วันพฤหัสบดี, กันยายน 01, 2565

5 สาเหตุที่ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย


สหภาพโซเวียตล่มสลาย ในวันที่ 25 ธ.ค. ปี 1991

แคเทอรีนา คินคูโลวา และ โอลกา อิฟชินา
บีบีซี รัสเซีย
24 ธันวาคม 2021

25 ธ.ค. 1991 นายมิคาอิล กอร์บาชอฟ ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ หนึ่งวันหลังจากนั้น คือ 26 ธ.ค. รัฐสภาโซเวียต หรือ "โซเวียตสูงสุด" (the Supreme Soviet) ได้ให้การยอมรับรัฐเอกราชใหม่ 15 รัฐอย่างเป็นทางการ ถือเป็นการสิ้นสุดของสหภาพโซเวียต ธงรูปค้อนกับเคียว ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของหนึ่งในประเทศที่ทรงอำนาจมากที่สุดในโลก ได้ถูกเชิญลงจากยอดเสาพระราชวังเครมลิน ที่ทำการรัฐบาลสหภาพโซเวียตในกรุงมอสโก

นายกอร์บาชอฟ ขึ้นสู่อำนาจในปี 1985 ขณะมีอายุ 54 ปี เขาได้ริเริ่มการปฏิรูปต่าง ๆ เพื่อชุบชีวิตใหม่ให้ประเทศที่กำลังซบเซา

เปิดแฟ้มประวัติศาสตร์ การปฏิวัติรัสเซีย
ปฏิวัติรัสเซียปี 1917 ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกอย่างไร?
มิคาอิล กอร์บาชอฟ ชี้ชาติตะวันตกบ่อนทำลายปูติน

ทว่าหลายฝ่ายชี้ว่า การปฏิรูปเหล่านี้ ที่เรียกกันว่า "เปเรสตรอยคา" (perestroika) ซึ่งหมายถึงการปรับปรุงและการปรับโครงสร้าง และ "กลัสนอสต์" (glasnost) ซึ่งหมายถึง การเปิดกว้างและเสรีภาพในการพูด ได้นำความล่มสลายมาสู่สหภาพโซเวียต ขณะที่บางคนบอกว่า สหภาพโซเวียตนั้นอยู่ในสถานการณ์ที่เกินจะเยียวยา เนื่องจากระบบและโครงสร้างที่เข้มงวดตายตัว

ในบทความนี้เราจะพาไปสำรวจสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต และส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อการที่รัสเซียมองตนเอง และมีปฏิสัมพันธ์กับชาติอื่น ๆ ในโลก

1. เศรษฐกิจ

การล่มสลายของเศรษฐกิจคือ หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดของสหภาพโซเวียต ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจที่วางแผนจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกใช้กัน

ในสหภาพโซเวียต รัฐคือผู้ตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะผลิตอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น การผลิตรถยนต์กี่คัน รองเท้ากี่คู่ หรือขนมปังกี่แถว

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ตัดสินใจถึงความต้องการของพลเมืองแต่ละคน สินค้าควรมีราคาเท่าไหร่ และประชาชนควรได้รับค่าแรงมากแค่ไหน


ในช่วงปีท้าย ๆ ของสหภาพโซเวียต เกิดปัญหาขาดแคลนสินค้าจำเป็นขั้นพื้นฐาน และการที่ประชาชนเข้าคิวยาวเหยียดตามร้านค้าต่าง ๆ ก็เป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไป

ในทางทฤษฎี ระบบนี้จะมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม แต่ในความเป็นจริงกลับแทบจะใช้ไม่ได้ผล

จำนวนสินค้ามักไม่เพียงพอต่อความต้องการ และเงินก็แทบจะไม่มีความหมาย

แม้คนในสหภาพโซเวียตจำนวนมากไม่ใช่คนยากจน แต่พวกเขาก็ไม่อาจซื้อหาสินค้าที่จำเป็นได้ เพราะมักมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

