วันพุธ, กุมภาพันธ์ 02, 2565

การสู้รบ 1 ปีรัฐประหารมิน อ่อง หล่าย เมียนมาใกล้จะกลายมาเป็นสงครามกลางเมืองอย่างเต็มรูปแบบแล้ว



1 ปี รัฐประหารเมียนมา: เหตุสู้รบนองเลือดทหาร-พลเรือน เริ่มลุกลามเป็น "สงครามกลางเมือง"

โส่ว วิน, โก โก อ่อง และนาสซอส สไตลิอานู
บีบีซีแผนกภาษาพม่า และบีบีซีแผนกวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล

1 กุมภาพันธ์ 2022

เหตุสู้รบนองเลือดระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังจัดตั้งของกลุ่มพลเรือนติดอาวุธ กำลังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกขณะ บรรดาผู้ที่เข้าร่วมสู้รบต่อต้านทหารเมียนมา ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่ต้องทิ้งวิถีชีวิตตามปกติของพวกเขาไป ตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว

ข้อมูลเกี่ยวกับความหนักหน่วงของการสู้รบ ขอบเขตการใช้ความรุนแรง รวมทั้งการร่วมมือกันของฝ่ายต่อต้านเพื่อเข้าโจมตีทหาร ชี้ว่าความขัดแย้งนี้เริ่มดำเนินไปในทิศทางใหม่ โดยเปลี่ยนจากการลุกฮือของประชาชนมาเป็นสงครามกลางเมืองอย่างใกล้จะเต็มรูปแบบแล้ว

ข้อมูลจากกลุ่มสังเกตการณ์การสู้รบ ACLED ชี้ว่าขณะนี้การปะทะกันระหว่างทหารและพลเรือนได้แผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วประเทศ รายงานจากภาคสนามยังระบุว่า ฝ่ายพลเรือนมีการประสานงานร่วมมือกันมากขึ้น โดยการจัดตั้งภาคประชาชนนี้แผ่ขยายเข้าไปถึงศูนย์กลางเมืองใหญ่ต่าง ๆ ที่ไม่เคยมีประวัติจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับทหารมาก่อน

แม้เป็นการยากที่จะบอกถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แน่นอนได้ แต่รายงานของ ACLED ซึ่งรวบรวมจากข่าวของสื่อท้องถิ่นและรายงานอื่น ๆ คาดว่า น่าจะมีผู้เสียชีวิตในเหตุรุนแรงทางการเมืองไปแล้วราว 12,000 ราย นับแต่เกิดเหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2021 จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะกันระหว่างทหารและพลเรือนเพิ่มสูงขึ้นทุกเดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมของปีที่แล้วเป็นต้นมา

ช่วงหลังจากเกิดเหตุรัฐประหารไม่นาน พลเรือนส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการที่ทหารเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงในเมืองหลายแห่งทั่วประเทศ แต่ตอนนี้รายงานของ ACLED กลับชี้ว่า ตัวเลขของพลเรือนผู้เสียชีวิตที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น มาจากการสู้รบที่ประชาชนจับอาวุธขึ้นต่อต้านทหาร

เหตุรุนแรงในเมียนมาเกิดถี่ขึ้น และร้ายแรงขึ้น
รายงานการเสียชีวิตจากความขัดแย้ง และการชุมนุมประท้วง 1 ก.พ.2021-21 ม.ค.2022 ขนาดของวงกลมแสดงจำนวนผู้เสียชีวิต

ที่มา : Armed Conflict Location & Event Data Project ( ACLED)

นางมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่าเธอเห็นด้วยที่จะเรียกความขัดแย้งในเมียนมาขณะนี้ว่า "สงครามกลางเมือง" ทั้งยังเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ลงมือดำเนินมาตรการที่รุนแรงเด็ดขาดกว่าเดิม เพื่อกดดันให้กองทัพเมียนมานำประเทศกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย

นางบาเชเลต์กล่าวย้ำว่า สถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้ "เข้าขั้นหายนะ" แต่ประชาคมนานาชาติก็ยังตอบสนองต่อวิกฤตอย่างอืดอาดเฉื่อยชา ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติยังเตือนว่า ความขัดแย้งในเมียนมากำลังลุกลาม จนเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของภูมิภาคแล้ว


