วันเสาร์, กันยายน 17, 2565

สังคมสงสัย ทำไมคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ส่งอีเมลชวนบัณฑิตเรียนดีสอบบรรจุกรมราชเลขาฯ



กรมราชเลขานุการในพระองค์ : ทำไมคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ส่งอีเมลชวนบัณฑิตเรียนดีสอบบรรจุกรมราชเลขาฯ

16 กันยายน 2022
บีบีซีไทย

การเผยแพร่เนื้อหาของอีเมลที่ทางคณะส่งไปยังเหล่าบัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขอความยินยอมการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่สำนักพระราชวัง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีผลการเรียนดีอันดับต้น ๆ เพื่อเชิญชวนให้สอบบรรจุเข้ารับราชการในกรมราชเลขานุการในพระองค์ ทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นในสังคม

วันที่ 14 ก.ย. เพจที่ใช้ชื่อว่า " มนุษยธรรมศาสตร์" ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 1.1 แสนคน เผยแพร่ข้อความในอีเมลที่ถูกส่งจากงานทะเบียน กลุ่มภารกิจงานบริการการศึกษา ฝ่ายวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "แบบตอบรับการให้ข้อมูลส่วนตัว"

เนื้อหาระบุว่าทางกรมราชเลขานุการในพระองค์ สำนักพระราชวัง ต้องการขอข้อมูลส่วนบุคคลของบัณฑิตที่มีเกรดเฉลี่ยอยู่ในลำดับที่ 1-20 ของแต่ละสาขาวิชา เพื่อจัดส่งหนังสือเชิญชวนสอบคัดเลือกและบรรจุเข้ารับราชการสังกัดกรมราชเลขานุการในพระองค์ โดยบางส่วนของเนื้อหา มีดังนี้

"ท่านเป็นผู้มีคุณสมบัติดังกล่าว แต่เนื่องจากการให้ข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 "

"ฝ่ายวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จึงมีความประสงค์ขอความยินยอมการให้ข้อมูลดังกล่าวของท่าน ดังนี้ ขอความร่วมมือกรอกแบบตอบรับการให้ข้อมูลส่วนบุคคล และตอบกลับพร้อมแนบแบบตอบรับมายังอีเมลนี้ ภายในวันที่ 18 กันยายน 2565"

บีบีซีไทยติดต่อไปยังฝ่ายวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 ครั้ง เพื่อขอคำอธิบาย แต่ยังไม่รับการตอบรับ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์ออกนามจากมหาวิทยาลัยดังกล่าว บอกกับบีบีซีไทยว่า การส่งอีเมลในลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติ ในแต่ละปีจะมีองค์กรต่าง ๆ สนใจนักศึกษาที่จบการศึกษาใหม่และต้องการเชิญชวนให้มาสมัครงาน แต่หลังจากมี พ.ร.บ.ส่วนบุคคลฯ มีผลบังคับใช้ ผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลจึงมีต้องยินยอมให้คณะเปิดเผยข้อมูลในส่วนดังกล่าว

บีบีซีไทยประเมินว่า ประเด็นที่สังคมสนใจคือ หน่วยงานที่ต้องการข้อมูลดังกล่าวคือ กรมราชเลขานุการในพระองค์ จึงรวบรวมข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับหน่วยงานดังกล่าวมาเล่า ดังนี้

กรมราชเลขานุการในพระองค์ ทำหน้าที่อะไรบ้าง


กรมราชเลขานุการในพระองค์ เป็น 1 ใน 9 หน่วยงานภายใต้สังกัดของ สํานักพระราชวัง ตามพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ และประกาศเผยแพร่ผ่านราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2565



สำหรับบทบาทและหน้าที่สำคัญของกรมดังกล่าว ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ จากสาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง และสาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เคยเขียนอธิบายในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ในหัวข้อที่ว่า "จากกรมพระอาลักษณ์ กระทรวงมุรธาธร สำนักราชเลขาธิการ สู่กรมราชเลขานุการในพระองค์" ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2564 มีใจความสำคัญว่า

