วันอังคาร, มีนาคม 01, 2565

‘สองยา’ (สนธิญา กับ ศรี-จรรยา) นักร้องไล่ล่า หาเรื่องกับฝ่ายเรียกร้องปฏิรูป "ไม่มีที่สิ้นสุด"

พวก นักร้องที่คอยจ้องฟ้องเอาผิดนักกิจกรรมทั้งหลายด้วยข้อหาความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์บ้าง ม.๑๑๒ บ้าง อย่างเช่น สองยา (สนธิญา สวัสดี และ ศรีสุวรรณ จรรยา) นั้นทำมาหากินบนความทุกข์ของผู้อื่น ไร้ซึ่งจริยธรรมก็ว่าได้

กรณีสนธิญาเข้าแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีกับอาจารย์ ชลิตา บัณฑุวงศ์ แห่งคณะสังคม ม.เกษตรฯ นั่นเป็นการเล่นบทมารอย่างแจ่มแจ้ง คำฟ้องเกี่ยวกับการที่ อจ.ชลิตา ร่วมกับไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ช่วยกันจัดการกองทุนราษฎรประสงค์

เนื่องจากกองทุนดังกล่าวระดมทุนเพื่อใช้เป็นหลักประกันผู้ถูกคุมขัง จากการออกไปชุมนุม-ปราศรัยเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกฎหมาย และปฏิรูปสถาบันประมุข ให้เที่ยงธรรมตามครรลองแห่งหลักสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย

สนธิญาอ้างว่าการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ นั้นศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ว่า “เป็นการล้มล้างการปกครอง” ดังนั้นจึง “ผูกพันกับทุกองค์กร” เมื่อตำรวจตรวจสอบแล้วพบว่าเข้าข่ายสนับสนุนการเรียกร้องปฏิรูปนั้น ให้ดำเนินการยุติกองทุนนั้นเสีย

สนธิญา หัวหมอ กันตัวเองออกจากการถูกครหา ตราหน้าว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ อาจถึงขั้นโดนประชาทัณฑ์ด้วยคำบริภาษณ์ก่นด่า และ/หรือโดนฟ้องร้องว่าอาฆาตมาดร้าย กลั่นแกล้งและทำลาย ให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายก็ได้ จึงบอกว่า

“สำหรับผู้ที่ร่วมบริจาคนั้นสามารถทำได้...และเห็นว่าหากจะระดมทุนช่วยเหลือก็ควรที่จะทำเงียบ ๆ หรือมีวิธีการหย่าร้างอย่างที่ทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำให้เอิกเกริก” เขาพูดทำนองว่าถ้าไม่มีการเปิดบัญชีรับ ก็จะไม่มีผู้บริจาค ถึงได้ไปฟ้องร้องให้ยับยั้ง

การนี้ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ให้เหตุผลโต้แย้งจากคำให้สัมภาษณ์ของ ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาชี้ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นบรรทัดฐานที่ผูกพันบังคับให้ศาลอื่นต้องถือตาม

อีกทั้งคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ก็ไม่สามารถโยงเข้ากับคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากมีมาตรฐานในการพิสูจน์คนละอย่าง” ดังนี้การกระทำของสนธิญาจึง “เป็นการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อลิดรอนสิทธิ เสรีภาพและการต่อสู้ของประชาชน”

ศรีสุวรรณก็เช่นกัน บ่อยไปมักฟ้องร้องฝ่ายการเมืองตรงข้ามรัฐบาลประยุทธ์และเครือข่ายสืบทอดอำนาจเผด็จการ กรณีที่เขายื่นฟ้อง ปปช.เมื่อ ๑๑ มิถุนา ๖๒ ให้ตรวจสอบ พรรณิการ์ วานิช จากการโพสต์ข้อความต่างๆ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนิสิตจุฬาฯ

เขาอ้างว่า “ทำให้ประชาชนเข้าใจไปในทางที่อาจเชื่อมโยงกับเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างมิบังควร อันเป็นพฤติการณ์หรือการกระทำที่ส่อไปในทางขัดต่อ มาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ถ้าจะว่าศรีสุวรรณพูดเองเออเองก็ได้

แต่มาตรฐานจริยธรรมของศรีสุวรรณก็ไม่บังเอิญต้องใจกรรมการ ปปช. ซึ่งจะว่าไปแล้วมีที่มาจากการแต่งตั้งหรือชงให้แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร อีกทั้งบ่อยครั้งตัดสินคดีความเป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้อยู่ในฝักฝ่ายตรงข้าม คสช.เสียละมาก

เมื่อวานนี้ ปปช.เพิ่งมีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิด ช่อโดยให้เหตุผลว่า “อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ...ที่บังคับใช้กับ ส.ส.”

ข้ออ้างของคณะกรรมการปรักปรำความทุจริตนี้เลี่ยงประเด็นในสามัญสำนึกที่ว่า เนื้อหาแห่งความผิดที่ถูกกล่าวหานั้น เกิดตั้งแต่ครั้งผู้ถูกร้องเรียนยังเป็นนิสิต และความผิดติดตัวมาจนกระทั่งได้เป็น ส.ส. แล้วไม่ได้ลบโพสต์ข้อความเหล่านั้น

สองแง่มุมในคดีนี้ที่น่าจะโต้แย้งได้ในหลักยุติธรรมสากล แม้นว่าศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ จะไม่ค่อยถือเป็นสรณะเท่าไรนักก็ตาม ตรงที่บอกว่า น.ส.พรรณิการ์ได้ถวายสัตย์ฯ ตอนเข้าเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ จึงมีความผิดจากการกระทำก่อนหน้านั้น

อีกอย่างคือ จริยธรรมที่ ปปช.อ้างว่าเป็นมาตรฐานของศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นจริยธรรมทางการเมือง ซึ่งพฤติกรรมของศาลดังกล่าวแสดงให้เห็นแล้วหลายครั้งว่า ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสองฝักฝ่าย มักเป็นคุณต่อเครือข่ายอำนาจรัฐประหาร

ทั้งหลายเหล่านั้นเลยทำให้เกิดความรู้สึกว่า นั่นเป็นการจองล้างทางการเมือง หรือ ‘vendetta’ มากกว่ากระบวนยุติธรรม และจะไม่มีที่สิ้นสุด มักจะมีแต่ ทีใครทีมัน

(https://www.isranews.org/article/isranews/106948-isranews_news-404.html1_4 และ https://www.facebook.com/CCPCThai/posts/809573693770797)