วันอังคาร, กันยายน 06, 2565

เหตุการณ์เดียวกัน ปมรื้อโฮมสเตย์​ สื่อคนละเจ้า ภาพคนละฟีล สุดท้าย ถวายฎีกาตามเดิม



THE STANDARD
9h

ชาวบ้านม่อนแจ่มบุกศาลากลางเชียงใหม่ ทวงถามความคืบหน้า ปมถูกรื้อถอนรีสอร์ต เตรียมเข้ากรุงยื่นถวายฎีกา
.
วันนี้ (5 กันยายน) เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. ชาวบ้านจากหมู่บ้านม่อนแจ่ม ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 500 คน ได้รวมตัวเดินจากจุดชมวิวสามแยกบ้านใหม่บนดอยม่อนแจ่ม ไปยังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย และกล่าวปราศรัยก่อนขึ้นรถหลายสิบคันเดินทางมายังบริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยชาวบ้านได้จัดขบวนเดินถือป้ายเรียกร้องความยุติธรรม ซึ่งการเดินทางมาในครั้งนี้เพื่อทวงถามความคืบหน้า หลังจากที่เคยยื่นถวายฎีกาผ่าน ประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
.
หลังจากที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ดำเนินคดีกับชาวบ้านที่ถือครองที่ดิน และมีเจ้าหน้าที่เข้ารื้อถอนรีสอร์ตของชาวบ้าน โดยแกนนำได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทบทวนนโยบายและคำสั่งที่กระทำต่อประชาชนชาวม่อนแจ่มที่มุ่งเน้นไปที่การขับไล่ ส่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้คุกคาม บุกรุกเคหะสถาน ออกคำสั่งให้รื้อถอนที่อยู่อาศัย ใช้กฎหมายที่ถือเป็นการกลั่นแกล้งอย่างไร้จริยธรรม
.
ด้าน เอกรินทร์ นทีไพรวัลย์ แกนนำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่ม กล่าวว่า วันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมตัวกันมายังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อไปทวงถามหนังสือที่เคยยื่นให้กับทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะเดินทางไปกรุงเทพมหานครเพื่อไปยื่นถวายฎีกา เดิมชาวบ้านตั้งใจเดินเท้าเพื่อให้เห็นถึงความเดือดร้อน และอยากแสดงออกให้เห็นถึงความตั้งใจในการขอความช่วยเหลือ แต่มีเด็ก สตรี และผู้สูงอายุเข้าร่วมจำนวนมาก จึงต้องเปลี่ยนแผนเป็นการใช้รถในการเดินทาง
.
โดยต้องการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2542 และใช้ภาพถ่ายทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ หากพบว่ามีชาวบ้านคนใดรุกล้ำ ทำผิดกฎหมาย ชาวบ้านในพื้นที่ก็พร้อมที่จะถูกดำเนินคดีและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง
.
สำหรับการเดินทางไปยื่นถวายฎีกาจะมีตัวแทนชาวบ้านประมาณ 50 คน โดยจะออกเดินทางจากศาลากลางจังหวัดในช่วงเย็นของวันนี้ และจะยื่นถวายฎีกาในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ (6 กันยายน) ส่วนชาวบ้านที่เหลือจะเดินทางกลับเพื่อรอฟังข่าวคืบหน้าต่อไป
.
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากในสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ป่าไม้, ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธร (สภ.) แม่ริม กว่า 300 นาย เข้ารื้อถอน 5 รีสอร์ตม่อนแจ่ม แต่ไม่สามารถดำเนินการรื้อถอนได้ เนื่องจากมีชาวบ้านนั่งประท้วงกลางถนนเพื่อกดดัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบรีสอร์ตบริเวณดอยม่อนแจ่ม พบว่ามีจำนวน 122 แห่ง มีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบกิจการโรงแรม และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร จำนวน 86 แห่ง ซึ่งในส่วนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล มีบางแห่งที่ศาลพิพากษาความผิดแล้ว และอีก 36 แห่งตรวจสอบอย่างละเอียด พบข้อมูลหลักฐานว่ามีการเปลี่ยนมือถ่ายโอนไปให้กับนายทุนเข้ามาประกอบกิจการ และมีการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ ตามความผิดมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.ป่าไม้
.
#TheStandardPhoto #TheStandardNews #พงศ์มนัสทาสิริ
————————————————————
ภาพ: พงศ์มนัส ทาสิริ


มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
13h

ชาวม้ง ‘ม่อนแจ่ม’ จวก ‘วราวุธ’ ฟังความข้างเดียว ปมรื้อโฮมสเตย์​ ยันเดินทางเข้า กทม. ถวายฎีกาตามเดิม

ชาวม้ง ‘ม่อนแจ่ม’ จวก ‘วราวุธ’ ฟังความข้างเดียว โดนลูกน้องชี้โพรง หลังแถลงหวั่นม่อนแจ่ม ‘เละตุ้มเป๊ะ’ ให้คิดเรื่องธรรมชาติไว้ก่อน แกนนำยันเดินทางเข้า กทม. ถวายฎีกา เหตุเจ้าหน้าที่อ้าง ‘โครงการหลวง’ ดำเนินการกับชาวบ้าน
5 ก.ย. 2565 เวลาประมาณ 09.00 น. เครือข่ายชาวไทยภูเขาชนเผ่าม้งม่อนแจ่ม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ประมาณ 1,000 คน เริ่มออกเดินทางจากชุมชนตามกำหนดการณ์ถึงกรุงเทพมหานคร เพื่อถวายฎีกา สืบเนื่องจากกรณีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนธิกำลังเตรียมดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและโฮมสเตย์ของชุมชนตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยในเวลาประมาณ 11.10 น. เครือข่ายฯ ได้เดินทางถึงศูนย์ราชการ จ.เชียงใหม่ ได้ปักหลัก ปราศรัย และเจรจาขอพบผู้ว่าราชการจังหวัด
ก่อนหน้านั้น วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงผ่านเฟซบุ๊ก TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา เมื่อ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา ว่า ม่อนแจ่มคือสมบัติส่วนรวมของประเทศชาติ การดำเนินการธุรกิจใดๆ ก็ตาม ต้องเป็นไปตามกฎหมายและไม่บุกรุกทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวธรรมชาติที่ยั่งยืนจะต้องยึดถือผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง
วราวุธยกตัวอย่างกรณีที่อ่าวมาหยา ที่ปิดการท่องเที่ยวไป 5-6 ปี เนื่องจากไม่มีปะการังและความสวยงามเหลืออยู่แล้ว ไม่มีใครอยากไปเที่ยว เนื่องจากมีการไป ‘ปู้ยี่ปู้ยำ’ จนธรรมชาติเละตุ้มเป๊ะ แล้วเกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่แค่ไหน วันนี้เราอยากจะเห็นเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับป่าที่ม่อนแจ่มหรือไม่
“ถ้ามีแต่น้ำเสีย มีแต่กองขยะ ไม่เกิดความบันเทิงเจริญใจ ถ้ามีความสวยงามของพื้นที่ป่า ถ้าเราไม่บริหารจัดการ ปล่อยไป 3 ปี 5 ปี จนเละตุ้มเป๊ะไปหมด ผมถามว่าพี่น้องประชาชนที่นั่นจะได้อะไร ต้องคิดในระยะยาว ต้องคิดถึงธรรมชาติไว้ก่อน เพราะว่ามนุษย์เรากำลังหากินกับธรรมชาติ กำลังหากินทรัพยากรที่มองไปแล้วคือวิวทิวทัศน์ คือผืนป่าที่มันเกิดขึ้นจริง ท้องฟ้าที่สดใส อากาศที่สดชื่น แต่ถ้าไปแล้วป่าก็ไม่เห็น ขยะก็มี มีกลิ่นเหม็น โซนที่ท่านจะสูดอากาศเข้าไปให้เต็มปอด กลายเป็นกลิ่นน้ำเสีย กลิ่นขยะขึ้นมา ผมถามว่าเราจะไปเที่ยวกันทำไมครับม่อนแจ่ม” วราวุธกล่าว
เอกรินทร์ นทีไพรวัลย์ แกนนำเครือข่ายชาวไทยภูเขาชนเผ่าม้งม่อนแจ่ม ฝากสารถึงวราวุธ ยืนยันว่าประชาชนม่อนแจ่มประมาณ 3,800 คน ถือครองที่ดินอยู่ 2,500 ไร่ การบุกรุกพื้นที่ป่าเป็นศูนย์ โดยมีรายงานจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ยืนยันว่าการบุกรุกพื้นที่ของชาวม่อนแจ่มเป็นศูนย์มาแล้วตั้งแต่ปี 2545 มีหลักฐานเป็นแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ
กรณีที่วราวุธบอกว่าเป็นสมบัติของคนทั้งประเทศนั้น เอกรินทร์เห็นว่าก็เพราะเป็นแบบนั้นจึงเรียกร้องให้มีการพิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 พ.ค. 2542 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ในป่า หากมีการพิสูจน์แล้วปรากฏว่าบุกรุกจริงก็น้อมรับในนามพลเมืองไทย แต่ขอให้ความจริงได้ปรากฏ
