ท่ามกลางความขัดแย้ง "ไต้หวัน" สู้เพื่อเป็นประเทศเสรี เขาสร้างประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของตนเองอย่างไร?
โดย นุชจรี ใจเก่ง
4 สิงหาคม พ.ศ.2565
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2546
ใต้หวันเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 หรือราว 400 ปีก่อน โดยนักเดินเรือชาวโปรตุเกส ในนามของ Ilha Formosa และในเวลาเพียง 400 ปี ก็พัฒนาตนเองจนกลายเป็นประเทศที่ทันสมัย มีระบบเศรษฐกิจดีในระดับโลก จนได้รับการยกย่องจาก WTO ในปี ค.ศ. 2001
ปัจจุบัน (2003-กองบก.ออนไลน์) ไต้หวันมีสถานภาพเป็นเขตปกครองตนเองไต้หวัน ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน และพยายามต่อสู้เรียกร้องเพื่อเป็นประเทศเสรี ในทางวัฒนธรรมไต้หวันต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นตัวของตัวเอง หรืออัตลักษณ์ขึ้นใหม่ ภายหลังการตกเป็นเมืองขึ้นตลอด 400 ปีที่ผ่านมา
คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้นว่า ท่ามกลางความขัดแย้งเช่นนี้ ไต้หวันสร้างประวัติศาสตร์ของตนเองอย่างไร?
โดย นุชจรี ใจเก่ง
4 สิงหาคม พ.ศ.2565
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2546
ใต้หวันเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 หรือราว 400 ปีก่อน โดยนักเดินเรือชาวโปรตุเกส ในนามของ Ilha Formosa และในเวลาเพียง 400 ปี ก็พัฒนาตนเองจนกลายเป็นประเทศที่ทันสมัย มีระบบเศรษฐกิจดีในระดับโลก จนได้รับการยกย่องจาก WTO ในปี ค.ศ. 2001
ปัจจุบัน (2003-กองบก.ออนไลน์) ไต้หวันมีสถานภาพเป็นเขตปกครองตนเองไต้หวัน ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน และพยายามต่อสู้เรียกร้องเพื่อเป็นประเทศเสรี ในทางวัฒนธรรมไต้หวันต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นตัวของตัวเอง หรืออัตลักษณ์ขึ้นใหม่ ภายหลังการตกเป็นเมืองขึ้นตลอด 400 ปีที่ผ่านมา
คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้นว่า ท่ามกลางความขัดแย้งเช่นนี้ ไต้หวันสร้างประวัติศาสตร์ของตนเองอย่างไร?
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ : The Land Before Colony
ก่อนการอพยพเข้ามาของชาวฮั่นและชาติตะวันตก ไต้หวันมีมนุษย์อาศัยอยู่ก่อนแล้ว
หลักฐานมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดของไต้หวัน คือ ฟอสซิลฟันและชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะมนุษย์ซึ่งพบที่ Tainan เมือง Tso-chen อายุราว 20,000-30,000 ปีมาแล้ว แต่มนุษย์กลุ่มที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ไต้หวันกลับเป็นพวกออสโตรนีเชียน ซึ่งพบหลักฐานว่าเดินทางเข้ามายังไต้หวันในช่วงปลายยุคหินเก่าและต้นยุคหินใหม่ในราว 5,000 ปีก่อน
เชื้อสายของชาวออสโตรนีเชียนในปัจจุบันได้เล่าขานถึงตำนานความเป็นมาของพวกตนไว้มากมาย แต่นักวิชาการเชื่อว่า พวกออสโตรนีเชียนมีต้นกำเนิดอยู่ทางตอนเหนือของพม่า แล้วอพยพไปตามแม่น้ำแยงซีเกียงในจีน ต่อมาจึงเคลื่อนย้ายลงสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเกาะไต้หวันทางทิศตะวันออก
แต่ไม่ว่าพวกเขาจะมีต้นกำเนิดจากที่ใดก็ตาม ชาวออสโตรนีเชียนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานวัฒนธรรมพื้นเมืองไต้หวันตั้งแต่สมัยหินใหม่ และสืบเนื่องมาทางชนพื้นเมืองดั้งเดิมจนถึงปัจจุบัน
จากบันทึกของชาวยุโรปที่เข้ามาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 กล่าวว่ามีชนพื้นเมืองมากกว่า 20 เผ่าบนเกาะไต้หวัน แต่ในปัจจุบัน หลงเหลืออยู่เพียง 10 เผ่า จำนวนประมาณ 400,000 คน หรือต่ำกว่า 2% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น และส่วนใหญ่ถูกผสมกลมกลืนจนกลายเป็นชาวฮั่นเสียแล้ว
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ของไต้หวันจบลงพร้อมกับการเข้ามาของชาวยุโรปในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16
๑ หนังสือพิมพ์สองภาษา พิมพ์ในขณะอยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่น เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์สำคัญที่เก็บรักษาไว้รอการค้นคว้า
๒ แผนที่เกาะไต้หวัน ฝีมือชาวฮอลันดา แสดงให้เห็นว่ามีชนพื้นเมืองมากกว่า ๒๐ เผ่าอาศัยอยู่บนเกาะไต้หวัน
