
ที่มา มติชนออนไลน์
ผ่าสเปก‘นายกฯใหม่’ ‘อุ๊งอิ๊ง’ตัวเลือก-พปชร.น่าสน
หมายเหตุ – มุมมองนักวิชาการในหัวข้อนายกรัฐมนตรีคนต่อไปในห้วงสถานการณ์เศรษฐกิจขาลง การแพร่ระบาดโควิด-19 การเมืองไทยและด้านต่างประเทศ ต้องมีสเปกอย่างไรถึงจะเหมาะสม

ปรีชา สุขเกษม
นักวิชาการอิสระ จ.สงขลา
นักวิชาการอิสระ จ.สงขลา
มองสนามเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามาถึงว่า พรรคการเมืองที่น่าสนใจในการเลือกตั้งครั้งหน้า ควรจะเป็นพรรคที่มีนโยบายที่จับต้องได้ มีตัวผู้นำที่น่าเชื่อถือ พรรคที่มีอยู่ตอนนี้หรือพรรคที่กำลังจะเกิดใหม่ มองว่าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังคงเป็นพรรคที่น่าสนใจ โดยให้ความสนใจกับผู้นำพรรคที่ยังได้รับการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่สามารถที่จะหนีจากการจัดระเบียบโลกใหม่ จากสถานการณ์สงครามยูเครน-รัสเซีย จะกระทบกับการบริหารจัดการประเทศจึงควรจะมีผู้นำที่เข้มแข็ง ในการจัดระเบียบโลกใหม่ในครั้งนี้
ส่วนพรรคอื่นๆ นั้นคงจะต้องดูว่าแนวทางการบริหารจัดการเป็นอย่างไร การเสนอตัวนายกฯว่าเป็นใคร คุณสมบัติอย่างไร ส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) หากจะเสนอ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม บุตรสาวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มองว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่คนไทยจะพิจารณา แต่ น.สแพทองธาร ยังมีประสบการณ์น้อยและยังไม่มีผลงานที่ชัดเจน ต้องพิสูจน์ตัวเองในหลายๆ เรื่องในขณะที่เป็นทายาท นายทักษิณที่ยังเป็นจำเลยสังคมอยู่ในหลายประเด็น เรื่องนี้สังคมจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบและเป็นผู้ตัดสินเอง ถือเป็นเรื่องที่น่าท้าทายและเป็นเรื่องที่ต้องถามใจคนไทย ว่าพร้อมจะรับพิจารณาเอาไว้หรือไม่อย่างไร
สำหรับประเด็นเรื่องคุณสมบัติความรู้ความสามารถทางเศรษฐกิจ ถ้ามีคุณสมบัติพร้อมการทหาร การต่างประเทศ ทางเศรษฐกิจด้วยน่าจะดี แต่จริงๆ ควรต้องจัดลำดับความสำคัญ มองว่าใครควรจะมีคุณสมบัติที่ดีที่สุด ในห้วงเวลาที่มีการจัดระเบียบโลก ดังนั้น คุณสมบัติที่พร้อมทุกด้านอาจจะไม่จำเป็นต้องอยู่ในคนคนเดียว แต่ผู้นำที่คุณสมบัติพร้อมตรงกับสถานการณ์ย่อมมีทีมงาน มีทีมบริหารที่พร้อมทุกด้านได้ อยากเห็นคนดีปกครองประเทศ อยากเห็นคนที่ทุ่มเทให้กับบ้านเมืองเหมือนสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ

ธเนศวร์ เจริญเมือง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)
การเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย หลายพรรคได้คะแนนจากบัตรเขย่ง ผู้นำประเทศ และพรรคร่วมรัฐบาล ได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 เสียง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เข้าถึงประชาชนเพราะไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง จึงเป็นประชาธิปไตยแบบหลอกลวง แต่เป็นอำนาจเผด็จการซ่อนรูปที่ฝังรากลึกมายาวนาน การเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า เป็นตัวชี้วัดและสะท้อนวิสัยทัศน์ นโยบายพรรคการเมือง และผู้นำประเทศคนใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ผลกระทบโควิด-19 และสงครามยูเครน-รัสเซีย ว่าสามารถตอบสนองประเทศ หรือตอบโจทย์ประชาชนได้หรือไม่ โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคที่น่าจับตามองคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง แต่การเลือกตั้งต้องแก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ไม่ให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกผู้นำประเทศหรือรัฐบาลได้อีก มิฉะนั้นจะกลับสู่วังวนเดิม