สมาชิกกองกำลังปกป้องประชาชนในรัฐกะเหรี่ยง ฝึกใช้อาวุธที่ทำขึ้นเองเมื่อเดือนพ.ย.ของปีที่แล้ว

ปัจจุบันกลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้กับกองทัพเมียนมานั้นถูกเรียกว่า "กองกำลังปกป้องประชาชน" (People's Defence Force ) หรือพีดีเอฟ เครือข่ายของพลเรือนนี้รวมตัวกันอย่างหลวม ๆ โดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่อายุยังน้อย

เฮรา (นามสมมติ) อายุ 18 ปี เพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมปลายตอนที่เธอเข้าร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลหลังกองทัพก่อเหตุยึดอำนาจได้ไม่นาน เธอต้องระงับแผนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเอาไว้ก่อน เพื่อมาเป็นผู้บังคับการกองกำลังพลเรือนที่เมืองแห่งหนึ่งในแถบภาคกลางของเมียนมา

เฮราบอกว่าเธอตัดสินใจเข้าร่วมกับกองกำลังพีดีเอฟ หลังได้ทราบเรื่องราวของเมียะ ตแวะ ตแวะ ข่าย นักศึกษาหญิงที่ถูกทหารยิงศีรษะจนเสียชีวิตในการชุมนุมประท้วงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีก่อน พ่อแม่ของเฮราเป็นห่วงลูกสาวมากเมื่อเธอเริ่มเข้าร่วมหลักสูตรฝึกอาวุธของพีดีเอฟ แต่ในที่สุดก็ต้องยอมรับ เมื่อเห็นว่าลูกสาวจริงจังกับเรื่องนี้อย่างยิ่ง

"พ่อแม่บอกฉันว่า ถ้าอยากจะทำจริง ๆ ก็ทำให้ถึงที่สุด อย่าล้มเลิกกลางคัน ฉันเลยไปคุยกับครูฝึกและได้เข้าร่วมขบวนการปฏิวัติอย่างเต็มตัว 5 วันหลังผ่านการฝึก" เฮรากล่าว

ก่อนจะเกิดเหตุรัฐประหาร คนหนุ่มสาวในรุ่นของเฮราเติบโตขึ้นมา โดยได้สัมผัสถึงอิสรภาพภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอยู่บ้าง พวกเขาจึงเกลียดชังการยึดอำนาจของทหารอย่างยิ่ง พวกเขายังได้รับการสนับสนุนและฝึกฝนให้ติดอาวุธจากกองกำลังชาติพันธุ์ตามแนวชายแดน ซึ่งกองกำลังเหล่านี้สู้รบกับทหารเมียนมาเป็นระยะ ๆ มาอย่างยาวนาน ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

วิธีรวบรวมข้อมูลว่าด้วย "สงครามกลางเมือง" ของเมียนมา

บีบีซีใช้ข้อมูลสถิติของ ACLED องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการประท้วงและความรุนแรงทางการเมืองจากทั่วโลก โดยนำข้อมูลมาจากรายงานของสื่อมวลชน สิ่งตีพิมพ์ขององค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อมูลล่าสุดด้านความมั่นคงจากองค์กรท้องถิ่นและองค์กรระหว่างประเทศ



แม้ ACLED จะไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของรายงานข่าวแต่ละชิ้นที่รวบรวมมาได้ แต่ข้อมูลตัวเลขผู้เสียชีวิตนั้นยังคงปรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามข่าวสารเรื่องเหตุการณ์สู้รบเท่าที่ได้รับทราบมา อย่างไรก็ดี การติดตามความเคลื่อนไหวของเหตุปะทะทั้งหมดในพื้นที่ความขัดแย้งนั้นทำได้ยาก รายงานข่าวที่ได้มาก็มักจะเอนเอียงหรือไม่สมบูรณ์ ทำให้ ACLED เลือกบันทึกข้อมูลที่เป็นประมาณการต่ำสุดเท่านั้น



