วันศุกร์, กันยายน 17, 2564

เรื่องที่พี่โทนี่พูดถึงเรื่องศาลโลก น่าจะหมายถึง ศาล ICC เรื่องศาล ICC มีการเรียกร้องให้ลงสัตยาบันในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ก็ไม่ทำเพราะสาเหตุอะไร คุณทักษิณกับคุณยิ่งลักษณ์ต้องเคลียร์ปมอันนี้ให้กระจ่าง

เรื่องเกี่ยวข้อง
Jittra Cotchadet : น่าเสียดายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่มีความพยายามจะเอาผิดทหารและฆาตกรผ่านองค์กรสากล เช่นศาล ICC ให้ประยุทธนั่งลอยหน้าอยู่ข้างๆและพ่นวาทะกรรมสวยๆไม่แก้แค้น
ไทยอีนิวส์

.....

ครบรอบการเสียชีวิตของประชาชนในเดือนพฤษภาคม 2553 ก็มีความเคลื่อนไหว #ตามหาความจริง ทวงถามจากผู้เกี่ยวข้องในการสลายชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมายในเหตุการณ์รนั้น ซึ่งเวลาผ่านมาแล้ว 10 ปี เป็นที่แจ่มชัดว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยน่าจะคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียหายได้ไม่ดีนัก ภาคประชาชนต่างๆ จึงเริ่มไม่พอใจ

ในหลายประเทศที่อำนาจเผด็จการโจ่งแจ้งหรือซ่อนรูปยังอยู่ ความยุติธรรมจะเกิดยาก “ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC )” จึงมีหน้าที่มาอุดช่องว่างนี้ โดยมีกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ยูโกสลาเวียและกัมพูชา เป็นสาเหตุของการจัดตั้งองค์กรขึ้นมา

มีรัฐลงนามประสงค์เข้าร่วมเป็นภาคีทั้งหมด 139 รัฐ รวมถึงไทย และในปัจจุบันนี้เป็นรัฐภาคีเนื่องจากให้สัตยาบันแล้ว 122 รัฐ เกินกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกองค์กรสหประชาชาติ โดยมีผลบังคับตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2545 รัฐไหนเป็นภาคีแล้วต้องใช้เวลา 60 วันจึงจะมีผลใช้บังคับ

เมื่อเป็นภาคีแล้ว แต่ละรัฐก็จะออกกฎหมายให้สอดคล้องหรืออนุวัตรตามแนวทางของ “ธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute)”

สถานะของไทย คือ ลงนามแล้ว แต่ยังไม่ให้สัตยาบัน จะใช้บริการของศาลอาญาระหว่างประเทศได้หรือไม่ เพื่อแสวงหาความยุติธรรมให้กับผู้ที่บาดเจ็บล้มตายจากเหตุเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

เงื่อนไขการรับคดี มี 4 องค์ประกอบดังนี้

1.มีการกระทำความผิดในเขตอำนาจศาล 3 อำนาจดังนี้
  • อำนาจตามหลักดินแดน (รวมอากาศยานและเรือ) ได้แก่เป็นรัฐภาคีและผ่าน 60 วันแล้วจึงเกิดเหตุความผิดขึ้นประการหนึ่ง และ ไม่ได้เป็นรัฐภาคีอะไรเลย แต่รัฐบาลแถลงยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นเฉพาะกรณี ๆ ไป โดยมีเงื่อนไขไม่ย้อนเกินอำนาจตามหลักเวลาเป็นประการที่สอง
  • อำนาจตามหลักเวลา ได้แก่ เหตุการกระทำความผิดต้องไม่เกิดก่อนวันที่ 1 กรกาคม 2545 ที่ธรรมนูญมีผลบังคับใช้
  • อำนาจตามหลักบุคคล ได้แก่ ผู้เสียหายที่จะฟ้องร้องได้ ต้องเป็นผู้เสียหายหรือเหยื่อเท่านั้น ผู้ที่กระทำความผิดเป็นบุคคลไม่ใช่รัฐและต้องเป็นบุคคลในรัฐภาคีเท่านั้นโดยสัญชาติ หรือเลขาธิการสหประชาชาติโดยสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเห็นชอบ ยื่นเรื่องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณา

2.เป็นความผิดร้ายแรง 4 ประเภทได้แก่
  • ความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้แก่การสังหารอย่างเป็นระบบต่อผู้มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนาหรือความเชื่อทางการเมือง
  • ความผิดฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ได้แก่การสังหารอย่างเป็นระบบต่อพลเมืองทั่วไป (หมายถึงไม่มีความเชื่อแตกต่างกันอย่างชัดเจน)
  • ความผิดฐานอาชญากรสงคราม ได้แก่การกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายสงคราม เช่น ผู้ที่ยอมแพ้ยกธงขาวแล้วยังสังหาร หรือยิงเข้าไปในศาสนสถาน โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่พยาบาล เป็นต้น
  • ความผิดอาญาฐานรุกราน เป็นเรื่องการสั่งบุกเข้าไปในประเทศอื่น (กรณีนี้ ไทยสงวนไว้)

