จำเลย: จากทนายความที่ตื่นตัวทางการเมือง จนกลายเป็นผู้ถูกดำเนินคดี
หลังรัฐประหาร 2549 บรรยากาศทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้น รวมทั้งสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่เริ่มขยายตัว ยังขยายความสนใจทางการเมืองของทนายประเทศ โดยเฉพาะการได้อ่านบทความเกี่ยวกับระบบการเมืองไทยและสถาบันประเพณีที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต
ช่วงปี 2553 เขาได้เริ่มใช้งานเฟซบุ๊ก ได้เริ่มเขียนบทความชุดหนึ่งจากประสบการณ์ที่ได้พบเจอกับกระบวนการยุติธรรมมา ในหัวข้อ “ศาลยุติธรรม: ยุติอย่างเป็นธรรมหรือยุติความเป็นธรรม” เป็นบทความชุด 3 ตอน ที่เป็นการเขียนในคราวเดียวกัน ในบทความได้บรรยายถึงโครงสร้างของศาลยุติธรรม และการนำเสนอแนวคิดเรื่องระบบลูกขุนจากนั้นได้เขียนเพิ่มเติมอีก 2 ตอน รวมเป็น 5 ตอน[1]
ความตั้งใจดั้งเดิมของประเวศ คือการใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางนำเสนอแนวความคิดทางการเมือง อีกทั้งเขายังเคยได้ไปเข้าร่วมการชุมนุมต่างๆ ของทั้งสองสีเสื้อ โดยเป็นการไปเดินดูและได้รับเชิญไปขึ้นพูดบนเวทีเล็กๆ บ้างบางครั้ง โดยประเด็นที่ไปพูดคุยก็ขึ้นอยู่กับผู้จัดจะกำหนดมาให้ รวมถึงการพูดถึงประสบการณ์การทำคดีดาเมื่อสังคมสนใจการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้น
พอเกิดรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 ทนายประเวศไม่เคยถูกเรียกตัวหรือถูกคุกคามใดๆ กระทั่งวันที่ 29 เม.ย. 2560 เป็นวันที่ทนายประเวศถูกจับกุมไปจากบ้านพักของตนเอง โดยขณะนั้นยังไม่มีหมายจับใดๆ เขาถูกควบคุมตัวเข้าไปในค่ายทหาร การต่อสู้ของทนายประเวศเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น ด้วยการอดข้าวเป็นเวลา 1 วัน เพื่อให้สามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อกับเพื่อน ให้ช่วยจัดการเรื่องคดีความต่างๆ ของตนเองที่ยังคงค้างอยู่ให้ และอีกครั้งเป็นการไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปทำการแจ้งข้อหาและสอบสวนถึงภายในค่ายทหาร
หลังถูกนำตัวออกจากค่ายทหาร เขาถูกส่งตัวไปฝากขังตามมาตรา 112, มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตั้งแต่ตอนนั้นทนายประเวศก็ได้เริ่มคิดว่าตนเองอาจต้องใช้วิธีการในการต่อสู้แบบกามิกาเซ่ คือการดับเครื่องชนกับกระบวนการยุติธรรม และพยายามชี้ให้เห็นความไร้ความชอบธรรมของศาลในการดำเนินคดีนี้ โดยการพยายามปฏิเสธมัน เพราะในเมื่อการต่อสู้ในระบบ รู้แน่ว่าแพ้ตั้งแต่ในมุ้ง ก็ต้องทำลายระบบ ทนายประเวศคิดไว้แบบนั้น
แม้ก่อนหน้านี้ทนายประเวศเคยได้เสนอวิธีการต่อสู้นี้ให้กับคนอื่นๆ อยู่บ้าง แม้บางคนจะเข้าใจในแนวความคิด แต่ก็ไม่มีใครเลือกใช้วิธีการนี้ ส่วนทนายประเวศเองก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะต้องใช้วิธีการต่อสู้ที่ตนเองได้คิดขึ้นมากับกรณีของตัวเอง