การจะซื้อรถยนต์คนหนึ่ง คุณจะต้องลงชื่อรอซื้อนานหลายปี การจะซื้อเสื้อโค้ทกันหนาวสักตัว หรือรองเท้าบูทหน้าหนาวสักคู่ คุณจะต้องไปเข้าคิวนานหลายชั่วโมง แล้วท้ายที่สุดก็พบว่า ขนาดที่คุณต้องการซื้อถูกขายหมดไปแล้ว

คนในสหภาพโซเวียตมักไม่พูดเรื่อง "การซื้อ" ของบางอย่าง แต่จะพูดเรื่อง "การเสาะหา" ของต่าง ๆ มาใช้

สิ่งที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงก็คือค่าใช้จ่ายมหาศาลที่ทางการทุ่มเทไปในการแข่งขันสำรวจอวกาศ และการแข่งขันทางด้านอาวุธกับสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นช่วงปลายทศวรรษที่ 1950

สหภาพโซเวียตต้องพึ่งพารายได้จากทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ เช่น น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการแข่งขันเหล่านี้ ทว่าในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 ปัญหาราคาน้ำมันที่ตกต่ำลง ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วของสหภาพโซเวียต

นโยบาย "เปเรสตรอยคา" ของนายกอร์บาชอฟได้ริเริ่มหลักการตลาดบางอย่าง แต่เศรษฐกิจขนาดมหึมาของสหภาพโซเวียตก็ใหญ่เกินว่าที่จะปฏิรูปได้อย่างรวดเร็ว

สินค้าอุปโภคบริโภคยังคงขาดแคลน และอัตราเงินเฟ้อก็พุ่งสูงลิ่ว

ในปี 1990 ทางการเริ่มปฏิรูประบบการเงิน ซึ่งทำให้ประชาชนหลายล้านคนต้องสูญเสียเงินออมที่เก็บสะสมมาทั้งชีวิต จนทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจรัฐบาลเพิ่มขึ้นทุกขณะ

เรื่องนี้มีผลต่อสังคมยุคปัจจุบันอย่างไร

ปัญหาขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคได้ส่งผลกระทบอย่างยาวนานต่อความคิดของประชากรยุคหลังสหภาพโซเวียต

แม้กระทั่งปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ยังคงมีความกลัวที่จะใช้ชีวิตโดยขาดแคลนของใช้ที่จำเป็น มันคือความรู้สึกอันทรงพลังที่ทำให้ถูกชักจูงได้ง่ายระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง

2. อุดมการณ์

นโยบาย "กลัสนอสต์" ของนายกอร์บาชอฟ มีเป้าหมายในการให้คนในประเทศมีเสรีภาพในการพูดแสดงความคิดเห็นเพิ่มมากขึ้น หลังจากต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองที่กดขี่มานานหลายทศวรรษ ซึ่งผู้คนไม่กล้าที่จะพูดอย่างที่ใจคิด ตั้งคำถาม หรือพูดแสดงความไม่พอใจ

เขาเริ่มเปิดหอจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ที่เผยให้เห็นถึงความรุนแรงที่แท้จริงของการกดขี่ประชาชนภายใต้การปกครองของนายโจเซฟ สตาลิน (อดีตผู้นำโซเวียต ระหว่างปี 1924 - 1953) ซึ่งทำให้ประชาชนหลายล้านคนเสียชีวิต

นอกจากนี้ นายกอร์บาชอฟยังสนับสนุนให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับอนาคตและโครงสร้างอำนาจของสหภาพโซเวียต ว่าควรจะปฏิรูปอย่างไรเพื่อให้ประเทศมุ่งไปข้างหน้า

นายกอร์บาชอฟยังพิจารณาถึงแนวคิดเรื่องระบบการเมืองที่มีหลายพรรค ซึ่งเป็นการท้าทายพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองประเทศมายาวนาน


