วันศุกร์, สิงหาคม 19, 2565

เรื่องการต่อสู้ของ ทานตะวัน เพื่อ "ให้มีสิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างมนุษย์ปกติทั่วไป" จากศาลสั่งให้ติด EM เปลี่ยนจากอยู่ในคุกของกทม. มาเป็นอยู่ในคุกที่บ้าน


Sai Kunthika Nutcharus
8h

อาทิตย์นี้ไปยื่นคำร้องขอออกนอกเคหสถานให้น้องทานตะวันที่ศาลอาญารัชดา เพราะเด็กมาบอกกับเราว่าเขาอยากไปดูคอนเสิร์ต ที่จัดที่ลานคนเมือง เสาร์นี้
.
สรุปว่าผู้พิพากษาไม่ให้ เหตุคือกรณีตามคำร้องไม่มีเหตุจำเป็นที่จำเลยจะขอออกนอกเคหสถาน ให้ยกคำร้อง
.
น้องทานตะวัน คือเด็กผู้หญิงที่อดอาหารอยู่ในเรือนจำหลังจากศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระยะหนึ่ง คดีที่เธอโดนที่ศาลอาญา มาจากเหตุไลฟ์ขบวนเสด็จ รัฐฟ้องเธอเป็นคดี 112
.
เด็กได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
ครั้งนั้นต้องขอขอบพระคุณหลายๆฝ่ายที่มาช่วยกัน รวมถึงคุณพิธา ที่ออกหน้ามาเป็น "ผู้กำกับดูแล" และเอาตำแหน่งไปประกันเธอ
ช่วยชีวิตเด็กคนหนึ่งออกมาจากคุกได้
.
ในการปล่อยชั่วคราว ด้วยภาษาบ้านๆ ศาลได้สั่งให้มีเงื่อนไข:
1. ให้ติด EM
2. ห้ามออกนอกบ้านตลอดระยะเวลาที่ศาลให้ปล่อยชั่วคราว ยกเว้นได้รับคำอนุญาตจากศาล และถ้าเป็นกรณีป่วย ต้องแสดงใบรับรองแพทย์ต่อศาลภายในสามวัน
3. ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆอันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง
4. ห้ามกระทำการใดๆที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
5. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
-
เราคงไม่สามารถอภิปรายถึงเงื่อนไขแต่ละข้อได้อย่างละเอียดในโพสต์เฟสบุคโพสต์เดียว
.
แต่ดิฉันจะขอพูดถึงเงื่อนไขที่ทำให้ดิฉันกับตะวันยังคงต้องเจอกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งก็คือ ข้อ 2. *ห้ามออกนอกบ้านตลอดระยะเวลาที่ศาลให้ปล่อยชั่วคราว ยกเว้นได้รับคำอนุญาตจากศาล*
.
เพราะเนื่องจากมีคำสั่งเช่นนี้
เด็กจึงเปลี่ยนจากอยู่ในคุกของกทม.
มาเป็นอยู่ในคุกที่บ้าน
ซึ่งหลายฝ่ายคงมองว่าดีกว่า และสบายใจกว่า ทุกคนที่อึดอัดกลัวเด็กจะตายแต่ไม่มีความกล้าหาญที่จะทำอะไรก็พลอยสบายใจ ที่เด็กออกจากคุก(ในกทม.)มาอยู่ที่คุกที่บ้านได้
-
แต่ปัญหาที่ติดตามเป็นเงามาตลอด
ซึ่งดิฉันกับตะวันรู้ดี คือการต่อสู้อีกการต่อสู้หนึ่งในคดีนี้
"ซึ่งเริ่มตั้งแต่การสืบพยานของเธอยังไม่เริ่มด้วยซ้ำ"
-
นั่นก็คือการต่อสู้ เพื่อ "ให้มีสิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างมนุษย์ปกติทั่วไป"
-
เราสองคนเริ่มจากนัดกัน เพราะต้องไปยื่นคำร้อง เพื่อขอให้เธอได้ออกไปทำสิ่งต่างๆ
