นางลิซ ทรัสส์ หัวหน้าพรรคพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่ ดำรงตำแหน่งนนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรแล้ว หลังเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธ ที่ 2 ที่พระตำหนักบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ เมื่อ 6 ก.ย. 2022
นางทรัสส์ได้รับเสียงข้างมากจากสมากชิกพรรคกว่าแสนคนให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทนนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี ที่ถูกสมาชิกพรรคกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อ 7 ก.ค. 2022
นางทรัสส์ เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่ผ่านด่านการลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคคอนเซอร์เวทีฟหลายรอบ จนเป็นตัวเก็งในการชิงตำแหน่งกับนายริชี สุนัค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นางทรัสส์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สามของสหราชอาณาจักร โดยสองคนแรกคือนางมาการ์เร็ต แทตเชอร์ และนางเทรีซา เมย์ ทั้งสามล้วนมาจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟ
เร่งแก้ปัญหาพลังงาน
ภารกิจสำคัญที่รอนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาเร่งแก้ไขคือเรื่องเศรษฐกิจปากท้องและราคาพลังงานที่แพงลิ่ว ขณะนี้สหราชอาณาจักรเผชิญภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง ตัวเลขล่าสุดเมื่อกลางเดือนสิงหาคม เงินเฟ้ออยู่ที่ 10.1% นั่นก็ผลักให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงสุดในรอบสี่สิบปี ขณะที่ผลพวงจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่รัสเซียระงับการส่งก๊าซบางส่วนให้ยุโรป ส่งผลต่อราคาก๊าซและพลังงานในสหราชอาณาจักร ซ้ำเติมปัญหาสะสมของสหราชอาณาจักรในเรื่องการลงทุนไม่เพียงพอในด้านพลังงาน จึงทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นปัญหาสำคัญในขณะนี้
นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ ครัวเรือนในสหราชอาณาจักรต้องเผชิญกับการปรับตัวสูงขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยเฉลี่ยราว 80% ขณะนี้มีรายงานว่ารัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนางทรัสส์ เตรียมจะประกาศนโยบายตรึงเพดานราคาค่าพลังงานเพื่อช่วยเหลือประชาชน
นายกรัฐมนตรีสายเหยี่ยว ?
ในแง่นโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะรัสเซียนั้นนางทรัสส์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีนโยบายชัดเจนว่าประชาคมระหว่างประเทศจะต้องคว่ำบาตรรัสเซียอยู่ต่อไปจนกว่ารัสเซียจะยอมถอนทหารออกจากยูเครน และชาติตะวันตกก็จะต้องสนับสนุนยูเครนให้มากและเร็วขึ้น เพื่อต้านทานการรุกรานของรัสเซีย และรัสเซียจะต้องไม่ชนะในสงครามครั้งนี้ เพื่อไม่ให้ต้องไปรุกรานชาติอื่นอีก ท่าทีเช่นนี้ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนเกรงว่าจะทำให้การรอมชอมกับรัสเซียเป็นไปได้ยากขึ้น
ในแง่ความสัมพันธ์กับจีนนั้น นางทรัสส์ เปรียบเปรยว่าต้องป้องกันไม่ให้สิ่งที่รัสเซียทำกับยูเครนเกิดขึ้นกับไต้หวัน และชาติตะวันตกต้องทำให้แน่ใจว่าไต้หวันจะสามารถปกป้องตัวเองจากการรุกรานของจีน และชาติตะวันตกเองก็ต้องพยายามไม่ให้ตัวเองต้องพึ่งพิงจีนในทางเศรษฐกิจมากเกินไป
