Royal World Thailand - รอยัล เวิลด์ ประเทศไทย
20h ·
นับว่าเป็นประเด็นร้อนในประเทศติดต่อกันหลายวันจนถึงตอนนี้ หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร อันเป็นงานใหญ่ระดับโลกที่มีผู้เข้าร่วมพระราชพิธีมากมายคับคั่ง ตั้งแต่คณะทูตานุทูต นักการเมือง ผู้นำประเทศ ไปจนถึงระดับพระราชวงศ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นงานร่วมกันแสดงความเคารพและร่วมส่งเสด็จพระมหากษัตรีย์แล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีในการพบปะและสานสัมพันธ์ทางการทูต
เมื่อมีข่าวคราวงานพระบรมศพออกมา ชาวไทยต่างได้คาดหวังว่าจะได้เห็นพระราชวงศ์ไทย จะทรงร่วมงานระดับโลกที่คราคร่ำไปด้วยพระราชวงศ์ด้วยกัน และบุคคลสำคัญระดับโลก อีกทั้งเป็นงานระดับพระประมุขด้วยกัน หวังจะได้เห็นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะพระประมุขเช่นกัน จะทรงร่วมงานนี้ด้วย แต่กลับไม่เห็นแม้แต่พระฉายา (เงา) ก่อให้เห็นความประหลาดใจชวนฉงนสนเท่ห์กันทั่วหล้าว่าเหตุใดจึงไม่มีเจ้านายไทยไปร่วมงานเจ้านายระดับโลกเลย
ประเด็นร้อนทางโลกออนไลน์ทำให้เกิดความเห็นที่แตกออกเป็นสองทาง กับคำถามที่ว่า “ทำไมในหลวงไม่ไป หรือไม่ส่งเจ้านายพระองค์ใดไป” ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มองว่าทูลกระหม่อมไม่มีภาพลักษณ์ที่ดีงามอยู่แล้ว กับกลุ่มคนที่จงรักภักดีปกป้องพระองค์อย่างยิ่งยวดยิ่งชีวี
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการต่างประเทศทั้งจากประเทศไทยและอังกฤษ รวมทั้งผู้สื่อข่าวสายราชสำนักของสำนักข่าวยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของอังกฤษ ได้ยืนยันว่า ในระดับพระราชวงศ์ด้วยกัน ได้มีการส่งหนังสือทูลเชิญและบัตรเชิญไปยังพระราชสำนักของทุกประเทศอย่างเป็นทางการ หลายประเทศมีการตอบกลับอย่างรวดเร็ว มีบางประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ ได้มีการแสดงเจตจำนงที่จะทรงร่วมพระราชพิธีก่อนที่จะมีการส่งหนังสือทูลเชิญอย่างเป็นทางการด้วย สิ่งนี้แสดงถึงความสนิทสนมชิดเชื้อกับพระราชวงศ์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดพระราชวงศ์หนึ่งของโลก
สำหรับหลักปฏิบัติของพระราชสำนักไทย หากมีการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ หรือเสด็จไปปฏิบัติพระกรณียกิจอย่างเป็นทางการในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะมีแถลงการณ์สำนักพระราชวังในคืนก่อนเสด็จออกนอกประเทศ ขณะที่หลายประเทศมีการแถลงล่วงหน้าหลายวันให้ทราบโดยทั่วกัน ขณะที่มีแต่ความมืดมนและเงียบงันของสำนักพระราชวัง ประชาชนจึงลุ้นจนวินาทีสุดท้ายจนถึงวันพระราชพิธี จึงได้ทราบโดยทั่วกันว่า “ไม่มีพระองค์ใดเสด็จฯไป”