นอกจากใช้อาวุธสู้รบกันแล้ว ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนต่างก็ปะทะกันในสงครามโฆษณาชวนเชื่ออย่างดุเดือด จนเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรายงานข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำทั้งหมด ส่วนการรายงานข่าวโดยสื่อมวลชนที่เป็นกลางนั้นก็ถูกจำกัดอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม บีบีซีแผนกภาษาพม่าได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต ซึ่งมาจากเหตุปะทะระหว่างทหารเมียนมาและกองกำลังพีดีเอฟ ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ปี 2021 โดยพบว่าใกล้เคียงกับสถิติที่ ACLED รวบรวมไว้

สมาชิกของกองกำลังพีดีเอฟนั้นได้แก่พลเรือนจากทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร แม่บ้าน หมอ หรือวิศวกร พวกเขาผนึกกำลังกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อโค่นล้มรัฐบาลทหาร

มีการวางกำลังหน่วยต่าง ๆ ของพีดีเอฟไว้ทั่วประเทศ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ บรรดาเยาวชนเชื้อสายพม่า (Bamar) จากเมืองใหญ่ในที่ราบภาคกลางของประเทศคือผู้นำของขบวนการนี้ โดยจับมือกับคนหนุ่มสาวจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของเมียนมา และไม่เคยมีครั้งใดที่กองทัพจะเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรงของคนหนุ่มสาวเชื้อสายพม่าถึงขนาดนี้

ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติบอกกับบีบีซีว่า "พลเรือนหลายคนเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธ หรือไม่ก็จัดตั้งกองกำลัง

ป้องกันตนเองขึ้นมา นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ฉันเฝ้าพูดย้ำมานานแล้วว่า หากเราไม่ตัดสินใจทำอะไรที่เด็ดขาดลงไปสักอย่าง สถานการณ์ของเมียนมาก็จะเดินซ้ำรอยซีเรีย"


เหตุเพลิงไหม้ที่เมืองทานตะลังของรัฐชิน เกิดจากทหารยิงระเบิดเข้าโจมตีเมื่อเดือน ต.ค. ของปีที่แล้ว

"นาการ์" อดีตนักธุรกิจหญิงซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชากองกำลังพีดีเอฟหลายหน่วยในภูมิภาคสะกายบอกกับบีบีซีว่า การต่อสู้ระหว่างพลเรือนและกองทัพนั้นเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมกัน กองกำลังพีดีเอฟเริ่มต้นสู้ด้วยการมีแค่เพียงหนังสติ๊ก แม้ในตอนนี้พวกเขาจะประดิษฐ์ปืนคาบศิลาและทำระเบิดใช้เองได้แล้วก็ตาม แต่กองทัพเมียนมานั้นสามารถยิงโจมตีทางอากาศ ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ใช้บ่อยครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ทหารเมียนมายังเสาะหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยได้ จากประเทศที่แสดงการสนับสนุนรัฐบาลทหารอย่างเปิดเผยเช่นจีนและรัสเซีย

รายงานการสืบสวนที่องค์กร Myanmar Witness เปิดเผยต่อบีบีซี ยืนยันว่ามียานยนต์หุ้มเกราะของรัสเซียถูกลำเลียงมาส่งที่นครย่างกุ้ง เมื่อสองสามสัปดาห์ที่แล้ว

1 ปี รัฐประหารเมียนมา: ชะตากรรมผู้ต่อต้านกองทัพที่ต้องหนีไปต่างแดน
หมอและพยาบาลผู้ต่อต้านกองทัพเมียนมา
ทหารประทุษร้ายทางเพศและซ้อมทรมาน เพื่อปราบปรามผู้ประท้วงหญิง

ถึงกระนั้นก็ตาม ความแข็งแกร่งของกองกำลังพีดีเอฟอยู่ที่การสนับสนุนภาคพื้นดินจากชุมชนท้องถิ่น การลุกฮือต่อต้านของผู้คนระดับรากหญ้าในตอนแรก ได้เริ่มกลายเป็นองค์กรจัดตั้งที่มีระบบระเบียบ มีความกล้าหาญและมุ่งต่อการสู้รบมากขึ้น โดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) องค์กรของผู้ลี้ภัยในต่างแดน ได้ช่วยจัดตั้งและวางแนวทางให้กับหน่วยสู้รบจำนวนหนึ่ง รวมทั้งติดต่อกับกลุ่มติดอาวุธพลเรือนอื่น ๆ อย่างไม่เป็นทางการด้วย

