วันเสาร์, มีนาคม 19, 2565

‘แอ๊ด คาราบาว’ ประชดเป็นเพลง ‘ปล่อยวางโควิด’ รัฐบาลต่ออายุ พรก.ฉุกเฉินอีกสองเดือน

เอิ่ม แอ๊ด คาราบาวฝากประชดในเพลงใหม่ ปล่อยวางโควิดของเขา “ปากท้องสำคัญกว่า...เกมการเมือง” ถ่ายทำเอ็มวีด้วยฉากหลังปืนผาหน้าไม้เต็มข้างฝา แถมคลิปปราศรัย อวดเรื่องไปเว็มบลี่ย์มา คนเก้าหมื่นไม่มีใครสวมหน้ากาก

เหน็บว่าเอาอย่างเสิ่นเจิ้นไปเลยดีไหม “ล็อคให้มันสุดๆ...เฮ้อ ขนาดจีนเขาทำงานหนักกว่าเราหลายเท่า คนก็ยังกลับมาติดอีก แต่เขาก็ไม่กลัว” เรียก โควิด ว่า ไอ้ไข้หวัด 19’ หนุนหลักการสาธารณสุขไทยกลายๆ “ยอมรับความจริงนี้เเล้วอยู่กับมัน”

ก็ ศบค.เขาประโคมอยู่แทบทุกวันไง จะทำโควิดเป็น โรคประจำถิ่นให้ได้ภายใน ๑ กรกฎานี้ ทั้งที่จำนวนติดเชื้อ (รวมทั้งตรวจ เอทีเค) และตายเพิ่มตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมาไม่เคยลด ตั้งแต่ ๑๕ มีนา ถึงวันนี้ ๑๙ มีนาอยู่ในเกณฑ์ ๔-๕ หมื่น และ ๗๐-๘๐

โดยเฉพาะวันนี้จำนวนคนตายมากถึง ๘๗ ขณะที่เมื่อวานตายแค่ ๘๐ แต่ติดเพิ่มเกิน ๕ หมื่น ถ้าจะให้รัฐบาลปล่อยวาง ชาวบ้านต้องระวังหนักหน่อย โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากแล้ว ขนาดแอ๊ดนี่ก็ยังมีสิทธิป่วยหรือถึงตาย ปืนมากมายฉากหลังนั่นช่วยอะไรไม่ได้

อัตราเสียชีวิตของคนไทยจากโควิดในระลอกนี้อยู่ที่ ๒๕๗ คนต่อ ๑ ล้าน ตั้งแต่ต้นปีมา มีคนตายเพราะโควิดไปแล้วเกือบพัน (๙๒๘ ราย) ข้อสำคัญ ยังมีคนสูงอายุที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเลยอยู่อีก ๒.๑๗ ล้านคน เฉพาะปีนี้ตายไปแล้วทั้งสิ้น ๕๕๗ คน

วานนี้หมอทวีศิลป์โผล่ออกทีวีแถลงมาตรการโควิดใหม่ ๘ ข้อ เน้นเรื่องฉลองสงกรานต์ ให้รดน้ำดำหัวและสรงน้ำพระกันได้ ห้ามเล่นประแป้ง สาดน้ำ และปาร์ตี้โฟม อ้อแล้วงดจำหน่ายสุราด้วย จุดใหญ่ใจความอยู่ที่ ขยายเวลา พรก.ฉุกเฉิน

พอดีพ้องกับการบ่นของแอ๊ดเรื่อง “เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ยังมีอีกหลายๆ อาชีพที่ยังถูกห้ามหากิน...ห่วงโซ่ธุรกิจพังหมดแล้วท่าน” สร้างความยากลำบากต่อ “ชาวไทยทั้งประเทศที่ใช้ชีวิตอย่างจำกัดภายใต้มาตรการต่างๆ” เขาคงไม่ได้หมายถึง พรก.ฉุกเฉินหรอกนะ

ที่มีการต่ออายุเป็นครั้งที่ ๑๗ ออกไปอีกสองเดือนถึง ๓๑ พฤษภาคม เกือบสองปีที่รัฐบาลประยุทธ์บังคับใช้ พรก.นี้อย่างต่อเนื่อง ได้ผลก็แต่ในด้านการเมือง ที่จับกุมคุมขังเยาวชนซึ่งเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่าง

บ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ลุแก่อำนาจ ปฏิบัติการ เกินกว่าเหตุ แห่งความเหมาะสม ทั้งนี้เพราะ พรก.ฉบับนี้ให้อำนาจเหนือกว่าหลักนิติธรรม โดยเจ้าพนักงาน “ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย” (มาตรา ๑๗) อัน “ไม่มีความจำเป็นในสถานการณ์โรคระบาดเลย”

ไอลอว์ชี้ด้วยว่าข้อกำหนดนี้แม้เป็น อำนาจทางปกครอง โดยตรง แต่มาตรา ๑๖ ระบุให้ “ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” ผลก็คือเมื่อเกิดการล่วงละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ ประชาชนไม่สามารถฟ้องร้องเอาผิดได้

แม้จะไม่ได้ปิดกั้นการฟ้องร้องในทางแพ่ง ซึ่งไอลอว์ว่า “เป็นการปฏิบัติที่แปลกประหลาด” ในเมื่อประเทศไทยมีศาลปกครอง “ที่ออกแบบมาเพื่อคุ้มครองประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิโดยรัฐ” แต่ พรก.ฉุกเฉินกลับไม่ให้ใช้

ผลักไปที่ศาลแพ่งซึ่งทำคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินประชาชน ไม่เกี่ยวรัฐ ในทางหลักการเป็นการกำหนดกฎหมายไม่ตรงกับปัญหา ในทางปฏิบัติเป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชนเกินกว่าพันธกรณีพึงมี

(https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10166419877960551, https://www.prachachat.net/general/news-889971 และ https://thepattayanews.com/2022/03/19/aed-carabao-ditch-all-covid-19-restrictions-like-the-uk-now/)