ประชาชนทั้งสองฝ่ายต่างมั่นใจว่าทูลกระหม่อมจะต้องเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วม เนื่องด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองราชวงศ์ที่แน่นแฟ้นกันมายาวนาน โดยเฉพาะในช่วงรัชกาลก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับพระราชวงศ์อังกฤษทั้งแบบเป็นทางการเมื่อปี 1960 และแบบส่วนพระองค์ในปี 1966
นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงร่วมพระราชพิธีสวนสนามเฉลิมพระเกียรติ วันเฉลิมพระชนมพรรษา หรือ Trooping The Colour เมื่อปี 1980 แม้กระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอง ยังเคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนและประทับที่อังกฤษหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่องานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อปี 2012
อีกทั้งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการถึง 2 ครั้ง ในฐานะพระราชอาคันตุกะในปี 1972 และ 1996 นอกจากนี้ ยังมีพระบรมวงศานุวงศ์ของอังกฤษในอดีตที่เสด็จพระราชดำเนิน และเสด็จเยือนไทยในวาระโอกาสต่างๆด้วย อาทิ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ และไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ พระวรชายา, เจ้าฟ้าหญิงแอนน์ พระวรราชกุมารี, เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ค และเจ้าหญิงอเล็กซานดรา
สำหรับเหตุผลที่ถูกนำเสนอโดยกลุ่มคนที่มองว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่มีภาพลักษณ์ที่ดีอยู่แล้ว คือการไม่มีการประสานงานที่ดีพอของกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากงานนี้เป็นงานระดับพระราชวงศ์หรือระดับพระประมุขของประเทศ ยิ่งต้องมีการประสานงานอย่างรวดเร็ว เว้นเสียว่า ฝ่ายถูกเชิญจะเงียบเสียเอง จนเกี่ยวเนื่องไปถึงอีกเหตุผลที่ถูกนำเสนอว่า ทูลกระหม่อมไม่มีความสนพระราชหฤทัยที่จะทรงร่วมแต่แรก เข้าข่ายงานหลวงไม่ขาด งานราษฎร์ไม่เคย งานอินเตอร์นิ่งเฉย ทรงละเลยทุกเมื่อกาล
ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่พระราชวงศ์ไทย มีอีก 2 พระราชวงศ์ที่ไม่ได้ทรงร่วมพระราชพิธีใหญ่ครั้งนี้ ได้แก่
พระราชวงศ์กัมพูชา - พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ทรงอยู่ในระหว่างรักษาพระอาการประชวรและตรวจพระวรกาย ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน มีกำหนดเสด็จพระราชดำเนินกลับในวันที่ 29 กันยายนนี้ ตามข้อมูลที่ได้รับจากผู้ถวายงานรับใช้สมเด็จพระอนุชในกรุงพนมเปญ
พระราชวงศ์เอสวาตินี - สมเด็จพระราชาธิบดีอึมสวาติที่ 3 ทรงยึดธรรมเนียมภายในพระราชสำนัก ว่าจะไม่ทรงร่วมงานพระบรมศพ หรืองานพระศพเจ้านายพระองค์ใดทั้งในและต่างประเทศ ตามข้อมูลที่ได้รับจากผู้สื่อข่าวราชสำนักประจำแอฟริกาใต้ เนื่องจากถือเป็นลางไม่ดีสำหรับพระองค์
