วันจันทร์, กันยายน 05, 2565

สอง ป. (ปัญหา) มาพร้อมกัน น้ำมันเถื่อนทะลักที่สงขลา กับ เศรษฐกิจชาติขาดดุลการค้าเพราะพลังงาน

อ๊ะยังไงเนี่ย น้ำมันเถื่อนทะลักที่สงขลา ขายเกลื่อนราคาถูกกว่าปั๊ม แต่ข่าวระดับชาติว่าไทยต้องนำเข้าเชื้อเพลิงพลังงานมากขึ้น ๆ เสียจนขาดดุลการค้ากว่า ๔ แสนล้านบาท ถึงปลายปีเชื่อว่าอาจขาดดุลเพิ่มเป็น ๕ แสนล้าน

หมายความว่าอย่างไร หนึ่ง นำมันไม่ได้ขาดแคลนถึงขั้นทำให้น้ำมันจำหน่ายในประเทศแพงหูฉี่ กว่าหลายประเทศรอบบ้าน (แพงกว่ามาเลเซีย ๓ เท่า) สอง น้ำมันเถื่อนน่าจะมาจากการลักลอบนำเข้าน้ำที่ถูกกว่าในประเทศเพื่อนบ้าน

และรวมทั้งน้ำมันที่ผลิตในประเทศ แต่ไม่ได้นำออกสู่ตลาดเพื่อทำให้ราคาน้ำมันลด ก็เลยมีการนำออกสู่ตลาดมืดเพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษีที่สูงลิบลิ่ว ดังตัวอย่างที่สงขลา ราคาน้ำมันในปั๊มที่เสียภาษีให้รัฐสูงกว่าน้ำมันเถื่อนเกือบ ๑๐ บาทต่อลิตร

แก๊สโซฮอลส์ ๙๕ ลิตรละ ๓๖.๙๐ บาท ดีเซล ๓๕.๕๐ บาทต่อลิตร “ในขณะที่น้ำมันที่จำหน่ายในประเทศมาเลเซีย ทั้งน้ำมันเบนซิน ๙๗ และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ราคาลิตรละ ๑๗ บาท เท่านั้น” กับที่ขายตามจุดอำพรางริมทางลิตรละ ๒๘-๒๙ บาทเท่านั้น

“ที่บ้านปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา มีนายทุนน้ำมันเถื่อนมาวางขายกันริมถนนห่างจาก สภ.ปาดังเบซาร์ เพียง ๕๐๐ เมตร” สนนราคา ๒๘ บาทสำหรับเบนซิน ๙๗ และ ๒๙ บาทสำหรับดีเซล เป็นต้น เทร็นด์อย่างนี้คงขยายไปพื้นที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง

ขณะเศรษฐกิจยังไม่ยอมฟื้น อัตราขาดดุลการค้าโดยรวมอยู่ที่ ๔๑๗,๙๓๙.๑ ล้านบาท “สูงสุดในรอบ ๒๗ ปีนับจากปี ๓๕๓๙ ซึ่งเคยขาดดุลการค้า ๔๒๐,๗๑๕ ล้านบาท” เพราะมีการนำเข้ามากกว่าส่งออก (๖.๑๙ ล้านล้าน กับ ๕.๗๗ ล้านล้าน ตามลำดับ)

อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้ชำนาญด้านการค้าระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยหอการค้า ชี้ว่า “การขาดดุลสะสมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานไม่ดี จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน” ใครจะอยากมาลงทุนในสภาวะที่ “พวกเขาต้องแบกรับภาระต้นทุน สูงกว่าการไปลงทุนประเทศอื่น”

แม้การขาดดุลการค้าของไทยเวลานี้จะเรียกในทางวิชาการว่า “ยังไม่รุนแรงนัก ถ้าเทียบกับประเทศในละแวกนี้ที่เจอวิกฤตหนักหน่วง อย่างศรีลังกาและ ส.ป.ป.ลาว แต่แนวโน้มมีว่าถึงปลายปี จำนวนขาดดุลจะเพิ่มไปถึง ๕ แสนล้าน

พร้อมด้วยค่าเงินบาทจะยิ่งอ่อนลงไปอีก ถึง ๓๗ บาทต่อ ๑ ดอลลาร์ ทั้งที่ขณะนี้ก็ ๓๖.๗๕ บาทเข้าไปแล้ว มันเป็นผลกระทบลูกโซ่ ที่จะวกกลับมาซ้ำ วนอย่างนี้ไปถึงขั้นล้มละลายได้เหมือนกัน หากไม่แก้ให้ถูกจังหวะ หรือเผลอไผลเหมือนวิกฤตใหญ่ครั้งก่อน

น่าห่วงก็ตรงประเด็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐบาล ตู่เอามาคุยบ่อยครั้งว่ายังมีมาก หนาแน่นเป็นฐานความมั่นคงอย่างหินผา เพื่อจะได้ถลุงกันอีลุ่ยฉุยแฉกต่อไปอีก หากผลจากความด้อยปัญญาแล้วอวดดีของคนที่กำอำนาจตัดสินใจ

เงินทุนสำรองกร่อนลงไปทุกวันตลอด ๘ ปีที่ผ่านมา และจะร่อยหรอในอีก ๕ ปีที่จะผ่านต่อไป ถ้าแก๊ง รปภ.ครองเมืองชุดนี้ยังสืบทอดอำนาจกันอยู่ต่อไป ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งล่าสุดเมื่อ ๘ กรกฎาคมว่า ยอดทุนสำรองประเทศไทยลดไป ๓ พันล้านเหรียญ

ภายในช่วงเวลา ๑ อาทิตย์ จาก ๒๒๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ ๒๑๘,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ อันถือว่าเริ่มต่ำลงกว่าระดับอันเป็นขีดควรรักษา คนของรัฐมักจะอ้างปัจจัยภายนอก คือเศรษฐกิจโลก แต่หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวกันมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว

ประเทศที่ควรมองเปรียบเทียบ ไม่ต้องดูมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ที่สูสีกันมากับเรา หรือไม่พูดถึงสิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ที่จัดอยู่ในกลุ่มล้ำหน้าไทยไปแล้ว ต้องดูจากเวียตนามซึ่งไล่หลังและกำลังจะแซงไทย แม้จะมีรัฐบาลกึ่งเผด็จการเหมือนกัน

แต่เขาน่าจะรู้หลักบริหารเศรษฐกิจดีกว่า พวกที่รู้แต่กุมและสืบทอดอำนาจเท่านั้น แถวๆ นี้

(https://www.prachachat.net/economy/news-1036752 และ https://www.youtube.com/watch?v=62g7zMAtQKY)