วันอังคาร, กันยายน 21, 2564

#พูดเพื่อเด็ก ใน “วันเยาวชนแห่งชาติ”



ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
14h ·

20 กันยายน ของทุกปี ถูกรัฐบาลไทยประกาศให้เป็น #วันเยาวชนแห่งชาติ เริ่มครั้งแรกตามมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ทั้งเนื่องจากในปีดังกล่าว สหประชาชาติกำหนดให้เป็นปีเยาวชนสากล และวันดังกล่าวยังเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีสองพระองค์ ภายใต้เป้าหมาย “เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง สังคม และมีพื้นที่ในการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาตนเอง ชุมชน และประเทศต่อไปในอนาคต”
.
แต่วันเยาวชนแห่งชาติในปีนี้ ดูจะแตกต่างจากปีก่อนๆ เมื่อมีเยาวชนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง อีกจำนวนมากถูกติดตาม-คุกคาม-ปิดกั้นการแสดงออกและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในด้านต่างๆ ทั้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือสถานศึกษา และอีกจำนวนไม่น้อย ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ปะทะกันทางการเมืองในช่วงเดือนที่ผ่านมา
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” เมื่อปี 2563 จนถึงปัจจุบัน (18 กันยายน 2564) มีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่าปี 18 ปี ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองไม่น้อยกว่า 183 คน คิดเป็นจำนวนคดีอย่างน้อย 114 คดี
.
ในจำนวนนี้แยกเป็นผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จำนวน 11 คน (บางรายถูกกล่าวหาถึง 3 คดี) โดยเด็กอายุต่ำที่สุดที่ถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหานี้ คืออายุ 14 ปี และมีเด็กเยาวชนไม่น้อยกว่า 158 คน ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
.
ในจำนวนคดีเยาวชนดังกล่าว ยังแยกเป็น คดีที่เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องหาจากการชุมนุมหรือการแสดงออกต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีหมายจับ จำนวน 51 คดี และเป็นการจับกุมโดยมีหมายจับของศาลเยาวชนฯ จำนวน 7 คดี ส่วนที่เหลือเป็นการถูกดำเนินคดีโดยตำรวจออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา
.
ท่ามกลางความตื่นตัวทางการเมืองของเด็กและเยาวชนที่เพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การออกมาร่วมชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เยาวชนรายแรกที่ถูกจับกุมดำเนินคดีทางการเมือง เกิดขึ้นในการชุมนุม #คณะราษฎรอีสาน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 เมื่อมีเยาวชนอายุ 17 ปี หนึ่งราย ถูกจับกุมไปพร้อมนักกิจกรรมคนอื่นๆ ด้วย
.
จนปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 น่าจะนับได้ว่าเป็น “จุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ” ของการเริ่มดำเนินคดีทางการเมืองต่อเยาวชน หลังตำรวจ สน.ลุมพินี ออกหมายเรียก 3 แกนนำนักเรียน จากกลุ่มนักเรียนเลวและนักเรียนไท ให้ไปรับทราบข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง อันเนื่องมาจากการชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์ หลังจากการชุมนุมในช่วงก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่รัฐยังดู “ระมัดระวัง” ที่จะออกหมายเรียกเพื่อดำเนินคดีกับเยาวชน
.
น่าสังเกตว่าการ “ยกระดับ” เริ่มดำเนินคดีต่อเยาวชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมือง เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่รัฐบาลเริ่มนำมาตรา 112 หรือข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” กลับมาบังคับใช้ หลังจากงดเว้นการกล่าวหาด้วยข้อหามาตรานี้มาราว 2 ปี ก่อนหน้านั้น
.
การเริ่มต้นดังกล่าว นำไปสู่ระลอกคลื่นของทั้งการออกหมายเรียกและจับกุมดำเนินคดีเยาวชนที่เป็นแกนนำ หรือมีบทบาทในการชุมนุมทางการเมือง ทั้งยังเริ่มนำข้อหาตามมาตรา 112 และมาตรา 116 ซึ่งเป็นกฎหมายในหมวดความมั่นคงของรัฐ มาใช้กล่าวหาต่อเด็กและเยาวชน อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย
.
สถิติเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ตั้งแต่ปลายปี 2563 และตลอดครึ่งแรกของปี 2564 โดยจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม มีเด็กเยาวชนถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 51 ราย
.
กระทั่งเดือนสิงหาคม 2564 ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง ภายใต้สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองรายวันของกลุ่มกิจกรรมต่างๆ และการปะทะกันระหว่าง “เยาวรุ่น” กับเจ้าหน้าที่รัฐ ใน #ม็อบทะลุแก๊ส บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง ทำให้มีเด็กและเยาวชนถูกจับกุมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก สถิติรวมผู้ดำเนินคดีพุ่งขึ้นไปเป็นอย่างน้อย 143 ราย หรือเพิ่มขึ้น 92 ราย มากกว่าช่วงเดือนก่อนหน้านั้นเกือบสามเท่า
.
กระทั่งช่วงครึ่งแรกของเดือนกันยายน แนวโน้มดังกล่าวก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยมีเด็กเยาวชนผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 40 คน ทำให้ยอดรวมผู้ถูกดำเนินคดีขยับไปอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 183 รายแล้ว โดยเยาวชนหลายคนยังถูกดำเนินคดีในหลายคดีด้วย
.
สถานการณ์ในช่วงเดือนนี้ ยังทำ “สถิติ” ใหม่ๆ โดยเยาวชนที่ถูกดำเนินคดียังอายุน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อมีการจับกุมเด็กชายอายุ 12 ปี 4 เดือนเศษ ในช่วงวันที่ 12 กันยายน 2564 ซึ่งหากเทียบระดับชั้นการศึกษา เด็กชายคนดังกล่าวยังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น นับได้ว่าเป็นเด็กอายุต่ำที่สุดที่ถูกจับกุมดำเนินคดี เท่าที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามข้อมูล
.
อีกทั้งเดือนเศษที่ผ่านมา เด็กวัยต่ำกว่า 15 ปี ยังถูกจับกุมมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย คือไม่น้อยกว่า 21 รายแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ผู้ถูกดำเนินคดียังอยู่ในวัยเยาวชนอายุ 16-17 ปี เป็นหลัก
.
นอกจากนั้น กระบวนการที่เด็กและเยาวชนผู้ถูกดำเนินคดีพบเจอ ยังมีแนวโน้มจะไม่เป็นไปตามหลักการจับกุมเด็กและเยาวชน ทั้งตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็ก รัฐธรรมนูญไทย หรือ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ เอง ทั้งการถูกเจ้าหน้าที่รัฐรุมทำร้ายร่างกาย ทั้งที่ไม่ได้ขัดขืนการจับกุม การควบคุมตัวโดยใส่เครื่องพันธนาการ การยึดเครื่องมือสื่อสารไม่ให้เด็กและเยาวชนติดต่อผู้ปกครองหรือที่ปรึกษากฎหมาย
.
โดยที่ศาลเยาวชนและครอบครัว ที่ควรทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในชั้นจับกุม ก็ยังรับรองการกระทำดังกล่าว โดยในการตรวจสอบการจับกุมขั้นตอนในคดีเยาวชน ปรากฏว่าไม่มีกรณีใดเลยที่ศาลเห็นว่าเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
.
กรณีเยาวชนที่ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ไม่ได้ถูกจับกุมและไม่ได้หลบหนี ตำรวจในหลายคดียังนำตัวไปขออำนาจควบคุมตัวจากศาล จนเยาวชนต้องถูกควบคุมตัวไว้ในห้องขังของศาล และส่วนใหญ่ ศาลยังออก “หมายควบคุม” ให้ ก่อให้เกิดภาระในการทำเรื่องขอประกันตัวต่อไป
.
สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงบางส่วนของสิ่งที่เด็กและเยาวชนไทยกำลังเผชิญในช่วงปีที่ผ่านมา และกำลังทวีความเข้มข้นขึ้น วันเยาวชนแห่งชาติในภาวะ ที่ “ผู้ใหญ่” ในสังคม ดูจะไม่ได้รับฟังปัญหาของเด็กและเยาวชนด้วยใจเปิดกว้าง ไม่ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาสิทธิในการมีส่วนร่วม และสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง แต่เลือกจะปราบปรามและระงับยับยั้งเยาวชนอย่างเข้มข้น จึงคล้ายเป็นเพียงแค่วันกลวงเปล่าใน “ปฏิทินของชาติ” เท่านั้น
.
.
อ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ https://tlhr2014.com/archives/35347