'ไบร์ท' ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมการเมือง โกนผมประท้วงหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อ 28 ก.ค. 2565 ในกิจกรรม "ยืนบอกเจ้า ว่าเราโดนรังแก" (ถ่ายโดย แมวส้ม)
ศาลอนุญาตฝากขัง ‘ไบร์ท ชินวัตร’ คดี 112 ม็อบ28กรกฎา65-เจ้าตัวประกาศไม่รับกระบวนการยุติธรรม
2022-08-01
ประชาไท
ศาลอนุญาตฝากขัง ‘ไบร์ท ชินวัตร’ เป็นเวลา 12 วัน จากคดี ม.112 ปราศรัยหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ม็อบ28กรกฎา65 ส่งตัวไปเรือนจำทันที เจ้าตัวแถลงไม่ยอมรับอำนาจศาลในคดี ม.112 จนกว่าศาลจะพิสูจน์ได้ว่าเป็น ‘กลาง’ ส่งผลให้ตอนนี้มีผู้ถูกคุมขังจากคดีการเมือง 31 รายแล้ว
1 ส.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (1 ส.ค.) ศาลอาญากรุงเทพใต้ อนุญาตฝากขังระหว่างสอบสวน ‘ไบร์ท’ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรม ในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3) จากการปราศรัยถึงสถาบันกษัตริย์ ในกิจกรรม ‘ยืนฟ้องเจ้า ว่าเราโดนรังแก’ หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก ‘ไบร์ท’ และประชาชน ทำกิจกรรม ‘ยืนฟ้องเจ้า ว่าเราโดนรังแก’ โดยมีการยืนเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที โกนผมประท้วง และเผาพริกเผาเกลือ สาปแช่งผู้มีอำนาจ เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับผู้ถูกคุมขังทางการเมือง
ก่อนที่เมื่อ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) นำโดย นพคุณ ทองถิ่น รองประธาน ศปปส. เดินทางไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ไบร์ท ที่ สน.ยานนาวา ข้อหา ม.112 โดยอ้างว่า ไบร์ทกระทำการมิบังควรหน้าพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และปราศรัยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จากกิจกรรมดังกล่าว
ต่อมา นำมาสู่การออกหมายจับไบร์ท ในวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา และเวลา 19.20 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล 6 เข้าไปจับกุมไบร์ท ในบ้านพักย่านวิภาวดี และนำตัวไปสอบสวนที่ บช.ปส. ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ โดยไบร์ท ถูกดำเนินคดีข้อหา ม.112 พ.ร.บ.คอมฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ จากการปราศรัยหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้องประชาชนแต่งดำ โกนผม เผาพริกเผาเกลือ ร้องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง
กลุ่มปกป้องสถาบัน แจ้ง ม.112 ‘ไบร์ท ชินวัตร’ อ้างกระทำการมิบังควรหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ร.10
ตร.เตรียมนำตัว 'ไบรท์ ชินวัตร' ขอฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ 1 ส.ค. 65
หลังจากสอบคำให้การเสร็จสิ้นแล้ว ชินวัตรได้ถูกควบคุมตัวไว้ที่ บช.ปส. 2 คืน ก่อนในวันที่ 1 ส.ค. 2565 พนักงานสอบสวนได้นำตัวเขาไปยื่นขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้ฝากขัง โดยอ้างเหตุว่า พนักงานสอบสวนยังทำการสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานเพิ่มอีก 10 ปาก และรอผลการตรวจลายนิ้วมือ
ขณะเดียวกัน ยังคัดค้านการประกันตัวโดยระบุว่า ไบร์ท ในฐานะผู้ต้องหาเคย “กระทำความผิด” ในคดีเกี่ยวกับความมั่นคงมาก่อนหลายคดี แต่ผู้ต้องหายัง “กระทำผิดซ้ำ” จึงเห็นว่าหากให้ประกันตัว ผู้ต้องหาจะกระทำความผิดในลักษณะเดิมอีก