เมื่อเริ่มการพิจารณาคดีในศาล ในนัดตรวจพยานหลักฐาน ทนายประเวศได้เริ่มวิธีการต่อสู้ตามที่เขาเชื่อ ด้วยการแถลงขอถอดทนายความในคดีของตนเองที่เคยแต่งตั้งไว้ ก่อนที่จะได้ยื่นหนังสือที่เขียนด้วยลายมือตนเองจากภายในเรือนจำเพื่อแถลงการณ์ต่อศาล จำนวน 2 ฉบับ ยืนยันไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีนี้ และไม่เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีใดๆ ของศาล (ดูในรายงาน)
ต่อมา จึงได้มีการนัดหมายสืบพยานโจทก์ในวันที่ 8 พ.ค. 61 โดยในวันเริ่มสืบพยานโจทก์ ฝ่ายโจทก์ได้ขอให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ซึ่งศาลก็ได้สั่งให้มีการพิจารณาคดีลับเช่นกัน ให้เหลือเฉพาะพยานและตัวความในห้องพิจารณาเท่านั้น ทำให้หลังจากนั้นจึงได้เกิดปรากฏการณ์การสืบพยาน ที่อาจกล่าวได้ว่า “แปลกประหลาด” ที่สุดเท่าที่ “กระบวนการยุติธรรม” ของประเทศไทยอาจเคยพบเจอ ด้วยการสืบพยานต่อหน้าจำเลยที่ไม่ยอมรับกระบวนการ ยืนยันปฏิเสธความเป็นจำเลยของตนเอง ไม่ให้การใดๆ ไม่ยินยอมแต่งตั้งทนายความ ไม่มีการลงชื่อใดๆ ของจำเลยในเอกสารทางคดี กลายเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปโดยฝ่ายโจทก์ฝ่ายเดียว
ทนายประเวศได้เปรียบตนเองเป็นเพียง “เหยื่อ” ของกระบวนการดังกล่าว การนั่งอยู่ภายในห้องพิจารณาระหว่างกระบวนการที่ตนเองไม่ยอมรับดังกล่าว ไม่ได้มีความรู้สึกใดๆ เพียงแต่อยู่ตรงนั้นเพื่อยืนยันการต่อสู้ของตนเอง
ทนายประเวศระบุว่าเขาได้ทำใจตั้งแต่ตอนที่ถูกยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ว่าวิธีการต่อสู้นี้ต้องแลกด้วยอิสรภาพ อาจจะต้องถูกคุมขังไปเรื่อยๆ แต่ก็คิดว่าจะต้องยืนยันความคิดของตนเองไป โดยไม่ท้อถอย เขาเปรียบเปรยมันกับตำรายุทธพิชัย ”ซุนวู” ที่เคยอ่านอยู่หลายครั้ง
“ซุนวูบอกว่าในยุทธภูมิมรณะ ต้องรวมกำลังสู้ตาย”
นักโทษ: เมื่อร่างกายต้องถูกจองจำ
ความรู้สึกที่ทนายประเวศมีอยู่ ขณะถูกคุมขังมีเพียงว่า “คนอย่างผมนี่มันไม่ใช่นักโทษ การเข้าไปอยู่ในนั้นมันอยู่ผิดที่ผิดทาง แล้วก็คือกลายเป็นว่ามันมีความรู้สึกอีกแง่หนึ่ง เหมือนโชคชะตาส่งเข้าไปเพื่อเรียนรู้ รับรู้สิ่งที่อยู่ในนั้น เพื่อออกมาทำอะไรอย่างอื่น เกี่ยวกับในนั้น เกี่ยวกับอะไรหลายอย่าง”
นอกจากนั้นทนายประเวศยังได้เคยให้สัมภาษณ์กับศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ (ilaw) บอกเล่าถึงช่วงเวลาที่ถูกคุมขังไว้ว่า สภาพความเป็นอยู่ภายในเรือนจำนั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “พื้นที่ส่วนตัว” กิจวัตรประจำวันทุกอย่างถูกกำหนดเวลาไว้อย่างชัดเจน และการถูกคุมขังของทนายประเวศทำให้ต้องเรียนรู้ที่จะต้องมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น เพราะหากอยู่ภายในเรือนจำแต่ยังคงทำตัวเหมือนกับการอาศัยอยู่ภายนอก ที่คิดถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ภายในเรือนจำหากเคยให้สิ่งของแก่นักโทษคนอื่นๆ ครั้งหนึ่งแล้ว ก็จะถูกขออีกสิ่งของอีกครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งอาจจะนำความเดือดร้อนมาให้ตนเองได้