กองกำลังพีดีเอฟมุ่งโจมตีเป้าหมายที่เข้ายึดได้ง่ายของรัฐบาลทหาร เช่นสถานีตำรวจหรือจุดตรวจที่มีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ไม่เพียงพอ พวกเขาเข้ายึดอาวุธและวางระเบิดสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของกองทัพ เช่นธนาคารและหอส่งสัญญาณโทรคมนาคม

นาการ์บอกว่ากองกำลังพีดีเอฟไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องสร้างอนาคตให้กับประเทศด้วยมือของตนเอง "ฉันว่าการเจรจาโต๊ะกลมเพื่อแก้ปัญหา มันไม่ได้ผลแล้วในทุกวันนี้ โลกกำลังทอดทิ้งไม่สนใจประเทศของเรา ดั้งนั้นฉันจึงต้องติดอาวุธให้ตัวเอง"


ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารใช้หนังสติ๊กยิงเข้าใส่กองกำลังรักษาความปลอดภัยที่นครย่างกุ้ง เมื่อเดือนมี.ค.ของปีที่แล้ว

เฮราซึ่งเข้าร่วมกองกำลังพีดีเอฟกับพี่สาวบอกว่า จุดมุ่งหมายของพวกเธอคือ "ถอนรากถอนโคนเผด็จการทหาร"

"พวกทหารฆ่าคนบริสุทธิ์ ทำลายชีวิต ทรัพย์สิน และทุกสิ่งที่เป็นของพวกเขา ทหารก่อการร้ายกับประชาชน ซึ่งฉันยอมรับไม่ได้ไม่ว่าจะอ้างด้วยเหตุผลใดก็ตาม"

มีเหตุสังหารหมู่พลเรือนเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง รวมถึงเหตุสังหารชายฉกรรจ์ 40 คน เมื่อเดือนก.ค.ของปีที่แล้ว และเหตุสังหารทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก รวม 35 คน เมื่อเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา

บีบีซีได้พูดคุยกับชายผู้เห็นเหตุการณ์ ซึ่งรอดชีวิตจากการสังหารหมู่อีกครั้งหนึ่งในเดือนธ.ค.ของปีที่แล้วมาได้เพราะแกล้งตาย โดยเขาบอกว่ามีชาย 6 คนที่ไม่ได้หนีไป ตอนทหารมาถึงหมู่บ้านของเขาที่เมืองนากาตะวินในภาคกลางของประเทศ คนเหล่านั้นถูกฆ่าทิ้งทั้งหมด แม้ว่า 3 คนในจำนวนนั้นจะเป็นคนชรา และอีก 2 คนจะสติฟั่นเฟือนอยู่ก็ตาม ชายที่รอดชีวิตมาได้ยังบอกว่า ทหารโจมตีหมู่บ้านเพื่อค้นหานักรบของฝ่ายต่อต้าน

หญิงม่ายผู้สูญเสียสามีคนหนึ่งบอกกับบีบีซีว่า ศพของสามีเธอมีร่องรอยการถูกซ้อมทรมาน "พวกมันฆ่าคนแก่ที่แม้แต่จะพูดอธิบายก็ยังพูดได้ไม่ชัด ฉันจะไม่มีวันลืมเลย ฉันร้องไห้ทุกครั้งที่คิดถึงเรื่องนี้"

ตามปกติแล้วกองทัพเมียนมาไม่ค่อยจะให้สัมภาษณ์กับสื่อในเรื่องดังกล่าว แต่พลตรี ซอ มิน ตุน โฆษกของรัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน บอกกับบีบีซีในการสัมภาษณ์พิเศษเมื่อช่วงปลายปี 2021 ว่ากองกำลังพีดีเอฟนั้นเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ทำให้กองทัพมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการเข้าปราบปรามพลเรือนเหล่านี้

"ถ้าพวกเขาโจมตีเรา เราก็จะสั่งให้ทหารตอบโต้ทันที เรากำลังพยายามรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้กับประเทศและภูมิภาคนี้ โดยใช้กำลังในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคงปลอดภัยในระดับที่พอเหมาะพอควร" โฆษกของรัฐบาลทหารเมียนมากล่าว