ลิซ ทรัสส์ คือใคร
นางทรัสส์ ช่วงชิงตำแหน่งกับนายริชี สุนัค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
แมรี เอลิซาเบธ ทรัสส์ เกิดเมื่อปี 1975 ที่เมืองอ็อกซ์ฟอร์ด เธอเคยพูดถึงพ่อของเธอซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ และแม่ของเธอซึ่งเป็นพยาบาลว่า เป็น "ฝ่ายซ้าย"
ตอนที่ยังเป็นเด็กสาว แม่ของเธอเข้าร่วมการเดินขบวนของกลุ่มเรียกร้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นการต่อต้านการตัดสินใจของรัฐบาลแทตเชอร์ที่อนุญาตให้มีการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่กรีนแฮม คอมมอนทางตะวันตกของกรุงลอนดอน ของกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร
ครอบครัวของเธอย้ายไปอยู่ที่เมืองเพสลีย์ ทางตะวันตกของเมืองกลาสโกว์ ตอนที่ทรัสส์อายุได้ 4 ขวบ ก่อนที่จะย้ายไปอยู่เมืองลีดส์ ซึ่งเธอได้เข้าโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นของรัฐที่นั่น
นางทรัสส์ได้เข้าเรียนด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และทำกิจกรรมด้านการเมืองของนักศึกษา และเคยเป็นสมาชิกพรรคลิเบอรัล เดโมแครต
ในการประชุมของพรรคลิเบอรัล เดโมแครต ปี 1994 เธอได้กล่าวสนับสนุนการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ โดยได้บอกแก่บรรดาผู้ร่วมประชุมในเมืองไบรตันว่า "เราชาวลิเบอรัล เดโมแครต เชื่อในโอกาสสำหรับทุกคน เราไม่เชื่อในคนที่เกิดมาเพื่อปกครอง"
ในช่วงที่อยู่ที่อ็อกซ์ฟอร์ด นางทรัสส์ได้ย้ายไปเข้าร่วมกับพรรคคอนเซอร์เวทีฟ
หลังจากจบการศึกษา เธอทำงานเป็นนักบัญชีที่บริษัทเชลล์ (Shell) และบริษัทเคเบิล แอนด์ ไวร์เลส (Cable & Wireless) เธอได้แต่งงานกับฮิว โอเลียรี ซึ่งเป็นนักบัญชีเช่นเดียวกันในปี 2000 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 2 คน
นางทรัสส์เคยเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคคอนเซอร์เวทีฟในเมืองเฮมสเวิร์ธ ของเวสต์ ยอร์กเชียร์ ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2001 แต่เธอแพ้การเลือกตั้ง นางทรัสส์ยังแพ้เลือกตั้งอีกครั้งเมื่อปี 2005 ในเมืองคาลเดอร์ วัลเลย์ ซึ่งอยู่ในเวสต์ ยอร์กเชียร์
แต่ความทะเยอทะยานทางการเมืองของเธอก็ยังไม่หมดไป เธอได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาของกรีนิช ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลอนดอนในปี 2006 และตั้งแต่ปี 2008 เธอก็ได้ทำงานเป็นรองผู้อำนวยการของรีฟอร์ม (Reform) สถาบันวิจัยที่เอนเอียงมาทางฝ่ายขวา
นางเทรีซา เมย์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองของสหราชอาณาจักร
นายเดวิด คาเมรอน หัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ได้ให้นางทรัสส์อยู่ในบัญชีผู้สมัครที่มีความสำคัญลำดับแรก ๆ ในการเลือกตั้งปี 2010 และเธอก็ได้รับเลือกให้ลงเลือกตั้งในเขตที่เป็นฐานเสียงของพรรคคอนเซอร์เวทีฟอย่าง เซาท์ เวสต์ นอร์ฟอล์ก ซึ่งเธอได้คะแนนมากกว่า 13,000 เสียง
ในปี 2012 สมาคมเขตเลือกตั้งของพรรคคอนเซอร์เวทีฟพยายามจะขับเธอออก หลังจากมีการเปิดเผยว่า เธอมีความสัมพันธ์ชู้สาวกับนายมาร์ก ฟีลด์ เพื่อน ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ เมื่อ 5 ปีก่อนหน้านั้น แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ
