THE STANDARD สัมภาษณ์ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน หนึ่งในผู้ที่ถูกตำรวจบุกไปถึงที่ทำการสำนักพิมพ์อีกครั้งตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ปีนี้เป็นปีครบรอบสองทศวรรษการก่อตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันด้วย
นอกจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ธนาพลยังมีอีกหลายคดี และคดีที่ได้รับความสนใจอย่างมากในแวดวงวิชาการคือ คดีที่เขาเป็น 1 ใน 6 จำเลยจากการตีพิมพ์หนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ และ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ของ ณัฐพล ใจจริง เนื้อหาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ปีการศึกษา 2552 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) ซึ่งกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ 5 คน ได้ประเมินด้วยมติเอกฉันท์ให้เป็นวิทยานิพนธ์ดีมาก (Excellent) 1 ใน 5 กรรมการ คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ขณะที่ฝ่ายโจทก์คือ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต หลานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ฟ้องศาลแพ่งเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาทต่อ 6 จำเลย โดยมี ‘ไชยันต์ ไชยพร’ เป็นหนึ่งในพยานฝ่ายโจทก์ อีกบทบาทของไชยันต์คือ หัวหน้าโครงการวิจัย ‘จากมวลชนปฏิวัติสู่มวลชนประชาธิปไตยกับพระมหากษัตริย์: การศึกษาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย’ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า
ข้อสังเกตที่พบกรณีเจ้าหน้าที่บุกไปบ้านนักกิจกรรมหลายคนในเวลาไล่เลี่ยกัน รวมถึงสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน คืออะไร
อาจเป็นเพราะมีกระแสในโซเชียลมีเดียไม่เข้าพิธีรับปริญญา เขาอาจคิดว่าเราอยู่เบื้องหลัง มันเป็นความกลัวของฝ่ายขวาไทย ซึ่งมีตั้งแต่ปรากฏการณ์คนไม่ยืนในโรงหนัง ไม่เข้าพิธีรับปริญญา และกรณีเจ้าหน้าที่ไปห้องสมุด อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (โครงการห้องสมุด 1932 People Space Library) ไปหยิบหนังสือการ์ตูนเพราะมีรูปชูสามนิ้ว เราว่าการใช้อำนาจแบบนี้มันตลก
ถูกบุกสำนักพิมพ์บ่อย จัดการกับสถานการณ์อย่างไร
เราบริสุทธิ์ใจ อย่างกรณีที่เขามาหาหนังสือ สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย คำปราศรัยของ อานนท์ นำภา เราก็บอกว่า ใจเย็นๆ นะ ศาลยังไม่ตัดสินเลยว่าที่พูดมามันผิด คำปราศรัยวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ยังไม่เข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการพิจารณาสืบพยาน นี่เป็นแค่คำฟ้องแล้วไม่ได้ประกันตัว
เวลาตำรวจมา เราก็ถามง่ายๆ ว่า ถ้าจะมาเอาเข้าคุก อย่างไรให้กระบวนการนี้พิจารณาให้เสร็จก่อนได้ไหม
นึกออกไหม สมมติว่าวันหนึ่งคำปราศรัยของอานนท์ไม่ได้ผิด ม.112 แล้วกระบวนการที่เสียเวลากับเรา หาว่าเป็นคนผลิต เป็นคนเผยแพร่ อย่างนี้ใครจะรับผิดชอบ
ครั้งนี้มีการยึดโทรศัพท์มือถือ ยึดคอมพิวเตอร์ ถือว่าหนักที่สุดไหม หรือเคยเจอยิ่งกว่านี้
หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เคยถูกคุมตัวไปค่ายทหาร 2 ครั้ง ครั้งแรกคุมตัวจากที่ชุมนุมต้านรัฐประหารที่หน้าหอศิลปกรุงเทพฯ วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ครั้งที่ 2 นัดไปร้านกาแฟ แล้วถูกคุมตัวไปค่ายทหาร และถูกคุมตัวที่กองปราบ
การมาบุกสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันครั้งนี้ถือว่าเบากว่าถูกควบคุมตัว?
ไม่มีครั้งไหนเบากว่าครั้งไหน หนักทั้งนั้น
ทั้งหมดถือว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐมาคุกคาม
ใช่ ผลสำเร็จของการมาบุกฟ้าเดียวกันรอบล่าสุดคือ การสร้างความหวาดกลัวให้กับคนที่มาติดต่อผม และทำให้ผมเกรงใจที่จะติดต่อคนอื่น เพราะไม่แน่ใจเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว
คุณเป็นคนโจทก์เยอะ แบ่งโจทก์ได้เป็นกี่กลุ่ม
(หัวเราะ) ถ้านับตามคดี ก็เป็นปกติที่มีคดีกับอำนาจรัฐ
แต่ปี 2564-2565 ก็มีคดีใหม่ๆ เช่น กรณีตีพิมพ์หนังสือของ ณัฐพล ใจจริง ชื่อ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ และ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ก็เป็นครั้งแรกที่ถูกฟ้องคดีแพ่ง โดย ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต หลานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร โดยมี ‘ไชยันต์ ไชยพร’ เป็นหนึ่งในพยานฝ่ายโจทก์ อันนี้เรามองว่าเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งของฝ่ายขวาจัด
ถ้าหลักการของเราคือ ประชาชนมีสิทธิ์วิจารณ์รัฐบาล ก็เช่นเดียวกันกับที่ไชยันต์มีสิทธิ์จะวิจารณ์งานวิชาการได้ แต่สิ่งที่ไชยันต์ล้ำเส้นคือ การใช้กระบวนการที่นำมาสู่การฟ้องร้อง การเซ็นเซอร์ เพราะทั้งคำฟ้อง 50 ล้าน และคำร้องไปที่จุฬาฯ ทั้งหมดก็อ้างถึง ไชยันต์ ไชยพร
อ่านต่อที่ https://thestandard.co/thanapol-eawsakul-two-decades.../