหลายฉบับในอดีตที่มีการอธิบายอยู่สม่ำเสมอว่าเหตุใดการกระทำของจำเลยในคดีจึงขาดองค์ประกอบความผิด แต่ถึงกระนั้นหากพิจารณาจากคำพิพากษาฎีกาปี 61 แล้ว เมื่อการหมิ่นประมาทของจำเลยยังคงครบถ้วนสมบูรณ์ องค์ประกอบความผิดที่ขาดหายไปก็คงจะเหลือแต่ความไม่สมบูรณ์ขององค์ประกอบความผิดในส่วนสถานะของบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองในฐานะ ‘รัชทายาท’ ตามมาตรา 112 นี้เอง ดังที่ผู้เขียนได้อธิบายข้างต้น
เพราะฉะนั้น ฎีกาปี 61 ฉบับนี้จึงสามารถเป็นคำพิพากษาที่ยืนยันในตัวเองแล้วว่า ‘พระบรมวงศานุวงศ์’ ไม่ใช่ ‘รัชทายาท’ จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 112
เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ไม่ได้มีสถานะเป็น ‘รัชทายาท’ แล้ว การหมิ่นประมาทบุคคลทั้งสองจึงไม่อาจที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 112 ได้ คงเป็นแต่ความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งเป็นความผิดที่ยอมความได้และมีอัตราโทษน้อยกว่า มาตรา 112 อยู่มาก อย่างไรก็ตาม เมื่อฎีกาปี 61 ไม่ได้กล่าวไว้ให้ชัดแจ้งอย่างเป็นทางการให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจแล้ว ปัญหาเรื่องความเข้าใจของประชาชนและเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องเกี่ยวกับนิยามสถานะการเป็น ‘รัชทายาท’ ก็มีแนวโน้มที่จะยังคงคลาดเคลื่อนอยู่ต่อไปว่าความผิดมาตรา 112 เป็นกฎหมายที่คุ้มครองพระบรมวงศานุวงศ์ในราชสำนักทุกพระองค์
และด้วยความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของประชาชนและเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับความหมายที่แท้จริงถึงสถานะ ‘รัชทายาท’ ประกอบกับการละเว้นของศาลฎีกาในการยืนยันถึงขอบเขตสถานะดังกล่าวให้ชัดเจน ส่งผลให้การดำเนินคดีความผิด มาตรา 112 เกินขอบเขตเงื่อนไขตามกฎหมายที่จำกัดไว้ไปอย่างมาก เกิดการกล่าวหาดำเนินคดีความผิดมาตรา 112 อย่างพร่ำเพรื่อ ทั้งๆ ที่การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถจะเป็นความผิดมาตรา 112 ได้อยู่แล้วตั้งแต่แรก เพราะผู้ถูกดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่ได้มีสถานะที่ได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จึงเกิดปรากฏการณ์ที่เมื่อใดก็ตามที่การกระทำของผู้ถูกกล่าวหามีการอ้างอิงหรือเกี่ยวโยงถึงบุคคลในราชสำนักหรือพระบรมวงศานุวงศ์แล้ว การดำเนินคดีความผิดมาตรา 112 ก็จะทำงานทันที โดยไม่พิจารณาองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายของมาตรา 112 ให้ถี่ถ้วนเสียก่อน ซึ่งแม้ในท้ายที่สุดศาลจะพิพากษายกฟ้องผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยเหตุดังกล่าว แต่ผู้ที่ถูกกล่าวหาก็ต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างในการต่อสู้คดีที่ไม่อาจประเมินเป็นเงินได้เลย
3
การดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาทั่วไปตามมาตรา 326 แทนมาตรา 112 โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย
ตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นจะมีการแบ่งประเภทความผิดอาญาออกเป็น 2 ประเภท คือ ‘ความผิดต่อส่วนตัว’ (ความผิดอันยอมความได้) และ ‘ความผิดต่อแผ่นดิน’ (ความผิดอันยอมความไม่ได้) ซึ่งสำหรับความผิดต่อส่วนตัวนั้น จะมีเงื่อนไขการเริ่มคดีอยู่ที่ตัวผู้เสียหายเป็นสำคัญ หากผู้เสียหายไม่ทำการร้องทุกข์แก่เจ้าพนักงานด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปร้องทุกข์แทนตนแล้ว การดำเนินคดีความผิดต่อส่วนตัวก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้เลย