คนจนสูงอายุในเขตเมือง ถูกทอดทิ้ง 2.7 หมื่นคน แต่สถานสงเคราะห์ รับได้เพียง 2 พันคน
10 กุมภาพันธ์ 2022
บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล
The Active.net
นักวิชาการแนะ เพิ่มกลไกติดตามคนสูงวัย-ยากจนในเมือง ตามตรอกซอย และตึกแถว ให้มีที่อยู่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน รับมือสังคมสูงวัยสุดยอดในอีก 10 ปีข้างหน้า หลังพบตัวเลข คนจนสูงอายุของไทยในเขตเมืองมีกว่า 6 แสนคน และถูกทอดทิ้งเกือบ 3 หมื่นคน
“100 คน เดินมาหาเรา จะมีผู้สูงอายุ 20 คน”
คำกล่าวนี้หมายถึง ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยที่สมบูรณ์แล้ว จากข้อมูลของ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุคนจนที่อยู่ในเมือง และชนบท โดยจากข้อมูล ปี 2564 ประชากรไทย 66 ล้านคน มีผู้สูงอายุ 20% หรือประมาณ 13 ล้านคน จำนวนนี้อาศัยอยู่ในชนบทประมาณ 7 ล้านคน (55%) และในเขตเมืองประมาณ 6 ล้านคน (45%)
สำหรับคนจนที่อยู่ในเขตเมือง 691,000 คน ในจำนวนนี้เป็นคนยากจนและถูกทอดทิ้ง 27,000 คน ซึ่งแน่นอนว่ามีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่เสี่ยงไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย
ตาไหม-ทองคูณ โฟสลิต วัย 62 ปี คือหนึ่งในนั้น เขาอาศัยอยู่ในตรอกซอยเล็ก ๆ ย่านเยาวราช ทำงานเก็บของเก่าและขยะขาย รายได้ไม่แน่นอน แต่ต้องเสียค่าเช่าบ้านให้กับเอกชนปีละ 3,000 บาท นี่ยังไม่นับรวมค่าไฟที่แพงเพราะต้องพ่วงกับบ้านอื่นในชุมชน โครงสร้างบ้านที่ไร้ความมั่นคง ไม่มีมาตรฐาน และแทบจะไม่มีหวังที่จะมีบ้านเป็นของตัวทำให้เราต้องหันมาตั้งคำถามกันว่า ทำไมคนไทยจำนวนไม่น้อย ตั้งหน้าตั้งตาทำงานมาทั้งชีวิต แต่กลับมีที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคงและกลายเป็นกลุ่มเปราะบางในวัยเกษียณ
ชมเพิ่ม พลิกปมข่าว ตอน ตาไหม สูงวัยไม่มีบ้าน
The Active พูดคุยกับ รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน เขาอธิบายความน่ากังวลต่อสถานการณ์ผู้สูงอายุในไทย หากรัฐไม่เร่งเดินหน้านโยบายที่อยู่อาศัยเพื่อคนสูงวัย โดยมองว่าประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ และเตรียมที่จะขยับสู่สังคมสูงวัยสูงสุดภายในอีก 10 ปี ซึ่งถือว่าเหลือเวลาอีกไม่มากที่จะเตรียมความพร้อมให้กับคนสูงวัย แม้ที่ผ่านมาไทยจะมีนโยบายช่วยเหลือผู้สูงอายุอย่าง การให้เบี้ยผู้สูงอายุ บ้านมั่นคง สถานสงเคราะห์ และการซ่อมแซมบ้านที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยให้คนสูงวัย แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมผู้สูงวัย เช่นตัวเลขของผู้สูงอายุที่ยากจนในเขตเมืองที่มีมาก เกือบ 7 แสนคน แต่มีสถานสงเคราะห์คนชราเพียง 2,285 คน เท่านั้น และยังต้องเข้าเงื่อนไขยากจน ไม่มีคนดูแล และมีปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิต โดยผ่านการรับรองจาก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถึงจะเข้าอยู่ได้
รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์
ส่วนกรณีของ บ้านมั่นคง ที่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. พยายามทำก็ยังไม่ครอบคลุมชุมชนแออัดที่ขยายตัว โดย รศ.ไตรรัตน์ มีข้อเสนอเพิ่มบทบาทและงบประมาณให้กับหน่วยงานอย่าง พอช. เพราะที่ผ่านมามีงบประมาณน้อย แต่หากจะรับมือกับสังคมสูงวัยที่กำลังขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องไปไกลกว่าแค่การมีสถานสงเคราะห์ แต่ยังต้องมีกลไกการติดตามคนสูงวัยที่มีความยากจนในเมืองที่อยู่ตามตรอกซอย และตึกแถว ให้มีที่อยู่อาศัยปลอดภัยได้มาตรฐาน
ขณะที่ คนจนในชนบทก็เสี่ยงประสบปัญหาถูกทอดทิ้ง เพราะลูกหลานออกมาใช้แรงในเมือง จึงมีข้อเสนอสำคัญเน้นให้กระจายอำนาจท้องถิ่น เพื่อให้หน่วยงานและคนในชุมชนร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในท้องถิ่นของตัวเอง ป้องกันปัญหาการถูกทอดทิ้ง โดดเดี่ยว ไร้บ้านในยามบั้นปลายชีวิต
“ปัญหาของผู้สูงอายุในเมือง และยากจน มีมากกว่า 6.9 แสนคน แต่มีสถานสงเคราะห์คนชราเพียง 2,285 คนเท่านั้น”
นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญฯ ยังแนะให้ทำ ฐานข้อมูลคนจนสูงอายุ ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย โดยใช้ข้อมูลบัตรคนจน กับตัวเลขเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นฐานข้อมูลเตรียมจัดระบบสวัสดิการให้คนกลุ่มนี้มีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยมากที่สุด และสิ่งสำคัญที่อาจารย์เน้นย้ำคือ รัฐบาลควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุอยู่ที่เดิมให้นานที่สุด เพราะใกล้แหล่งอาชีพของคนจนสูงอายุมากที่สุด
“ปีนี้ 2565 เป็นปีแรกที่สัดส่วนผู้สูงอายุถึง 20% ประมาณ 10 ปีข้างหน้าจะเข้าสู่ “สูงวัยสุดยอด” สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 28%
ปีหน้าเราจะมีผู้สูงอายุ 60 ปี เพิ่มอีกปีละ 1 ล้านคน”
รศ.ไตรรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้สูงอายุเสียชีวิต ไร้บ้าน ถูกทอดทิ้ง อาจมากขึ้น และเป็นปัญหาที่ใกล้ตัว หากการแก้ปัญหาในระดับนโยบายไม่ขยับ เพราะปีหน้าเราจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกปี ละ 1 ล้านคน มิติที่อยู่อาศัยมั่นคง ปลอดภัยของผู้สูงอายุทุกคนทั้งในเมืองและชนบทจึงเป็นเรื่องแรก ๆ ที่ทุกหน่วยงานต้องเร่งแก้ไข
และไม่ใช่เพียง สูงวัยไม่ไร้บ้าน แต่ยังต้องส่งเสริมให้พวกเขามีความมั่นคงในมิติอื่นด้วยทั้งมิติทางสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจการออม และสุขภาพ