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และรัฐบาล ไม่ควรเร่งรัดจัดการเลือกตั้งเร็วไป ควรให้โอกาสทุกพรรคได้นำเสนอนโยบายและวิสัยทัศน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด พร้อมเปิดเวทีให้พรรคการเมือง หรือลงพื้นที่พบปะประชาชน เพื่อนำเสนอนโยบายและวิสัยทัศน์ พร้อมรับฟังปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่นโยบายใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น ที่สำคัญช่วงเวลาหาเสียง หัวหน้าพรรคและทีมงานต้องแสดงศักยภาพ ว่าสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เพื่อให้ประชาชนมองเห็นความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสนับสนุนเป็นว่าที่ผู้นำประเทศคนใหม่ หากเลือกไปแล้วไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ถือว่าได้บทเรียนราคาแพงอีกครั้ง
กรณี น.ส.แพทองธาร อาจมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯคนใหม่นั้น ส่วนตัวมองว่ายังไม่ถึงเวลา อายุยังน้อย กระดูกยังไม่แข็ง ต้องใช้เวลาเพาะบ่ม เรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์การเมืองมากกว่านี้ หน้าที่ที่เหมาะสมคือ เป็นหัวหน้าเชียร์ลีดเดอร์ ลุยหาเสียงช่วยพรรคและผู้สมัครทุกพื้นที่ พร้อมใช้ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์พรรคเพื่อเตรียมความพร้อม และวางรากฐานการเมือง สู่การเป็นผู้นำประเทศในอนาคตดีกว่า เชื่อประชาชนจะให้การสนับสนุนต่อไป

ฐิติพล ภักดีวานิช
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
คุณสมบัตินายกฯอย่างแรกที่สำคัญเลย คือการเชื่อมั่นในเรื่องของหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เพราะมี ปัญหาตรงนี้มาค่อนข้างที่จะยาวนานสำหรับประเทศไทยตั้งแต่มีการรัฐประหารขึ้น ที่สำคัญ 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเองประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการมีวิสัยทัศน์ มีศักยภาพในการบริหารธุรกิจ บริหารเศรษฐกิจ การยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ปัจจัยที่จะทำให้คนนั้นเป็นนายกฯในสมัยหน้า ตอนนี้ปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญ คือรัฐธรรมนูญตอนนี้ยังมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คนอยู่ เพราะฉะนั้นสุดท้ายคือพรรคที่ ณ ตอนนี้คือพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังอยู่ส่วนที่ได้เปรียบ เพราะ ส.ว. 250 คน ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งขึ้นมา ยังเป็นเสียงสำคัญในการเลือกนายกฯ ปัจจัยจากการเลือกตั้งอาจจะไม่ได้มีความสำคัญมากนัก ถ้าต้องการให้ได้นายกฯที่ดีจริงๆ ควรมีการตัดเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญส่วนนี้ออกไปก่อน
ส่วนเรื่องพรรคที่เหมาะสมในตอนนี้ อย่างน้อยเห็นการทำงานของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ยึดมั่นในเรื่องของอุดมการณ์ และการพยายามที่จะเปิดเผยข้อมูลในด้านต่างๆ ให้คนได้ตระหนัก ได้รู้มากขึ้นในเรื่องของการใช้งบประมาณของรัฐบาล ผมคิดว่าการทำงานของพรรค ก.ก.เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นการทำงานของฝ่ายค้านที่มีคุณภาพในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ เรื่องการที่ น.ส.แพทองธารมีโอกาสเป็นแคนดิเดตนายกฯพรรค พท. มองว่าเป็นเรื่องของการตัดสินใจของพรรค ในส่วนตัวแล้วการที่เป็นแคนดิเดตของ น.ส.แพทองธาร เป็นสิ่งหนึ่งที่ยังตอกย้ำในเรื่องพรรค พท.ที่ยังยึดไว้อยู่กับตระกูลชินวัตร และมีความคาดหวังที่ว่าคะแนนที่จะได้จากการเลือกตั้งรอบนี้อาจมาจากกลุ่มฐานเสียงเดิมที่มาจากกลุ่มนายทักษิณ ถ้าสุดท้ายถูกเลือกเป็นแคนดิเดตก็สะท้อนให้เห็นว่ายังยึดในเรื่องของตัวบุคคล พรรค พท.ไม่ได้กลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่แท้จริง โดยพรรค พท.น่าจะมีตัวเลือกค่อนข้างเยอะมากกว่า น.ส.แพทองธาร