หากมีการดำเนินคดีความผิดต่อส่วนตัวโดยที่รัฐเป็นผู้ริเริ่มโดยปราศจากการร้องทุกข์ของผู้เสียหายหรือโดยการกล่าวโทษของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้เสียหายหรือตัวแทนของผู้เสียหายแล้ว การดำเนินคดีความผิดส่วนตัวนั้นย่อมเป็นการดำเนินคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตรงกันข้ามกับความผิดต่อแผ่นดินซึ่งเป็นความผิดอาญาที่รัฐสามารถดำเนินคดีได้โดยไม่อยู่ภายใต้การตัดสินใจของผู้เสียหาย กล่าวคือ รัฐมีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินคดีเสมอ ไม่ว่าผู้เสียหายจะประสงค์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาหรือไม่
ทั้งนี้ เนื่องจากความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 เป็นความผิดต่อส่วนตัว เพราะฉะนั้น การดำเนินคดีสำหรับฐานความผิดดังกล่าวจึงต้องผ่านเงื่อนไข ‘การร้องทุกข์’ โดยผู้เสียหายที่ถูกหมิ่นประมาทเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วพนักงานสอบสวนก็จะไม่มีอำนาจสอบสวนฐานความผิดนี้ หากยังคงฝ่าฝืนทำการสอบสวนต่อไปก็จะกลายเป็นการสอบสวนโดยปราศจากอำนาจซึ่งส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจดำเนินคดี เพราะเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เปรียบเสมือนกับไม่มีการสอบสวนมาก่อนเลย ซึ่งต่างจากความผิดตามมาตรา 112 ที่ถูกกำหนดให้เป็นความผิดต่อแผ่นดินที่รัฐหรือบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้เสียหายสามารถเริ่มดำเนินคดีได้โดยปราศจากความสมัครใจของผู้เสียหาย
ด้วยเหตุนี้ เมื่อไม่ได้มีข้อเท็จจริงปรากฏในฎีกา ปี 61 เลยว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุได้ทำการร้องทุกข์ด้วยพระองค์เอง หรือได้มีการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปร้องทุกข์แทนพระองค์ การดำเนินคดึความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาทั่วไปตามมาตรา 326 จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย แต่ถึงกระนั้นศาลฎีกากลับวินิจฉัยในคดีดังกล่าว ให้การสอบสวนความผิดมาตรา 112 ในตอนแรกครอบคลุมไปถึงการสอบสวนความผิดมาตรา 326 ไปโดยไม่ต้องผ่านการร้องทุกข์ของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งสองพระองค์และลงโทษจำเลยตามมาตรา 326 ทดแทนมาตรา 112 ทั้งๆ ที่ในอดีตนั้นศาลฎีกาก็ได้เคยวางหลักการวินิจฉัยไว้เองว่า ในกรณีที่การกระทำของจำเลยจะไม่เป็นความผิดต่อแผ่นดินแต่ยังคงเป็นความผิดต่อส่วนตัวในตัวเอง การจะลงโทษจำเลยความผิดอาญาต่อส่วนตัวนั้นจำเป็นต้องย้อนกลับไปพิจารณาถึงต้นกระบวนการว่าผู้เสียหายได้ทำการร้องทุกข์หรือไม่ ถ้าผู้เสียหายไม่ได้ทำการร้องทุกข์ตั้งแต่แรกแล้ว แม้ศาลจะพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดต่อส่วนตัวก็ตาม ศาลก็ไม่อาจลงโทษได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4906/2543 และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16081-16083/2555)
แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ได้รับการยอมรับยึดถือปฏิบัติตามมาโดยตลอดจึงกลับถูกพักการปรับใช้ไปเสียอย่างดื้อๆ โดยไม่มีคำอธิบายแต่อย่างใดเลยว่าเหตุใดศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยดังเช่นแนวคำพิพากษาในอดีต ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีฎีกาปี 61 ก็เป็นข้อเท็จจริงที่สามารถเทียบเคียงกันได้ หากมีแต่การกล่าวอ้างหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของรัฐตามรัฐธรรมนูญอย่างเลื่อนลอยเพื่อให้มีอำนาจลงโทษจำเลย แต่สถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของรัฐที่ศาลฎีกากล่าวถึงในฎีกาปี 61 นี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามอำเภอใจโดยเพิกเฉยต่อทุกสิ่ง ทั้งหลักกฎหมาย แนวคิดทฤษฎีต่างๆ หรือแม้แต่แนวทางการวินิจฉัยที่ตนได้วางเอาไว้เอง
