วันอังคาร, สิงหาคม 16, 2565

อย่าฟอกขาวประวัติของ สมัคร สุนทรเวช - สมัคร สุนทรเวช ไม่ใช่และไม่เคยเป็น นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย เป็นนักการเมืองขวาจัด


Thanapol Eawsakul
16h

ระวัง ประวัติ ของสมัคร สุนทรเวช จะถูกเขียนใหม่
..........
สมัคร สุนทรเวช ไม่ใช่และไม่เคยเป็น นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย
จุดยืนของสมัคร สุนทรเวชไม่เคยเปลี่ยน
ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังร่วมงานกับทักษิณ ชินวัตรในนามพรรคพลังประชาชน
คือเป็นนักการเมืองขวาจัด
สมัคร สุนทรเวชเพียงแต่ร่วมมือกับทักษิณ ชินวัตร มาเป็นหุ่นเชิดให้พรรคพลังประชาชน
เพื่อให้ ทักษิณและพรรคพลังประชาชน พ้นข้อหาล้มเจ้า
ขณะที่สมัคร สุนทรเวชก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ถูกฟอกขาวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย
ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ได้ช่วยอะไร
สมัครก็ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีข้อหาทำกับข้าว
ส่วนพรรคพลังประชาชน ก็ต้องถูกยุบ
........
https://www.facebook.com/1551751431783222/posts/3037451379879879/
.....


สมัคร สุนทรเวช (2478-2552)

ในบรรดาฝ่ายขวาทั้งหมด หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ สมัครดูจะเป็นคนที่อนาคตไกลมากที่สุด หลังจากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ควบคู่กับการเป็นผู้จัดรายการคนสำคัญของสถานีวิทยุยานเกราะ หลังการรัฐประหาร 6 ตุลาฯ เขาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประสบความสำเร็จทางการเมืองผ่านการตั้งพรรคเองอย่าง ‘ประชากรไทย’ ทั้งยังได้เป็นทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา และได้รับเลือกตั้งสู่จุดสูงสุด ให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2551

แน่นอน ทุกครั้งที่สมัครมีอันต้องรับตำแหน่งสำคัญทางการเมือง เรื่องราวเกี่ยวกับ ‘6 ตุลาฯ’ จะกลับมาหลอกหลอนเขาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการปลุกระดม ใส่ร้ายนักศึกษาว่ามีขบวนการคอมมิวนิสต์อยู่เบื้องหลัง การโอภาปราศรัย ชื่นชมลูกเสือชาวบ้าน-แนวร่วมอาชีวะ หรือการไปเยี่ยม จอมพล ถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สิงคโปร์ ซึ่งนำไปสู่การพาจอมพลถนอมกลับประเทศ เป็นชนวนของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในที่สุด

หลังรับตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 2551 พิธีกรรายการ 101 East ของสำนักข่าวอัลจาซีรา ถามสมัครว่า เหตุการณ์ในปี 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีนักศึกษาจำนวนมากถูกทำร้าย ถูกยิง ถูกแขวนคอ และถูกเผา เป็นผลพวงจากการปลุกระดมผ่านรายการวิทยุของเขา เรื่องนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

“คุณอายุเท่าไรตอนนั้น คุณเกิดแล้วหรือยังตอนนั้น” สมัครถามกลับอย่างมีอารมณ์

“ผมไม่กังวลเรื่องนี้ พวกเขาเขียนประวัติศาสตร์สกปรกเกี่ยวกับตัวผม ผมนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาล เหตุการณ์วันนั้นมีผู้เสียชีวิตเพียงแค่คนเดียวที่สนามหลวง มีคนแขวนคอชายคนหนึ่งแล้วตีเขา แต่นักศึกษาอีก 3,000 คน ก็ยังอยู่ในธรรมศาสตร์”

นอกจากนี้ สมัครยังให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นอีกครั้งด้วยคำตอบคล้ายกัน นั่นคือมีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียวในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

“สำหรับผม ไม่มีการตาย คนหนึ่งโชคดีแค่ถูกแทง ส่วนอีกคนถูกเผาที่ท้องสนามหลวง มีแค่คนเดียวที่ตายในวันนั้น”

ไม่มีการยืนยันชัดเจนถึงยอดผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ตัวเลขทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 45 คน มูลนิธิป๋วย อึ๊งภากรณ์ บอกว่ามีผู้เสียชีวิตเกิน 100 คน ขณะที่ตัวเลขจากมูลนิธิร่วมกตัญญู ระบุว่า อาจมีผู้เสียชีวิตเกิน 500 คน

นั่นแปลว่าเกินกว่าที่สมัครคาดการณ์ไว้เป็นอย่างมาก…

“ถ้าผมมือเปื้อนเลือดจริง ผมคงมาไม่ได้ไกลขนาดนี้” สมัครให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราและซีเอ็นเอ็น รวมถึงสื่อไทยในแบบเดียวกัน เมื่อมีใครถามถึงความเกี่ยวข้องระหว่างเขาและเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

สมัครเสียชีวิตในช่วงปลายปี 2552 หลังดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ราว 1 ปี โดยที่ไม่ได้มีโอกาสอธิบายเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในเรื่องราวที่ต่างออกไป

ที่มา
จากมีคนตาย ‘คนเดียว’ ถึงฆ่าคอมมิวนิสต์ ‘ไม่บาป’ ปฏิกิริยาฝ่ายขวา ต่อ 6 ตุลาฯ
The Momentum