ชายผู้หนึ่งถูกเคลื่อนย้ายไปยังที่ปลอดภัย ระหว่างการชุมนุมประท้วงเหตุรัฐประหารเมื่อเดือนมี.ค.ของปีที่แล้ว

เป็นเรื่องยากที่จะประมาณการตัวเลขกำลังพลของทั้งสองฝ่ายได้อย่างแน่นอน สถิติที่เป็นทางการของกองทัพเมียนมาบอกว่ามีกำลังทหารอยู่ราว 370,000 นาย แต่ในความเป็นจริงน่าจะน้อยกว่านั้นมาก เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีการคัดเลือกหรือเกณฑ์ทหารเกิดขึ้นเลย ทั้งยังมีกำลังพลจำนวนมากที่ตัดสินใจแปรพักตร์มาอยู่ข้างกองกำลังปกป้องประชาชนอีกด้วย แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่อาจทราบจำนวนที่แน่นอนของนักรบฝ่ายพลเรือนได้เช่นกัน

นอกจากหน่วยรบที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติก่อตั้งขึ้นแล้ว กองกำลังพีดีเอฟบางส่วนยังได้รับการฝึกฝนและติดอาวุธ รวมทั้งได้อาศัยพักพิงกับกองกำลังชาติพันธุ์ตามแนวชายแดน แม้ก่อนหน้านี้กองกำลังชาติพันธุ์บางกลุ่มได้เคยลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลทหารเมียนมา แต่ในปัจจุบันข้อตกลงดังกล่าวถูกฉีกทิ้งไปแล้ว

กองกำลังพีดีเอฟได้ออกถ้อยแถลงขออภัยต่อกองกำลังชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ เนื่องจากในอดีตพวกเขาหลงเชื่อคำลวงของรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งให้ร้ายว่ากองกำลังชาติพันธุ์ต้องการบ่อนทำลายประเทศ ขณะนี้ฝ่ายพีดีเอฟยึดถือนโยบายเดียวกันอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า จะมุ่งสร้างสหพันธรัฐที่ทุกชาติพันธุ์มีสิทธิเท่าเทียมกันในอนาคต

แม่ชีแอนน์ โรส นู ทาว นักบวชนิกายโรมันคาทอลิกที่เคยคุกเข่าร้องขอชีวิตประชาชนต่อหน้าแถวของตำรวจปราบจลาจล เมื่อเดือนมี.ค.ของปีที่แล้ว บอกกับบีบีซีว่า เหตุวุ่นวายปั่นป่วนทางการเมืองนับแต่ทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองนั้น ส่งผลสะเทือนรุนแรงต่อชีวิตของประชาชนอย่างไร


แม่ชีแอนน์ โรส นู ทาว คุกเข่าร้องขอชีวิตประชาชนต่อตำรวจ เมื่อเดือนมี.ค.ของปีที่แล้ว

"เด็ก ๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน ระบบการศึกษา สาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม และการทำมาหาเลี้ยงชีพ ล้วนแต่ถดถอยไปทั้งสิ้น ผู้หญิงบางคนต้องทำแท้งเพราะไม่อาจเลี้ยงลูกได้ในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่เช่นนี้ พ่อแม่สั่งสอนและเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกไม่ได้ เพราะความยากลำบากในการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง"

อย่างไรก็ตาม แม่ชีแสดงความชื่นชมคนหนุ่มสาวที่เข้าร่วมต่อสู้กับกองกำลังปกป้องประชาชน "พวกเขาช่างกล้าหาญ ไม่คำนึงถึงชีวิตของตนเองเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ผลประโยชน์ของประเทศชาติ สันติภาพ และการปลดปล่อยประเทศนี้ให้เป็นอิสระ ฉันขอสรรเสริญพวกเขา ทั้งยังรู้สึกภูมิใจและเคารพนับถือในตัวของพวกเขาอย่างมากด้วย"

รายงานเพิ่มเติมโดย รีเบกกา เฮนช์กี และ เบกกี เดล ออกแบบโดย จานา เทาชินสกี