"กรมราชเลขานุการในพระองค์ทำหน้าที่เลขานุการในองค์พระมหากษัตริย์ บรรดาหนังสือราชการไม่ว่าจะเป็นที่หน่วยราชการต่าง ๆ เอกชน บุคคลทั่วไป ส่งเข้ามาเพื่อขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต พระบรมราชวินิจฉัยและพระมหากรุณาธิคุณ ทำหน้าที่ประสานงานกับรัฐบาล หน่วยราชการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และบุคคลต่าง ๆ ทั้งที่เป็นราชการแผ่นดิน (Government Affair) และราชการส่วนพระองค์ (Royal Affair)"

มีต้นกำเนิดในจากสมัยกรุงศรีอยุธยา


นักวิชาการรายนี้ ยังอธิบายเพิ่มเติมในบทความดังกล่าวว่า กรมราชเลขานุการในพระองค์มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน โดยมีการรวบรวมเรียบเรียงไว้ในหนังสือประวัติสำนักราชเลขาธิการ ตีพิมพ์โดยสำนักราชเลขาธิการในสมัยรัชกาลที่ 9 โดยสามารถสรุปเนื้อหาพอสังเขปดังนี้

กรมราชเลขานุการในพระองค์มีต้นกำเนิดจากกรมพระอาลักษณ์เป็นหน่วยงานสมัยกรุงศรีอยุธยา และเปลี่ยนชื่อหน่วยงานหลายครั้ง กระทั้งถึง ปี 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยว่า ต้องปฏิรูปการปกครองแผ่นดินครั้งใหญ่ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมพระอาลักษณ์เป็นกระทรวงมุรธาธร เพื่อปฏิบัติงานด้านเอกสารและหนังสือ กรมรัฐมนตรีสภา ปฏิบัติงานประชุมเสนาบดี และกรมราชเลขานุการ ปฏิบัติงานรับใช้พระมหากษัตริย์ในราชการส่วนพระองค์



แต่ไม่นานหลังจากนั้น ก็มีการสั่งยุบกระทรวงดังกล่าว เนื่องจากภารกิจซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ๆ จวบจนเปลี่ยนแปลงการปกครองก็มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทและสังกัดของหน่วยงานนี้หลายครั้ง

โดยในสมัยรัชกาลที่ 9 ได้เปลี่ยนสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์เป็นสำนักราชเลขาธิการ (Royal Secretariat Office) ให้เป็นทบวงการเมืองอยู่ในบัญชาของนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะเข้าสู่รัชกาลปัจจุบันที่ได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ให้โอนสำนักราชเลขาธิการมาเป็นกรมราชเลขานุการในพระองค์ ในสังกัดสำนักพระราชวัง เปลี่ยนชื่อตำแหน่งราชเลขาธิการเป็นอธิบดีกรมราชเลขานุการในพระองค์ โดยมีราชเลขาธิการคนสุดท้าย เป็นอธิบดีกรมราชเลขานุการในพระองค์คนแรก คือ ดร.กฤษณ์ กาญจนกุญชร

ไอลอว์ ชี้ ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ แต่ยังรับงบประมาณแผ่นดิน

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 เว็บไซต์โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ได้เผยแพร่บทความเรื่อง "ส่วนราชการในพระองค์" : คสช. สร้างหน่วยงานพิเศษที่ตรวจสอบไม่ได้ ทำลายระบอบประชาธิปไตยฯ ว่า หลังจากการโอนสำนักงานราชเลขาธิการมาเป็นกรมราชเลขาธิการในพระองค์ ในสังกัดสำนักพระราชวัง ตาม พ.ร.ฎ. ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ทำให้สถานะเป็นหน่วยงานของรัฐสิ้นสุดลง แต่ยังมีผลผูกพันในแง่การจัดสรรงบประมาณประจำปี เนื่องจากกรมนี้อยู่ภายใต้สังกัดส่วนราชการในพระองค์อีกทอด



นอกจากนี้ ไอลอว์ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า พระมหากษัตริย์มีอำนาจบริหารองค์กรที่ชื่อว่า "ส่วนราชการในพระองค์" พระบรมราชโองการแต่งตั้งหรือให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่งจึงไม่ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เนื่องจากพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารนั้นโดยพระองค์เอง จากเดิมที่ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