วันพฤหัสบดี, มีนาคม 17, 2565

เบตงนี่ ถ้าไม่ด้านจริงป่านนี้คงแตกไปแล้ว หน้าประยุทธ์ แต่เขามีจุดแข็ง อะไรพลาดได้แต่ยักไหล่ ใครกล้าหือ จุดอ่อน ก็คือพลาดแม่งเกือบทุกเรื่อง

เรื่องสนามบินเบตงนี่ ถ้าไม่ด้านจริงป่านนี้คงแตกไปแล้ว หน้าประยุทธ์ อย่างที่ช่องวันเขาบอก เปิดปุ๊บปิดปั๊บหรือจะเอาแบบที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เม้นต์ไว้ที่ @Ten_Nattawut ก็ได้ว่า “นึกว่าเที่ยวบินปฐมฤกษ์ แต่เป็น ปฐมเลิก”

แล้วยังมีหน้ามาเหน็บนักข่าวให้ “คิดสิ คิดๆๆ” @WassanaNanuam แจ้งทางหน้าทวิตภพว่าตู่ “เสียงเข้ม แนะนักข่าวให้คิดสิ คิดๆ ว่าสร้างสนามบินเบตง ยะลา ดีมั้ย หรือไม่ควรมีสนามบิน หรือไม่ควรทำอะไรใหม่ เลยรึไง” แหม่ง ไม่เคยสำนึกผิดอะไรสักอย่าง

ตอนกำลังสร้าง เสียงวิจารณ์ขรมมาแล้วว่าโฆษณาเสียใหญ่โต ตั้งชื่ออหังการ์ให้เป็นสนามบินนานาชาติ แต่คุณภาพรับเครื่องขนาดใหญ่ขนาดยักษ์ลงไม่ได้ ดันทุรังสร้างจนเสร็จเปิดบินเที่ยวแรกเมื่อ ๑๔ มีนา ขนรัฐมนตรีบิน นกแอร์ ไปจากกรุงเทพฯ

โดยเปิดให้คนทั่วไปจองตั๋วไว้อีกสองเที่ยวบิน คือไฟล้ท์วันที่  ๑๖ และ ๑๘ มีนา ทั้งจากกรุงเทพฯ และเบตง ไป-กลับ ปรากฏว่าบินเที่ยวปฐมฤกษ์เสร็จไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง นกแอร์แจ้งยกเลิกเที่ยวบินของทั้งสองวันเสียแล้ว ชาวเบตงบ่นกันงึม

นกแอร์ชี้แจงเหตุที่ต้องยกเลิกเที่ยวบินทั้งสองเพราะ “จำนวนผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับต้นทุนการปฏิบัติการบินที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการปฏิบัติการบินต่างๆ”

จึงต้องลดความเสี่ยงขาดทุน และซื้อเวลานัดคุยกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว “หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขอรับการสนับสนุน และความร่วมมือด้านต่างๆ” ที่ผ่านมามีเวลาน้อยในการจัดทำการตลาด “ทำให้จำนวนผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้”

ทางด้านประยุทธ์ได้แต่บอกว่าทำอย่างไรได้ “ต้องหาวิธีการ ซึ่งต้องหารือกันตรงนี้ หากเขาให้รับรองรายได้ เราก็ต้องหาเงินอีกใช่หรือไม่ ดังนั้น ต้องดูอีกทีเดี๋ยวมันคงดีขึ้น” นี่แหละจุดแข็งทางการบริหารของรัฐบาลนี้ อะไรพลาดได้แต่ยักไหล่ ใครกล้าหือ

ส่วนจุดอ่อน ก็คือพลาดแม่งเกือบทุกเรื่อง บวกกับหลายเรื่องที่ไร้เดียงสา ขาดวุฒิภาวะ ทำไม่เป็นแล้วอวดเก่ง วางกล้ามกร่าง เขาถนัด เอะอะก็อ้างกฎหมาย แต่การบังคับใช้กฎหมาย ทั้งอัยการ ตุลาการ ตีความกันตามใจ พวกเดียวกันเลี่ยงได้ ฝ่ายตรงข้ามเสร็จทุกราย