ส่วนประเด็นที่วราวุธกล่าวหาว่าชาวบ้านมีการใช้ทรัพยากรที่ทำให้เกิดขยะ ขอชี้แจงว่าชาวม่อนแจ่มมีมติให้ชาวบ้านยกเลิกการใช้โฟมมา 5 ปีแล้ว ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกและถุงก๊อบแก๊บมา 3 ปี ส่วนขวดแก้วก็ยกเลิกมา 2-3 ปีแล้ว
“ม่อนแจ่ม เราสามารถจัดการด้วยตัวเราเองได้อยู่แล้ว ผมฝากไปถึงรัฐมนตรีฯ ว่า ท่านอย่ารับฟังความข้างเดียว ระดับคนเป็นรัฐมนตรีแล้ว ท่านจะรับฟังลูกน้องคอยชี้โพรงให้ท่านตลอด ท่านเป็นถึงรัฐมนตรี ท่านลงมาเถอะครับ ทุกเส้นทางการเจรจา แกนนำม่อนแจ่มพร้อมเสมอ” เอกรินทร์ย้ำ
หลังจากนั้น เวลาประมาณ 12.30 น. เครือข่ายฯ ได้อ่านแถลงการณ์ถึงคนไทยทั้งประเทศและสื่อมวลชน ก่อนจะส่งตัวแทนเข้าไปเจรจา โดยมีปลัด จ. เชียงใหม่ มาเป็นผู้แทนรับเรื่อง
ในแถลงการณ์นั้นได้โต้ประเด็นมายกคติ 5 ประการที่หน่วยงานใช้เป็นความชอบธรรมในการเข้ารื้อถอนม่อนแจ่ม ได้แก่ 1. กล่าวหาว่าเป็นนายทุน นอมินี 2. พื้นที่การพิพาทมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ 3. กล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่ 4. กล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติม และ 5. กล่าวหาว่าใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ โดยได้แถลงยืนยันว่าชุมชนอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ได้รับการคุ้มครองทั้งทางกฎหมายและแนวนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรี และที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ได้มีหนังสือขอความร่วมมือให้ชะลอการดำเนินการไล่รื้อ ตลอดจนมีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ จ.เชียงใหม่ จัดทำแผนแม่บท (Master Plan) การบริหารจัดการบนพื้นที่ม่อนแจ่มอย่างมีส่วนร่วม
“การกล่าวหาว่าชาวม่อนแจ่มกระทำผิดทั้ง 5 ประเด็นนั้นจึงไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด และการอ้างว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้นจึงเป็นคำพูดที่หลอกลวงคนไทยทั้งประเทศ สร้างให้สังคมไทยเข้าใจผิดเกลียดชังชาวม่อนแจ่ม” แถลงการณ์ระบุ
นอกจากนั้น ในแถลงการณ์ยังย้ำว่า ราษฎรม่อนแจ่มอยู่มา 100 กว่าปี อยู่ในทุกรัฐบาล แม้กระทั่งรัฐบาลในยุค บรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวม่อนแจ่มเลยแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งต่างจากยุค วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“มุ่งเน้นที่จะขับไล่ ข่มขู่ ส่งกองกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้คุกคาม บุกรุกเคหะสถาน ออกคำสั่งให้รื้อถอนที่อยู่อาศัย ใช้กฎหมายกลั่นแกล้งอย่างไรจริยธรรม จึงขอฝากให้ท่านกลับไปทบทวนถึงสิ่งที่ท่านกระทำกับประชาชนด้วย” เครือข่ายฯ ย้ำ
หลังจากนี้ เครือข่ายฯ ยืนยันจะเดินทางไปกรุงเทพมหานครในเช้าวันพรุ่งนี้ (6 ก.ย. 2565) เพื่อถวายฎีกา ยืนยันข้อเรียกร้องการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 พ.ค. 2542 ต่อไป และเหตุที่ต้องถวายฎีกา เนื่องจากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างโครงการหลวงในการดำเนินการกับชาวม่อนแจ่มมาโดยตลอด