วันพฤหัสบดี, มีนาคม 03, 2565

“หยุดด่า กต.ไทย ๑ วัน” แต่สำหรับ ‘ศาลอาญากรุงเทพใต้’ ไม่ต้องเซอร์ไพร้ส์กับการ ‘ใจไม้ไส้ระกำ’

“หยุดด่า กต.ไทย ๑ วัน” @JoyZGinN2 ทวี้ตพร้อมภาพรายชื่อการออกเสียงของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ในนครนิวยอร์ค ซึ่งประเทศไทยและพม่าร่วมกับประเทศสมาชิกองค์การโลก สนับสนุนญัตติประณามรัสเซียที่ส่งกำลังทหารรุกราน #ยูเครน

คอมเม้นต์อย่างนั้นแสดงถึงความประหลาดใจอย่างแช่มชื่น ที่ตัวแทนประเทศไทยแสดงออกสอดคล้องกับเสียงส่วนใหญ่ ๑๔๑ ไม่หาทางออกอย่างแหยๆ เหมือน ๓๕ ประเทศที่งดออกเสียง ได้แก่ จีน อินเดีย ลาว ปากีสถาน ศรีลังกา และเวียตนาม เป็นอาทิ

เนื่องจากท่าทีในประเทศตลอดวิกฤตโลกครั้งนี้ที่ผ่านมาไม่ถึงอาทิตย์ ทั้งนายกรัฐมนตรีและ (โดยเฉพาะ) รัฐมนตรีต่างประเทศต่างแสดงความเห็นว่าไทยควรเป็นกลาง (คือไม่ประณามหรือไม่สนับสนุน) ต่อการกระทำของรัสเซีย

ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศนั้นไปไกลกว่านายกฯ ถึงขั้นพูดเรื่อยเปื่อยไป ตำหนิยูเครนว่าสมัครเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรป จะเป็นผลเสียแก่การเจรจาหยุดยิง ซึ่งตัวแทนสองฝ่ายไปคุยกันในเบลารุสครั้งแรกแล้ว ยังไม่ตกลงอะไร จะนัดคุยกันต่อ

สุริยา จินดาวงษ์ ผู้แทนถาวรของไทยประจำยูเอ็น ปราศรัยสนับสนุนคำประกาศประณามรัสเซียว่า ไทยยึดมั่นหลักกฎหมายระหว่างประเทศ อันรวมถึงยับยั้งการใช้กำลังทหารเข้ารุกรานประเทศอื่น อันดูเหมือนว่าจะหันกลับ ๓๖๐ องศาจากท่าทีเดิม

คลับคล้ายคลับคลากับการพลิกผันท่าทีของรัฐบาลพม่า ทั้งที่เมื่อ ๒๕ กุมภาพันธ์นี้เอง มิน อ่องลาย หัวหน้าคณะรัฐประหารพม่า แสดงความเห็นชอบกับรัสเซีย ว่ามีความชอบธรรมในการส่งกำลังทหารเข้าไปทำสงครามภายในยูเครนเพื่อจะเปลี่ยนรัฐบาล

เอกอัคราชทูตพม่าประจำยูเอ็น แกว โม ตุน ขึ้นปราศรัยในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ถึงการที่ร่วมเป็นผู้เสนอญัตติ และโหวตสนับสนุนการประณามรัสเซีย ว่า “เมียนมาร์ยืนหยัดในภราดรภาพกับประชาชนยูเครน...เข้าใจและรับสภาพการทนทุกข์ของยูเครนยิ่งกว่าใครๆ”

เพราะว่า “ประชาชนเมียนมาร์เองก็ต้องเผชิญกับทุกข์ร้อนสาหัส จากผลของการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งคณะทหารเป็นผู้กระทำ” Ambassador Kyaw Moe Tun@KyawTun62907405 ผู้นี้ “คือคนที่เคยชูสามนิ้วต้าน รปห.”

Wasinee P. @WPabuprapap ให้เบื้องหลังว่า “รบ.เมียนมาพยายามส่งทูตใหม่มาแทนแต่ UN ยังไม่รับรองซักที” เลยทำให้ @non_peradej อุทานว่า “อ๋อ มันเป็นแบบนี้นี่เอง” แต่ทูตไทยคงไม่ใช่แบบนั้นหรอกนะ แม้นว่าสภาพการณ์ในประเทศอาจระดับน้องๆ

จากการกดขี่ข่มเหงประชาชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันประมุข ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่บรรดาเยาวชน ซึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาต่อความเป็นจริง ดังกรณีคดีจากการชุมนุม #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน เมื่อปี ๖๓

รวิสรา เอกสกุล บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตกเป็นจำเลยข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา #มาตรา112 และ #มาตรา116 เพราะเธอเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมัน ที่ขอให้ตรวจสอบการประทับของกษัตริย์ไทยในเยอรมนี

คดีของเธอถูกสั่งฟ้องร่วมกับผู้ร่วมชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีคนอื่นๆ เมื่อ ๒๒ กรกฎา ๖๔ และได้รับประกันตัวปล่อยชั่วคราวออกมาต่อสู้คดี ต่อมารวิสราได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่เยอรมนี ณ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ออสนาบรีค

เธอจึงยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อต้นเดือนกุมภา ขออนุญาตเดินทางไปศึกษาต่อ ศาลอาญากรุงเทพใต้ซึ่งมักจะมีความกรุณาปราณีต่อผู้ถูกกล่าวหาคดี ม.๑๑๒ น้อยกว่าคดีอื่นๆ ยกคำร้องของรวิสรา อ้างว่าการให้ประกันปล่อยตัวมีเงื่อนไข ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

เมื่อวานนี้เธอได้ยื่นคำร้องขอเดินทางไปเรียนต่ออีกครั้ง โดยระบุว่าทุนที่ได้รับเป็น ทุนให้เปล่าซึ่ง “จะต้องเริ่มต้นการศึกษาจากหลักสูตรเตรียมความพร้อมในการเรียนตั้งแต่วันที่ ๔ เม.ย. ๒๕๖๕ ถึง ๓๐ ก.ย. ๒๕๖๕ ณ กรุงเบอร์ลิน”

ระยะเวลาการเข้าอบรมเพื่อเตรียมพร้อมดังกล่าว ไม่ตรงกับกำหนดการพิจารณาคดีของศาล ห่างกันนาน คดีของรวิสรามีกำหนดสืบพยานทั้งของฝ่ายโจทก์และจำเลยในปี ๒๕๖๖ การเดินทางไปอบรมเพื่อแสดงตนรับทุนนี้ จึง “ย่อมไม่กระทบต่อการพิจารณาคดี”

ว่าจะรอดูว่าศาลอาญากรุงเทพใต้จะใจไม้ไส้ระกำกับความซวยของรวิสรา ซึ่ง ต้องหา ความผิดร้ายแรงโทษคุกได้ถึง ๑๕ ปีต่อกระทง เพราะความเก่งกาจในการใช้ภาษาเยอรมันของเธอแท้ๆ หรือเปล่า ก็ปรากฏว่าศาลไม่อนุญาต

“อ้างยังไม่ได้ทุนจริง ทั้งที่เธอแนบเอกสารตอบรับพร้อมคำร้อง” Wasinee P. @Wpabuprapap เพิ่งมีรายงาน

(https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/4848051335244682, https://twitter.com/WPabuprapap/status/1499240829277569026 และ https://prachatai.com/journal/2022/03/97496)