วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 18, 2565

‘The Satanic Verses’ (โองการปีศาจ) หนังสือต้องห้าม แต่งโดย ซัลมาน รัชดี พูดถึงอะไร


The People
8h

ซัลมาน รัชดี: ผู้แต่ง ‘โองการปีศาจ’ ที่เป็นหนังสือต้องห้าม โดนตั้งค่าหัว ตกเป็นเป้าจนต้องหลบซ่อน ผู้มีแนวคิดให้ค่าเสรีภาพเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
.
“เมื่อสิ่งใดถูกแบน และผลักไสให้ไปอยู่ในซอกหลืบอย่างลับ ๆ มันจะยิ่งน่าดึงดูดใจ ยิ่งน่าสนใจมากขึ้น”
.
นั่นคือมุมมองความคิดของนักเขียนชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย นามว่า ‘ซัลมาน รัชดี’ (Salman Rushdie)
.
ซัลมาน รัชดี คือผู้แต่งนวนิยายอื้อฉาวเรื่อง ‘The Satanic Verses’ (โองการปีศาจ) หนังสือต้องห้ามที่ถูกแบนในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากเนื้อหาด้านในสร้างความไม่พอใจให้กับชาวมุสลิมบางกลุ่ม ซึ่งมองว่าดูหมิ่นศาสนาอิสลาม
.
รัชดีถูก ‘อยาตุลเลาะห์ รุฮอลเลาะห์ โคไมนี’ ผู้นำปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ประกาศ ‘ฟัตวา’ เป็นประกาศิตให้จับตายเขาตั้งแต่ปี 1989 และมีการตั้งค่าหัวไว้สูงกว่า 100 ล้านบาท (3.3 ล้านเหรียญสหรัฐ)
.
ด้วยเหตุนี้ นักเขียนที่ได้รับการยกย่องให้เป็นนักสู้ผู้ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก ต้องใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิต มีชีวิตแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ และย้ายที่อยู่อาศัยเพื่อหลีกเลี่ยงการปองร้ายเป็นระยะ
.
แม้ต่อมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ ‘โองการปีศาจ’ หลายคนจะถูกทำร้ายจนเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส แต่รัชดีสามารถหลีกหนีคำสั่งฆ่ามาได้นานกว่า 30 ปี จนกระทั่งเช้าวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 2022 นักเขียนในวัย 75 ปี ตัดสินใจเดินทางไปร่วมงานเสวนาที่เมืองชาทากัว (Chautauqua) ในมลรัฐนิวยอร์ก ของสหรัฐอเมริกา เขาถูกมือมีด วัย 24 ปี บุกจ้วงแทงบนเวทีจนได้รับบาดเจ็บสาหัส
.
เบื้องต้นแม้ตำรวจไม่ได้เปิดเผยแรงจูงใจในการก่อเหตุของมือมีดชาวอเมริกันเชื้อสายเลบานอน แต่หลายคนคิดตรงกันว่า สาเหตุหลักน่าจะมาจากความไม่พอใจในอดีตจากหนังสือ ‘โองการปีศาจ’ ของเขา
.
#โองการปีศาจ พูดถึงอะไร
.
“หัวข้อหนึ่งในหนังสือโองการปีศาจ คือการตั้งคำถามว่า มันเป็นไปได้หรือไม่ที่เทวดาจะทำเรื่องชั่วร้าย และเป็นไปได้หรือไม่ที่เรื่องดี ๆ จะมาจากกิจกรรมที่คุณอาจเรียกว่าปีศาจ” ซัลมาน รัชดี กล่าวถึงเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ระหว่างให้สัมภาษณ์ที่อินเดีย เมื่อปี 2012
.
‘โองการปีศาจ’ ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี 1988 มีความหนากว่า 500 หน้า เป็นนิยายเหนือจริงแนว post - modern ซึ่งมีตัวละครหลักสองคน คือ ‘จีบรีล ฟาริชตา’ (Gibreel Farishta) และ ‘ซาลาดีน ชัมชา’ (Saladin Chamcha) เป็นสัญลักษณ์ของ ‘เทวากับซาตาน’
.
เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกรุงลอนดอน ของอังกฤษ โดยซาลาดีน เป็นผู้อพยพชาวอินเดียที่มีประวัติคล้ายผู้เขียน เขาเป็นตัวแทนของ ‘ซาตาน’ ที่พยายามค้นหาตัวตนที่แท้จริงของตนเองในฐานะคนชายขอบกลางมหานครใหญ่ ส่วนจีบรีล เป็นดาราหนังอินเดียชื่อดังและเป็นตัวแทน ‘คนดี’ ที่เชื่อว่าตัวเองเป็นเทวดา ทว่า การกระทำของทั้งคู่กลับสวนทางกันจนทำให้เกิดคำถามว่า ใครกันแน่ คือ เทวาและซาตาน
.
นิวยอร์กไทมส์ บรรยายเนื้อหาในนิยายเล่มนี้ว่า จุดที่สร้างความไม่พอใจให้ชาวมุสลิมหลัก ๆ อยู่ในเรื่องราวการผจญภัยของจีบรีล ซึ่งเพ้อฝันว่าตนเองเป็นเทวทูตเกเบรียล ผู้รับสารจากพระเจ้า โดยในฝันของจีบรีล มีจุดที่ทำให้ชาวมุสลิมไม่พอใจดังนี้
.
ตัวละครนักธุรกิจที่กลายเป็นศาสดาชื่อว่า ‘มาฮูด’ (Mahound) ถูกมองว่า จงใจสื่อถึงศาสดามุฮัมมัด
.
ชื่อหนังสือ ‘โองการปีศาจ’ มาจากเรื่องราวในชีวิตของศาสดามุฮัมมัด ซึ่งนักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับในอดีตเคยบันทึกไว้ แต่นักวิชาการอิสลามรุ่นใหม่ตีตกไป และพยายามไม่ให้น้ำหนัก ทว่า หนังสือเล่มนี้กลับนำมาพูดถึงอีกครั้ง
.
‘ซัลมาน’ ตัวละครในความฝันของจีบรีล มีการเปลี่ยนแปลงคำพูดและความหมายในคัมภีร์อัลกุรอาน เพื่อทดสอบการรู้แจ้งของมาฮูด ซึ่งถือเป็นการท้าทายพระบัญชาของพระเจ้า
.
บรรดาโสเภณีในความฝันของจีบรีล มีชื่อตรงกับเหล่าศรีภรรยาของศาสดามุฮัมมัด ซึ่งชาวมุสลิมยกย่องให้เป็น ‘มารดา’ ของผู้นับถือศาสนาอิสลามทั้งมวล
.
‘โองการปีศาจ’ เป็นนิยายเล่มที่ 4 ของรัชดี หลังจากเขาสร้างชื่อในนิยาย ‘Midnight’s Children’ ที่ตีพิมพ์ในปี 1981 จนได้รับทั้งรางวัลบุคเกอร์ (Booker Prize) ในฐานะนวนิยายยอดเยี่ยมแห่งปีของอังกฤษ และทำให้ซัลมาน รัชดี กลายเป็นนักเขียนดาวรุ่งที่ทุกคนเฝ้าจับตา
.
รัชดีกล่าวว่า แม้ ‘โองการปีศาจ’ จะถูกโจมตีว่าลบหลู่ศาสนา แต่จุดประสงค์หลักที่เขาต้องการสื่อ คือความสลับซับซ้อนของสังคมยุคใหม่ในฐานะผู้อพยพชาวมุสลิมที่เดินทางไปปักหลักใช้ชีวิตในโลกตะวันตก
.
“สิ่งที่ต้องการบอกเล่า คือ ความอึดอัดกับการมีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย
.
“โลกของเรากำลังกลายเป็นโลกของผู้อพยพย้ายถิ่นฐานกันมากขึ้น เราก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากตรงโน้นนิด ตรงนี้หน่อย แม้ตัวจะอยู่ตรงนี้ แต่เราไม่เคยตัดขาดจากสถานที่ต่าง ๆ ที่เราเคยไปใช้ชีวิตมาได้เลย”
.
#จากบอมเบย์สู่ลอนดอน
.
ซัลมาน รัชดี เกิดวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ.1947 ที่เมืองบอมเบย์ (มุมไบ) ของอินเดีย หลังจากเขาออกมาลืมตาดูโลกได้เพียง 2 เดือน อินเดียก็ได้รับอิสรภาพจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ
.
ครอบครัวของรัชดี เป็นชาวมุสลิมจากแคว้นแคชเมียร์ พ่อของเขามีอาชีพทนายความและนักธุรกิจ ส่วนมารดาเป็นครู เขาถูกส่งไปเรียนหนังสือที่อังกฤษ ตั้งแต่อายุ 14 ปี จนเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในสาขาประวัติศาสตร์อิสลาม
.
