สำนักข่าวราษฎร - Ratsadon News
16h ·
แม่สุ รับรางวัล 'จารุพงษ์ ทองสินธุ์' แทน 'เพนกวิน' ที่ยังอยู่ในเรือนจำ ด้านเจ้าตัวส่งข้อความถึงผู้มีอำนาจ หากอยากเห็นบ้านเมืองไทยที่สงบ ต้องปลดปล่อยนักโทษทางความคิด
วันนี้ (20 ก.ย ) ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ หรือ แม่สุ มารดาของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ได้รับเลือกจากสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในรางวัล 'จารุพงษ์ ทองสินธุ์' เพื่อประชาธิปไตย' ประจำปี 2564 เนื่องในโอกาสครบรอบเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ วันที่ 6 ตุลา 2519
.
ด้านนางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ ได้เป็นตัวแทนรับมอบรางวัลดังกล่าวพร้อมทั้งอ่านสุนทรพจน์ของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ เนื่องในโอกาสนี้ว่า
.
"พริษฐ์ ชิวารักษ์ รับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ : สุนทรพจน์จากเรือนจำ
กราบสวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ในวันนี้ผมรู้สึกได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลจาพงษ์ ทองสินธุ์ ประจำปี 2564 เพราะจารุพงษ์ ทองสิน นอกจากจะเป็นรุ่นพี่นักกิจกรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของผมแล้ว ยังเป็นผู้หนึ่งที่ได้กระทำการเสียสละเพื่อประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด นั่นคือการเสียสละชีวิตในเหตุการณ์ ตุลาคม 2519 จึงได้มีการก่อตั้งรางวัลนี้ขึ้นเพื่อมอบแก่ผู้ที่เสียสละเพื่อประชาธิปไตยเช่นจารุพงษ์ ทองสินธุ์ แต่เกียรติภูมิของผมหากจะมีอยู่ ก็ไม่อาจเทียบเท่ากับของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ และวีรชนเดือนตุลาคนอื่นๆได้
.
การรับรางวัลในวันนี้จึงถือว่าเป็นเกียรติอันใหญ่หลวง และก็เป็นความนำหดหู่ของสังคมนี้ด้วย เพราะการที่เรายังต้องแจกรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ นี้อยู่ ก็แสดงให้เห็นว่าแม้จารุพงษ์ ทองสินธุ์และเพื่อนพ้องมิตรสหายจะได้เสียสละจนจากเราไปมากว่า 45 ปีแล้ว ประเทศนี้ยังคงต้องมีคนเจ็บปวด เสียสละเพื่อประชาธิปไตย มีคนถูกทำร้ายเพราะเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ต่างกับ
ในยุคสมัยของจารุพงษ์ ทองสินธุ์
.
ท่านที่เคารพ ในระหว่างการรับรางวัลนี้ผมยังถูกจับกุมคุมขังด้วยเหตุแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งผมเชื่อว่าประสบการณ์อันชมชื่นนี้ เพื่อนร่วมรุ่นของจารุพงษ์หลายท่านอาจได้เคยสัมผัส นี่อาจเป็นการเสียสละอิสรภาพเพื่ออุดมการณ์ แต่ในอีกด้าน มันคือความโหคร้ายของรัฐไทย ที่จับเอาคนไปจองจำในคุกอันคับแคบ เพียงเพราะเขาเหล่านั้นคิดและเชื่อแตกต่างจากที่รัฐสั่ง นอกจากนี้การคุมขังคนธรรมดาที่แค่มีคำพูด ความคิด ความเชื่อเป็นของตัวเยง ยังเป็นอาการที่สะท้อนว่าประชาธิปไตยของประเทศเรากำลังติดเชื้อโรคเผด็จการแทรกซ้อนจนอ่อนแอ และเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง เปราะบางกระทั่งไม่อาจจะอดทนต่อคนที่พูดความจริง จึงต้องปฏิบัติต่อพวกเขาเยี่ยงไพร่ ทาส จำเลย คนพูดความจริงที่ต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้ มีมาในหลายยุค หลายสมัย ไม่ว่าจะเป็น กุหลาบ สายประดิษฐ์, จิตร ภูมิศักดิ์, ครูครอง จันดาวงศ์, กลุ่มนักศึกษา 6 ตุลา กระทั่ง ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ไปจนถึงใครหลายคนที่ตอนนี้ยังต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนั้นอยู่ รวมถึงตัวผมเอง
.