ตั้งแต่ไปตัดผม
ไปทำบัตรประชาชนใหม่
ไปซื้อเสื้อผ้า เครื่องเขียนเครื่องเรียน
ไปเรียน
-
คงมีแค่เราสองคนเท่านั้น ที่ทราบดีกว่า
เพียงเพื่อจะให้ได้สิ่งเหล่านี้ ที่คนปกติเค้าคิดว่าจะทำ ก็เดินออกมาทำได้
เราสองคนต้องพูดคุยกันรวมแล้วมากน้อยแค่ไหน
กี่นาที
กี่คำพูด
-
ปัจจุบัน แค่เฉพาะคำร้องขอออกนอกเคหสถานของตะวัน โดยตัวมันเองน่าจะแยกออกมาเป็นสำนวนได้เลย เพราะเริ่มเยอะแล้ว ก่อนจะสืบพยาน
-
ตะวันมาบอกกับดิฉันว่า อยากจะไปชมดนตรีสักครั้ง
"ไม่ทราบพี่ทรายคิดว่าจะมีโอกาสเป็นไปได้ไหมคะ"
-
ดิฉันตอบเด็กตามตรงว่า ไม่รู้และไม่มีความแน่ใจ
เพราะในความเห็นส่วนตัว ดิฉันว่ามันวิปริตตั้งแต่วันที่เค้าให้ออกจากคุก แต่ห้ามออกจากบ้าน 24 ชม.แล้ว
ดิฉันไม่แน่ใจว่า
ถ้าเด็กอยากจะไปเดินสยามกับเพื่อน
ผู้พิพากษาจะให้หรือไม่
ดิฉันไม่แน่ใจว่า
ถ้าเด็กอยากไปซื้อเครื่องสำอางค์ที่ห้าง watson ผู้พิพากษาจะให้หรือไม่
และดิฉันไม่แน่ใจว่า
ถ้าเด็กอยากจะไปเดินเล่นถ่ายรูปที่คลองโอ่งอ่าง
ผู้พิพากษาท่านจะสั่งให้หรือไม่
และเขาอนุญาตให้ลูกๆของเขาไปเจอเพื่อนๆไปชมดนตรีหรือไม่
หรือเขาก็ให้ลูกอยู่ที่บ้านตลอดกาลเช่นเดียวกันเพราะเป็นเรื่องที่ "ไม่มีความจำเป็น"
.
ส่วนตัวดิฉันคิดว่าทรรศนะเรื่องการเคารพศักดิ์และศรีของความเป็นมนุษย์ รวมไปถึงการเคารพซึ่งสิทธิที่จะแสวงหาความสุขความเจริญ หรือที่หลายๆรัฐธรรมนูญของประเทศอารยะเรียกๆกันใช้คำรวมๆว่า Menschenwürde หรือ Persuit of Happiness เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อคนๆหนึ่ง
.
ไม่ต่างกับอะไรที่เราจะต้องเลี้ยงต้นไม้ด้วยการให้น้ำและให้ปุ๋ย
.
เรื่องการให้ประกันตัวอย่างมีเงื่อนไข โดยการกำหนดเงื่อนไขออกมาในลักษณะนี้ ที่เด็กหลายๆคนต้องประสบและเจอ
บางครั้งก็เป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามว่า
หากปรากฎว่าเด็กไม่มีความผิดตามที่รัฐฟ้อง
ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ดูแล และชดเชยวันเวลาและโอกาสในชีวิตที่เยาวชนเหล่านี้จะต้องสูญเสียไป
คนติดคุก คุณยังมีกองทุนยุติธรรมให้เค้าไปหาค่าชดเชยทดแทน
แต่เด็กๆพวกนี้จะมีใครมารับผิดชอบเขา
.
พูดตามตรงการเอาเขามาไว้ที่บ้าน และต้องให้เขาขอออกไปนู่นไปนี่ตลอดมา ดิฉันสงสัยเช่นกันว่า
พวกเราในฐานะนักกฎหมายคิดว่าเรื่องนี้ถูกต้องตามทฤษฎีทางกฎหมายหรือไม่
-
ดิฉันสงสารเด็กทุกคน
ลูกความทุกคน
ที่ต้องมาเจอกับสภาวะแบบนี้
และรู้สึกนับถือทุกครั้งที่เรากอดคอกันไปยื่นคำร้อง และเมื่อถูกปฏิเสธ กลับเป็นเด็กที่ปลอมประโลมเรา
.
ตะวันจะพูดเสมอ "ไม่เป็นไรพี่ทราย"