มิคาอิล กอร์บาชอฟ ได้รับเสียงชื่นชมในต่างแดน แต่ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากคนในประเทศ

แต่แทนที่ความริเริ่มดังกล่าวจะทำให้สังคมมีมุมมองต่อแนวคิดแบบโซเวียตเปลี่ยนไปเล็กน้อย ทว่าได้ทำให้ประชาชนจำนวนมากในสหภาพโซเวียตเชื่อว่า ระบอบการปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลทุกคนได้รับการแต่งตั้ง หรือมาจากการเลือกตั้งที่ไร้คู่แข่งนั้น เป็นระบอบที่ไม่มีประสิทธิภาพ กดขี่ และเปิดช่องให้เกิดการทุจริต

รัฐบาลของนายกอร์บาชอฟจึงเร่งนำหลักการด้านเสรีภาพและความเป็นธรรมบางอย่างเข้ามาใช้ในกระบวนการเลือกตั้ง แต่มันก็ยังไม่เพียงพอและสายเกินไปเสียแล้ว

เรื่องนี้มีผลต่อสังคมยุคปัจจุบันอย่างไร

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ตระหนักได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ถึงความสำคัญของการมีอุดมการณ์ของชาติที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะสำหรับรัฐบาลที่ไม่มีความโปร่งใสและเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์

เขาใช้ประโยชน์จากยุคสมัยต่าง ๆ ของรัสเซีย และอดีตอันรุ่งโรจน์ของสหภาพโซเวียตในการบ่มเพาะอุดมการณ์ความรักชาติ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการเป็นประธานาธิบดีของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นภาพความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิรัสเซีย ความกล้าหาญและความเสียสละในชัยชนะสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้การปกครองของสตาลิน และความสงบเรียบร้อยในยุคโซเวียตช่วงทศวรรษที่ 1970

เรื่องราวเหล่านี้ถูกหยิบมาผสมผสานกันเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจและรักชาติ แล้วมองข้ามปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรัสเซียยุคปัจจุบัน

3. แนวคิดชาตินิยม

สหภาพโซเวียตเป็นรัฐที่ประกอบด้วยหลายชนชาติ โดยมี 15 สาธารณรัฐ ซึ่งในทางทฤษฎีแต่ละรัฐต่างมีสิทธิที่เท่าเทียมกัน

ทว่าในความเป็นจริง รัสเซียคือชาติขนาดใหญ่และมีอิทธิพลมากที่สุด อีกทั้งภาษารัสเซียยังเป็นภาษาหลักที่ใช้ในหลายพื้นที่

นโยบาย "กลัสนอสต์" ของนายกอร์บาชอฟทำให้ชาติอื่น ๆ ในสหภาพโซเวียตได้รับรู้ถึงการกดขี่ทางเชื้อชาติในอดีต ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์มหาทุพภิกขภัยในยูเครน ช่วงทศวรรษที่ 1930, การยึดครองรัฐบอลติก และตะวันตกของยูเครนภายใต้การจับมือเป็นพันธมิตรของโซเวียตและนาซี ตลอดจนการเนรเทศกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2


กระแสชาตินิยมของคนในสาธารณรัฐต่าง ๆ ของสหภาพโซเวียต เช่น ยูเครน มีเพิ่มมากขึ้น หลังจากได้รับรู้เรื่องการกดขี่จากรัสเซีย

กรณีเหล่านี้ รวมถึงเหตุการณ์อื่น ๆ ทำให้เกิดกระแสชาตินิยม และการเรียกร้องในการปกครองตนเองมากขึ้น ส่งผลให้แนวคิดที่ว่า สหภาพโซเวียตเปรียบเสมือนครอบครัวใหญ่ที่เปี่ยมสุขนั้นต้องพังทลายลงอย่างราบคาบ และความพยายามของรัฐบาลนายกอร์บาชอฟในการปฏิรูปเพื่อให้อำนาจปกครองตนเองมากขึ้นแก่สาธารณรัฐเหล่านี้ก็ไม่เพียงพอและสายเกินไป