เช่นนี้เองจึงเป็นเหตุใช้ในขณะนี้ เพื่อนพ้องคนรุ่นใหม่และพี่น้องคนไทยลุทขึ้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทั้งที่คำว่าประชาธิปไตยนั้น ก็ก่อเกิดมาตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 แล้ว หากแต่ว่านับแต่ปี 2475 เป็นต้นมาเรามีแค่ประชาธิปไตยที่ถูกขังกรง ล่ามโซ่ไว้ ยังไม่เคยมีประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพสักที ประชาธิปไตยที่เรากำลังต่อสู้เพื่อให้ได้มานี้ แม้จะปรากฎในหลายรูปแบบ โดยแต่ละแบบต่างมีรูปลักษณ์และข้อเด่น ข้อด้อย แต่ละด้านแตกต่างกัน แต่เสน่ห์ของประชาธิปไตยไม่ว่าจะรูปแบบใดมีร่วมกัน คือ การยอมรับและอดทน อดกลั้นต่อความเห็นของคนอื่น นานาอารยะประเทศที่ปกครองด้วยประชาธิปไตย มองคนเท่ากัน ล้วนต้องเชิดชูบูชา เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม กระทั่งเสรีภาพในการต่อต้านรัฐบาลอย่างสันติมากกว่าสิ่งอื่นใด หรือใคร เพราะโดยเนื้อแท้แล้วประชาธิปไตยเป็นกลไกลที่ออกแบบไว้ให้กลุ่มความคิดเห็น และกลุ่มพลังต่าง ๆ ได้เชือดเฉือน ขัดแย้งกันโดยไม่ใช้ความรุนแรง
.
หากเปรียบเทียบก็คือ สังเวียนมวย ที่ให้ทุกคนขึ้นชก ชิงชัยชนะกันได้ โดยให้ทุกคนใส่นวมและสวมอุปกรณ์ ป้องกันไม่ให้บาดเจ็บล้มตาย หลักการใส่นวมต่อยกันนี้ทำให้ประชาชนในประเทศประชาธิปไตย ทั้งหลายต้องสามารถออกมาชุมนุมแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลที่พวกเขาเห็นว่าเป็นทรราชได้ โดยไม่บาดเจ็บล้มตาย
รวมถึงสามารถแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ผู้มีอำนาจและสถาบันต่างๆได้ โดยมิต้องหวั่นเกรงกฎหมายอาญา มาตราใด เพราะประเทศเหล่านั้นทราบดีว่า การใช้กำลัง กฎหมายและอำนาจเถื่อน ปราบปรามความคิดเห็นที่แตกต่าง จะเป็นการก่อไฟความคับแค้นสุมไว้ในใจผู้ถูกกระทำ จนกลายเป็นชนวนความขัดแย้งไม่รู้จบสิ้นดังที่ประเทศไทยเผชิญมาในรอบสิบปีนี้
.
หากเราใฝ่ฝันถึงแผ่นดินไทยที่สงบร่มเย็นและปราศจากความรุนแรงทางการเมือง เราจะต้องร่วมกันปกป้องสิทธิ เสรีภาพทางความคิดของทุกคน ทุกฝ่าย โดยเริ่มต้นจากการปลดปล่อยผู้ที่ถูกจองจำด้วยเหตุแห่งความคิด เยียวยาผู้ที่ถูกกระทำโดยอำนาจเถื่อน รวมถึงยกเลิกกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน ทุกฉบับ ทุกมาตรา เพื่อให้สังคมไทยสามารถเดินหน้าไปสู่ความยุติธรรม ความสมานฉันท์ และประชาธิปไตยได้ต่อไป
.
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การรับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ในวันนี้ จะช่วยส่งแรงให้ประเทศไทยไม่ต้องมีจารุพงษ์ ทองสินธุ์ คนอื่นคนใดขึ้นมาอีก
วันที่ 43 ของถูกจองจำครั้งที่ 3
พริษฐ์ ชิวารักษ์"
.
เรียบเรียงข่าวโดย Nattapong Malee
...
https://www.facebook.com/TheReportersTH/videos/558686402132875
The Reporters was live.
18h ·
[LIVE] สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะกรรมการจัดงานระลึก 6 ตุลา มอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ แด่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิ้น) โดยมีนางสุรีรัตน์ ชิวารักษ์ มารดาเป็นผู้รับมอบรางวัลและอ่านคำสุนทรพจน์แทน วันที่ 20 กันยายน 2564 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
#TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์