๓ ภาพเขียนป้อมซีแลนเดียว ในปี ค.ศ. ๑๖๒๔ ชาวฮอลันดาสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าและการเผยแพร่ศาสนาคริสต์
๔ เศษภาชนะดินเผา หลักฐานโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในแหล่งโบราณคดีกว่า ๑,๓๐๐ แห่งบนเกาะไต้หวัน
ชาวยุโรปและการเริ่มต้นสมัยประวัติศาสตร์ในไต้หวัน
ชาวยุโรปชาติแรกที่รู้จักไต้หวันคือนักเดินเรือชาวโปรตุเกส แต่ชาวยุโรปที่สนใจไต้หวันอย่างจริงจังกลับเป็นชาวฮอลันดา
ฮอลันดาให้ความสำคัญกับไต้หวันมาก เพราะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญบนเส้นทางการค้าระหว่างจีน ญี่ปุ่น และสเปนซึ่งครอบครองฟิลิปปินส์อยู่ในขณะนั้น ฮอลันดาเข้ามาตั้งบริษัทดัตช์อินเดียตะวันออก บนเกาะไต้หวันในปี ค.ศ. 1624 เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มิชชันนารีชาวฮอลันดายังเป็นผู้ริเริ่มใช้ “ภาษาเขียน” บนเกาะไต้หวัน โดยการเขียนภาษาพื้นเมืองด้วยอักษรโรมัน และใช้พิมพ์คัมภีร์ไบเบิลเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสมัยประวัติศาสตร์ของไต้หวัน
สเปนก็เป็นอีกชาติที่พยายามครอบครองไต้หวัน แต่ไม่สามารถทำได้มากนัก เพราะนอกจากจะถูกขัดขวางจากฮอลันดาแล้ว ยังถูกโจมตีโดยชนพื้นเมืองและล้มตายเพราะโรคภัยไข้เจ็บ สเปนจึงสามารถเข้ามาครอบครองตอนเหนือของเกาะไต้หวันได้เพียง 16 ปีเท่านั้น ในขณะที่ฮอลันดายึดครองอยู่ได้นานถึง 38 ปี
ฮอลันดายังมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของไต้หวัน จากการผลิตแบบยังชีพให้เป็นการผลิตเพื่อการค้า ฮอลันดาเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรด้วยการนำเข้าวัวจากอินเดียมาเป็นแรงงานในภาคเกษตรแทนแรงงานคน และชักจูงให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาปลูกอ้อยในไต้หวัน เพื่อใช้ผลิตน้ำตาลเป็นสินค้าออก ชาวจีนซึ่งอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากจึงมีบทบาทสำคัญที่ทำให้อ้อยและข้าวกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไต้หวันต่อมา
ฮอลันดาจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานเศรษฐกิจของไต้หวัน และเป็นผู้ชักจูงให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่อพยพมายังไต้หวัน และเกิดการผสมกลมกลืนระหว่างวัฒนธรรมจีนกับชนพื้นเมืองมากขึ้น
ใต้ร่มเงาจักรวรรดิญี่ปุ่น
หลังจากขับไล่ฮอลันดาออกไปแล้ว ไต้หวันกลายเป็นส่วนหนึ่งของจีน และถูกยกให้ญี่ปุ่นในการเจรจาสนธิสัญญา Shimonoseki ในปี ค.ศ. 1895 เพื่อสงบศึกระหว่างทั้งสองประเทศ
เมื่อเข้าครอบครองไต้หวันในช่วงแรก ญี่ปุ่นถูกต่อต้านอย่างรุนแรง แต่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ด้วยกำลังทหาร สามารถจัดตั้งรัฐบาล และกองกำลังตำรวจเพื่อรักษากฎหมายอย่างเข้มงวด
ญี่ปุ่นพยายามใช้นโยบายที่โอนอ่อนผ่อนตามในการปกครองไต้หวัน และจารีตต่างๆ ในวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองด้วย
สาเหตุของความโอนอ่อนนี้ เกิดจากความต้องการที่จะผนวกไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่นอย่างถาวร เพื่อเป็นตลาดรองรับสินค้าจากญี่ปุ่น และเป็นพื้นที่รองรับประชากรที่แออัดบนเกาะ ญี่ปุ่นจึงเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคพื้นฐานในไต้หวัน และอาศัยการมีรากฐานวัฒนธรรมเดียวกันระหว่างจีน ญี่ปุ่น และไต้หวันเป็นเครื่องมือสำคัญในการผนวกดินแดน
ญี่ปุ่นพยายามครอบงำไต้หวัน และทำลายวัฒนธรรมพื้นเมือง ด้วยการออกกฎหมายควบคุม บังคับใช้หลักสูตรการศึกษาของญี่ปุ่น ประกาศห้ามใช้ภาษาท้องถิ่น และห้ามประกอบพิธีกรรม หรือประเพณีพื้นเมือง ผลคือชาวไต้หวันเริ่มปฏิเสธความเป็นตัวของตัวเอง ด้วยการเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่งกายแบบญี่ปุ่น และกินอาหารญี่ปุ่น
แต่ความพยายามครั้งนั้นก็ต้องสูญเปล่าเมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และไต้หวันกลับมาอยู่ใต้การปกครองของจีนอีกครั้ง
ถึงแม้ญี่ปุ่นจะไม่ประสบความสำเร็จในการยึดครองไต้หวัน และเปลี่ยนชาวไต้หวันให้กลายเป็นชาวญี่ปุ่น แต่การปกครองไต้หวันเป็นเวลา 50 ปี ก็ส่งผลให้ชาวไต้หวันปฏิเสธความเป็นจีน รัฐบาลก๊กมินตั๋งจึงต้องพยายามทำลายความคิดนิยมญี่ปุ่น และฟื้นฟูความเป็นจีนขึ้นในหมู่ชาวไต้หวันอีกครั้ง
แล้วอะไรคือไต้หวัน?