ในเมื่อสองราชวงศ์ไทย-อังกฤษมีความสนิทสนมชิดเชื้อกันมาก และไม่เคยมีเค้าว่าจะมีความขัดแย้งอันใดกัน หากไม่ติดเหตุจำเป็นอันใด ทูลกระหม่อมควรจะเสด็จฯไปเอง หาใช่เพียงแค่ส่งพระราชสาส์นไปแล้วจบ ในเมื่อทุกประเทศโดยเฉพาะพระประมุขที่มีพระราชสาส์นไปและไปทรงร่วมงานด้วยทั้งนั้น หากทูลกระหม่อมทรงร่วม จะเป็นการออกพระราชกิจต่างประเทศ “อย่างเป็นทางการ” ครั้งแรกในรัชกาลด้วย เพราะไม่ว่าใครก็อยากเห็นพระมหากษัตริย์ไทยในบทบาทโลก เป็นอีกหน้าที่ที่พระมหากษัตริย์พึงกระทำ นอกเหนือจากพระราชกิจบำรุงสุขแก่พสกนิกร
ตั้งแต่ทรงราชย์มา ยังไม่เคยเห็นเสด็จออกงานต่างประเทศเลย ย้อนไปเมื่อปี 2019 ที่ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมพระราชพิธีเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะแห่งญี่ปุ่น เนื่องจากจัดขึ้นช่วงเดียวกับที่ต้องเตรียมการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค จนกระทั่งจำต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือนธันวาคม ซึ่งการเลื่อนไปนั้น หากจะทรงร่วมก็อาจเตรียมการไม่ทันเสียแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงเป็นผู้แทนพระองค์ในครั้งนี้ ประกอบกับช่วงที่มีการแพร่ระบาดหนักในเวลาต่อมา ทำให้หลายอย่างอาจหยุดชะงักลง
ในเมื่อยังมีพระพลานามัยที่แข็งแรง และยังทรงแอคทีฟอยู่ ก็ควรจะเสด็จฯไป ช่วงเวลาที่ผ่านมา ยังทรงกระเหี้ยนกระหือรือบินไปต่างประเทศ ประดุจชั่วพระชนม์ชีพนี้ทรงขาดเครื่องบินและจักรยานมิได้ เหตุใดครานี้จึงทรงเท ทำให้ทรงถูกมองว่า ไม่เคยสนพระทัยเรื่องการเจริญสัมพันธไมตรีด้วยพระองค์เอง ทรงเดินเกมส์และกลยุทธ์ระหว่างประเทศไม่เป็น นอกเหนือจากการส่งพระราชสาส์นในวันสำคัญของประเทศต่างๆ เสมือนตั้งพระราชบอทส่วนพระองค์เอาไว้
สำหรับเหตุผลจากกลุ่มคนที่จงรักภักดียิ่งชีวี ได้สรรหาเหตุผลพันแปดถึงความเป็นไปได้ ที่ไม่เสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ อาทิ
ทางการอังกฤษเชิญแต่กลุ่มประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมมาก่อน อันเป็นเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนักมากพอสำหรับใครหลายๆคน เนื่องจากพ้นยุคสมัยหัวคิดอาณานิคมกันมานานแล้ว นอกเหนือจากการเกี่ยวดองทางเครือญาติ ยังมีหลายประเทศที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับจักรวรรดินิยมอังกฤษยังร่วมด้วย โดยเฉพาะประเทศที่มีราชวงศ์ ยิ่งระดับเจ้านายระดับเดียวกัน นี่ยิ่งเป็นโอกาสทองในการสร้างสัมพันธไมตรีด้วยพระองค์เองให้เห็นเป็นรูปธรรมเสียที
กฎระเบียบการร่วมงานที่ไม่เหมาะสมสำหรับเจ้านายไทย ทั้งสถานที่ประทับแรม พระราชพาหนะ ที่สมพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์จากโลกตะวันออก ทั้งที่เคยเสด็จพระราชดำเนินทรงร่วมงานของราชวงศ์ดัตช์มาแล้ว ยิ่งระดับพระราชวงศ์ ย่อมมีการเตรียมการถวายการต้อนรับและอำนวยความสะดวกพิเศษกว่าระดับใด