เรื่องนี้มีผลต่อสังคมยุคปัจจุบันอย่างไร

ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย ที่พยายามรักษาบทบาทและอิทธิพลของตนกับอดีตชาติในสหภาพโซเวียตยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน

ความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยปัญหาระหว่างรัฐบาลรัสเซียกับบรรดารัฐบอลติก และล่าสุดกับยูเครน ยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์ของยุโรปและประเทศอื่น ๆ

4. ความรักและศรัทธาจางหาย เมื่อประชาชน "ตาสว่าง"

เป็นเวลาหลายปีที่คนโซเวียตถูกพร่ำบอกว่าโลกตะวันตกนั้น "ฟอนเฟะ" และผู้คนที่นั่นต่างเผชิญความทุกข์ยากจากความแร้นแค้นและความตกต่ำภายใต้การปกครองของรัฐบาลระบบทุนนิยม

แต่แนวคิดนี้เริ่มถูกตั้งข้อสงสัยเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา เมื่อคนทั่วไปเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้น

พลเมืองโซเวียตเริ่มเห็นแล้วว่า มาตรฐานความเป็นอยู่ เสรีภาพส่วนบุคคล และรัฐสวัสดิการของประเทศอื่น ๆ นั้นดีกว่าในประเทศของตนเองมาก


มิคาอิล กอร์บาชอฟ (ซ้าย) ถ่ายภาพกับประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ เมื่อปี 1985 เขามักได้รับเสียงชื่นชมว่าเป็นบุคคลสำคัญในการยุติสงครามเย็น

พวกเขายังได้เห็นว่า ทางการโซเวียตพยายามซ่อนเรื่องต่าง ๆ จากพวกเขามานานหลายปี ด้วยการห้ามการเดินทางไปต่างประเทศ ห้ามฟังสถานีวิทยุต่างชาติ เช่น บีบีซี เวิลด์เซอร์วิส อีกทั้งยังเซ็นเซอร์วรรณกรรมและภาพยนตร์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ในสหภาพโซเวียต

นายกอร์บาชอฟได้รับเสียงชื่นชมในการยุติสงครามเย็น และหยุดยั้งภัยคุกคามจากการเผชิญหน้าทางอาวุธนิวเคลียร์ ด้วยการปรับปรุงความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก

ทว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจจากการปรับปรุงความสัมพันธ์นี้ ก็ทำให้พลเมืองโซเวียตได้ตระหนักว่าชีวิตของพวกเขาย่ำแย่เพียงใดเมื่อเทียบกับคนประเทศอื่น ๆ

นายกอร์บาชอฟได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในต่างประเทศ แต่กลับเผชิญเสียงวิจารณ์ในประเทศของตัวเอง

เรื่องนี้มีผลต่อสังคมยุคปัจจุบันอย่างไร

รัฐบาลรัสเซียมีความช่ำชองในการใช้ข้อความสื่อสารต่อมวลชนให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเอง

เพื่อหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบอันไม่พึงประสงค์กับประเทศอื่น ๆ ในโลก รัสเซียมักนำเสนอชาติตนเองในฐานะประเทศที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ เปรียบเสมือนนักรบผู้โดดเดี่ยว ที่ถูกห้อมล้อมไปด้วยผู้ไม่ประสงค์ดี

นอกจากนี้ สื่อรัสเซียยังมักนำเสนอเรื่องราวความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ ชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 และมรดกทางวัฒนธรรมในการกระตุ้นให้คนรัสเซียเกิดความรู้สึกว่าชาติของตนมีความพิเศษเหนือประเทศอื่น ๆ เพื่อให้ผู้คนมองข้ามปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