กว่า 400 ปีของการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติมหาอำนาจต่างๆ ไต้หวันในปัจจุบันมีสถานะเป็นเขตปกครองตนเองภายใต้อำนาจของจีน พยายามเรียกร้องเอกราชและสิทธิในการเป็นสมาชิกสหประชาชาติด้วยวิธีการต่างๆ
ประวัติศาสตร์ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ในการต่อสู้
ปัญหาสำคัญของไต้หวัน คือ ที่ผ่านมาการศึกษาประวัติศาสตร์จะขึ้นอยู่กับเจ้าอาณานิคมเป็นสำคัญ เมื่อตกอยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่น พวกเขาก็ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และเมื่ออยู่ใต้การปกครองของจีน พวกเขาก็ถูกบังคับให้ศึกษาประวัติศาสตร์จีน จึงทำให้เกิดปัญหาว่าอะไรคือประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของไต้หวัน
(บน) ชาวออสโตรนีเซียน คนพื้นเมืองดั้งเดิมของไต้หวันที่เข้ามาตั้งแต่ ๕,๐๐๐ ปีก่อนและบางส่วนสืบเชื้อสายมาจนถึงปัจจุบัน
(ล่าง) ห้องจัดแสดงวัฒนธรรมชนพื้นเมืองไต้หวันในพิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์แห่งชาติ ได้รับความสนใจมากภายหลังกระแส “ท้องถิ่นนิยม”
นักโบราณคดีมีบทบาทในการศึกษาประวัติศาสตร์ไต้หวันมากขึ้น สาเหตุคือไต้หวันมียุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีการค้นพบหลักฐานโบราณคดีจำนวนมาก และเชื่อว่าเป็นสมัยที่ไต้หวันมีเอกราช ไม่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของใคร ชาวออสโตรนีเชียนซึ่งเข้ามาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และยังสืบเชื้อสายมาถึงคนพื้นเมืองในปัจจุบัน กลายเป็นกลุ่มชนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานวัฒนธรรมไต้หวัน ในหลายปีที่ผ่านมาเกิดการเรียกร้องสิทธิชนพื้นเมืองมากขึ้น จนเกิดเป็นกระแส “ท้องถิ่นนิยม” เรียกร้องให้ฟื้นฟูวัฒนธรรมพื้นเมือง เช่นการสักหน้าของชาวอตายาล
ในขณะเดียวกันนักวิชาการไต้หวันก็พยายามศึกษาประวัติศาสตร์จากมุมมองของชาวไต้หวันมากขึ้น และผลักดันให้มีหลักสูตรการศึกษาที่อธิบายถึงประวัติศาสตร์ของไต้หวัน ด้วยมุมมองของชาวไต้หวันอย่างแท้จริง ไม่ใช่ในฐานะส่วนปลีกย่อยของประวัติศาสตร์จีนเท่านั้น
แม้แนวคิดเช่นนี้ยังไม่ได้ถูกนำเสนออย่างกว้างขวางเท่าที่ควร แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่การสร้างประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องของไต้หวัน และการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไต้หวันที่แท้จริงขึ้นได้อีกครั้ง
รวบรวมและเรียบเรียงจาก
1. Gao, Pat. Changes in History.,
2. Chung, Oscar. The Land Before Time.,
3. Her, Kelly. Voyages to Ilha Formosa.,
4. Hwang, Jim. Colonial Wounds. ตีพิมพ์ในวารสาร Taipei Review ฉบับเดือนมกราคม 2003
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ไต้หวัน โหยหาประวัติศาสตร์และเร่งสร้างอัตลักษณ์” เขียนโดย นุชจรี ใจเก่ง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2546
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม 2560