ทั้งนี้ หลายคนที่เลือกพรรค พท.ไม่ได้เลือกเพราะนายทักษิณ แต่เลือกเพราะนโยบายต่างๆ มากกว่า ถึงแม้นายทักษิณจะมีอิทธิพล มีบทบาท แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการตัดสินใจในการเลือกตั้ง สุดท้ายการเลือกหรือเสนอ น.ส.แพทองธาร จึงเป็นเรื่องของการตัดสินใจภายในพรรค อย่างไรก็ตาม หาก น.ส.แพทองธาร
ได้เป็นนายกฯ ไม่แน่ใจว่าอาจจะมีกลุ่มแรงต้านนายทักษิณกลุ่มเดิมอีกก็ได้

ปิยณัฐ สร้อยคำ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
สําหรับผู้นำของประเทศในการเลือกตั้งครั้งหน้านั้น มองว่าคงต้องถึงเวลาที่เมืองไทยต้องเลือกผู้นำรุ่นใหม่ ไม่ใช่เรื่องของอายุ แต่เป็นผู้นำที่มีความคิด รวมถึงโลกทัศน์สมัยใหม่ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากบริบทของโลกในปัจจุบันและโลกในอนาคต ต้องเผชิญกับความท้าทายสมัยใหม่ที่หลากหลาย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คุณสมบัติที่ดีของผู้นำประเทศ มองว่าผู้นำของประเทศควรให้ความสำคัญกับความมั่นคงมนุษย์ เป็นหนึ่งในหลักคิดเรื่องความมั่นคงแบบใหม่ (Non-traditional Security) ที่มาทดแทนความมั่นคงแบบดั้งเดิมเน้นการทหาร การที่ผู้นำมีหลักคิดเรื่องความมั่นคงมนุษย์ก็ย่อมที่จะให้ความสำคัญและโน้มเอียงไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งทางเศรษฐกิจให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสวัสดิการต่างๆ ให้กับผู้คนทุกชนชั้นให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม สามารถเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงรับมือกับปัญหาภัยธรรมชาติ รวมถึงโรคภัยต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำประเทศหลังการเลือกตั้งต้องมีทีมงานที่เข้มแข็ง เนื่องจากการเป็นผู้นำที่เก่งเพียงคนเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาในโลกปัจจุบันที่มีความซับซ้อน ดังนั้น การทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยใช้ผู้มีความรู้ความสามารถที่หลากหลายมาร่วมกันกำหนดนโยบายประเทศจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากในห้วง 3 ปีที่ผ่านมาโรคระบาดโควิด-19 ได้เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของโลกไปอย่างมากและตอกย้ำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นในสังคม นอกจากนี้ คุณสมบัติอีกประการของผู้นำหลังการเลือกตั้ง คือการเป็นนักการทูต ผู้สามารถประสานประโยชน์ ทั้งการจัดการกับความขัดแย้งและความหลากหลายของกลุ่มผลประโยชน์ภายในประเทศ ให้สามารถขับเคลื่อนประเทศไปพร้อมๆ กัน สามารถสร้างความร่วมมือกับผู้นำในระดับชาติ เพื่อขยายตลาด การค้า การลงทุน เพื่อให้ประชาชนในชาติได้ประโยชน์มากที่สุด
ปัจจุบันพรรคการเมืองจำนวนมากเริ่มมองหาผู้นำสมัยใหม่เพื่อเป็นแคนดิเดตในการลงเลือกตั้งนายกฯมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งหน้าและครั้งถัดๆ ไป ประเทศไทยไม่ได้ต้องการเพียงแค่คนรุ่นใหม่มานำทัพเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่ทุกพรรคการเมือง รวมถึงในสังคมต้องตระหนักร่วมกันคือ จะทำอย่างไรให้คนในการเมืองเก่าหรือคนรุ่นเก่าเปิดรับการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้าในโลกสมัยใหม่ พร้อมกับใช้ประสบการณ์และพลังที่มีร่วมกับคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาประเทศ โจทย์นี้เป็นโจทย์สำคัญ เพราะแม้จะมีคนรุ่นใหม่อยู่เบื้องหน้า แต่หากไม่มีคนรุ่นเก่าที่มีความคิดทันสมัยสนับสนุนคงลำบากไม่น้อย