5. ภาวะผู้นำ

นายกอร์บาชอฟรู้ดีว่าจำเป็นต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อหยุดยั้งการล่มสลายของเศรษฐกิจสหภาพโซเวียตและขวัญกำลังใจของประชาชน แต่วิสัยทัศน์ในการบรรลุเป้าหมายนี้ของเขากลับไม่ชัดเจน

หลังสิ้นสุดสงครามเย็น นายกอร์บาชอฟได้กลายเป็นวีรบุรุษในสายตาคนต่างชาติ ทว่าในบ้านเกิดตัวเองเขาต้องเผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดานักปฏิรูปที่รู้สึกว่าเขาไม่ยอมใช้โอกาสที่มีอยู่ในการปฏิรูปประเทศให้ลุล่วง ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมมองว่าเขาทำมากจนเกินไป

นี่จึงทำให้เขากลายเป็นปรปักษ์กับทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายอนุรักษนิยมพยายามก่อรัฐประหารโค่นอำนาจเขา เมื่อ ส.ค. 1991


มิคาอิล กอร์บาชอฟ ในงานเลี้ยงอำลาตำแหน่ง เมื่อ 26 ธ.ค. 1991 เขาถูกมองว่าเป็นผู้นำที่กระตือรือร้น แต่ไม่กล้าตัดสินใจเด็ดขาด

แทนที่ความพยายามก่อรัฐประหารดังกล่าวจะช่วยกอบกู้สหภาพโซเวียตเอาไว้ได้ แต่มันกลับเป็นตัวเร่งไปสู่การล่มสลายแทน ไม่ถึง 3 วันหลังความพยายามก่อรัฐประหาร หัวหน้าคณะผู้ก่อการหลบหนีออกนอกประเทศ และนายกอร์บาชอฟได้กลับขึ้นสู่อำนาจ แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

นายบอริส เยลต์ซิน ที่อยู่ในรัสเซีย และผู้นำสาธารณรัฐอื่น ๆ ในสหภาพโซเวียตได้ผงาดขึ้นมา ทำให้ในอีกหลายเดือนต่อมา บรรดาสาธารณรัฐต่างจัดการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราช และภายในเดือน ธ.ค. ปีเดียวกัน สหภาพโซเวียตก็มาถึงจุดสิ้นสุด

เรื่องนี้มีผลต่อสังคมยุคปัจจุบันอย่างไร

วลาดิเมียร์ ปูติน คือหนึ่งในผู้นำรัสเซียที่ครองอำนาจยาวนานที่สุด

หนึ่งในความลับของการกุมอำนาจอันยาวนานของเขาคือ การให้ความสำคัญกับรัสเซียเป็นอันดับแรก

ในขณะที่นายมิคาอิล กอร์บาชอฟถูกวิจารณ์ว่า ยอมละทิ้งผลประโยชน์ของสหภาพโซเวียตหลายครั้งหลายครา เช่น การรีบถอนทหารโซเวียตออกจากเยอรมนีตะวันออก แต่นายปูตินจะกัดฟันต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขาเชื่อว่าเป็นผลประโยชน์ของรัสเซีย

เมื่อคราวเป็นสายลับเคจีบีที่ปฏิบัติหน้าที่ในเยอรมนีตะวันออกตอนที่กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย นายปูตินประสบกับตัวเองถึงความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากการถอนทหารของกองทัพโซเวียต

30 ปีให้หลัง เขาได้แสดงความต่อต้านอย่างแข็งกร้าวต่อการที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต จะรุกเข้าใกล้พรมแดนรัสเซีย พร้อมกับเตรียมรับมือเรื่องนี้ด้วยการเสริมกำลังทหารตามแนวชายแดนที่ติดกับยูเครน จนสร้างความหวั่นวิตกให้บรรดาผู้นำชาติตะวันตกว่าอาจเกิดสงครามที่อาจขยายวงเข้าไปในยุโรปได้