ทำไปทำมา การปลดหนี้ กยศ.ที่ดูเหมือนจะเป็นโครงการทันสมัย เข้าใจมิติของคนรุ่นใหม่ หรือประชากรในวัยที่จะรับไม้สร้างชาติให้ทัดเทียมอารยะประเทศต่อไป ทำท่าจะกลายเป็นผลแห่งชั้นเชิงการช่วงชิงทางการเมืองแบบเก่าๆ ไทยๆ เดิมๆ
ดังที่ @Nakarin_KT ว่าไว้บนทวิตเตอร์ “มันเป็นแบบนี้นี่เอง นักการเมืองถึงเห็นลูกหนี้ กยศ.เป็นฐานเสียง” เนื่องจากข้อมูลของแบ๊งค์ชาติว่า “ณ ปี ๖๔ มีคนอยู่ระหว่างจ่ายหนี้ กยศ. ๓.๖ ล้านราย ผิดชำระหนี้สูง ๒.๓ ล้านราย” ดังนั้น
การ “ออกนโยบายยกหนี้ ยกดอก ยกค่าปรับ หวังโกยคะแนนเป็นล้านเสียง ได้ปาตี้ลิสต์ ๓ คน” เลยเชียว โดยที่หลัดๆ เมื่อวาน “สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้มีการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.กยศ.ให้การกู้ยืมปลอดดอกเบี้ย ไม่คิดค่าปรับ และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน
พร้อมมีผลย้อนหลังยกเว้นดอกเบี้ยและค่าปรับ ผู้กู้และผู้ค้ำ” ประกัน พรรคร่วมรัฐบาลกระชุ่มกระชวยกันน่าดูในเรื่องนี้ ทีมโฆษกพรรคภูมิใจไทย ยกขบวน ‘แถลงขอบคุณ’ ที่ท้ายสุดบรรดา ส.ส.หลากพรรคช่วยกันลงมติให้ ๓๑๔ ต่อ ๓ เสียง
นั่นเป็นผลจากการอภิปรายพิจารณาแก้ไขร่างเดิม ตามคำเสนอของกรรมธิการเสียงข้างน้อย ดังที่มีผู้ขอสงวนการแปรญัตติไว้ ๘ ฉบับ เกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ย หรือค่าปรับผิดนัดชำระหนี้ เห็นชอบกันด้วยเสียง ๒๑๘ ต่อ ๑๐๙ แถมยังแก้บทเฉพาะกาลให้มีผลย้อนหลัง
ภราดร ปริศนานันทกุล คุยทับทันที “พรรคเห็นถึงความสำคัญของกองทุนนี้” แล้วยังยืนยันว่า “กยศ.มีมูลค่า ๔-๕ แสนล้านบาท หากผู้บริหารสามารถจัดการกองทุนให้ดีก็สามารถทำให้ยืนหยัดต่อไปได้” แต่ก็ยังตอบโจทย์ไม่ชัดนัก
ว่า ถ้าไม่เก็บดอกเบี้ยแล้วโอกาสทุนหมดก็มีได้ เพราะมั่นใจ “ผู้ที่กู้ไม่มีใครต้องการเบี้ยวหนี้ หากมีกำลังชำระ” เอาความสัตย์ซื่อแบบไทยๆ มาขย่ม ทว่าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงจะร่วมรัฐบาลเหมือนกันก็คิดต่าง ลองฟัง ส.ส.ตรัง สาทิตย์ วงศ์หนองเตย
บอก ที่ประชุมพรรค ปชป.ถกเรื่องนี้ได้ความว่า อย่าลืม “กยศ. คือกองทุนหมุนเวียน จึงจำเป็นต้องมีเงินหมุนเวียน เพื่อให้เด็กได้กู้ยืมต่อไปได้ ถ้ายกเลิกดอกเบี้ยไปแล้ว กองทุนนี้ก็จะ ‘ไม่’ เป็นกองทุนหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นปัญหามาก”
ส่วน กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ข้าวข้ามประเด็นนั้นไป ไหนๆ ก็โหวตเรียบร้อยแล้ว แต่ขอแนะนิดนะ ว่า “ที่ผ่านมากองทุน กยศ. มีแนวทางการบริหารงานแบบเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ทำให้ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการก่อตั้ง”
ซ้ำ “ยังมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการบริหารงาน ที่ยังไม่มีการตรวจสอบ” ดังนั้นต่อแต่นี้ไปให้มองมาตรการช่วยเหลือนักศึกษานี้ เสมือนเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษา “บริหารกองทุนบนหลักประกันความสำเร็จของนักศึกษา”
คือให้เรียนจบและมีงานทำแน่นอน รายได้พอจ่ายคืนเงินที่ยืมไปจากกองทุน อย่ามุ่งมั่นแต่จะบริหารกองทุนให้เป็นผลสำเร็จอย่างสถาบันการเงิน ซึ่งบังเอิญไปทางเดียวกับความเห็นของ เตอร์ ณธีภัสร์ kulsetthasith @nateepat_mfp
เขาว่า “ปัญหา กยศ.คือการเรียกเก็บเงินทันทีหลังเรียนจบ ๒ ปี โดยไม่สนใจว่าจะมีรายได้หรือไม่ ต่อให้ไม่คิดดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ก็จะเกิดหนี้สะสม...ตราบใดที่การชำระเงินคืนยังให้ความสำคัญกับเวลามากกว่าผู้กู้ สุดท้ายจะกลับมาสู่วังวนปัญหาเดิม”
กยศ.ต้องทำงานเชิงรุกมากกว่านี้ เช่น “ร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดหางานให้แก่ผู้กู้อย่างทั่วถึง เพื่อส่งเสริมให้ผู้กู้มีรายได้ให้ถึงเกณฑ์เสียภาษี” จะได้มีจ่ายคืนอย่างคล่องตัว ไม่ถูกฟ้องร้องบังคับคดีอย่างที่เป็นมา
(https://twitter.com/nateepat_mfp/status/1570091550868381697 และ https://prachatai.com/journal/2022/09/100515)