พระพลานามัยไม่เอื้ออำนวย ที่จะประทับรถบัสขนาดใหญ่และสภาพอากาศ ภาพตัดมาที่สมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 แห่งนอร์เวย์ พระชนมพรรษา 85 พรรษา ทรงพกธารพระกร (ไม้เท้า) เข้าร่วมด้วย แม้จะมีพระพลานามัยไม่สู้ดีนักเนื่องจากทรงรับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลหลายครั้ง เรื่องสภาพอากาศอาจควรตัดออกไปด้วย จากที่ประทับอยู่ต่างประเทศมาเป็นเวลานาน คงคุ้นชินกับสภาพอากาศเมืองหนาวได้ดี และหากทูลกระหม่อมมีปัญหาด้านพระพลานามัย ประชาชนอาจต้องทราบโดยทั่วกันตั้งแต่แรกว่าทรงรับถวายการรักษาพระอาการใด
เหตุผลเหล่านี้ ยิ่งถูกมองจากหลายคนว่า ทูลกระหม่อมทรงเยอะและเรื่องมาก จนไม่สามารถประทับร่วมกับพระองค์อื่นได้ และการที่ไม่ทรงร่วมงานระดับนี้ หากไม่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอ ถือว่าไม่มีมารยาทบนเวทีโลกระดับเจ้านายด้วยกัน ซึ่งงานระดับพระประมุข ควรมีระดับพระประมุขหรือเจ้านายชั้นสูงทรงร่วม และในเมื่อพระราชวงศ์อังกฤษเองได้เสด็จมาทรงร่วมงานของราชวงศ์ไทยหลายครั้ง แต่กลับไม่เป็นพระราชวงศ์ด้วยกันไปทรงร่วมเพื่อเป็นการตอบแทน
ทูลกระหม่อมทรงถูกมองว่า หักพระพักตร์ทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ ที่ทรงอุตส่าห์สร้างสัมพันธไมตรีมาอย่างยาวนาน เพียงแค่นี้ ยังไม่แสดงพระราชศักยภาพพระองค์เองให้ดีพอ อนาคตจะได้เห็นบทบาทบนเวทีโลกอย่างไรได้อีก ยิ่งช่วงนี้การแพร่ระบาดของโควิดเบาบางลงมากแล้ว หลายประเทศเริ่มทยอยเยี่ยมเยียนไปมาหาสู่กันแล้ว เริ่มรัชกาลก็ควรเริ่มสานสัมพันธ์กับนานาประเทศ นอกเหนือจากการส่งเพียงกระดาษแผ่นเดียวแบบตั้งเวลาไป
จนถึงเวลานี้ และต่อไป ประชาชนอาจไม่มีทางทราบเหตุผลที่แท้จริงในเรื่องนี้ และสำนักพระราชวังไม่มีหน้าที่แจกแจงเหตุผลเรื่องราวใดๆ คุณภาพการทำงานของหน่วยราชการในพระองค์ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของทูลกระหม่อมดูแย่ลงหรือไม่ในสายตาของใครอีกหลายคน จากเดิมที่ถูกมองว่าไม่ค่อยดีอยู่แล้วโดยรวม ยิ่งทรงถูกจับตามองและถูกเคลือบแคลงสงสัยจากกลุ่มประชาชนไม่น้อย รวมไปถึงกลุ่มคนที่ยังอยากเห็นความวัฒนาถาวรของพระราชสำนักไปในทางที่ดีและโปร่งใสสอดคล้องกับสภาวะการณ์โลกยุคปัจจุบัน
สำหรับงานใหญ่ระดับพระราชวงศ์ในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร และพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีของสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน จะมีโอกาสได้เห็นพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมราชินี มีบทบาทในระดับนานาชาติหรือไม่ จะได้มีโอกาสแสดงพระบรมเดชานุภาพแห่งสยามกษัตราสู่สายตาชาวโลกอย่างไร นอกเหนือจากการประทับอยู่หลังพระฉากไปวันๆ จะทรงสร้างผลงานและคะแนนให้พระองค์เอง หรือจะไม่สนใดใดในโลกหล้า มั่นพระพักตร์บารมีสง่าศรี สวนกระแสทวนลมทวนนที พระชีวีประสบเสื่อมศรัทธาทาน...
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ... #UM