4
การพยายามบรรยายฟ้องให้เป็นความผิด ทั้งๆ ที่ไม่อาจเป็นความผิดได้
ประเด็นปัญหานี้ปรากฏในฎีกาปี 63 ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาคดีความผิด มาตรา 112 ได้ข่มขู่ผู้เสียหายโดยอ้างอิงว่าตนเป็นญาติกับ ‘พระวรชายา’ ของรัชทายาทซึ่งเป็นการหาประโยชน์โดยมิชอบโดยแอบอ้างว่ามีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับ ‘พระวรชายา’ ซึ่งแม้เป็นการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่อาจทำให้พระวรชายาเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอันเป็นการหมิ่นประมาทก็จริง แต่เมื่อพระวรชายาไม่ได้เป็น ‘ราชินี’ ที่เป็นคู่สมรสของพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ และไม่ได้เป็น ‘รัชทายาท’ แต่อย่างใด ผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่มีทางจะมีความผิดตามมาตรา 112 ได้เลยอยู่แล้วตั้งแต่แรก (ส่วนการดำเนินคดีมาตรา 326 ทดแทนนั้น ไม่อาจกระทำได้ดังที่ผู้เขียนอธิบายหลักกฎหมายไว้ในคดีฎีกาปี 61 เพราะไม่ปรากฏว่าพระวรชายาได้ทำการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีความผิดดังกล่าวด้วยพระองค์เองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นร้องทุกข์แทน) ซึ่งศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้องสำหรับข้อหาความผิดมาตรา 112
อย่างไรก็ดี แทนที่พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องในข้อหาดังกล่าวเพราะพระวรชายาไม่ใช่บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 112 ตั้งแต่แรก แต่พนักงานอัยการในคดีนี้ก็หาได้ปฏิบัติเช่นนั้นไม่ แต่ยังคงสั่งฟ้องผู้ต้องหาในความผิดมาตรา 112 โดยบรรยายฟ้องในทำนองว่า การแอบอ้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระวรชายาถือเป็นการจาบจ้วงให้รัชทายาทเสื่อมเสียพระเกียรติ อันเป็นการหมิ่นประมาทรัชทายาทไปด้วยในตัวเอง ซึ่งการบรรยายฟ้องดังกล่าวนี้เป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดความสมเหตุสมผลอย่างร้ายแรง เพราะบุคคลที่ถูกผู้ต้องหาพาดพิง คือ ‘พระวรชายาของรัชทายาท’ แต่เพียงผู้เดียว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานว่ามีการพาดพิงหรือแอบอ้าง ‘องค์รัชทายาท’ โดยตรงแต่อย่างใดเลย แต่พนักงานอัยการกลับพยายามบรรยายฟ้องให้ผลของการแอบอ้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระวรชายาของรัชทายาท ถือเป็นการดูหมิ่นและหมิ่นประมาทองค์รัชทายาทโดยอ้อมไปโดยปริยาย ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยตรรกะและเหตุผลด้วยประการทั้งปวง เพราะถ้าหากเป็นเช่นนี้แล้วก็เท่ากับว่าการใส่ความผู้หนึ่งให้เสียชื่อเสียงจะถูกถือว่าเป็นการใส่ความบุคคลอื่นในครอบครัวของผู้นั้นให้เสียชื่อเสียงไปโดยอัตโนมัติซึ่งไม่สามารถหาความเชื่อมโยงหรือความสมเหตุสมผลใดๆ ได้เลย
แม้การแอบอ้างว่าตนมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระวรชายาของรัชทายาทจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมก็จริง แต่ก็ไม่อาจอธิบายได้เลยว่าการกระทำดังกล่าวจะสามารถเป็นการแสดงความรู้สึกดูถูก เหยียดหยาม หรือสบประมาทอันเป็นการดูหมิ่น หรือการใส่ความ ‘องค์รัชทายาท’ ต่อบุคคลที่สามอันเป็นการหมิ่นประมาทอย่างไร
5
การฟ้องคดีโดยที่รู้อยู่แก่ใจว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด
ในฎีกาปี 61 และปี 63 ทั้ง 2 คดี ได้ปรากฏว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้น (ในฎีกาปี 61) และศาลอุทธรณ์ (ในฎีกาปี 63) มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดมาตรา 112 แล้ว พนักงานอัยการก็ไม่ได้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาเพื่อให้ศาลวินิจฉัยข้อหาความผิดตามมาตรา 112 แต่กลับปล่อยให้เป็นที่ยุติในชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ไปเฉยๆ อย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้สะท้อนว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีไปโดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำของจำเลยไม่มีทางเป็นความผิดมาตรา 112 ตั้งแต่แรก เพราะถ้าพนักงานอัยการเชื่อมั่นอย่างแท้จริงว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดเช่นว่านั้น พนักงานอัยการก็ย่อมจะต้องทำการฎีกาในประเด็นความผิดมาตรา 112 ที่ถูกยกฟ้องต่อไป เพื่อให้ศาลฎีกาพิพากษากลับลงโทษจำเลยในความผิดมาตรา 112 คงไม่ปล่อยให้ยุติไปโดยง่ายดังที่ปรากฏนี้
อนึ่ง อำนาจการสั่งคดีเป็นอำนาจของพนักงานอัยการโดยเฉพาะ กล่าวคือ ไม่ว่าพนักงานสอบสวนจะทำความเห็นในคดีมาอย่างไรก็ตาม พนักงานอัยการก็มีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีของตนเอง ในการที่จะใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีก็ได้ อันเป็น ‘อำนาจการสั่งคดีตามดุลพินิจ’ โดยพนักงานอัยการต้องทำการตรวจสอบความถูกต้องของสำนวนการสอบสวน และพิจารณาสั่งสำนวนโดยละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานและข้อกฎหมาย
ด้วยเหตุนี้ หากพนักงานอัยการพบว่าสำนวนของพนักงานสอบสวนเป็นความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา ทั้งๆ ที่ปรากฏโดยชัดแจ้งว่า การกระทำดังกล่าวไม่ครบองค์ประกอบความผิดอาญาตามมาตรา 112 อันเป็นการตั้งข้อหาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่แรกแล้วพนักงานอัยการก็ควรมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา แล้วให้กระบวนการตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการได้ดำเนินการไปตามกฎหมาย
6
การละเลยการหยิบยกประเด็นปัญหาเรื่องอายุความขึ้นวินิจฉัย
ในฎีกาปี 63 นั้นศาลได้มีการยกฟ้องในข้อหาความผิดมาตรา 112 สำหรับการข่มขู่ผู้อื่นโดยการอ้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระวรชายาของรัชทายาท แต่ยังคงพิพากษาลงโทษความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 ทดแทน ซึ่งก็เป็นการลงโทษโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายเช่นกัน เพราะหากศาลจะลงโทษฐานความผิดดังกล่าวแทนความผิดมาตรา 112 จะต้องปรากฏว่าผู้เสียหายได้มีการร้องทุกข์หรือฟ้องคดีความผิดมาตรา 309 ภายในอายุความตามที่กฎหมายกำหนดด้วย และเนื่องจากความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัวที่มีอายุความ 3 เดือนนับตั้งแต่รู้เรื่องรู้ตัว ดังนั้น เมื่อเหตุเกิดเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 แต่ผู้เสียหายมาแจ้งความกับเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 1 ปีแล้ว การดำเนินคดีความผิดตามมาตรา 309 จึงขาดอายุความตั้งแต่แรก สิทธิในการดำเนินคดีอาญาสำหรับความผิดดังกล่าวจึงระงับไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน พ.ศ. 2556 ซึ่งประเด็นนี้ศาลฎีกาก็เคยวินิจฉัยวางหลักเอาไว้เอง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16081-16083/2555)
ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องการขาดอายุความนั้นในทางกฎหมายนั้นเรียกว่าเป็น ‘ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย’ ซึ่งศาลสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองโดยไม่ต้องรอให้คู่ความฝ่ายใดหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างให้ศาลวินิจฉัย เพราะฉะนั้น แม้จำเลยจะไม่เห็นข้อต่อสู้คดีในประเด็นนี้แล้วไม่ยกเรื่องอายุความมาต่อสู้ หากศาลเห็นเอง ศาลก็สามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยแล้วทำการยกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุของการขาดอายุความได้ ซึ่งในคดีอื่นๆ นั้น ศาลก็ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการหยิบยกปัญหาเรื่องการขาดอายุความขึ้นวินิจฉัยเองขึ้นอย่างสม่ำเสมอตลอดมา แต่อย่างไรก็ตาม ในคดีฎีกาปี 63 นั้น ศาลไม่ได้ทำการหยิบยกปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขาดอายุความนี้ขึ้นวินิจฉัยแต่อย่างใดเลย กลับปล่อยปละละเลยไม่ทำการวินิจฉัยอย่างรอบคอบดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาในอดีต และยังคงดึงดันจะลงโทษจำเลยทั้งๆ ที่สิทธิในการดำเนินคดีอาญาจำเลยระงับไปเป็นเวลานานแล้ว
บทส่งท้าย
ข้อสังเกตจากคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองฉบับนี้เป็นเพียงตัวแค่ตัวอย่างความ ‘ไปไม่เป็น’ ของกระบวนการยุติธรรมไทยที่เกิดขึ้นในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมเมื่อจะต้องเผชิญกับคดีความผิดมาตรา 112 ซึ่งเป็นอีกประเด็นปัญหาหนึ่งที่ไม่อาจคลี่คลายได้ด้วยการแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกความผิดมาตรา 112 แต่เพียงเท่านั้น หากแต่ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและความซื่อตรงต่อหลักวิชาของผู้บังคับใช้กฎหมายเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ หากหน้าที่การสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ การสั่งคดีของพนักงานอัยการ และการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้นไม่ได้มีการดำเนินไปตามกฎหมายแล้ว การรักษาความมั่นคงสงบเรียบร้อยของรัฐที่ถูกหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างในการดำเนินคดีตามที่ปรากฏในคำพิพากษาก็คงเป็นเพียงความมั่นคงสงบเรียบร้อยบนกองเศษซากสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพียงเท่านั้น ไม่ใช่ความมั่นคงสงบเรียบร้อยของสังคมในอุดมคติที่ผู้คนใฝ่หาแต่อย่างใด
[1] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4748/2561 ฉบับเต็ม
[2] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3998/2563 ฉบับเต็ม
[3] คลิกเพื่ออ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4748/2561 (การหมิ่นประมาทที่ไม่อาจถูกลงโทษได้ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)
[4] คลิกเพื่ออ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3998/2563 (ปัญหาการดำเนินคดีอาญาสำหรับการข่มขืนใจผู้อื่นโดยแอบอ้างความสัมพันธ์กับบุคคลในราชสำนัก)
[5] กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ศัพท์ต่างๆ ที่ใช้ในกฎมณเฑียรบาลนี้ ท่านว่าให้บรรยายไว้ดังต่อไปนี้ (1) ‘พระรัชทายาท’ คือ เจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สมมตขึ้นเพื่อเปนผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป”
[6] ในขณะนั้น ทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณสยามมกุฎราชกุมาร
[7] ‘พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร’, ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89, ตอน 200 ก, ฉบับพิเศษ (28 ธันวาคม พ.ศ. 2515), 1.