ทั้งนี้ โดยข้อเท็จจริงในคดีมาตรา 112 ที่ชินวัตร ถูกกล่าวหา ยังไม่มีคดีใดที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาแต่อย่างใด
ต่อมา หลังทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านฝากขังในช่วงเช้าวันนี้ (1 ส.ค.) ศาลได้ออกนั่งพิจารณาไต่คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ในเวลา 14.30 น. โดยอนุญาตให้แค่ทนายความอยู่ในห้องพิจารณาได้เท่านั้น
ต่อมา ชินวัตร แถลงปฏิเสธ ไม่เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดี โดยขอถอนคำร้องคัดค้านฝากขัง ขอไม่ให้การต่อศาล ไม่ถามค้านพยานหากมีการสืบพยาน และไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ ของศาล เนื่องจากกังขาต่อความเป็นกลางของศาล พร้อมกับไม่ประสงค์จะยื่นประกันตัวใดๆ ทั้งสิ้น จนกว่าจะศาลจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่องค์กรของคู่กรณี จึงจะยอมพิจารณาทบทวนยอมรับอำนาจศาลอีกครั้ง
อนึ่ง แพลตฟอร์ม 'เฟซบุ๊ก' กลุ่มสาธารณะ ‘ไบร์ท ราษฎร’ โพสต์ภาพคำแถลงการณ์ เรื่อง ไม่ยอมรับอำนาจศาลในคดีอาญา มาตรา 112
“ตามที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องต่อข้าพเจ้าเป็นคดีอาญาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในข้อหาดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้าพเจ้าของแถลงดังนี้”
“ศาลไทยซึ่งได้ประกาศยืนยันสถานภาพองค์กรมาโดยตลอด อันเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า ศาลกระทำการพิจารณาและพิพากษาคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการประกาศตนว่าเป็นองค์กรใต้อำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ปัญหาทางหลักการนิติปรัชญาต่อสถานะและอำนาจของศาลในคดีที่เกิดขึ้นต่อข้าพเจ้านี้คือ ในตัวบทกฎหมายคดีอาญามาตรา 112 ดังกล่าว มีระบุเนื้อความในตัวบทว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เป็นบุคคลผู้ถูกกระทำ โดยการดูหมิ่น การหมิ่นประมาท หรือการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์จึงถือเป็นผู้เสียหายแห่งคดีนี้โดยตรง”
“ไม่เพียงศาลไทยประกาศตัวเป็นองค์กรของพระมหากษัตริย์เท่านั้น เมื่อทนายความของข้าพเจ้ายื่นอุทธรณ์คำสั่งคำร้องปล่อยตัวชั่วคราว ศาลมีคำสั่ง “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติการณ์ในการกระทำของผู้ต้องหาตามคำร้องฝากขังเป็นเรื่องกระทบต่อความมั่นคงและสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงถือเป็นภัยร้ายแรง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจหลบหนีและไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานทำให้ยุ่งยากต่อการดำเนินการพนักงานสอบสวน ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และให้ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งให้ฝู้ต้องหาและผู้ขอประกันทราบโดยเร็ววัน”
“ในคำสั่งของศาลดังกล่าว มีลักษณะการพิพากษาคดีล่วงหน้า เห็นได้ชัดเจนว่าศาลได้เชื่อว่าผู้ต้องหากระทำการหรือมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาไปแล้ว ซึ่งขัดกับหลักกฎหมายเบื้องต้นที่ต้องสัณนิษฐานว่าจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ทราบจนสิ้นสงสัยหรือพิพากษาว่ามีความผิดจริง โดยที่ในชั้นฝากขังยังไม่ได้มีกระบวนการพิสูจน์ทราบใดใดทั้งสิ้นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการเป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ ทั้งยังไม่มีการสืบพยาน ยังไม่มีการสืบความทางคดีใดใดเลยเสียด้วยซ้ำ”