สำหรับนักโทษนั้นไม่ว่าจะเป็นนักโทษที่ก่ออาชญากรรมหรือนักโทษการเมือง ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกัน อยู่ร่วมกันในสถานะนักโทษเช่นเดียวกัน ความแตกต่างนั้นขึ้นอยู่กับตัวบุคคลตามแต่นิสัยใจคอ ส่วนทนายประเวศเองเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูง จึงมักจะอยู่คนเดียวมากกว่า จึงไม่ค่อยมีเพื่อนนักโทษ แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้
อาจด้วยระยะการคุมขังที่ยังไม่มากนัก สำหรับทนายประเวศแล้ว เขาไม่ได้รับผลกระทบต่อความคิด-จิตใจมากนักเมื่อได้รับการปล่อยตัว แต่คิดว่าสิ่งที่ได้รับจากการถูกคุมขัง คือเรื่องการไม่กินเหล้ากับสูบบุหรี่ โดยหลังจากได้รับการปล่อยตัวแล้ว เขายังไม่ได้ซื้อบุหรี่อีกเลย
(ภาพจาก : Banrasdr Photo)
เมื่อถามว่าประเมินผลการต่อสู้ด้วยวิธีที่เขาดำเนินมาทั้งหมดนี้อย่างไร ทนายประเวศคิดว่า “วิธีนี้ ถ้าหากว่ามีแค่ผมคนเดียว ก็จบ มันจะไม่มีผลเอฟเฟคอะไรมาก แต่ถ้ามีคนที่สอง ที่ใช้วิธีนี้ มันจะมีคนที่สามตามมา แล้วเมื่อไหร่มีคนถึงหมื่นเนี่ย ระบบจะถูกล้ม”
ปีเศษผ่านไปหลังการต่อสู้ในคดีตนเอง การเมืองยังไม่เปลี่ยนไปมากนัก แม้ประเทศกำลังดูเหมือนจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แต่ทนายประเวศคิดว่าสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่มีความหวัง เพราะประเทศไทยกำลังมีรัฐธรรมนูญฉบับที่เรียกได้ว่าเป็นเผด็จการที่สุด ทั้งยังมีการวางกลไกของคสช.ไว้อย่างซับซ้อน เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่หากไม่ทำตามจะมีความผิดถึงขั้นจำคุก เป็นต้น เป็นสภาวะที่ย้อนหลังไปไกลยิ่งกว่า พ.ศ. 2475 ด้วยซ้ำ และเคยมีอาจารย์รัฐศาสตร์คนหนึ่งกล่าวถึงระบบเช่นนี้ว่าเป็น “เผด็จการคณาธิปไตย” ซึ่งไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งแล้วผลออกมาเป็นอย่างไร พรรคการเมืองจะสามารถตั้งรัฐบาลได้ ก็ยังถูกอำนาจทหารควบคุมไว้อยู่ดี
ส่วนความคิดความหวังต่อกระบวนการยุติธรรมนั้น ทนายประเวศเห็นว่าต้องแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ ความหวังต่อกระบวนการยุติธรรมสำหรับทนายประเวศนั้นไม่มี ทั้งกระบวนการและองค์กรยุติธรรม ส่วนความคิดนั้น คือการรื้อสร้างใหม่ เพราะเห็นว่าไม่สามารถซ่อมแซมหรือปฏิรูปได้แล้ว ระบบที่เป็นอยู่ได้ฝังรากลึกมากๆ
“หากเปรียบกระบวนการยุติธรรมเป็นฟัน ก็คงเป็นฟันที่ผุลงไปถึงรากฟันแล้ว ไม่สามารถเยียวยาได้ นอกจากการถอนออก หากเปรียบเป็นรถ ก็เป็นรถที่ต้องขาย แล้วซื้อคันใหม่เท่านั้น”
อ่านเพิ่มเติม
คดีทนายประเวศกับโซ่ตรวน 112 อันเนิ่นนานยาว
ตลกร้าย ทนายประเวศ หลักการพิจารณาโดยเปิดเผย และสิทธิที่หายไปจากรัฐธรรมนูญ
อ่านคำแถลงใหม่ “ทนายประเวศ” ไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณา ก่อนศาลพิพากษาคดี ม.112-116
ที่มา
เส้นทางการต่อสู้ของประเวศ ประภานุกูล: จากทนายความ สู่ “จำเลย” ที่ปฏิเสธความเป็นจำเลย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน