เหอ เหอ ภูมิปัญญา จปร. (จันอะไร ไป เรื่อยๆ) ผบ.ทบ.พูดถึง #ไฟใต้ ตอนนี้ พูดไปหัวร่อไป “แต่ก่อนเยอะกว่านี้” นะ “เหตุการณ์เผา-ระเบิดใน #3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ๑๗ จุดในคืนเดียว” ขี้ปะติ๋ว กำลังสืบสวนอยู่
ดีแต่ว่าไม่ค่อยเกี่ยวเรื่องจัดสรรงบประมาณที่ตีกินอย่างเดียว เพียงพอแล้ว “หน่วยงานที่รายได้เยอะและมีปัญหาเรื่องเงินนอกงบประมาณมากที่สุดคือ #กระทรวงกลาโหม” ซึ่งส่วนหนึ่งมากน้อยเท่าไรไม่รู้ แต่เอาไปใช้สำหรับ “สวัสดิการของกองกำลัง”
เสริมนิด นั่นเฉพาะที่ยศนายพล หรือใกล้เคียง เรียกในภาษาราชการว่า “บุคลากรระดับสูง”เป็นสวัสดิการประเภท ‘สนามกอล์ฟ’ ไรเงี้ย และนี่เป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่งที่กรรมาธิการรัฐสภาค้นพบว่า รัฐบาลนี้กำลังเล่นแร่แปรธาติกับเงินงบประมาณแผ่นดินแสนเพลิน
‘ว้อยซ์ทีวี’ รายงานไว้ถ้วนถี่มาก ว่าองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนค้นพบอะไรบ้าง นอกจากประเด็นหนี้สาธารณะ สะสมมาถึงจุดนี้ ๑๐ ล้านล้านบาท และครึ่งหนึ่ง (คือ ๕ ล้านล้าน) เป็นผลงานชุด ‘ตู่อยู่ยาว’ ๘+ ปี แล้วจะต่ออีก ๓-๕ ปี
บวกค่าดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ (มาใช้หนี้เงินกู้อีกก้อน) ตก ๑๐% (๗+๓) ของงบประมาณ แล้วยังรายจ่ายค่าดอกเบี้ย ‘รีไฟแน้นซ์’ หรือปรับโครงสร้างหนี้ ที่ลดอัตราดอกเบี้ย แต่ยืดเวลาผ่อนจ่าย เฉพาะส่วนนี้เท่ากับ ๑๐% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ถ้ายังคิดว่า ‘อ่วมอรทัย’ ไม่พอ ก็ดูนี่ ยังมีหนี้วับๆ แวมๆ ที่เรียกว่า #ซุกหนี้ ในส่วนที่ไปกู้ยืมจากรัฐวิสาหกิจต่างๆ เอามาโปะนโยบายช่วยประชา หรือใช้อีลุ่ยฉุยแฉกใดๆ อีก ๑.๑ ล้านล้านบาท รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ บางแห่งไม่ใช่เรื่องการทำธุรกิจโดยตรง
ถ้าทำธุรกิจก็จะมีรายได้มาจุนเจือบ้าง แต่องค์กรอย่าง ธกส.ซึ่ง “ระบุว่า อีกไม่เกิน๕ ปี หนี้จะพุ่งเป็น ๑ ล้านล้านแล้ว ถามว่า ธกส.เอาเงินจากไหน” ตอบ “ก็คือเงินฝากของประชาชนที่หมุนมาให้รัฐบาลกู้ยืมสำหรับทำนโยบายภาคเกษตร”
และนั่นไม่ใช่ ‘อัฐยายซื้อขนมยาย’ หรอกนะ แต่เป็นการเอาเงินของยายมาบริจาคให้ยาย เพื่อไว้ทวงบุญคุณ หนี้ซุกซ่อนจากกองทุนน้ำมัน หรือกองทุนประกันวินาศภัย ก็เข้าข่ายยายๆ เดียวกัน หนักกว่านั้นเป็นหนี้ที่ต๊ะไว้จากกองทุนประกันสังคม
ขณะนี้อยู่ที่ ๖๑,๐๐๐ ล้านบาท เอาไปคุยได้อีกว่าน้อยกว่าเมื่อสองปีที่แล้วเยอะเลย คือลดมาจากตัวเลข ๙ หมื่นล้านเมื่อปี ๖๓ ยังมีการใช้งบประมาณอีกอย่างที่คล้ายคลึง ไม่ได้เรียกว่า ‘หนี้’ แต่เอาเงินที่อื่นมาใช้เหมือนกันคือ กองทุนสวัสดิการ
ชื่อเก๋ไก๋ #กองทุนพลังประชารัฐ ซึ่ง “ปีๆ หนึ่งจะใช้ประมาณ ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ปีไหนโดนตัดงบก็จะไปใช้งบกลางแทน” และปี ๖๖ ที่จะถึงนี่ตั้งไว้ให้ดูดีว่าประหยัด แค่ ๓๕,๐๐๐ ล้านบาท แต่แล้วก็ไปชักงบกลางมาเติมเต็มอยู่ดี
ล่าสุดพบลูกไม้ใหม่ ในการจัดสรรงบประมาณให้แก่บางกระทรวง เอาไปผ่องถ่ายลงพื้นที่จังหวัดที่เป็นเขตครอบครองของพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง เขตพิเศษเหล่านี้มีด้วยกันราว ๗ จังหวัด ฟาดงบประมาณรวมกัน ๒๐-๓๐% ของทั้งประเทศ
เมื่อสามเดือนก่อนพรรคก้าวไกลตรวจสอบในสภาว่า งบคมนาคม ซึ่งมีพรรคภูมิใจไทยเป็นรัฐมนตรีนั้น ‘ชิดชอบ’ จังหวัดบุรีรัมย์เป็นพิเศษ “งบซ่อมถนนสูงลิ่ว เกินค่าเฉลี่ย ๔.๒๙ เท่า” ด้วยกลเม็ดแบ่งงบ “เป็นเบี้ยหัวแตก” แยกออกเป็นโครงการย่อยๆ
แต่ละโครงการขนาดงบประมาณน้อยกว่า ๑๐๐ ล้านบาท แต่ว่ามีด้วยกัน ๑,๘๒๕ โครงการ เท่ากับ ๗๑% ของโครงการทั่วประเทศทั้งหมด ๒,๕๖๙ โครงการ คิดดูแล้วกัน ฟาดงบประมาณไปเกือบ ๒ แสนล้านบาท
(https://www.facebook.com/VoiceOnlineTH/posts/pfbid0A3s1Z และ https://www.matichon.co.th/politics/news_3375869)