เธอยังเคยร่วมเขียนหนังสือเรื่อง Britannia Unchained (อาจแปลเป็นไทยได้ว่า เกาะอังกฤษที่ไร้พันธนาการ) ซึ่งได้แนะนำให้ถอดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของรัฐออก เพื่อกระตุ้นบทบาทของสหราชอาณาจักรในระดับโลก ทำให้เธอเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของฝ่ายนโยบายตลาดเสรีในพรรคคอนเซอร์เวทีฟ
ในเดือน ก.ย. 2012 เพียง 2 ปี หลักจากที่ได้เป็น ส.ส. เธอได้เข้าร่วมรัฐบาลในฐานะ รมช. ศึกษา เธอขัดแย้งกับนายนิก เคลกก์ รองนายกรัฐมนตรีจากพรรคลิเบอรัล เดโมแครต เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา แต่นายคาเมรอน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เลื่อนตำแหน่งให้เธอเข้ามาร่วมในคณะรัฐมนตรีในปี 2014 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม
ในการลงประชามติเบร็กซิตในปี 2016 นางทรัสส์ อยู่ฝ่ายสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป โดยเคยเขียนลงหนังสือพิมพ์เดอะซันว่า เบร็กซิตจะทำให้เกิด "โศกนาฏกรรม 3 อย่าง คือ กฎเกณฑ์มากขึ้น รูปแบบมากขึ้น และความล่าช้าที่มากขึ้น เมื่อต้องขายสินค้าให้สหภาพยุโรป" แต่เมื่อฝ่ายที่เธอสนับสนุนแพ้ เธอก็เปลี่ยนใจ โดยบอกว่า เบร็กซิต ให้โอกาสในการปรับเปลี่ยนการทำงานหลายด้านในสหราชอาณาจักร
ในปี 2016 เธอได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสมัยของเทรีซา เมย์ ปีต่อมาเธอได้เป็น รมช. คลัง กำกับดูแลกรมสำคัญและโครงการเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาล
หลังจากที่นายบอริส จอห์นสัน เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2019 นางทรัสส์ถูกย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ งทำให้เธอต้องพบกับผู้นำทางธุรกิจและการเมืองระดับโลกจำนวนมากเพื่อส่งเสริมบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหราชอาณาจักร
รัสเซียไม่เชื่อว่าความสัมพันธ์กับสหราชอาณาจักรจะดีขึ้นนับจากนี้
ในปี 2021 ขณะอายุ 46 ปี เธอได้ย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในตำแหน่งที่อาวุโสที่สุดในรัฐบาล แทนนายโดมินิก ราบ ซึ่งถูกนายจอห์นสันย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
นอกจากนี้ เธอยังมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ถือสัญชาติอังกฤษและอิหร่าน 2 คน ที่ถูกอิหร่านควบคุมตัวไว้
ในตอนที่รัสเซียบุกยูเครนในเดือน ก.พ. เธอมีท่าทีที่แข็งกร้าว ยืนกรานว่า ควรผลักดันกองกำลังทั้งหมดของวลาดิเมียร์ ปูติน ออกไปจากยูเครน
แต่เธอเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ หลังจากแสดงการสนับสนุนคนจากสหราชอาณาจักรที่ต้องการไปร่วมรบในยูเครน
ในขณะที่เธอพยายามจะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของสหราชอาณาจักร เธอก็ถูกคนมองว่า พยายามแต่งตัวคล้ายกับนางแทตเชอร์ด้วย ในการเดินทางเยือนรัสเซียและระหว่างการเข้าร่วมการดีเบตเพื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ครั้งหนึ่ง
"มันค่อนข้างน่าหงุดหงิดที่นักการเมืองหญิงถูกเปรียบเทียบกับมาร์กาเรต แทตเชอร์ อยู่เสมอ ขณะที่นักการเมืองชายไม่ถูกเปรียบเทียบกับ เท็ด ฮีธ บ้างเลย" นางทรัสส์ กล่าวกับ จีบี นิวส์ (GB News)
ที่มา บีบีซีไทย