“คำสั่งดังกล่าวจึงกลายเป็นการพิพากษาคดีล่วงหน้าในการลงโทษจำคุกจำเลยผู้ถูกกล่าวหาก่อนการยื่นฟ้องคดี ส่วนคำสั่งของศาลที่ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจหลบหนี การคาดการณ์สิ่งใด ๆ ในคดีจะต้องปรากฎหลักญานให้เชื่อถือได้เพราะการพิจารณาพิพากษาคดีขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน หาใช่การ ‘คาดเดาไม่’ แต่ในคดีนี้ไม่ปรากฎหลักฐานข้อมูลหรือแม้แต่”
“นอกจากนี้ คำสั่งของศาลดังกล่าวในส่วนที่ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจหลบหนีและไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานทำให้ยุ่งยากต่อการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนก็ไม่ปรากฎหลักฐานว่า หากปล่อยชั่วคราวแล้วผู้ถูกกล่าวหาจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานอะไรได้อย่างไร จึงเป็นการคาดเดาไปเองของศาลโดยไร้พยานหลักฐานใดใดสนับสนุน ซึ่งเป็นโทษต่อผู้ต้องหาที่ยังบริสุทธิ์”
“ข้อแต่ศาลที่เคารพ ตามตัวบทกฎหมายมาตรา 112 นี้ และด้วยการแสดงตนเป็นองค์กรได้อำนาจของคู่กรณีแห่งคดีนี้ ศาลจึงไร้สิ้นซึ่งความเป็นกลางทางคดี ทั้งในทางพฤตินัยและนิตินัยตามหลักนิติศาสตร์เบื้องต้น ศาลไทยที่แสดงตนเป็นองค์กรใต้อำนาจของคู่กรณีแห่งคดี จึงไร้ซึ่งศักดิ์และสิทธิ์ใด ๆ ในการพิจารณาหรือพิพากษา คดีมาตรา 112 ที่ข้าพเจ้าถูกแจ้งข้อกล่าวหาพิพาทกับคู่กรณีซึ่งดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์”
“ข้าพเจ้าขอประกาศต่อศาลและสาธารณชน รวมถึงวิญญชนทุกหมู่เหล่าว่า ข้าพเจ้าไม่ขอยอมรับอำนาจศาลที่เป็นองค์กรใต้อำนาจแห่งคู่กรณีดังกล่าว ในการพิจารณาคดีอาญามาตรา 112 นี้ และข้าพเจ้าจะไม่ขอเข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาและกระบวนการพิพากษาคดีนี้ทั้งสิ้น โดยไม่ให้การ ไม่แต่งทนายเข้าดำเนินคดี ไม่ถามค้านพยานโจทก์ ไม่นำสืบพยานจำเลย ไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ ของศาล และกระบวนการพิพากษาคดีนี้ทั้งสิ้น แต่ก็มิขัดขวางใดๆ หากศาลต้องการดำเนินการใดต่อ ก็ขอให้ดำเนินการต่อไปแต่เพียงฝ่ายเดียวทั้งสิ้น มิได้เกี่ยวข้องใดๆ กับการยอมรับอำนาจศาลในคดีนี้ของข้าพเจ้า จนกว่าศาลจักหาข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด ในทางพฤตินัยและนิตินัย จนเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าเชื่อได้ว่า ศาลมิได้เป็นองค์กรใต้อำนาจของคู่กรณีแห่งคดี ตามตัวบทมาตรา 112 ดังกล่าว จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ข้าพเจ้าจึงจะรับพิจารณาการยอมรับหรือไม่ยอมรับอำนาจศาลอีกครั้ง”
ด้วยความเคารพอำนาจตุลาการที่ต้องมาจากประชาชน
ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
หมายเหตุ จากการสืบค้นเมื่อ 1 ส.ค. 2565 เวลา 22.33 น. พบว่าโพสต์ดังกล่าวถูกลบไปแล้ว
เวลาต่อมา ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเป็นระยะเวลา 12 วัน ตามคำร้องขอพนักงานสอบสวน และไบร์ทถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเวลา 16.30 น.
