4 ปมปัญหาที่ยังไร้คำตอบหลัง 2 สัปดาห์คดี ส.ต.ท.หญิงทารุณอดีตทหารรับใช้
25 สิงหาคม 2022
ปรับปรุงแล้ว 2 กันยายน 2022
บีบีซีไทย
ประเด็นเกี่ยวกับ "อภิสิทธิชน" ของกลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหารเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา กำลังถูกสังคมตั้งคำถามอีกครั้ง หลังอดีตทหารหญิงรายหนึ่งได้ร้องทุกข์กับรายการ "โหนกระแส" ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา
เรื่องราวของเธอสร้างความสะเทือนใจต่อผู้ชมและสังคมกับการที่เธอถูกทำร้ายอย่างทารุณโดย ตำรวจหญิงในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสันติบาล (บช.ส.) ซึ่งพำนักใน จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นเสมือนนายจ้างของเธอเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี โดยในรายการดังกล่าวได้นำเสนอวิดีโอคลิปที่เธอถูกทำร้ายอย่างโหดร้าย พร้อมกับบรรยายลักษณะอาการบาดเจ็บที่ยังคงทิ้งรอยแผลฉกรรจ์ไว้หลายจุดทั่วร่างกาย
อดีตทหารหญิงคนดังกล่าวอ้างว่า เธอได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทหารในสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย ลักษณะต่างตอบแทนผ่านความช่วยเหลือของตำรวจหญิงคนดังกล่าว แต่ครอบครัวของอดีตทหารหญิงต้องจ่ายเงินราว 500,000 บาท เป็นค่าดำเนินการ หลังจากนั้นตำรวจหญิงได้ดำเนินการประสานงานตันสังกัดของอดีตทหารหญิงให้โอนเธอมาช่วยราชการและบังคับให้เธอมาทำงานอยู่ที่บ้านของ ส.ต.ท.หญิง
หน้าที่สำคัญของอดีตทหารหญิงรายนี้คือ ทำความสะอาดบ้าน ขับรถ ดูแลเรื่องอาหารการกิน และงานอื่น ๆ ตามที่เจ้าของบ้านเป็นผู้สั่งการ และต้องแบ่งเงินเดือนส่วนหนึ่งให้กับตำรวจหญิงเพื่อเป็นการตอบแทนอีกด้วย
สื่อหลายสำนักรายงานตามคำอ้างของอดีตทหารหญิงคนนั้นว่า ตำรวจหญิงที่อ้างว่าเป็นภรรยาของสมาชิกวุฒิสภารายหนึ่ง ยังเก็บเงินเดือนของเธอราวเดือนละ 5,300 บาท นอกจากนี้ หากเธอทำอะไรไม่ถูกใจก็จะถูกปรับเงินอีก 500-800 บาท และยังขอเงินจากการขายรถ 5 หมื่นกว่าบาทไปด้วย โดยอ้างว่าเป็นเงินค่าดำเนินการให้เป็นทหาร
ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของอดีตทหารหญิง เธอระบุว่า หากว่าทำไม่ถูกใจ เธอก็จะถูกทำร้ายร่างกาย เช่น ใช้ไม้หน้าสามตีตามเนื้อตัว ใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าช็อตตามร่างกาย ตลอดจนบังคับให้เธอลาออกจากทหารในเดือน พ.ค.
ในที่สุดเธอจึงขอความช่วยเหลือจากทางบ้าน เพื่อให้พาเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมือง เพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหาจนถึงที่สุด
เรื่องราวสุดสะเทือนใจของอดีตทหารรับใช้ถูกเปิดเผยครั้งแรกในรายการ "โหนกระแส"
ตำรวจหญิงคนดังกล่าวเป็นใคร
แม้ในรายการโหนกระแสวันที่ 18 ส.ค. จะไม่ได้ระบุชื่อของตำรวจหญิงที่ตกเป็นผู้ต้องหา ซึ่งเป็นนายจ้าง ผู้บังคับใช้แรงงานให้ดูแลรับใช้ และทำร้ายร่างกายอดีตทหารหญิง ในเวลาต่อมามีคำชี้แจงจากกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ซึ่งเป็นต้นสังกัดของตำรวจหญิงคนดังกล่าวว่า "ผู้ถูกกล่าวหา คือ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่กองกำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ปัจจุบัน ช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 (ส่วนหน้า)"
ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ปัจจุบันอายุ 44 ปี จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง ด้านบัญชี จากโรงเรียนพณิชยการแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี เธอได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจขณะที่มีอายุ 39 ปี นอกจากจะเป็นข้าราชการตำรวจแล้ว เธอยังทำหน้าที่ประสานงานให้กับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รายหนึ่งด้วย
ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ถูกดำเนินคดีอะไรบ้าง
หากไม่นับรวมโทษทางวินัย ตามที่หน่วยงานต้นสังกัดได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ในส่วนของคดีที่เกิดขึ้นจากการทำร้ายร่างกายอดีตทหารหญิงแล้ว พนักงานสอบสวน สภ. เมืองราชบุรี ยังได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ ส.ต.ท.หญิง กรศศีร์ ในข้อหา "ค้ามนุษย์จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส หรือเป็นโรคร้ายแรงซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต" ด้วย ตามความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6, มาตรา 6/1, มาตรา 13 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295
สำหรับอัตราโทษจากคดีค้ามนุษย์ จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส หรือเป็นโรคร้ายแรงซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 8–20 ปี และปรับตั้งแต่ 800,000-2,000,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจนเป็นเหตุให้ผู้กระทำถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต
ส.ต.ท.หญิง กรศศีร์ อยู่ระหว่างการถูกสอบสวน
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยของสังคมเกี่ยวกับที่มาที่ไปของตำรวจหญิงคนดังกล่าว ถึงการได้รับ "อภิสิทธิ์" ด้านอาชีพการงาน ว่า ผ่านระบบอุปถัมป์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงหรือไม่ อย่างการตั้งข้อสังเกตของ น.ส.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ผ่านสื่อมวลชนที่ว่า สิ่งเหล่านี้คือภาพสะท้อนของยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาที่กัดกินประเทศจากผลพวงของ “ระบบอุปถัมภ์” ที่เกิดขึ้นในหน่วยงานราชการในทุกระดับ ภายใต้ระบอบประยุทธ์ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา
บีบีซีไทยรวบรวม 4 ปมปัญหาและข้อสงสัยของสังคมต่อกรณีดังกล่าวดังนี้
ปมอ้างความสัมพันธ์กับ ส.ว.
หนึ่งในปมที่สังคมสนใจคือ ตำรวจหญิงผู้ต้องหาเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสมาชิกวุฒิสภารายหนึ่ง
กระแสสังคมกดดัน ส.ว. อย่างหนัก หลังจากดูเหมือนไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก ขณะที่นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาเรียกร้องในวันที่ 20 ส.ค. ให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีที่มีข่าวว่า ว่า ส.ว.คนนั้นเป็นใคร พร้อมแถลงให้สื่อมวลชนให้ประชาชนรับทราบ เนื่องจากเห็นว่าการที่ ส.ว. กระทำดังกล่าวถือว่าประพฤติผิดจริยธรรมร้ายแรงและจะรับผิดชอบกับผู้เสียหายและสังคมอย่างไร
ต่อมา พล.อ. สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา กล่าวถึงการสอบสวนคำร้องของนายวัชระ เพชรทองว่า ตามคำร้องไม่ได้ระบุผู้ถูกร้อง เรื่อง และข้อบังคับที่ผิด ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมข้อมูล และประสานกลับไปยัง นายวัชระ ฐานะผู้ร้อง ว่าร้องใคร เรื่องอะไร และผิดข้อบังคับใด ถ้าไม่ระบุผู้ถูกร้องแล้ว กรรมการไม่มีหน้าที่จะไปสอบสวน