นี่ก็กำลังมีปัญหาภายในศาลรัฐธรรมนูญ ที่คณะยึดอำนาจออกแบบไว้ แล้วยังใช้วัสดุ (ตุลาการ) เลือกมากับมือ ไม่คำนึงสรรพคุณระยะยาว เอาแต่ชนิดที่เข้ากันได้ ไม่ต้องสวยไม่ต้องทน คนที่เป็นประธานขณะนี้ถึงเวลาเปลี่ยนแล้วยังไม่ยอมไป

วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพิ่งมีอายุครบ ๗๐ ปี เมื่อวันที่ ๑ มี.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏมีข้อกังขาว่าถ้าถือตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ซึ่งใช้ตั้งประธานฯ คนนี้ละก็ ต้องเกษียณแล้ว “รัฐธรรมนูญ ปี 2550 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระในตำแหน่งไม่เกิน ๙ ปี

หรือต้องอายุไม่เกิน ๗๐ ปี” ส่วนรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ลดวาระในตำแหน่งเหลือ ๗ ปี และอายุไม่เกิน ๗๐ แต่ก็ยินยอมให้ต่อได้ถึงอายุ ๗๕ ปี ความแตกต่างตรงนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการตุลาการไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่านายวรวิทย์ควรอยู่ต่อได้ไหม

ใน กต.เสียงแตกเสียจนลงเอยว่าให้ส่งเรื่องย้อนขึ้นไปให้คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย มีการอ้าง รธน.มาตรา ๒๐๘ และมาตรา ๒๐๓ พร้อมกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒ วรรคแรก และมาตรา ๑๘(๑) หรือ (๓) โดยส่งผ่านวุฒิสภา

Ponson Liengboonlertchai นิติศาสตร์จุฬาฯ ชี้ว่า “เราต้องแยกแยะให้ดีระหว่างการพ้นจากตำแหน่งตามวาระกรณีหนึ่ง และการพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นอีกกรณีหนึ่ง” ซึ่งกรณีของวรวิทย์ไม่เข้าข่ายส่งให้กรรมการสรรหาวินิจฉัย

อจ.พรสันต์ฟันธงว่า การวินิจฉัยปัญหาวาระดำรงตำแหน่งของประธานฯ วรวิทย์นั้น คณะกรรมการสรรหาฯ อยู่นอกเหนืออำนาจ “กล่าวคือจะมีอำนาจวินิจฉัยก็เฉพาะแต่ในประเด็นการพ้นจากตำแหน่งด้วยการขาดคุณสมบัติบางกรณี หรือมีลักษณะต้องห้าม หรือลาออกจากตำแหน่งเท่านั้น”

ขณะที่ Saiseema Phutikarn ยก พรบ.ประกอบ รธน. ๒๕๖๑ “เขียนไว้อย่างค่อนข้างชัดเจน (แม้จะหลายคนจะด่าว่าเขียนแบบเอาแต่ได้) ให้นับวาระเป็น ๙ ปีตาม รธน. ๕๐ แต่เกณฑ์อายุใช้ ๗๕ ปี ตาม พรป. ๖๑ ที่เขียนตาม รธน ๖๐”

เรื่องนี้คงยังไม่มีข้อสรุปให้สิ้นสุด นายวรวิทย์คงได้อยู่ต่ออีก ๕ ปี อารมณ์เดียวกับที่ ตู่ ขอเวลาอีก ๕ ปี อีกแล้ว อ้างว่าจะได้สานต่อโครงการต่างๆ ของตนที่ยังไม่เสร็จ เนื่องเพราะสองรัฐบาลที่ผ่านมา ๘ ปี ทำผู้ยี่ปู้ยำประเทศทิ้งไว้

(https://www.facebook.com/VoiceOnlineTH/posts/10162688004809848, https://www.facebook.com/pornson.liengboonlertchai/posts/10160205253985979, https://prachatai.com/journal/2022/03/97703 และ https://www.thairath.co.th/news/local/south/2342241Wdg)