พอศาลเล่นงิ้วเป็นทั่นเปาจิ้น กองทัพก็เล่นปาหี่ มีไม่พอกิน ทั้งที่พึงมีพึงได้เกินควรการจับจ่ายไปแล้วหลายขุม ยังใจกล้าหน้าตายแหลว่าไม่เพียงพอ ดึงงบฯ ฉุกเฉินมาใช้เพิ่มอีก ๑,๓๐๐ ล้าน ครม.ประชุมลับมาก ‘วาระริมแดง’ อนุมัติทันทีทันใด
เมื่อถาม ‘รักษาการ’ นายกฯ บอกว่าเป็นค่าใช้จ่ายให้บุคคลากร จนกว่าจะสิ้นกันยา หมายความว่าพอขึ้นตุลาก็จะได้ใหม่อีก สนองความไม่อิ่มของเด็กอ้วน แบ่งกันระหว่างทัพบกกับอากาศ ๗๖๐ ล้าน กับ ๕๖๐ ล้าน ตะหานเรือไม่เกี่ยว
เพราะทัพเรือเอาไปแล้วก่อนหน้า ๓๓๗ ล้านเบาะๆ เฉพาะแผนงานยุทธศาสตร์ ส่วนเยอะก็เพื่อซื้อเรือดำน้ำไร้เครื่อง คำหลังนี่ล้อเล่นน่ะ ตอนซื้อน่ะจะมีเครื่องมาด้วย แต่เนื่องจากมหามิตรชิดเชื้อชาติผู้ต่อเรือ ปกติใช้เครื่องเจอรมันแล้วโดนเลิกขาย
แม้นว่าของไม่ครบก็ยินดีรอให้ครบ ดูเหมือนลงท้ายจะใช้เครื่องจีนทำเองเป็นครั้งแรก ได้ทดลองใช้โดยไทย ระหว่างรอก็ได้ไช้งบฯ สำหรับเรื่องอื่นที่จำเป็นไปพลางๆ เมื่อครบเครื่องปีหน้า อาจต้องของบฯ ใหม่จ่ายส่วนต่างมัดจำ
นักข่าวก็ช่างซักเรื่อยไปเข้าทางเฮียป้อม ว่าวิธีการผันงบฯ แบบนั้นเรื่องปกติใช่ไหม รู้ๆ อยู่ว่าใครมันจะตอบว่าไม่ใช่ อ้อยเข้าปากออกอย่างนั้น แม้นว่าปีที่แล้วทัพบกได้โอนแบบนี้หนหนึ่งเกือบ ๗๐๐ ล้าน อย่างนี้ไม่เรียกปาหี่แล้วอะไร ทั้งที่งบฯ ปกติได้อยู่ ๒ แสนล้าน
เหมือนดังว่าพอศาลเล่นลิเกจีน เปิดประตูให้คนดีย์จอมผลาญงบฯ เหมือนกัน หลุดคดีทุจริตสร้างแฟล็ทตำรวจ ๖ พันกว่าล้าน แต่สร้างไม่เสร็จค้างเติ่งมากระทั่งบัดนี้เกือบสิบปีระหว่างลากคดี ‘บังหลวง’ ประพฤติมิชอบในทางราชการ
ปปช.ฟ้องคดี รัฐมนตรีและพวก ๖ คน รวมทั้งผู้รับเหมา ร่วมกันจัดซื้อจัดจ้างโดยเพิ่มงบประมาณไม่ผ่านตานายกฯ และคณะรัฐมนตรี อีกราวร้อยล้าน (ลงเอยที่ ๖,๓๘๘ ล้าน) และไม่แจกแจงรายการจัดซื้อวัสดุตามระเบียบ ศาลพิพากษาแก้ต่างให้จำเลยหมด
ในข้อหาไม่แจ้งนายกฯ และผ่าน ครม. ศาลบอกว่า “ไม่เกี่ยวกับการจัดจ้างจัดซื้อ (ตามฟ้อง) แต่อย่างใด” เพราะได้มีการอนุมัติจาก ครม.แล้ว แม้จะคนละเรื่องกัน คือการเปลี่ยนวิธีจ่ายจาก ‘แปลงสินทรัพย์’ ไปเป็น ‘จัดสรรงบประมาณ’ ใช้แทนกันได้
ดังนั้น ‘เทพเทือก’ จำเลยที่ ๑ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลทั่วไปในการบริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงไม่มีความผิด มิได้กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามที่ถูกฟ้อง แม้กระทั่งจำเลยที่ ๒ ถึง ๖ ก็พากันหลุดหมดด้วย
ศาลยกฟ้องเรียบแบบยกแผง ด้วยเหตุผลสุดพรรณนา เช่นกรณี จำเลยที่ ๓ (ประธานคณะกรรมการประกวดราคา) และ ที่ ๔ (กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ) ไม่ได้ดูรายละเอียดบัญชีแสดงราคาวัสดุ (เสาเข็มตันรูปสี่เหลี่ยม) ซึ่งต่ำกว่าราคามาตรฐานกลาง
ศาลเห็นว่าราคาต่ำดังกล่าวเพียงร้อยละ ๘.๔๕ ไม่เกินอัตรากำหนดที่ร้อยละ ๑๕ ตามมาตรการป้องกันหรือลดโอกาสการสมยอม การละเลยของจำเลย ๓ และ ๔ จึงถือว่า ไม่ก่อเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซ้ำ “ไม่ปรากฏในทางไต่สวนด้วยว่า จำเลยทั้งสองทำการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ”
นี่ก็ปกติเหมือนกันของศาลไทย ล่วงรู้ลึกล้ำในเบื้องลึกจิตใจคู่ความว่าใครเจตนาดี ใครเจตนาร้าย โดยไม่จำเป็นต้องแสดงให้เห็นหลักฐาน หรือข้อมูลเชิงประจักษ์สนับสนุนด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับกรณีเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างที่เป็นข้อหาความผิด ม.๑๕๗
ศาลอธิบายให้เสร็จว่า ได้เสนอกันขึ้นมาตามลำดับขั้น ทั้ง พล.ต.ท.ธีรยุทธ์ กิติวัฒน์ เจ้าหน้าที่พัศดุ และ พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จำเลยที่ ๒ เพียงอนุมัติตามน้ำ จึงไม่มีความผิด
สรุปว่าคดีนี้แม้จะเกิดความเสียหายแก่ทางราชการเป็นมูลค่าหลายพันล้าน แต่ผู้ต้องหาซึ่งเป็นข้าราชการชั้นสูงที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการทุจริต ล้วนไม่มีความผิดเพราะปฏิบัติหน้าที่กัน ‘ตามน้ำ’