ด้านนายวัชระ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ เจาะลึก ทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ วันที่ 30 ส.ค. ว่า เขาจะนำภาพของตำรวจหญิงที่เป็นข่าวที่มี ส.ว. ที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยเพื่อไปยื่นให้คณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภาตรวจสอบ
จากการรายงานของไทยพีบีเอสรายงานว่า เมื่อ 3 ปีก่อน ส.ต.ท.หญิง มีตำแหน่งหน้าที่อยู่ในคณะกรรมาธิการ ของวุฒิสภา อย่างน้อย 2 ชุด
- ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการฯ : จากบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบ และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ครั้งที่ 3/2562 ลงวันที่ 24 ก.ย. 2562 แต่งตั้งให้ ส.ต.ท. หญิง เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการฯ ตำแหน่งนี้ไม่ได้รับค่าตอบแทน และไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายใด ๆ ได้
- นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการ (กมธ.) : จากบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ ของวุฒิสภา มีมติแต่งตั้ง ส.ต.ท.หญิง เป็นนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ลงวันที่ 3 ต.ค. 2562 คำสั่งแต่งตั้งนี้ เกิดขึ้นห่างกันแค่ 9 วัน ในตำแหน่งนี้ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 6,000 บาท เบิกค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาดูงานและสัมมนาได้ ในกรณีที่ กมธ. มีมติเห็นชอบให้เดินทาง
เรื่องดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเมื่อวันที่ 31 ส.ค. นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือ กมธ.ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาฯ ร่วมกันแกลงเปิดชื่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้ง ส.ต.ท. หญิงคนดังกล่าว นอกจากนี้ กมธ.ฯมีมติเชิญบุคคลเข้ามาให้ข้อมูลและชี้แจงข้อเท็จจริงจำนวน 20 คน ที่เปิดเผยรายชื่อได้ ประกอบด้วย 3 รายชื่อ
- นายธานี อ่อนละเอียด ส.ว. ผู้มีชื่อปรากฏบนป้ายร่วมกับ ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ ทำบุญเป็นเงิน 120,000 บาท ติดอยู่บนคานศาลาอเนกประสงค์วัดบางลี่เจริญธรรม ต.โคกหม้อ อ.เมืองราชบุรี
- พล.ร.อ. ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ส.ว. ในฐานะอดีตประธาน กมธ.การกฎหมายฯ สนช. ที่ลงชื่อแต่งตั้ง ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ เป็นที่ปรึกษา กมธ.การกฎหมายฯ สนช.
- พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต กมธ.การกฎหมายฯ สนช.
- บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ สนช. ในการแต่งตั้ง ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ เป็นที่ปรึกษา
- บัญชีรายชื่อผู้ช่วยดำเนินงาน ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ชำนาญการของ ส.ว.
ในวันเดียวกัน นายธานี ได้ออกแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนว่าเคยรู้จักกับตำรวจหญิงคนดังกล่าวจริง แต่ขาดการติดต่อมานานแล้ว ส.ว. คนดังกล่าวยังชี้แจงว่ามี สถานะโสด หย่าร้างมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี โดยปฏิเสธอีกว่าไม่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ และพร้อมแสดงข้อเท็จจริงต่อการตรวจสอบ
ก่อนหน้านี้ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ ไทยแลนด์ วันที่ 23 ส.ค. พิธีกรสอบถามพล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ว่า ผู้ต้องหาจะเป็นผู้ประสานงานประจำตัวของ ส.ว. ด้วย อีกตำแหน่งหนึ่งใช่หรือไม่
ผู้ช่วย ผบ.ตร. ตอบว่า "ใช่ครับ ๆ ที่เขาให้การเขาก็บอกอย่างนี้ จากคำให้การ เขาบอกว่าเขาทำหน้าที่เรื่องนี้ด้วย แต่ผมยังไม่เห็นหนังสือนะครับ แต่เขายังทำหน้าที่ประสานงานด้วย"
ปมบรรจุราชการอายุเกิน 35 ปี
หลังจากสื่อมวลชนหลายสำนักที่เกาะติดคดีนี้ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตำรวจหญิงผู้ต้องหาในคดีนี้ไปแล้วว่า เธอเข้าสู่ตำแหน่งทางราชการได้เพียง 5 ปีเท่านั้น สังคมจึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ด้วยอายุแรกเข้ารับราชการตำรวจของเธอคือ 39 ปี เหตุใดเธอจึงผ่านการคัดเลือกมาได้ ทั้ง ๆ ที่ตามระเบียบได้กำหนดเพดานอายุไว้ที่ไม่เกิน 35 ปี
ต่อมาในวันที่ 23 ส.ค. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวอธิบายที่มาที่ไปของการบรรจุเข้ารับราชการตำรวจรายนี้ว่า เธอผ่านการคัดเลือกมาบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจตั้งแต่ปลายปี 2560 โดยสำนักงานงบประมาณและการเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สงป.ตร.) เป็นผู้พิจารณาว่าตำแหน่งของเธอเป็นคุณวุฒิที่ขาดแคลน จึงมีความจำเป็นจะต้องได้ตำรวจรายนี้มาปฏิบัติหน้าที่
