ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
15h ·
28 ก.พ. 2565 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งฟ้องคดีของศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ หรือ วิธญา คลังนิล (ชื่อเดิม) นักศึกษาภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่มศิลปิน Artn’t ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีแสดง Performance art หรือ ศิลปะการแสดงสด เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 64 โดยเขาถูกกล่าวหาว่าได้ใช้เท้าขวาชี้ขึ้นไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10
.
คดีนี้มี พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง เป็นผู้กล่าวหา ก่อนหน้านี้ศิวัญชลีได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2565 โดยเขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้กับอัยการเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 โดยเขาถูกนัดให้ไปรายงานตัวที่สำนักงานอัยการเดือนละครั้ง รวม 3 ครั้ง กระทั่งอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี
.
หลังศิวัญชลีเข้ารายงานกับพนักงานอัยการในช่วงสาย อัยการได้แจ้งว่าจะฟ้องคดีนี้ในช่วงบ่าย ทำให้ตั้งแต่เวลาราว 13.15 น. เขาถูกนำตัวไปควบคุมที่ห้องขังใต้ถุนศาลจังหวัดเชียงใหม่
.
ด้านทนายความได้ยื่นขอประกันตัว โดยขอใช้ตำแหน่งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นนายประกัน ต่อมาเวลาประมาณ 17.40 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย พร้อมกำหนดวันนัดพร้อมคดีต่อไปในวันที่ 25 ก.ค. 2565 เวลา 9.00 น. รวมเวลาที่จำเลยถูกคุมขังใต้ถุนศาลราว 4 ชั่วโมงเศษ
.
สำหรับเนื้อหาในคำฟ้องคดี นายณัฐเมธส์ สิริไตรรัตนกุล พนักงานอัยการเป็นผู้เรียงพิมพ์ ระบุโดยสรุปว่าเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. จำเลยเจตนาเลือกสถานที่ที่มีป้ายข้อความ “ทรงพระเจริญ” และที่มีรูปพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ทำการแสดงสัญลักษณ์ด้วยป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “คืนสิทธิประกันตัวให้ประชาชน” และด้วยการปีนขึ้นไปบนป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้น้ำสีแดงเทลาดใส่เนื้อตัว โดยมุ่งประสงค์ให้น้ำสีแดงได้กระเด็นไปเลอะเทอะเปรอะเปื้อนพระบรมฉายาลักษณ์ และป้ายข้อความ “ทรงพระเจริญ” ซึ่งประดิษฐานอยู่เหนือป้ายชื่อมหาวิทยาลัย
.
จากนั้นจำเลยได้แสดงกิริยาท่าทางเคลื่อนไหวร่างกายต่างๆ ด้วยการนั่งห้อยขา นั่งยองๆ แสดงท่าครุฑ ยืนเอาถังสีสวมครอบศีรษะ และนอนหงายโดยใช้เท้าขวา ซึ่งเป็นอวัยวะเบื้องต่ำชี้ขึ้นไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ อันเป็นการแสดงพฤติกรรมที่มีลักษณะเป็นการแสดงออกทางกิริยาท่าทางจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยการไม่ถวายพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศรัทธาและเคารพบูชาของประชาชนชาวไทย โดยประการที่น่าจะทำให้พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง
.
และโดยสัญลักษณ์ป้ายผ้าข้อความ “คืนสิทธิประกันตัวให้ประชาชน” นั้น เมื่อประชาชนทั่วไปได้พบเห็นทำให้เข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้สนับสนุนผู้นำรัฐบาลปัจจุบัน ให้กระทำการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งจำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเกิดความแตกแยก และเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก เพื่อก่อความไม่สงบในบ้านเมือง อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และเป็นการทำด้วยวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชม หรือแสดงกิริยาทั่วไปที่วิญญูชนพึงกระทำโดยสุจริต
.
อัยการยังคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา โดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร เกรงว่าจำเลยจะหลบหนีและไปก่อคดีเช่นเดียวกับคดีนี้ซ้ำอีก
.
คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 2 ของศิวัญชลี ที่ถูกอัยการสั่งฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนหน้านี้เขากับเพื่อนกลุ่ม Artn’t ได้ถูกสั่งฟ้องกรณีแสดงงานศิลปะคล้ายธงชาติที่ไม่มีสีน้ำเงินมาแล้วคดีหนึ่ง
.
ขณะที่หากนับคดีจากการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด ศิวัญชลีถูกกล่าวหามาแล้วรวม 9 คดี โดยนอกจากในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 7 คดี มีคดีที่เขาถูกกล่าวหาจากกิจกรรมคาร์ม็อบที่นราธิวาส บ้านเกิดของเขา กับคดีจากการชุมนุม #ม็อบ12ธันวา64 #ราษฎรพิพากษามาตรา112 ที่สี่แยกราชประสงค์ ในกรุงเทพมหานคร โดยที่เขาเพียงแต่ไปอ่านบทกวีสั้นๆ ในงานดังกล่าวเท่านั้น ทำให้เขาถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
.
.
อ่านเรื่องราวของ “รามิล” เพิ่มเติม
.
รู้จัก ‘วิธญา คลังนิล’: จากเยาวชนชายแดนใต้ สู่โลกปรัชญา-บทกวี-ศิลปะ และคดีทางการเมือง https://tlhr2014.com/archives/36402
.
.
อ่านข่าวบนเว็ปไซต์ >> https://tlhr2014.com/archives/40846
...
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
Yesterday at 8:58 AM ·
1 มี.ค. 2565 ศาลจังหวัดพัทยานัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีของ #บุปผา (นามสมมติ) #ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ถูกฟ้องฐาน #หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา #มาตรา112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
.
สำหรับรายละเอียดในคดีนี้ จำเลยถูกอัยการฟ้องว่า โพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระหว่างวันที่ 25 ก.พ. 2558 – 19 พ.ค. 2559 จำนวน 13 โพสต์ พาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร (พระยศขณะนั้น), สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี,ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์
.
คดีนี้มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยระหว่างวันที่ 9-11 มิ.ย. 2563 แต่ศาลไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าฟังการพิจารณา โดยศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 ยกฟ้องข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ลงโทษ ‘บุปผา’ ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุปว่า
.
“ในสํานวนประกอบทางนําสืบโจทก์และจําเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จําเลยเคยเข้ารับการรักษาอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ รวม 131 วัน แพทย์วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชเป็น #โรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง หรือ Paranoid Schizophrenia Continuous อาการโดยทั่วไปของจําเลยจะหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ มีความคิดบิดเบือนไปจากความจริง อาทิ จําเลยบอกตนเป็นทายาทของรัชกาลที่ 5 และคิดว่าตนสามารถติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ได้”
.
“เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจําเลยที่ปรากฎในสํานวนประกอบทางนําสืบโจทก์และจําเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จําเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพตามฟ้องโดยมิได้มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ รัชทายาท ดังนี้ การกระทําของจําเลยย่อมขาดองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 จําเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ รัชทายาท”
.
อย่างไรก็ตาม ศาลได้วินิจฉัยในส่วนความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ โดยเห็นว่า
.
“มาตรา 112 ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา ได้จัดลําดับไว้ในภาค 2 ว่าด้วยเรื่องความผิด ลักษณะ 1 หมวด 1 เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และที่สําคัญกล่าวคือเป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ต่างหากจากความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลหรือตําแหน่งอื่นๆ และเห็นว่าเป็นการบัญญัติไว้โดยเฉพาะต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยแท้ จึงต้องแปลว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงอยู่ในความหมายของคําว่า #รัชทายาท แห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112”
.
“แต่มิได้ก้าวล่วงไปวินิจฉัยถึงคําว่าพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลแต่ประการใด และเห็นว่าการแปลกฎหมายที่มีการกระทําความผิดต่อพระบรมวงศานุวงศ์แห่งราชวงศ์จักรี โดยนําความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทในบทมาตราอื่นมาปรับใช้ร่วมกับประชาชนบุคคลธรรมดา ย่อมมิอาจกระทําได้ไม่ว่ากรณีใดๆ และเป็นสิ่งที่มิบังควรอย่างยิ่ง การตีความดังกล่าวเป็นอํานาจทั่วไปที่ศาลจะพึงใช้เพื่อให้มีสภาพบังคับตามกฎหมาย โดยคํานึงถึงนิติธรรมประเพณี เจตนารมณ์หรือหลักการทางกฎหมายดังได้วินิจฉัยมาแล้วทั้งหมดเพื่อผดุงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์และความยุติธรรมทั้งปวง”
.
สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) นั้น ศาลพิพากษาโดยสรุปว่า
.
“แม้จากการสืบพยานจะฟังได้ว่าจําเลยมีความผิดปกติในความคิดและการรับรู้แล้วแสดงอาการด้วยการโพสต์ข้อความและรูปภาพเชิงตําหนิสถาบันกษัตริย์ ซึ่งกระทําไปเพราะความเป็นโรคจิตเภท แต่การที่จําเลยยังควบคุมตนเองในเรื่องปกติทั่วๆ ไปได้ แสดงว่าจําเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ดังนั้น จําเลยจึงต้องรับผิดสําหรับการกระทํานั้น ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”
.
“พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) การกระทําของจําเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จําคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 13 กระทง เป็นจำคุก 78 เดือน”
.
“ไม่ปรากฏว่าจําเลยเคยได้รับโทษจําคุกมาก่อน โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกําหนด 3 ปี คุมความประพฤติจําเลยโดยให้จําเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี ให้จําเลยไปรับการรักษาอาการทางจิต ณ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์อย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์กําหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ดของกลาง”
.
เปิดอุทธรณ์ของจำเลย ยืนยันจำเลยหลงผิด ขาดเจตนาตามองค์ประกอบกฎหมาย ทั้งศาลยังยกฟ้องข้อหา ม.112 จึงไม่อาจลงโทษข้อหาตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ได้
.
ในคำอุทธรณ์ที่ยื่นต่อศาล ระบุว่า จําเลยยังไม่เห็นพ้องกับคําพิพากษาของศาลจังหวัดพัทยา เนื่องจากยังคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหลายประการ จึงขออุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาดังกล่าว และขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กลับคําพิพากษาศาลชั้นต้น และพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้
.
1. ตามที่ศาลวินิจฉัยไว้ว่า สมาชิกของราชวงศ์อันได้แก่ สมเด็จพระเทพฯ, เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ, พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ, พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาฯ และพระองค์เจ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงอยู่ในความหมายของคําว่า “รัชทายาท” จึงได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น จําเลยขออุทธรณ์ว่า หลักกฎหมายอาญาต้องมีความชัดเจน แน่นอน และต้องตีความโดยเคร่งครัด ไม่อาจตีความขยายขอบเขตเพื่อลงโทษจำเลยได้
.
ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มุ่งคุ้มครองบุคคลที่ดํารงตําแหน่งในองค์กรทางรัฐธรรมนูญ 4 ตําแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ โดยตําแหน่งรัชทายาทต้องกําหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 20 และมาตรา 21 ซึ่งระบุว่า ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ และต้องมีคุณสมบัติและเงื่อน ไขตามที่กำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาล ทั้งนี้ ตามกฎมณเฑียรบาล รัชทายาทมีได้เพียงบุคคลเดียว ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องที่ 281/232
.
ด้วยเหตุนี้บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงมีเพียงบุคคลที่พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง ไม่ได้คุ้มครองเจ้านายและเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ตามที่ศาลวินิจฉัย ทั้งนี้ หากเกิดกรณีการหมิ่นประมาทฯ เชื้อพระวงศ์อื่นๆ ก็ต้องพิจารณาเอาผิดในฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
.
ประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นประเด็นสําคัญที่ศาลอุทธรณ์ควรวินิจฉัย แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้อง มาตรา 112 แต่ได้พิพากษาลงโทษจําเลยตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) โดยลงโทษทุกกรรม รวม 13 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน เป็นจำคุก 78 เดือน ซึ่งเป็นความผิดสืบเนื่องจากการวินิจฉัยว่า สมาชิกราชวงศ์ที่จำเลยพาดพิงทรงอยู่ในความหมายของคําว่า “รัชทายาท” และถูกคุ้มครองตาม มาตรา 112
.
2. บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามคําฟ้องมีเพียงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นรัชทายาทในขณะเกิดเหตุ โดยศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จําเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพ โดยหลงคิดว่ามีหน้าที่ปกป้องสถาบันกษัตริย์ จึงโพสต์ข้อความเชิงตําหนิด้วยความประสงค์ดี เพียงแต่จําเลยใช้ถ้อยคําไม่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งข้อความที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้เป็นข้อความที่เข้าข่ายการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ตามกฎหมายแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น ข้อความ 4 ข้อความที่ระบุถึงบุคคลที่มาตรา 112 คุ้มครองทั้งสององค์ จำเลยยังชื่นชมรัชกาลที่ 9 เสียด้วยซ้ำ
.
ส่วนข้อความอื่นบางข้อความก็สะกดผิด ไม่ถูกต้องตามไวยกรณ์ ไม่อาจเข้าใจความหมายได้ ดังนั้น บุคคลที่สามที่เห็นข้อความย่อมย่อมเข้าใจได้ว่า จําเลยผู้โพสต์มีอาการไม่ปกติ ทั้งยังไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริง จึงไม่เข้าข่าย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
.
3. ศาลชั้นต้นได้พิพากษาแล้วว่า จําเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพตามฟ้อง โดยไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ รัชทายาท จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อศาลยกฟ้องในฐานความผิดดังกล่าวแล้ว จะลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ไม่ได้ เนื่องจากการกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ต้องเป็นการนำเข้าสู่ระบบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาเสียก่อนเท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อความและรูปภาพต่าง ๆ ที่จำเลยโพสต์ ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไปแล้วว่า ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 ความผิดตามมาตรา 14(3) จึงย่อมมีไม่ได้เช่นกัน
.
อีกทั้งเป็นเรื่องย้อนแย้งเป็นอย่างยิ่งที่จำเลยซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยไปเองแล้วว่า จําเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท หลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ คิดว่าตนมีหน้าที่ปกป้องสถาบันกษัตริย์ ขาดเจตนาหมิ่นประมาท และไม่มีความผิดตามมาตรา 112 แต่กลับถูกศาลพิพากษาในคดีเดียวกันนี้ว่า จําเลยยังรู้รับผิดชอบและมีเจตนานําเข้าข้อมูลที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ จนต้องเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จำเลยจึงขออุทธรณ์ว่า เมื่อมูลฐานความผิดตามมาตรา 112 ถูกยกฟ้องแล้ว การที่จำเลยนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
.
4. พยานหลักฐานปรากฏชัด โดยศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุ จําเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพเพราะมีอาการป่วยทางจิต แต่การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจําเลยยังคุมตัวเองได้ในเรื่องทั่ว ๆ ไป จึงยังต้องรับผิดนั้น ถือว่ามีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากพยานปากแพทย์ที่ให้การดูแลจำเลยได้ให้การว่า “ขณะเกิดเหตุ จำเลยมีความหลงผิด" และชี้แจงว่า "ผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภทสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ คนไข้สามารถควบคุมตนเองในเรื่องปกติทั่วๆ ไปได้ แต่หากเป็นเรื่องที่หลงผิด เช่น กรณีจำเลยซึ่งหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ก็อาจจะไม่สามารถควบคุมตนเองในการโพสต์ข้อความ” สอดคล้องกับคำเบิกความของพนักงานสอบสวนซึ่งระบุว่า “จำเลยไม่เหมือนคนปกติทั่วไป คล้ายกับคนจิตไม่ปกติ” จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าขณะโพสต์จำเลยป่วยมีอาการทางจิต ไม่สามารถควบคุมตนเองในการโพสต์ข้อความได้ จำเลยจึงขาดเจตนาในการกระทําความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)
.
ฐานข้อมูลคดี https://database.tlhr2014.com/public/case/24/lawsuit/6/
.
.
อ่านเนื้อหาฉบับเว็บไซต์ https://tlhr2014.com/archives/40823