กลัวว่าจะตายจริง ‘ศาลอาญากรุงเทพใต้’ ถึงได้ยอมให้ประกัน #บุ้ง กับ #ใบปอ หลังจากที่แกล้งกักขังมาเกิน ๙๐ วัน และน้องทั้งสองใจเด็ดอดอาหารประท้วงความอยุติธรรมกว่า ๖๐ วัน ท้ายที่สุดศาลก็ยังไม่มีเหตุผลอธิบายได้ว่าทำไมไม่ให้ประกัน
“ถ้าจะอ้างข้อกฎหมายก็เท่ากับประจานตนเอง” มันเป็นเช่นนี้จริงๆ ดังที่ Thanapol Eawsakul ชิงประจานศาลเสียก่อน คดีอื่นๆ ที่เอาไว้ใช้เตะถ่วงหน่วงเหนี่ยว ก็พลอยให้ประกันหมด คดีแชร์โพสต์จากเพจทะลุวังของใบปอ เรียก ๒ แสนแล้วปล่อย
คดีกิจกรรมที่กระทรวงสาธารณสุขของบุ้ง ศาลจังหวัดนนทบุรีขอแสนเดียวก่อนปล่อย ทั้งคู่เจอข้อแม้เฉกเช่นคดีของเยาวชนปฏิรูป-ปฏิวัติอื่นๆ ห้ามกระทำทำนองเดียวกับที่ถูกฟ้องอีก ห้ามออกนอกเคหสถาน ๑๙.๐๐-๖.๐๐ น. ห้ามออกนอกราชอาณาจักร
ใส่เครื่องตรวจจับการเดินทาง หรือกำไลข้อเท้า ‘อีเอ็ม’ และให้ไปรายงานตัวต่อศาลทุกๆ ๓๐ วัน เป็นต้น พอพ้นจากเรือนจำ น้องทั้งสองถุกนำตัวตรงไปโรงพยาบาลทันที คนอื่นๆ ที่ยังติดอยู่ในการคุมขัง หลายคนตกอยู่ในสภาพเดียวกัน คือเอาตัวไปขังไว้อย่างผิดกฎหมาย
‘กฎหมาย’ คำนี้ตีความต่างกันระหว่างพวกสวมครุยนั่งบนบัลลังก์ กับพวกปฏิบัติกฎหมาย (practice law) ตามหลักนิติรัฐ-นิติธรรมสากล สาวตรี สุขศรี รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ให้สัมภาษณ์ ‘ประชาไท’ ไว้ว่า ตลก.คดี ม.๑๑๒ เหล่านั้นบดบี้ กม.กันอย่างไร
ข้ออ้างที่ใช้กันจนเฝือเพื่อไม่ให้ประกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งที่ยังไม่ได้พิจารณาคดี ก็คือ “เคยทำผิดแล้วมาทำผิดซ้ำอีก...อันนี้ไม่ชอบด้วยหลักการปล่อยชั่วคราวด้วยประการทั้งปวง” โดยเฉพาะ “คำว่า (จะไป) ก่อเหตุอันตรายประการอื่น” อจ.สาวตรี ว่า
“แม้ผู้ถูกกล่าวหาครั้งใหม่ จะเคยถูกตัดสินความผิดในฐานนี้มาแล้ว นั่นไม่ใช่เครื่องการันตีหรือยืนยันได้ดดยอัตโนมัติ” ว่าการถูกกล่าวหาครั้งนี้จะมีความผิดเหมือนครั้งก่อน หรือจะไปทำผิดแบบเดิมอีก “เขาอาจจะถูกกลั่นแกล้ง” ก็ได้
ข้อสำคัญ หลักฐานหัวใจของกระบวนการยุติธรรมแท้จริงอยู่ที่ “สันนิษฐาน (ไว้ก่อน) ว่าบุคคลต้องบริสุทธิ์ หรือ ‘presumption of innocence’ ยังคงใช้ได้ทุกกรณี ไม่ว่าคุณจะทำความผิดมากี่ครั้งแล้วก็ตาม” การได้ประกันตัวเป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา
“จริงๆ แล้ว มันควรต้องตีความให้ชัดเจน ว่าวงเล็บนี้ (๑๐๘/๑ วงเล็บ ๓) มีแนวคิดมาจากเรื่องการป้องกันอันตรายต่อชุมชน” กระบวนความผิดในลักษณะดังกล่าว “จะต้องเป็นอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง” อาจจะเป็นฆาตกรรม หรือก่อการร้าย
อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา มธ. ยังกล่าวถึงการกำหนดข้อแม้ต่างๆ มากมาย ให้กับผู้ได้รับการประกันปล่อยตัวชั่วคราว ศาล “ตั้งเงื่อนไขให้เป็นภาระอย่างหนัก เสมือนตัดสินไปแล้วว่าการกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นผิดกฎหมาย”
พูดกันปากเปียกปากแฉะอย่างนี้กันมาไม่รู้กี่ครั้งกี่หน ศาลทั่นได้แต่มึนชา ไม่เคยสำเหนียกว่าพวกตนนั่นเองที่ทำลายระบบยุติธรรม ตราบเท่าที่ได้ถวายความจงรักภักดี ด้วยศรัทธาอันมืดบอดต่อ Monarchy ในความหมายที่ ‘จอจอ’ มุสาไว้
มันไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างที่เขาหลอกลวง แต่เป็นระบบเอารัดเอาเปรียบที่ล้าหลัง ซึ่งวันใดวันหนึ่งไม่ช้าจะถอยกลับไปสมทบกับสิ่งปรักหักพังทางประวัติศาสตร์ อันมีไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชมเป็นอุทธาหรณ์
(https://prachatai.com/journal/2022/08/99838 และ https://twitter.com/TLHR2014/status/1555108256779239424)