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ส่วนประเด็นเรื่องการบรรจุเข้ารับราชการในอายุเกิน 35 ปีนั้น รองโฆษก ตร. อธิบายโดยอ้างเหตุผลของ สงป.ตร. ว่า แม้ว่าคุณสมบัติทั่วไปจะกำหนดว่า ผู้ที่สมควรบรรจุเข้ารับราชการต้องมีอายุไม่เกิน 35 ปี แต่ถ้าอายุเกินและมีเหตุผลความจำเป็นก็สามารถยกเว้นหลักเกณฑ์ และดำเนินการตามระเบียบได้
ในวันเดียวกัน พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบคดีอาญาทำร้ายร่างกายและค้ามนุษย์ ยอมรับผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9MCOT HD ถึงกรณีดังกล่าวว่า ในการสอบสวนตำรวจหญิงผู้ต้องหารายดังกล่าวก็ได้การในทำนองที่ว่ามีผู้ใหญ่เป็นผู้ฝากเข้าบรรจุราชการ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นผู้ใด
ปมการโอนตำแหน่งไปปฏิบัติภารกิจชายแดนใต้
อีกคำถามหนึ่งที่สังคมถกเถียง สืบเนื่องมาจากคำชี้แจงในวันที่ 18 ส.ค. ของกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ซึ่งเป็นต้นสังกัดของตำรวจหญิงคนดังกล่าว ว่า เธอช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
ต่อมาวันที่ 22 ส.ค. พล.ต. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพน้อยที่ 4 และ รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยอมรับว่า เธอย้ายมาช่วยงานจริง แต่หลังจากรับทราบเกี่ยวกับคดีดังกล่าวแล้ว ได้ทำหนังสือส่งตัว ส.ต.ท.หญิง คนดังกล่าว กลับต้นสังกัดทันที และระบุว่าการสอบสวนในคดีดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับ กอ.รมน.ภาค 4
สำหรับประเด็นการส่งตัวไปช่วยราชการในพื้นที่ชายแดนใต้ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ กล่าวในรายการ เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ในวันที่ 23 ส.ค. ว่า "ก็ต้องมีผู้บังคับบัญชาในการพิจารณา เพราะมีขั้นมีตอน (ในการดำเนินการ)"
อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวย้ำว่า เขาได้รับมอบหมายจาก ผบ.ตร. ให้ดำเนินการเฉพาะคดีอาญาเท่านั้น
ต่อมา 27 ส.ค. กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้เปิดเผยผลการตรวจสอบ กรณี ส.ต.ท. หญิงคนดังกล่าวพบว่า มีการกระทำความผิดตามพฤติกรรมละเมิดต่อระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่ใช้เป็นมาตรการควบคุมทางวินัยกำลังพลที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่ง ส.ต.ท.หญิง เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทั้ง 2 ข้อ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงได้ส่งตัวกลับต้นสังกัด ส่วนลงฑัณฑ์ตามฐานความผิดที่เกิดขึ้นนั้น เป็นหน้าที่ของหน่วยต้นสังกัดปกติ เป็นผู้พิจารณาดำเนินการ สำหรับในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เมื่อมีการตรวจสอบพบว่า ไม่ได้มีการปฏิบัติหน้าที่จริง แต่ได้การตอบแทนในสิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น เงินเพิ่มสู้รบ (พสร.) วันทวีคูณ และอื่น ๆ ก็ต้องดำเนินการเรียกคืน ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่ ส.ต.ท.หญิง ที่มาช่วยราชการจะต้องดำเนินการต่อไป
ปมการฝากพนักงานร้านกาแฟเป็นทหารและโอนมาเป็นผู้รับใช้
วันที่ 19 ส.ค. พล.ท. ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร ในฐานะโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย ชี้แจงสื่อมวลชนในข้อกังขาของสังคมนี้ว่า อดีตทหารหญิงบรรจุเข้ารับราชการทหารในสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทยเมื่อปี 2561 อย่างถูกต้อง และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบกระทรวงกลาโหม
โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทยยังยืนยันว่า การบรรจุพลเรือนเข้ารับราชการในสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทยไม่มีการเรียกรับเงิน หรือเรียกร้องผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น
บรรยากาศการสอบสวนอดีตทหารหญิง (คนกลาง)
ส่วนประเด็นที่อดีตทหารหญิงถูกขอให้ไปช่วยราชการที่บ้านพักของ พ.ต.ท.หญิง กรศศิร์ เป็นไปตามระเบียบการช่วยราชการ
"เมื่อส่วนราชการหรือหน่วยงานภายนอกขอมา และต้นสังกัดได้พิจารณาเห็นความจำเป็น ก็สามารถให้ไปช่วยราชการได้"
อย่างไรก็ตาม อดีตทหารหญิงได้รายงานขอลาออกจากราชการแล้ว โดยได้รับอนุมัติตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค.