วันอังคาร, มีนาคม 22, 2565

'ม็อบชาวนา' เกี่ยวโยงกับการผลิตคร้าฟเบียร์ในไทยได้อย่างไร

ขณะที่วงการเมืองพากันหมกมุ่นกับเรื่องแคนดิเดทนายกฯ ด้านหนึ่งเสนอตัวสาวสมสมัยวัยแข็งขัน ซ้ำเป็นสมาชิกบ้านใหญ่มหึมา อีกฟากย้ำสรรพคุณชายสูงอายุ ว่าแน่นปึกเพราะอยู่นาน ทว่าความเดือดร้อนของหมู่ชนที่มีฉายา กระดูกสันหลังชาติยังไม่มีขานรับ

บริเวณริมคลองหน้ากระทรวงการคลังยังเนืองแน่นไปด้วยชาวไร่ชาวนา มาปักหลักชุมนุมกันนานถึงสองเดือนแล้วเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือในการ ปลดหนี้จนวันนี้จะพากันยกขบวนเข้าไปในกระทรวง ผลักดันให้นำข้อเรียกร้องของพวกตนเข้าสู่การพิจารณา

ข้อเรียกร้อง ๓ อย่างจากม็อบชาวนา มีจุดมุ่งหมายหลักอยู่ที่การแก้ปัญหาหนี้สินพอกพูน อันเนื่องมาจาก “ราคาพืชผลการเกษตรถูกลงทุกวัน แต่ราคาปุ๋ยกลับแพงขึ้น” อย่างน้อยๆ ที่รัฐบาลจะช่วยได้ ขอให้เจ้าหนี้ “ชะลอการฟ้องบังคับคดี ยึดทรัพย์ขายทอดตลาด”

หากมีอีกมิติของการแก้ปัญหาที่ดูเหมือนจะยังไม่ได้พูดถึงกัน และเป็นส่วนจะทำให้พืชผลจากการผลิตของชาวนามีคุณค่ามากกว่ารอการส่งออกถ่ายเดียว นั่นคือขยายวงการแปรสภาพไปสู่สินค้าชนิดใหม่เพื่อการบริโภคอันมีราคา และโอกาสแพร่ออกไปในระดับนานาชาติ

นั่นคือนำพืชผลข้าว ตาลและมัน ไปผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นเหล้าขาว กะแช่ สาโท วิสกี้ และเบียร์ พร้อมไปด้วยการเพิ่มชนิดข้าว (grains) ที่ปลูกออกไปให้หลากหลาย เพื่อการผลิตของเมาเหล่านั้น เช่น บาเล่ย์ ม้อลท์ และฮวี้ท เป็นต้น

มีอุทธาหรณ์จากประเทศญี่ปุ่นเป็นแบบอย่าง แต่ครั้งโบราณกาลญี่ปุ่นนำเข้าข้าวจากไทยเพื่อการบริโภค แล้วนำส่วนเกินไปหมักเป็นสาเกดื่มกันจนทั่วโลกรู้จัก เช่นกันกับโซจูของเกาหลีในปัจจุบันนี้ (ซึ่งทำจากมัน) น่าทึ่งมากอยู่ที่วิสกี้ ซิงเกิ้ลม้อลท์อันลือชื่อ

ด้วยความนิยมในวิสกี้ม้อลท์และพัฒนาการปลูกพันธุ์ข้าวของชาวญี่ปุ่น ทำให้ริอ่านผลิตวิสกี้ซิงเกิ้ลม้อลท์ตามอย่างสก็อตแลนด์ ปรากฏว่ารสชาติโดดเด่นเป็นที่นิยมของนักดื่มทั่วโลก หลายตัวเทียบเท่าหรือเหนือกว่าเหล้าสก็อต

คร้าฟเบียร์ไทยก็เช่นกัน กล่าวได้ว่าขณะนี้อยู่ในระยะที่กำลังเติบโตในคุณภาพ ขาดแต่ปริมาณการผลิตถูกกีดกันด้วยตัวบทกฎหมายที่เอื้อแต่กิจการของเจ้าสัว ที่ต้องใช้เงินลงทุนมากขนาดหนัก เพื่อไปสู้กับยี่ห้อสัตว์ใหญ่สองราย ขณะที่ ศิลปินย่อย มีเป็นพันราย

กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มของไทยถูกโจมตีมานานว่านอกจากเอื้อเจ้าสัว แล้วยังคุมกำเนิด ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการขยายตลาดเบียร์และสุราที่ผลิตโดยรายย่อย จึงได้มีความพยายามเสนอร่างกฎหมาย สุราก้าวหน้า โดย ส.ส.พรรคก้าวไกล ในขณะนี้

เท่าพิภพ ลิ้มจิตกร ออกมาตอกย้ำอีกครั้งถึงความจำเป็นต้องแก้ไข พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี ๒๕๕๑ ในรัฐบาล ขิงแก่ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยเฉพาะใน มาตรา ๓๒ ที่ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด

เขาชี้ว่าการห้ามโฆษณาดังกล่าวทำให้การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สุราและเบียร์ใหม่ๆ ไม่มีช่องทางแสดงตัวต่อผู้บริโภคได้ “ค่าปรับที่สูงจนกลายเป็นอุปสรรคของผู้ผลิตสุรารายย่อย หรือผู้ผลิตหน้าใหม่ที่ต้องการนำวัตถุดิบมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ”

จึงปิดโอกาสทางเศรษฐกิจของศิลปกรรมการผลิตของเมา คร้าฟเบียร์ไทยที่ต้องออกไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วจึงส่งกลับเข้ามาขายในฐานะเบียร์นอกเหล่านี้ เป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักดื่มประเทศเพื่อนบ้านว่าเป็น ของดีที่มีน้อย

ค่าปรับฐานผลิตเบียร์พื้นบ้านออกมาขาย (แย่งตลาดเจ้าสัว) นี้สูงถึง ๕ หมื่นไปจน ๕ แสน มากกว่าค่าปรับความผิดฐานเมาแล้วขับ (๒ หมื่นบาท) เสียอีก ผู้ผลิตรายเล็กโดนปรับสักครั้งกิจการแทบพัง แต่กับรายใหญ่เป็นส่วนขี้ประติ๋วของงบโฆษณา

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา มีการวิจารณ์กันมากกรณีปรากฏภาพ ลิซ่า แบล็คพิ้งค์ ดาวเด่นของศิลปินกลุ่มนักร้องหญิง เค-พ้อพเกาหลี ลูกไทย ซึ่งโด่งดังมากอันดับ ๑ ของโลก ถือขวดและแก้ววิสกี้ ชีว้าสรีกอลซึ่งเป็นชุดภาพโฆษณาในเกาหลี แชร์กันในไทย

เพจ #explainer ของ WorkpointTODAY วิจารณ์เรื่องนี้ว่า ชุดโฆษณาดังกล่าวถูกห้ามแชร์ในไทย แต่เคยมีกรณีศึกษาเมื่อปี ๒๕๕๔ “บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ ติดแผ่นป้ายโฆษณารับสมัคร Sexy Leo Girl Season 5” เป็นประเด็นกำกวมว่า นั่นเป็นแท็คติคการโฆษณาเบียร์ลิโอ

อีกกรณีในปี ๒๕๖๐ ร้านของชำในจังหวัดนครพนม ขึงป้ายไวนิลกันแดดสีเขียวผืนใหญ่มีภาพโลโก้ ‘Chang Beer’ และข้อความว่า “เบียร์เป็นเหตุทะเลาะวิวาทและอาชญากรรม” เจ้าของร้านถูกตัดสินมีความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ให้เหตุผลว่าเพราะร้านตั้งอยู่ริมถนนการสัญจรพลุกพล่าน คนจำนวนมากเห็นได้ง่ายๆ ทำนองเดียวกับกรณี ลิซ่าผอ.สำนักควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แจ้งว่า ถ้าเป็นคนธรรมดาทั่วไปลงรูปอย่างนั้นไม่มีข้อความชักชวนให้ดื่ม ก็ไม่ผิด

แต่นี่เป็น แบล็คพิ้งค์ เป็นดาราคนดัง มีแฟนคลับติดตามจำนวนมหาศาลได้เห็นภาพและข้อความ “อาจทำให้คนหันมาสนใจสินค้า มีผลเป็นการโน้มน้าวหรือชักจูงใจคนไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม จึงไม่สามารถทำได้”

ถ้าเช่นนั้นการโพสต์ข้อความชื่นชมหรือติติงเหล้า-เบียร์ทางโซเชียลมีเดีย จากผู้ที่ได้ลิ้มชิมรสแล้วเกิดความอารมณ์อยากแสดงปฏิกิริยาล่ะ ทำได้แค่ไหน ในเมื่อมองในแง่ไม่เหมาะควรที่เยาวชนได้เห็น ก็มีกฎหมายห้ามขายสุราผู้ที่อายุต่ำกว่า ๒๐ กำกับอยู่แล้ว

การบังคับใช้กฎหมายแบบเหมารวม ย่อมก่อผลร้ายในบางส่วนบางเหล่าได้เสมอ วิธีการชนิดสักแต่อ้างกฎหมายเอามากำกับกดขี่ ไม่มีทางทำให้ประเทศเจริญได้ดีนักแล้ว

(https://www.facebook.com/workpointTODAY/posts/1871586229877313=AZX4G และ https://prachatai.com/journal/2022/03/97792)