3.ศาลในประเทศไม่ดำเนินการสอบสวนจนได้ผู้กระทำผิด หรือไม่เต็มใจทำคดี หรือมีเหตุอื่นให้ทำไม่ได้ เช่นกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นต้น

4.คดีเป็นประโยชน์ต่อความยุติธรรมหรือไม่ กล่าวคือ ดำเนินคดีแล้วผู้มีอำนาจทั้งหลายจะกลัว ไม่กล้าทำผิดต่อพลเมืองของตัวหรือไม่ เป็นต้น

ก่อนจะไปถึงเราจะมีวิธีหาความจริงได้อย่างไร ก็มาดูอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถเข้าเป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรมนี้ได้ ซึ่งมีกรณีสำคัญที่ฝ่ายทหารมักอ้างถึงอยู่เสมอคือ ธรรมนูญกรุงโรมนี้ไม่ได้ยกเว้นความผิดประมุขของรัฐหากทำผิด

คำถามคือ กฎหมายนี้หมายถึงใคร ซึ่งต้องเข้าใจว่าประมุขของรัฐที่มีอำนาจฝ่ายบริหารด้วยจึงจะสั่งการทำผิดได้นั้น ในปัจจุบันมีแค่ระบอบกษัตริย์และระบอบประธานาธิบดีที่เป็นผู้บริหารเช่นในสหรัฐอเมริกา หรืออเมริกาใต้


ประมุขของรัฐในระบอบรัฐสภาเช่นของไทย หรืออย่างกรณีของประเทศในยุโรป อังกฤษ หรืออินเดียนั้น ผู้รับผิดชอบในการบริหารเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีหลักการว่า พระมหากษัตริย์จะไม่เป็นผู้กระทำผิด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพระมหากษัตริย์กระทำการใดๆ ก็ไม่ผิด แต่หมายความว่า ผู้รับผิดชอบในฝ่ายบริหารกระทำการภายใต้พระปรมาภิไธย ที่เรารู้จักกันว่า “ผู้รับสนอง…” นั่นเอง

ดังนั้น ประมุขในระบอบการปกครองที่เป็นระบบรัฐสภา จะไม่มีโอกาสทำผิดได้เลย เป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองทั้งนั้น หากจะมีความผิดเกิดขึ้น ก็ต้องรับโทษไปตามควร เช่น โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือโดยคดีความไป

มาดูตัวอย่างในประเทศนอร์เวย์ ซึ่งปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 5 เขียนไว้คล้ายรัฐธรรมนูญของไทยว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะตำหนิหรือกล่าวหาพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ความรับผิดชอบของพระมหากษัตริย์ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรี” ส่วนของไทยเรามีงานที่รัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองฯ ได้ ของนอร์เวย์ไปทั้งคณะฯ


เงื่อนไขฝ่ายทหารที่ขวางการให้สัตยาบันโดยการอ้างพระมหากษัตริย์ของทหารนั้น ไม่มีอะไรมากนอกจากจะต้องการรักษา “การรัฐประหาร” ไว้เท่านั้น

ในส่วนการแสวงหาความจริงเรื่องการกระชับพื้นที่จนเกิดการสูญเสียขึ้น แนวทางที่ง่ายที่สุดคือ สนับสนุนให้ฝ่ายประชาธิปไตยได้อำนาจรัฐ และคอยฟังว่าพรรคการเมืองไหน สนับสนุนการให้สัตยาบันกับ ICC และจะให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ปี 2552 หรือ 2553 แล้วแต่กรณีก่อนให้สัตยาบัน พรรคไหนหาเสียงเช่นนี้ ก็ให้การสนับสนุน

อีกแนวทางหนึ่งคือเหยื่อหรือผู้เสียหายฟ้องร้องเอง กรณีนี้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ทนายอัมสเตอร์ดัม เลิกราไปเพราะอะไร ในเรื่องสัญชาติของผู้กระทำความผิดเป็นใครก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับกรณีและถือสัญชาติรัฐที่เป็นภาคี หากมีหลักฐานสามารถดำเนินการได้ทันที

ประเด็นสำคัญหากจะดำเนินการข้างต้นคือ เรื่องเขตอำนาจศาลต้องชัดเจนทั้ง 2 วิธี และ การฟ้องต้องมีตัวตนชัดเจน ไม่ใช่ข่าวลือ ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองปกติ แต่ต้องทำอย่างเป็นระบบ กว้างขวางและผิดตามองค์ประกอบความผิดข้างต้นเสมอ

การกลับมาทบทวนเรื่องนี้ อีกครั้งไม่สายเกินไป การชุมนุมประท้วงของชาวเกาหลีใต้ที่เมืองกวางจู เมื่อ 18 พฤษภาคม 1980 ถูกปราบปราม พลเมืองบาดเจ็บ ล้มตาย จำนวนมาก สุดท้ายผู้เกี่ยวข้องก็ขึ้นศาลและมีความผิดในปี ค.ศ. 1996 ใช้เวลา 16 ปี

หลังจากหมดยุคการสืบทอดอำนาจจากเผด็จการ เกาหลีใต้ที่เคยยากจน ก็กลับเป็นเกาหลีใต้เช่นปัจจุบันดังที่เห็นกัน

ที่มา
https://progressivemovement.in.th/article/security/692/