รัชดีได้สัญชาติอังกฤษ และทำงานเป็นนักแสดงอยู่พักหนึ่ง ก่อนหันมาทำอาชีพนักเขียนบทโฆษณา และแต่งหนังสือนิยายไปพร้อมกัน เนื้อหาส่วนใหญ่ในนิยายเล่มแรก ๆ ของเขาเน้นนำเรื่องราวในจินตนาการมาผสมผสานกับเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ตามความถนัดที่เล่าเรียนมา
.
‘Midnight’s Children’ ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เขาก็นำประสบการณ์ส่วนตัวมาแต่งแต้มจินตนาการ จนกลายเป็นเรื่องราวของทารกชาวอินเดีย ซึ่งเกิดในเวลาเที่ยงคืน วันเดียวกับที่อินเดียได้รับอิสรภาพ และมีพลังวิเศษ สามารถส่งกระแสจิตสื่อสารกับทารกคนอื่น ๆ อีก 581 คนที่เกิดเวลาเดียวกัน ทำให้รับรู้ชะตากรรมของเด็กแต่ละคนที่เติบโตมาท่ามกลางความวุ่นวายของอินเดียยุคหลังอาณานิคม ซึ่งถูกแบ่งแยกออกเป็นสองประเทศกับปากีสถาน
.
#ใช้ชื่อปลอมหลบซ่อนตัว
.
หลังโด่งดังจาก ‘Midnight’s Children’ เพียง 7 ปี ซัลมาน รัชดี ออกหนังสือ ‘โองการปีศาจ’ จนถูกผู้นำศาสนาของอิหร่านประกาศจับตาย และเป็นเหตุให้ต้องใช้ชีวิตหลบซ่อนตามเซฟเฮาส์ ภายใต้การอารักขาของตำรวจอังกฤษตลอด 24 ชั่วโมงนานนับสิบปี จากนั้น เขาตัดสินใจย้ายไปสหรัฐฯ ในปี 2000 แต่ยังคงเฝ้าระวังตัวและไม่ค่อยปรากฏตัวในที่สาธารณะมากนัก
.
รัชดีบรรยายถึงชีวิตระหว่างหลบซ่อนในหนังสือ ‘Joseph Anton’ ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2012 ว่า เขาต้องใช้ชื่อปลอมตามชื่อหนังสือในการทำธุรกรรมเพื่อป้องกันคนแกะรอย ชื่อปลอมที่ว่าตั้งตามชื่อของ ‘โจเซฟ คอนราด’ และ ‘อันตอน เชคอฟ’ สองนักเขียนชื่อดังในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเขาชื่นชอบ
.
นอกจากนี้ รัชดียังบรรยายถึง ‘ฮิโตชิ อิการาชิ’ นักแปลชาวญี่ปุ่น ที่ถูกแทงเสียชีวิตในปี 1991 ขณะพยายามแปลหนังสือ ‘โองการปีศาจ’ เป็นภาษาญี่ปุ่น เช่นเดียวกับ ‘เอตโตเร่ คาปริโอโล’ นักแปลชาวอิตาลี และ ‘วิลเลียม นีการ์ด’ เจ้าของสำนักพิมพ์ในนอร์เวย์ ที่ถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เพราะพยายามเผยแพร่หนังสือของเขา
.
รัชดียอมรับว่า ชีวิตภายใต้การหลบซ่อนอันยาวนาน นอกจากจะทำให้ขาดอิสรภาพ ยังทำให้เขาต้องหย่าร้างถึง 2 ครั้ง กระนั้น เขายังคงยึดมั่นในหลักการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และไม่ต้องการให้ใครมาลิดรอนสิทธินี้
.
“มันช่างโชคร้ายที่ทุกวันนี้ คนเริ่มติดกับดักความเชื่อที่ว่า มันเป็นเรื่องถูกที่เราต้องจำกัดเสรีภาพในประเด็นเหมือนที่คุณบอกว่า ‘คนอื่นไม่ชอบสิ่งที่คุณพูด’
.
“ผมกำลังจะบอกว่า ถ้าคุณทำอย่างนั้น คงไม่มีใครพูดอะไรได้เลย เพราะทุกคนสามารถคัดค้านคนอื่นด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา ทำให้ไม่มีใครพูดอะไรได้ นั่นคือผลลัพธ์ของชุดความคิดดังกล่าว
.
“มันจะดีกว่าไหม หากเราอยู่ในโลกที่ปล่อยให้ทุกคนพูดอะไรก็ได้ ถ้าคุณไม่ชอบ คุณก็แค่พูดโต้ตอบกลับมา นั่นคือกระบวนการถกเถียงในสังคมที่เปิดกว้าง... สิ่งนี้แหละที่เรียกว่า ประชาธิปไตย”
.
#ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ
.
ก่อนถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บในมลรัฐนิวยอร์ก ซัลมาน รัชดี เคยแสดงทัศนะเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า เขาอยู่ฝ่ายสนับสนุนให้ทุกคนสามารถพูดอะไรก็ได้เต็มที่ ตราบใดที่ไม่มีการข่มขู่ใช้ความรุนแรงทำร้ายกัน แม้คำพูดนั้นจะเข้าข่าย ‘hate speech’ หรือวาทกรรมสร้างความเกลียดชังก็ตาม
.
“ผมตกผลึกทางความคิดแล้วว่า มันจะดีกว่าถ้าเราไม่ออกกฎหมายต่อต้าน ‘hate speech’ แม้ในขั้นเลวร้ายที่สุด เพราะเมื่อมันเกิดขึ้น คุณสามารถตอบโต้ได้ในที่แจ้ง ไม่ใช่ปล่อยให้ไปเกิดใต้พรมโดยไม่รู้ว่าอยู่หนใด”
.
รัชดียอมรับว่า ในโลกประชาธิปไตยด้วยกันก็มีมุมมองเรื่อง ‘hate speech’ แตกต่างกันไป อย่างการพูดจาเหยียดเชื้อชาติในอังกฤษเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ไม่ใช่ในสหรัฐฯ เพราะรัฐธรรมนูญอเมริกา ปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งนักเขียนผู้นี้ระบุว่า เขาเห็นด้วยกับแนวคิดตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ
.
เหตุผลที่รัชดี ยกขึ้นมาสนับสนุนแนวคิดนี้ คือการพูดคุยถกเถียงในที่แจ้งอย่างเปิดเผย สามารถจัดการและโต้ตอบได้ง่ายกว่าการบังคับให้ไปอยู่ใต้ดิน และสิ่งใดก็ตามที่กลายเป็นเรื่องต้องห้าม ของสิ่งนั้นจะยิ่งเพิ่มความเย้ายวนใจ น่าค้นหามากขึ้น
.
“ปัญหาของการแบนสิ่งต่าง ๆ ก็คือ คุณยิ่งทำให้มันน่าสนใจมากยิ่งขึ้น” รัชดีกล่าวย้ำ
.
สิ่งนั้นคงคล้ายกับหนังสือ ‘โองการปีศาจ’ ที่ยิ่งถูกแบน มันยิ่งกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เช่นเดียวกับนักเขียนเจ้าของหนังสือเล่มนี้ที่ชื่อ 'ซัลมาน รัชดี’ ซึ่งกลายเป็นบุคคลที่มีคนรู้จักในวงกว้าง ทั้งในฐานะ ‘ปีศาจ’ ของโลกผู้เคร่งศาสนา และ ‘เทวดา’ ผู้ยอมสละชีวิตเพื่อปกป้องสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของเหล่าเสรีชน
.
เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล
ภาพ: ซัลมาน รัชดี เมื่อปี 2019 และภาพปกหนังสือ Satanic Verses ฉบับพิมพ์โดย Viking Press ไฟล์จาก abebooks
.
#ThePeople #Culture #นักเขียน #หนังสือ #SalmanRushdie #อังกฤษ #อินเดีย #ซัลมานรัชดี
.....

Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล added a new photo to the album: Quotes and Musings.
21h ·

“มนุษย์เข้าใจตัวเองและก่อร่างสร้างอนาคตของตัวเองด้วยการถกเถียง ท้าทาย ตั้งคำถาม และพูดในสิ่งที่พูดไม่ได้ ไม่ใช่ด้วยการคุกเข่าต่อหน้าพระเจ้าหรือมนุษย์” - ซัลมาน รัชดี
จาก In Good Faith (1990) ยืมอ่านออนไลน์ได้จาก https://archive.org/details/ingoodfaith0000rush