บันทึกช่วงจับกุมจากไบร์ท
หลังการนำตัวไบร์ท ฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ผู้สื่อข่าวได้รับจดหมาย 1 ฉบับ ซึ่งจดหมายดังกล่าวเป็นข้อความที่ ‘ไบร์ท’ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง จดบันทึก เพื่อเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน ดังนี้
รายละเอียดจดหมาย
ถูกจับกุมด้วยคดี 112 เหตุเกิดวันที่ 28 ก.ค. 65 ณ หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ผกก.สน.ยานนาวา ขอศาลออกหมายจับวันที่ 30 ก.ค.ช่วงเช้า
เวลา 18.15 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายจับมาจับผมที่บ้าน ชุดจับกุมคือ ตำรวจนครบาล 6 จับผมในขณะป้อนข้าวให้ลูกกินอยู่ จนทำให้ลูกตกใจ กรีดร้อง ไม่ยอมให้ผมไป สุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ น. 6 ได้นำตัวผมไปควบคุมไว้ที่ บก.สกส.บช.ปส. (กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด)
พอมาถึงในช่วงเวลา 20.00 น. ก็มีตำรวจจาก สน.ยานนาวา มารับตัวไม่ยังห้องควบคลุมที่เป็นห้องประชุม หลังจากนั้น ตำรวจได้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงและแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวตามหมายจับที่ จ.472/2565
ข้าพเจ้าได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ขอลงลายมือชื่อในใบแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ยอมรับกระบวนการการดำเนินคดีของตำรวจ และศาล เพราะผมยืนยันว่าสิ่งที่ผมทำนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะเราใช้สิทธิตามระบอบรัฐธรรมนูญ และผมขอลงบันทึกประจำวัน ณ ที่ดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ปฏิบัติกับข้าพเจ้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากผมอ้างว่า ตำรวจได้ปฏิบัติหน้าที่กับผมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ป.วิอาญา 83 และ 84 เนื่องจากได้จับผมตามหมายจับ แต่เจ้าหน้าที่ไม่นำตัวผมสอบสวนที่สถานีตำรวจต้นเรื่อง หรือพื้นที่ที่ผมอยู่ มีการนำตัวผมไปสอบสวนนอกสถานที่ที่มิใช่สถานที่ตำรวจ ตำรวจก็ได้รับแจ้งความ หลังจากนั้น ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ลงนามเพื่อเป็นสักขีพยาน และต่อมา ทนายได้แจ้งกับผมว่าภายในคืนนี้ เจ้าหน้าที่จาก ปอท. จะเดินทางมาตรวจสอบโทรศัพท์ หากมีข้อมูลให้รีบลบออกทันที ผมจึงรับทราบ และทำการรีฟอร์แมตเครื่อง เพื่อเป็นการล้างข้อมูลสำคัญทั้งหมด
ในเวลา 01.12 น. เจ้าหน้าที่จาก ปอท. ก็ได้เดินทางมาจริงๆ และเรียกเก็บโทรศัพท์จากข้าพเจ้า และให้เซ็นเอกสารยอมรับและยินยอมในการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเครื่อง ทั้งที่ใจของผมไม่ยินยอม และเจ้าหน้าที่ก็เริ่มดำเนินการตรวจสอบเครื่องตลอดทั้งคืน โดยมีอุปกรณ์ที่เตรียมมาสแกนเครื่องผมทั้งหมด และต่อมา จนจบสิ้นในเวลา 04.30 น.โดยประมาณ ในระยะเวลาตลอดทั้งคืน ข้าพเจ้าไม่ได้นอนเลยแม้แต่งีบเดียว และเกิดความเครียดและกังวลตลอด ตั้ง
แต่ถูกควบคุมตัว
ต่อมา ในช่วงเช้าของอีกวัน เวลา 08.30 น. ภรรยาและลูกชาย อายุเพียง 1 ขวบ 6 เดือนของข้าพเจ้าได้เดินทางมาเยี่ยม ในใจของผมตอนนั้นรู้สึกมีความสุข เหมือนเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่มาเติมเต็มความสุขที่หายไป ตลอดทั้งวันที่ผ่านมา ก้าวแรกที่ลูกเข้ามา ผมวิ่งเข้าไปอุ้มกอด หอม และได้สอนลูกว่า ขอให้หนูปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ มีสุขภาพแข็งแรง ป๋ารักหนูมากนะลูก ป๋าต้องถูกจองจำ และไม่มีอิสรภาพ เพื่อให้หนูและคนไทยมีสวัสดิการและอนาคตที่ดีกว่านี้ และหนูโตไปก็ไม่ต้องอายเพื่อน และไม่ต้องกลัวใคร โลกจะจำป๋าว่า ป๋าของหนูคือส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์การต่อสู้ เพื่อการเปลี่ยนแปลง และโตไปขอให้หนูตั้งใจศึกษาจะได้ปกป้องตัวเองได้ และในอนาคตหนู จะได้นำความสามารถมาพัฒนาประเทศชาติ
สุดท้ายเวลาแห่งความสุขของผมก็ได้หายไป เพราะเจ้าหน้าที่ให้เยี่ยมได้เพียง 1 ชม.เต็ม น้ำตาของผมไหลพรากออกมาอย่างไม่หยุดยั้ง ตะโกนออกไป ป๋าจะออกมาหาหนูนะลูก หลังจากลูกไป ผมก็นอนหลับๆ ตื่นๆ ตลอดทั้งวัน ในขณะที่ตำรวจ สน.ยานนาวา มีการเปลี่ยนเวรกันตลอดทุก 8 ชั่วโมง
ต่อมา อ.สมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้เดินทางมาเยี่ยมผม ผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่อาจารย์มาเยี่ยมผม ซึ่งบุคคลคนนี้เป็นบุคคลที่ผมให้ความเคารพ และนับถือเป็นแบบอย่างในการต่อสู้ แต่ได้คุยกันเป็นเวลาเพียงไม่ถึง 10 นาที เจ้าหน้าที่ก็มารับอาจารย์กลับไป และอาจารย์ได้ซื้ออาหารฝากเจ้าหน้าที่มาให้ผมทานด้วย หลังจากนั้น ผมก็ได้มานั่งฟังรายการ ไฟเย็นพบประชาชน ดำเนินรายการโดย ลุงขุนทอง และพี่จอมไฟเย็นต่อ รายการนี้เป็นรายกการที่ผมชอบฟังมาก เพราะมีการแลกเปลี่ยนความรู้กันโดยตลอด และสามารถทำให้เรานำมาเป็นแนวทางการต่อสู้ได้ แถมรายการนี้ยังเป็นรายการที่เป็นกระบอกเสียงของนักต่อสู้ทุกคนอีกด้วย โดยเฉพาะครอบครัวผมที่ได้รับการดูแลจากรายการนี้มาโดยตลอด พอฟังจบผมก็มานั่งเขียนบุ๊กเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาตลอดทั้งวัน และนอนหลับในที่สุด
สำหรับคดีนี้ นับเป็นคดีมาตรา 112 ที่ชินวัตร ถูกกล่าวหาคดีที่ 7 แล้ว และทำให้ยอดจำนวนคดีมาตรา 112 หลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอก เมื่อปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 223 คดี
ทั้งนี้ รายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงวันที่ 1 ส.ค. 2565 มีผู้ถูกคุมขังในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองเป็นจำนวน 31 ราย
คดีที่ 4 ที่ไม่ยอมรับอำนาจกระบวนการยุติธรรม
อ้างอิงรายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยว่าก่อนหน้านี้ ย้อนไปเมื่อปี 2560-2561 ประเวศ ประภานุกูล ผู้ประกอบอาชีพทนายความ เคยประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลอาญา จากกรณีที่เขาถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว มาตรา 112 เข้าข่าย 10 กรรม มาตรา 116 จำนวน 3 กรรม และ พ.ร.บ.คอมฯ 14(3) และฝ่าฝืนคำสั่ง คมช.ฉบับที่ 25/2549 เรื่องการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ
ขณะที่ระหว่างวันที่ 7-8 เม.ย. 64 ช่วงเวลา 10.00-17.00 น. 'เพนกวิน' พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมการเมือง ร่วมด้วยนักกิจกรรมกลุ่ม 'ราษฎร' จำนวน 20 คน เคยแถลงไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม และขอถอนทนายความ เพื่อประท้วงการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม จากการเข้าร่วมชุมนุม 19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 63
อีกครั้งคือเมื่อ 18 เม.ย. 2564 เพนกวิน แถลงไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม จากการถูกดำเนินคดี ม็อบ14พฤศจิกา หรือ Mobfest ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 14 พ.ย. 2564 ซึ่งถูกฟ้องร้องใน 4 ข้อหา ได้แก่ ม.112 ม.116 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง เหตุที่เพนกวิน แถลงไม่ยอมรับอำนาจศาล จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จึงจะขอยอมรับกระบวนการยุติธรรม และต่อสู้คดีอีกครั้ง
ทั้งนี้ จากการแถลงดังกล่าวทำให้คดีม็อบ 14พฤศจิกา หรือ Mobfest เป็นคดีที่ 2 ที่เพนกวิน แถลงไม่ยอมรับอำนาจศาล
ขณะที่คดีของไบร์ท เป็นคดีที่ 4 ที่มีการแถลงไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมคดีอาญา ม.112